07 Jul 2014
Review

THX 3D Plasma TV ที่คุ้มที่สุด ? รีวิว LG 50PZ950


  • ชานม

50PZ950 มีรูปแบบ Picture Modes มาให้เลือกเยอะมาก ซึ่งพอจะเข้าใจถึงความพยายามให้ความยืดหยุ่นครอบคลุมกับรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ แต่บางทีถ้าจำนวนมากเกินไปอาจสร้างความสับสน จนเลือกใช้ไม่ถูกได้

ประเด็นความแตกต่างที่สำคัญของโหมดภาพแบบต่าง ๆ ที่ควรพิจารณา คือ เรื่องของสถานะการให้ระดับความสว่างที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่แตกต่างกัน

และสำหรับ 50PZ950 นับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถปรับระดับ Cell Light ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา (อ่านรายละเอียดถัดไป) ทั้งนี้โหมดภาพที่เกี่ยวเนื่องกับระดับความสว่างยังส่งผลถึงอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้นเมื่อทำการปรับโหมดภาพ (ที่ให้ระดับความสว่างแตกต่างกัน) อัตราการใช้พลังงานย่อมแตกต่างกัน ความสว่างของทีวีที่เหมาะสม นอกจากให้ผลด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยในประเด็นเรื่องของการถนอมสายตา ลดอาการล้าขณะรับชมอีกด้วย


โดยทั่วไปโหมด Vivid ซึ่งในความเคยชิน (กับจอทีวีในท้องตลาดทั่ว ๆ ไป บางครั้งเรียกว่าโหมด Dynamic) น่าจะเหมาะกับการใช้งานในสภาพสู้แสง เพราะเป็นโหมดภาพที่มักถูกกำหนดให้จอภาพแสดงความสว่างสูงสุด (Maximum Luminance) และเน้นความจัดจ้านของสีสัน เหตุนี้ผู้ผลิตจึงใช้ในการโชว์ตามห้าง แน่นอนอัตราการกินไฟย่อมจะสูงที่สุดไปโดยปริยาย กระนั้นในกรณีของ 50PZ950 พบว่าที่โหมด Vivid มีอัตราการใช้พลังงานสูงที่สุดตามคาด แต่มิได้เป็นโหมดที่ให้ระดับความสว่างสูงที่สุด (ดูจะแหวกประเพณีอยู่บ้าง) ถึงแม้จะเป็นโหมดภาพที่ให้ระดับความสว่างสูงสุดลำดับที่ 2 แต่ถ้าเทียบในแง่ ประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน (Efficiency) ย่อมแสดงถึงผลลัพธ์ที่ไม่น่าสนใจ ทั้งนี้โหมดภาพที่ให้ความสว่างสูงสุด กลับเป็น Standard ในขณะที่ระดับการใช้พลังงานก็ต่ำกว่า Vivid ด้วยซ้ำ ดังนั้นหากเป้าหมาย คือ การใช้งานในสภาพสู้แสง Standard ย่อมตอบสนองในจุดนี้ได้ดีกว่า

หมายเหตุ: ศักยภาพด้านความสว่างในโหมด Standard ของ 50PZ950 เพียงพอกับการใช้งานในห้องหับตามบ้านทั่ว ๆ ไป ที่มีการควบคุมแสงบ้าง กล่าวคือ ไม่ใช่พื้นที่ที่มีแสงสว่างรบกวนมากนัก

