08 Dec 2014
Review

จอใหญ่ระยะเผาขน!! รีวิว BenQ W1080ST+ (Short-Throw) Full HD Projector ภาพดีดีกรีเรือธง -LCDTVTHAILAND


  • boom

จบจาก W1070+ ไปได้หมาดๆ ทาง BenQ ก็จัด W1080ST+ เครื่องนี้มาเข้าคิวให้ทีมงานได้รีวิวกันต่อ และแน่นอนว่าเพื่อการเปรียบเทียบอย่างมีประสิทธิภาพ นาย Boomerang จึงต้องอาสาเป็นรับโปรเจ็กเตอร์ตัวนี้มาทดลองใช้งานให้ทุกท่านได้ชมกัน

W1080ST+ เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่อัพเกรดจากซีรี่ย์ก่อนอย่าง W1080ST ซึ่งชูจุดเด่นในเรื่องของระยะฉายที่สามารถแสดงภาพขนาดใหญ่ๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องถอยตัวเครื่องไปไกลจากฉาก ที่สำคัญคือ DLP DarkChip 3 ตัวประมวลผลภาพอันใหม่แบบเดียวกับรุ่น W1070+ ซึ่งให้สีสันอิ่มสดใสสมจริงแบบอัพเกรดกว่ารุ่นก่อนหน้าชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ สเปคเทพฟีเจอร์เพียบแบบนี้ จะใช้งานจริงได้ดีขนาดไหน ผมจะมาพิสูจน์ให้ทุกท่านได้ชมกันในรีวิวนี้ครับ

BenQ W1080ST+ Full HD DLP Projector

– 3D Full HD 1080p

– DLP DarkChip 3

– Projection Distance 100″ at 1.5m 

– 10W Speaker built-in

– Lamp Life : Normal 3,500 / ECO 5,000 / Power Save 6,000

– ISFccc® Calibration Certified

ราคาตั้ง 46,900 บาท

ดีไซน์

หน้าตาของ BenQ W1080ST+ ไม่ได้เปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนหน้าสักเท่าไร
จุดสังเกตหลักที่ทำให้ W1080ST+ แตกต่างจาก W1070+ คือลักษณะเลนส์ที่นูนโค้งออกมา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเลนส์มุมกว้างครับผม
ด้านหน้ามีที่ปรับระดับก้มเงยแบบเป็นสเต็ป ทว่าโดยส่วนใหญ่เราจะพยายามที่จะไม่ใช้ เพราะมันจะทำให้ภาพที่ฉายออกไปมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูครับ
ปุ่มควบคุมพื้นฐานต่างๆ ถูกวางไว้บริเวณด้านบนตัวเครื่อง
ส่วนนี้เป็นแหวนหมุนปรับซูมและโฟกัสตามตำแหน่งสากล น่าเสียดายที่ไม่มีตัวปรับ Vertical Lens Shift มาให้
รูระบายลมร้อนของ BenQ W1080ST+ จะมีลักษณะยิงออกด้านหน้าช่วยให้เรายกเครื่องขณะทำงานได้แบบไม่ต้องกลัวลวกมือ
ด้านหลังเป็นตัวหมุนปรับระดับความสูงได้ 1 ข้าง
รีโมทเป็นสไตล์เดิมสีขาวสวยงาม กดแล้วมีไฟส่องสว่างสีแดงในตัว ปุ่มนิ่มกดง่ายกำลังดี
แว่นตา 3 มิติ สามารถใช้ร่วมกันได้เกือบทุกรุ่นครับ เป็นแว่นแบบ Active ต้องซื้อแยกต่างหาก ไม่มีแถมมากับตัวเครื่อง

ช่องต่อ

ช่องต่อทั้งหมดด้านหลังจะเหมือนกับของรุ่นฝาแฝด W1070+ ซึ่งได้แก่…

1. HDMI v1.4 x2 (MHL@HDMI2)

2. DC 12V Trigger

3. USB Type A/MINI B

4. RS232

5. PC IN (VGA Port)

6. Component Video

7. Audio in (L/R)

8. Audio in/out

นับว่าดีไซน์แบบออกมาเป็นพี่น้องกันเลยระหว่างรุ่น W1080ST+ และ W1070+ ถือว่าเป็นสายเลือดเดียวกันแบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันที่เลนส์ฉายภาพกับตัวปรับ Lens Shift นอกจากนี้เหมือนกันหมดทุกอย่างครับผม

