Picture – ภาพ
ตัวจอของ Samsung M7 เป็น VA แบบด้าน ช่วยลดแสงสะท้อน ความละเอียด 4K (3840 x 2160) 60Hz รองรับ HDR10 ขนาด 32” อัตราส่วน 16:9 จากที่ผู้เขียนได้ลองใช้งานมา หากอยากดูภาพแบบไม่ต้องกวาดสายตา ควรมีระยะการใช้งานประมาณ 1 เมตรขึ้นไปถึงจะกำลังดี
ตัว Samsung M7 จัดได้ว่าเป็นลูกผสมระหว่าง มอนิเตอร์ + ทีวี เพราะหากไม่นับเรื่องที่ไม่มีดิจิตอลทีวีจูนเนอร์แล้ว ในแง่การใช้งานด้านอื่นๆ แทบไม่ต่างอะไรกับทีวีเลย การกดตั้งค่า การเข้าใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ สามารถทำได้ผ่านทาง One Remote ซึ่งยูสเซอร์อินเตอร์เฟซของระบบ Tizen OS ก็เป็นแบบเดียวกันกับตัวทีวี ดังนั้นถ้าใครเคยใช้งาน Samsung Smart TV มาก่อน ก็ไม่ต้องทำความคุ้นเคยอะไรกันเยอะ แต่ถ้าใครไม่เคยใช้ ก็ต้องมานั่งปรับตัวกันสักหน่อย เพราะเมนูการตั้งค่าจะเยอะกว่ามอนิเตอร์ทั่วไประดับหนึ่ง
โหมดภาพที่จะแนะนำให้ใช้งานผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือระหว่างรับสัญญาณ HDMI แบบปกติทั่วไป และในกรณีที่รับสัญญาณ HDMI แบบ 24Hz, 25Hz, 50Hz และการรับชมคอนเทนต์จากบน Tizen OS
กรณีรับสัญญาณ HDMI แบบปกติ เช่น ปล่อยสัญญาณเต็มที่ 4K @ 60Hz
ถ้าเราเปิดโหมดภาพ หรือการตั้งค่าภาพขึ้นมาในช่วงที่ใช้สัญญาณ HDMI จะพบว่าตัวจอจะทำตัวเองให้อยู่ใน “PC Mode” ซึ่งจะแสดงโหมดภาพอยู่เพียงแค่ 2 โหมดเท่านั้นคือ Standard และ Dynamic ระหว่างสองโหมดนี้ผู้เขียนแนะนำว่าให้ใช้โหมด Standard ในส่วนการตั้งค่าภาพเชิงลึก เมนูส่วนใหญ่ก็จะถูกล็อคเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับมอนิเตอร์ทั่วไป ถึงแม้โหมดภาพจะมีให้เลือกน้อยกว่า แต่ว่าการตั้งค่าภาพทำได้ละเอียดกว่า เพราะใน PC Mode ของ Samsung M7 เราสามารถปรับ Color White Balance แบบ 2 Point ได้ด้วย ทำให้สีสันที่ออกมามีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
กรณีรับสัญญาณ HDMI แบบ 24Hz, 25Hz, 50Hz และ การดูคอนเทนต์ปกติจาก Tizen OS
เวลาที่ Samsung M7 รับสัญญาณจากอุปกรณ์ต้นทางที่ส่งมาในแบบ 24Hz, 25Hz, 50Hz และการดูคอนเทนต์สตรีมมิ่งปกติผ่านระบบปฏิบัติการ Tizen OS ตัวมอนิเตอร์จะมีคุณสมบัติเหมือนกับทีวีทุกประการ โหมดภาพมีให้เลือกใช้เยอะขึ้น ตั้งแต่ Dynamic, Standard, Natural, Movie และ Film Maker Mode นอกจากนี้ เมื่อเข้าไปดูในเมนูการตั้งค่าภาพ ก็จะพบว่าตัวเลือกที่เดิมทีเคยถูกล็อคไว้ใน PC Mode ก็จะสามารถปรับแต่งได้แล้ว
** FW ช่วงที่ทดสอบเป็นเวอร์ชัน 1020
จากภาพตัวอย่างที่ได้ทำการเปิดแอปพลิเคชัน Netflix จากบนตัว Samsung M7 จะพบว่ามีโหมดภาพให้เลือกเยอะขึ้น พร้อมทั้งการตั้งค่าภาพเชิงลึกก็ปรับได้หมดแล้ว
เมื่อตัวเลือกโหมดภาพอัตโนมัติเยอะขึ้น บางคนอาจตัดสินใจไม่ได้ว่าจะใช้แบบไหนดี ผู้เขียนขอแนะนำเป็นโหมดภาพ Film Maker Mode หรือโหมด Movie ครับ เพราะสองโหมดนี้จะให้โทนภาพที่อบอุ่น ดูง่าย สบายตา เหมาะกับการรับชมคอนเทนต์สตรีมมิ่ง
มีเทคนิคมาแนะนำ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปให้ดูข้างต้นว่าโหมดภาพบนตัว Samsung M7 ระหว่างรับสัญญาณ 60Hz กับ 50Hz นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ แถมยังปรับภาพเชิงลึกไม่ได้ แต่!! ถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนชื่อประเภทของแหล่งรับสัญญาณ จากเดิมที่ตั้งค่าพื้นฐานไว้ HDMI 1 ให้เป็นประเภทอื่นๆ เช่น Game Console, Blu-ray Player เราก็จะสามารถเลือกโหมดภาพอื่นๆ ได้เยอะขึ้น
และหลังจากที่ได้ใช้เครื่องมือปรับภาพในการวัดค่าแล้ว ผลออกมาได้ว่า ตัว Samsung M7 สามารถแสดงสีสันตามมาตรฐานขอบเขตสี Rec.709 ได้ 97.9% และหากเป็นตามมาตรฐานขอบเขตสี DCI-P3 จะได้ 76% ส่วนค่า Input lag จะเปลี่ยนไปตามสัญญาณที่รับเข้ามา ถ้าตัวเครื่องอยู่ใน PC Mode ค่า Input lag จะอยู่ที่ราว 33 ms แต่ถ้าไม่ได้อยู่ใน PC Mode ค่า Input lag ก็จะอยู่ที่ราว 22 ms ส่วน Peak Brightness หรือความสว่างสูงสุดจะอยู่ที่ราว 273 nits
หลังจากที่ปรับภาพอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยมาลองหาหนังดูอีกสักรอบ เรื่องที่เลือกดูคือ Jupiter Legacy ที่เพิ่งจะเข้า Netflix มาหมาดๆ เลย ภาพที่ออกมารู้สึกได้เลยว่าดีขึ้นมาอีกระดับ สมดุลสีดีขึ้น การไล่ระดับสีทำได้เนียนกว่าเดิม เรียกได้ว่าถูกอกถูกใจเลยครับ ส่วนการเล่นเกมภาพก็ดูเด้ง สีอิ่มขึ้น และเปิดสว่างมากกว่าเดิม
ส่วนใครที่ชอบเกมแนว FPS ตัวจอ Samsung M7 จะมีฟีเจอร์ที่ว่า Ultrawide Game View ฟีเจอร์นี้จะเป็นการปรับภาพบนจอจากเดิมที่แสดงแบบปกติ 16:9 ให้เป็นแบบกว้างพิเศษ 21: 9 แทน ตัวภาพด้านบนและด้านล่างจะถูกตัดออก แทนที่ด้วยภาพด้านข้างที่แสดงผลได้มากขึ้น ทำให้เราได้เห็นวัตถุต่างๆ ในเกมได้เยอะกว่าเดิม