ความสว่างมิใช่บทสรุปว่าภาพดีหรือไม่ดี ประเด็นเรื่องความเที่ยงตรงของสีสัน มีความสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา การตรวจสอบในเบื้องต้น (อ้างอิงค่ากำหนดจากโรงงาน) พบว่ามาตรฐานอุณหภูมิสีของ Standard ก็ทำได้ดีกว่า Vivid ยิ่งตอกย้ำถึงเหตุผลที่ควรใช้โหมด Standard (ในกรณีที่ต้องการสู้แสง) อย่างไรก็ดีหากเป็นการใช้งานที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องสูงสุด (เน้นความเป็น Original ทางด้านสีสันของแหล่งโปรแกรมต้นฉบับ จากอุณหภูมิสี, ระดับ RGB Balance, CMS ฯลฯ) โหมดภาพที่ตอบสนองจุดนี้ได้ดีกว่า Standard ได้แก่ Photo, THX Bright Room และ ISF Expert ตามลำดับ… ขณะเดียวกันระดับความสว่างของทั้ง 3 โหมดนี้ แม้มิได้เน้นสว่างสุด ๆ (ต่ำกว่า Standard อยู่ราว 7.5%, 12% และ 16.5% ตามลำดับ) แต่ก็เพียงพอกับการรับชมภาพยนตร์ หรือเพื่อการณ์อื่นใดที่เน้นความถูกต้อง และพิถีพิถันใช้งานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (มีการควบคุมสภาพแสงแวดล้อมอย่างพอเหมาะ) และด้วยความเที่ยงตรงนี้ มันจึงสามารถใช้งานได้กับทุกแหล่งโปรแกรม โดยไม่มีความจำเป็นต้องแยกแยะว่าโหมดนี้ใช้กับภาพยนตร์ โหมดนี้สำหรับทีวี เกม หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ให้วุ่นวาย หากอยู่บนพื้นฐานที่ว่า แหล่งโปรแกรมเหล่านั้น “ได้มาตรฐาน” !

หมายเหตุ:
– คำว่า “ได้มาตรฐาน” นั้น อยู่บนพื้นฐานที่กำหนดโดยอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ ซึ่งมิใช่มาตรฐานที่อ้างขึ้นมาลอย ๆ หรือใครจะเป็นผู้กำหนดก็ได้ Video Output Standard สำหรับแหล่งโปรแกรมจึงแบ่งออกได้ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ Video กับ Computer ดังนั้น มาตรฐานที่ใช้แสดงผลจึงแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย (แต่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน) ด้วยเหตุนี้การให้รูปแบบโหมดภาพที่แตกต่างกันเพื่อใช้งานกับแหล่งโปรแกรมต่างมาตรฐานจึงเป็นเหตุผลที่ดี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม
– ในโหมด * Standard * (และ Vivid) สามารถปรับชดเชย Color Temp ได้ แม้ว่าจะไม่ละเอียดเท่ากับโหมด ISF แต่ก็ช่วยให้อุณหภูมิสีมีความถูกต้องมากขึ้น (เมื่อต้องการใช้งานในสภาพสู้แสง)
– * THX Cinema * นั้น แม้มิได้โดดเด่นด้านความถูกต้องของสีสัน (เมื่อเทียบกับ THX Bright Room, Photo และ ISF Expert) แต่ก็เป็นโหมดภาพสำเร็จรูปที่เหมาะกับสภาพการรับชมแบบโรงภาพยนตร์ (คือ คุมแสงภายในห้องไว้ค่อนข้างมืด) จากระดับ Cell Light ที่ค่อนข้างต่ำ
– * THX Bright Room * เป็นโหมดภาพที่มีระดับ RGB Balance เที่ยงตรงที่สุด แต่การให้ระดับอุณหภูมิสียังถือว่าต่ำกว่า Photo อยู่เล็กน้อย (แต่ใกล้เคียงกับ ISF Expert1) และในโหมดนี้ไม่สามารถปรับชดเชยแก้ไขให้เที่ยงตรงขึ้นได้ แต่ถือเป็น โหมดภาพสำเร็จรูป ที่ให้ผลลัพธ์เหนือกว่าระดับมาตรฐานทั่วไป
– * Photo * เป็นโหมดภาพสำเร็จรูปจากโรงงานที่น่าสนใจที่สุด ในกรณีที่ไม่ต้องการปรับแต่งค่าใด ๆ เพิ่มเติม (กระนั้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อาจต้องตรวจสอบระดับ Contrast/Brightness/Colour อีกเล็กน้อย) 
– * ISF Expert * นั้น แม้ว่าผลลัพธ์จากค่ามาตรฐานที่ตั้งมาจากโรงงานมิได้เที่ยงตรงสูงสุด แต่โหมดนี้รองรับการปรับแต่งได้อย่างละเอียด จึงเป็นหมวดที่ควรเลือกใช้ สำหรับผู้ที่ต้องการความพิถีพิถัน ซึ่งในส่วนของการกำหนด White Balance รองรับ calibration process ได้ทั้งแบบพื้นฐาน (2-Point Method) ร่วมกับแบบโปร (20-Point Method) ซึ่งให้ความละเอียดในระดับสูง