ภาพ

ความซับซ้อนของการใช้งานโปรเจ็กเตอร์แบบช่วงฉายสั้นจะอยู่ในช่วงแรกที่ต้องมีการจูนภาพให้พอดีฉาก ด้วยความที่เป็นเลนส์มุมกว้าง จึงทำให้ตอนเราเปิด Test Pattern จะพบว่าภาพที่ได้มีอาการบวมตรงกลาง หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Barrel Distortion ฉะนั้นก่อนที่จะทำการวางระนาบให้ตรง ผมจึงอยากจะแนะนำให้ทำการปรับซูมและโฟกัสให้เรียบร้อยก่อนเลยครับ โดยใช้เมนูของเครื่องโปรเจ็กเตอร์นี่แหละเป็นตัวอ้างอิง

เราสามารถเปิด Test Pattern ขึ้นมาได้โดยกดไปที่ Menu > System Setup : Advanced > Test Pattern : On เราก็จะเจอกับตารางสีขาวแบบนี้สำหรับทำการปรับภาพให้ตรงและพอดีกับฉาก

เมื่อภาพบนจอชัดแล้วก็ได้เวลามาปรับระนาบให้ตรง โดยสังเกตที่เส้นสีขาวของ Test Pattern พยายามอย่าให้มันลู่เข้าหากัน หรือเบนออกจากกัน ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าให้โปรเจ็กเตอร์ก้มหรือเงยครับ เว้นแต่ว่าวางไม่ลงจริงๆ ก็พอจะปล่อยให้มันเบี้ยวนิดหน่อย แล้วมาใช้ฟีเจอร์ Keystone แก้ไขเอาครับ ทว่าการปรับค่าดังกล่าวจะส่งผลต่อความคมของภาพเล็กน้อย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องวางโปรเจ็กเตอร์ให้ตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้

2D Keystone ช่วยให้เราสามารถแก้ไขอาการภาพบิดเบี้ยวจากตำแหน่งการวางของโปรเจ็กเตอร์ แต่ทว่าการปรับค่าดังกล่าวจะทำให้ความคมของภาพลดลงนั่นเอง

เริ่มการทดสอบด้วยแอนิเมชั่นเรื่อง Rio ที่มีฉากหลังเป็นป่าดงดิบอะเมซอนในประเทศบราซิล เพื่อดูความเขียวแบบแอนิเมชั่นที่ตัวโปรเจ็กเตอร์ถ่ายทอดออกมา ซึ่งสีสันที่ออกมาดูดีมีระดับอย่าบอกใคร เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ติดตัวในแบบฉบับของโปรเจ็กเตอร์ในซีรี่ส์นี้ของ BenQ เพราะจากที่ได้ทดสอบตัว W1070+ ภาพก็ออกมาสวยแจ่มตั้งแต่ต้นอยู่แล้วแบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม

สีสันต่างๆ ดูสวยสดเด้งให้อารมณ์ครื้นเครงไปตามสถานการณ์ของตัวคอนเทนต์ ณ​ ขณะนั้น
วกมาดูภาพยนตร์ที่เป็นคนซะหน่อย สีผิวและรายละเอียดในที่มืดถูกถ่ายทอดออกมาได้ดี สมราคาชิพประมวลผลภาพ DLP DarkChip 3 จริงๆ
X-Men First Class ภาพยนตร์ปฐมบทรีบูธมนุษย์กลายพันธุ์ที่เราหยิบเอาฉากท้ายของเรื่องมาใช้ในการทดสอบภาพ