– อินเทอร์เฟสเมนูปรับภาพของ 50PZ950 ค่อนข้างกวนการตรวจวัดเพื่ออ้างอิงการปรับภาพแบบละเอียดอยู่บ้าง เนื่องจากรูปแบบเมนูที่ใช้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และกินพื้นที่บริเวณกึ่งกลางจอไปพอสมควร โดยจะกระทบกับค่าการปรับแต่งช่วงความสว่างต่ำ ๆ อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้มิได้เป็นปัญหาใหญ่ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา และความใจเย็นนิดนึง และมิได้ส่งผลกระทบกับศักยภาพการใช้งานใด ๆ ทั้งสิ้น

* การอ้างอิงโหมดภาพเฉพาะกับ LG 50PZ950

ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ Dynamic Contrast ซึ่งปรับได้ 2 ระดับ คือ High กับ Low

หมายเหตุ: คอนเซ็ปต์ของฟีเจอร์ Dynamic Contrast เป็นความพยายามเพิ่มระดับคอนทราสต์ หรือความเปรียบต่างของระดับความสว่างและส่วนมืดของภาพ โดยการทำให้ภาพโดยรวมดูสว่างขึ้น ในขณะที่กดระดับสีดำ (ช่วงความสว่างต่ำ ๆ) ให้มืดลงบางช่วง และ/หรือ ปรับให้สูงขึ้นในบางช่วง อย่างไรก็ดีหากว่ากันตามตรง ฟีเจอร์นี้มิได้เป็นตัวเพิ่มศักยภาพการใช้งานโดยตรง กล่าวคือ มิได้เพิ่มระดับคอนทราสต์ในทางทฤษฎี (ตามการอ้างอิงมาตรฐานที่ใช้ระดับความสว่างสูงสุดเปรียบต่างกับระดับความสว่างต่ำสุด) กระนั้นที่ภาพโดยรวมก็อาจดูสว่างขึ้น เพราะใช้เทคนิคเพิ่มระดับความสว่างในสเต็ปรอง ๆ ลงมา ด้วยเหตุนี้มันกลับจะลดทอน หรือบิดเบือนในแง่ของความถูกต้อง (ลดทอนความเป็น Original) ลงด้วยซ้ำ ในกรณีที่ปรับภาพอย่างเหมาะสมแล้ว

ย้อนกลับมาที่ศักยภาพด้านความสว่าง การกำหนดโหมดภาพที่สัมพันธ์กับระดับความสว่างตามลักษณะการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับระดับการใช้พลังงานงานไปโดยปริยาย และ โหมดประหยัดพลังงาน (Energy Saving) เป็นตัวเลือกสำคัญที่กำหนดระดับการใช้พลังงานโดยตรง ทั้งนี้ทีวีในปัจจุบันรองรับทั้งการกำหนดค่าแบบแมนนวล และออโต้ กล่าวคือ ผู้ใช้ 50PZ950 สามารถกำหนดระดับการใช้พลังงานของทีวีลงได้เอง 3 ระดับ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อให้ระดับความสว่างที่ได้ สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมการใช้งาน แต่อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่า คือ อาศัย Intelligent Sensor ให้ระบบทำการวัดแสงสภาพแวดล้อม เพื่ออ้างอิงกำหนดค่าความสว่าง (ระดับ Cell light) โดยอัตโนมัติ เป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้ ในการจัดการการใช้พลังงานของทีวีอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดีในสถานะที่ปิดไฟในห้องทั้งหมดพบว่า การให้น้ำหนักจาก Intelligent Sensor ของ 50PZ950 ยังติดสว่างไปสักหน่อย หากต้องการรับชมในรูปแบบนี้ (ปิดไฟ) อาจต้องใช้การกำหนดระดับ Energy Saving แบบ Manual โดยกำหนดค่าที่ Maximum แทน ส่วนความฉับไวของระบบอัตโนมัติ ที่ใช้ในการปรับลดระดับ Cell Light จนคงที่ นับว่ามีความรวดเร็วอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว


นอกจากนี้ในกรณีฟังเพลง ข่าว Internet Radio ฯลฯ ที่ไม่ได้ต้องการดูภาพ สามารถปิดเฉพาะจอชั่วคราวได้ด้วย Screen Off (ฟังก์ชั่นอื่นของทีวีจะยังทำงานตามปกติ) จะช่วยประหยัดพลังงานลงได้มหาศาล (มากกว่า 90%) เนื่องจากการใช้พลังงานของทีวีส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการแสดงภาพ และยังช่วยถนอมจอภาพอีกด้วย เหมาะมาก ๆ กับเทคโนโลยี Plasma TV

เมื่อเปิดใช้ Energy Saving จะแสดงข้อมูลยืนยันว่าสามารถเซฟพลังงานลงไปได้ คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ผลการทดสอบพบว่าข้อมูลการลดระดับการใช้พลังงานนี้ เที่ยงตรงทีเดียว กล่าวคือ ไม่แสดงค่าโอเวอร์ให้ดูดี หรือประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง

หมายเหตุ:– นอกเหนือจากประเด็นเรื่องของการประหยัดพลังงานแล้ว การกำหนดระดับความสว่างของจอภาพอย่างเหมาะสมยังช่วยถนอมสายตาอีกด้วย- ถึงแม้ว่า 50PZ950 จะไม่สามารถปรับระดับ Cell Light แบบละเอียดได้ (เป็นพารามิเตอร์ที่ใช้กำหนดค่าแบบตายตัวในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการควบคุม) กระนั้นอาจอาศัย Energy Saving ในการกำหนดค่าแบบกว้าง ๆ ในจุดนี้แทน ซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่นได้

Plasma TV ไม่มีปัญหาเรื่องของ Backlight Leakage ดังนั้นไม่ว่าจะปรับภาพให้สว่างมากเพียงใด ก็ไม่มีผลกระทบกับการสูญเสียระดับ black level อันเป็นปัญหาที่พบได้กับ LCD/LED TV ที่ไม่มี Local Dimming หรือ Dynamic Backlight ประกอบกับการที่ผู้ใช้ปรับระดับ Backlight ของ LED/LCD TV ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน แต่ข้อได้เปรียบของ Plasma ในจุดนี้ ก็อยู่ที่ พาเนล เองด้วยว่าสามารถแสดงสีดำได้ดีเพียงใด (สีของพาเนลเองก็มีผล รวมไปถึงการควบคุมอัตราการเรืองแสงในขณะแสดงสีดำ) ซึ่ง 50PZ950 ทำได้ดี ไม่มีข้อติติง

ส่วนศักยภาพการให้ระดับความสว่างสูงสุด อาจต้องพิถีพิถันในการควบคุม แสงแวดล้อม (Ambient light) ให้อยู่ในระดับที่พอดี อาจไม่ถึงกับต้องมืดทึม ที่สว่าง ๆ ก็ดูได้ แต่ต้องไม่สว่างเกินไปจนกวนการรับชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับชมในรูปแบบ 3D ที่ต้องการศักยภาพด้านความสว่างจากจอภาพมากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นจอภาพชนิดใด)

ผมออกจะงง ๆ นิดหน่อย กับการเรียกใช้คำของ LG ในพารามิเตอร์ Aspect Ratio เพราะผลลัพธ์จากการใช้งานโหมด Original มันไม่เชิงว่าผลลัพธ์จะออกมา Original เท่าไหร่ เนื่องจากยังมีการสเกลขนาดภาพอยู่ (มีการ over scan เช่นเดียวกับการเลือกโหมด 16:9) ในขณะที่โหมด Just Scan ซึ่งให้ผลลัพธ์ตรงตามการแสดงภาพต้นฉบับ (ไม่มีการสเกลปรับเปลี่ยนขนาดภาพใด ๆ ทั้งสิ้น น่าจะเหมาะกับคำว่า “Orignal” มากกว่า) ทั้งนี้การแสดงภาพ “ต้นฉบับ” จะเหมาะกับแหล่งโปรแกรมคุณภาพสูง (BD, Computer) หรือแหล่งโปรแกรมทั่วไปที่ผ่านการอัพสเกลมาแล้ว นอกนั้นอาจเลือกใช้โหมดอื่นตามความเหมาะสม