หลายคนอาจจะกังวลกับรายละเอียดของภาพในโซนมืดเพราะการทำงานของโปรเจ็กเตอร์จะเป็นการยิงแสงไปอัดกับกำแพง ฉะนั้นถ้าเกิดเราวางโปรเจ็กเตอร์ใกล้ฉากรับมากๆ (ซึ่งเป็นขอจำกัดที่เลี่ยงได้ยากของโปรเจ็กเตอร์แบบระยะฉายสั้น) ก็จะทำให้ภาพที่ได้ดูจะขาวโพลน ตรงจุดนี้เราสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้โดยการเปิดโหมด ECO ช่วย* ซึ่งจะทำให้ความสว่างภาพลดลงและลดอาการขาวโพลนลงได้

*ขั้นตอนดังกล่าวจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อห้องที่รับชมสามารถคุมแสงรบกวนได้ค่อนข้างดีหรือเปิดดูตอนกลางคืน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้ความสดใสของภาพลดลงได้

ดูภาพด้วยค่าจากโรงงานกันพอสมควรก็ได้เวลาส่งโปรเจ็กเตอร์ขึ้นเขียงแล้วทำการปรับภาพสักหน่อย ต้องบอกก่อนว่าเราจะปรับภาพกันแบบพื้นฐานไม่ลงลึกไปยุ่งกับฟีเจอร์ ISF ที่ต้องใช้พาสเวิร์ดจากผู้ได้ใบรับรองการปรับภาพของสถาบันนี้ในการปลดล็อค ฉะนั้นแล้วค่าหลักๆ ที่เราจะใช้การปรับก็คือพวก Brightness, Contrast, 2P White Balance และค่าพื้นฐานอื่นๆ ที่สามารถปรับได้โดยที่ไม่ต้องใส่พาสเวิร์ดเพิ่มเติม

Picture Mode  CTT  Gamma  Consumption (Watts)  CTT Mode 
NormalEco NormalEcoNormalEco  
Bright7295 2.05 280 Lamp Native
Standard 7008 2.23 278 Normal
Cinema7236 2.24 278 Normal
User70742.23278224Normal
User (Calibrated) 6536 2.2 203Normal

ตารางด้านบนคือตัวเลขของค่าต่างๆ ที่วัดได้ก่อนและหลังทำการปรับภาพ โดยโหมดภาพที่ดูจะเข้าท่าที่สุดแบบไม่ต้องปรับภาพก็ยังคงเป็น Standard อยู่นะครับ เพราะให้ค่าที่ใกล้เคียงมาตรฐานมาก คราวนี้มาลองดูที่ช่อง User (Calibrated) ซึ่งก็คือค่าที่ได้หลังจากทำการปรับภาพ โดยเราได้อุณหภูมิสีที่ 6536 ซึ่งเป็นค่าที่ดีทีเดียว โดยจะต้องเปิดใช้งานโหมด ECO ควบคู่กันไปด้วย คราวนี้มาดูกราฟสีแบบละเอียดกันครับ

กราฟแสดงค่าเบื้องต้นก่อนทำการปรับภาพ ถ้าเราดูที่ RGB Balance จะเห็นว่าสีแดงดูจะจางกว่ามาตรฐาน ตัวภาพมีลักษณะอมเขียวและน้ำเงินนิดหน่อย
หลังจากปรับภาพจะเห็นว่า RGB Balance ลงล็อคกลางเกือบจะเป๊ะๆเลย ตัว Color Space ก็วิ่งเข้าใกล้จุดตามมาตรฐาน HD REC.709 แบบสุดๆ

หลังจากการปรับภาพเสร็จเรียบร้อยแล้วจะพบว่าพวกค่าอุณหภูมิสีมาตรฐานสามารถปรับได้ลงล็อคไม่ยาก ที่สำคัญคือไม่มีบั๊กเรื่อง Color Space เหมือนในรุ่น 1070+ ที่จะไม่สามารถปรับค่า 2P White Balance ได้ถ้าไม่ได้ปรับ Color Space ให้เป็น RGB จะว่าไปมันก็เป็นเรื่องบั๊กของซอฟต์แวร์นะครับ สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาก็ให้ค่าที่น่าพอใจทั้งคู่อยู่ดี