การทดสอบการใช้งานเป็นจอมอนิเตอร์ โดยการเชื่อต่อกับ Notebook ผ่านสาย HDMI
ได้รายละเอียดระดับ Full HD 1920 x 1080 pixels เต็มหน้าจอ ภาพนุ่มนวลดูสบายตาดี สามารถพูดได้ว่าตอบสนองการใช้งานในจุดนี้ได้ดี ศักยภาพสามารถนำไปใช้กับงานที่ต้องการแสดงภาพเพื่ออ้างอิงความถูกต้องได้ แต่ต้องระวังจอเบิร์นนิดนึง (จากการเปิดค้างภาพนิ่งนานเกินไป) ซึ่งเป็นข้อควรระวังโดยปกติ สำหรับเทคโนโลยี พลาสมา อยู่แล้ว
3D แบบ Active จึงได้ความคมชัดแม้ดูในระยะที่ค่อนข้างใกล้ประชิดกับจอภาพ ซึ่งให้มิติที่หลุดลอยน่าประทับใจทีเดียว
ฟรีทีวีให้ภาพออกมานวลตาดี สเกลเลอร์ของจอภาพสามารถแก้ไขข้อบกพร่องบางประการได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตั้งค่า Noise Reduction อย่างไรก็ดี การเลือกรับชมแหล่งโปรแกรมคุณภาพสูงจะสร้างความโดดเด่นให้กับจอภาพ HD ทุกชนิด ได้อย่างชัดเจนยิ่ง 

สรุป

ผลลัพธ์จากพารามิเตอร์อื่น ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับศักยภาพของ LG 50PZ950

Gamma – Normal

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– Borderless Design อันคุ้นเคย ด้วยการใช้แผ่นกระจกที่ทนทาน ปิดทับเต็มพื้นที่ นอกจากดูดีเสมือนไม่มีขอบแล้ว ยังช่วยปกป้อง เพิ่มความแกร่งให้กับพาเนลได้ด้วย ฐานตั้งรูปแบบพื้นฐาน มิได้หวือหวา แต่ก็ใช้งานได้ดี
– คุณภาพเสียงระดับมาตรฐานสำหรับระบบเสียงของทีวี
– ถึงแม้มิได้บิลท์อิน WiFi มา แต่ก็แถม USB Wifi Dongle มาให้ จุดเชื่อมต่อพื้นฐานครบครัน
Component/Composite เป็นรูปแบบปกติ ไม่ต้องเสียบผ่านอแดปเตอร์
– Magic Motion Remote Control ปฏิวัติรูปแบบการควบคุมทีวี ฟังก์ชั่นหลักของ Smart TV อย่างเช่น การแชร์มีเดียไฟล์ผ่านเน็ตเวิร์ก และการเข้าถึงออนไลน์คอนเทนต์ผ่าน NetCast ที่รองรับ Local Content หรือจะท่องเว็บผ่าน Web browser โดยตรงไม่ต้องง้อคอม ฯ ไปจนถึงสามารถเพิ่มเติม LG Apps ที่มีจำนวนมากมายได้
– ด้วยระดับราคาไม่เกิน 5 หมื่น บาท กับศักยภาพด้านภาพที่ได้จาก พลาสมา ทีวี รุ่นท็อปเครื่องนี้ ทั้งภาพ 2D/3D รวมไปถึงฟีเจอร์ปลีกย่อยอื่น ๆ ช่างยั่วยวนหัวใจอย่างยิ่ง !

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.25
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.00
เสียง (Sound)
7.00
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.20

คะแนน LG 50PZ950

8.2