19 Mar 2019
Review

รีวิวทีวี Samsung QLED 65นิ้ว รุ่น Q7FN ภาพสดสบายตา โมชั่นเด่น มาพร้อม FreeSync เหมาะกับทั้งคอหนังและคอเกมส์


  • lcdtvthailand

ภาพ

มาถึงส่วนทดสอบที่หลายคนรอคอย นั่นคือการทดสอบด้านภาพ สเปคคร่าวๆ ของ Samsung Q7FN เป็นทีวี 4K HDR รองรับการแสดงผล HDR10+ และ HLG ทำงานด้วยชิพประมวลผล Q Engine พร้อมใช้เทคโนโลยี Quantum Dot ที่มีอนุภาคขนาดเล็กสร้างสีสัน ความคมชัด และขอบเขตสีได้มากกว่าทั่วไป  ผ่านการการันตีมาตรฐาน UHD Premium จากกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมด้านภาพ UHD Alliance 

ประเดิมการทดสอบแรกด้วยค่าภาพเดิมๆ จากโรงงานกันก่อน ภาพที่ได้หลังแกะกล่องออกมา ให้ความประทับใจตั้งแต่แรกชม ด้วยคุณสมบัติของ QLED TV ที่ให้สีสันสดใสได้มากกว่าทีวีธรรมดาอย่างเห็นได้ชัดในโหมดภาพ Standard ขับภาพให้สดเด้งมีมิติ แต่ยังคงความธรรมชาติ ไม่ดูหลอกตาคล้ายกับโหมด Vivid ที่เร่งสีสันจนผิดเพี้ยน

ค่าภาพ HDR ก่อนคาลิเบรท ให้ความเที่ยงตรงของสีในเกณฑ์ดีเลย

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป โหมดภาพที่อยากจะแนะนำในการรับชมภาพยนตร์คือโหมด Movies และปรับอุณหภูมิสีอยู่ที่ระดับ Warm 1 เนื่องจากศักยภาพของ QLED TV ที่มีความสว่างสูงกว่าทีวีประเภทอื่นๆ จึงแนะนำให้รับชมภาพยนตร์ด้วยโหมดนี้ จะได้ภาพที่สบายตา สีสันให้ความถูกต้องเที่ยงตรงสูง รับชมในระยะยาวได้โดยไม่ล้าสายตา

ค่าภาพเดิมจากโรงงาน รับชมในโหมด Movies มีความคมชัดและให้สีสันที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ

หลังจากทำการปรับคาลิเบรท Samsung สามารถตอบสนองขอบเขตสีได้กว้างมากเลยทีเดียว ซึ่งรุ่นนี้รองรับ HDR10+ ช่วยสร้างความเปรียบต่างของแสงได้สูง ความสว่างสูงสุดอยู่ที่ 2,350 นิตซ์ (โหมด Dynamic)  ประกอบกับจอภาพแบบ VA และความสามารถในการทำ Local Dimming คอยปิดไฟ Backlight เพื่อควบคุมความดำ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว จนต้องยกให้เป็นจุดเด่นของ Q7FN นี้

ยืนยันว่าแสดงผลเป็น HDR10 ด้วยค่า Gamma ST.2084

เพราะลูกเล่นต่างๆ เหล่านั้น ทำให้มุมมองในการรับชมแบบตรง ไม่ได้แค่สีสันที่สดสมจริงเป็นธรรมชาติ ยังได้ความดำสูง แม้จะรับชมขณะปิดไฟก็ตาม แทบไม่มีอาการแสงลอดมากวนใจยามที่รับชมฉากที่มืด หรือกลับกัน ในการรับชมเวลากลางวัน จอภาพของ Q7FN ก็สู้แสงได้ดี ลดการสะท้อนของแดดบนจอภาพ เหมาะต่อการติดตั้งทุกสภาพห้อง

การทดสอบด้วยแผ่น UHD Blu-ray ผ่านเครื่องเล่น Cambridge Audio CXUHD ซึ่งเป็นเครื่องเล่นระดับไฮเอ็นด์ เหมาะที่จะทดสอบ Samsung Q7FN โดยภาพยนตร์ที่ใช้เป็นเรื่อง Blade Runner 2049 เพราะเรื่องนี้เป็นภาพโทนเย็น มีการเล่นสีสันที่หลากหลาย เนื้อภาพนุ่มจากการใส่ Film Grain ลงไป และรายละเอียดที่คมชัดสังเกตง่าย ซึ่งบุคลิกภาพเหล่านี้อาจรู้สึกว่าไม่เข้ากับสไตล์ภาพของ QLED TV จึงอยากลองทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่

จากที่รับชมแล้ว Samsung Q7FN ถ่ายทอดบุคลิกภาพได้ตามอารมณ์ภาพยนตร์แบบไม่ผิดเพี้ยน คงโทนสีสไตล์ฟิล์ม ไม่ได้ขับสีสันให้เด้งโดดเกินจริง เช่นฉากในเมืองที่มีแสงไฟนีออนตัดกับความมืด วัตถุที่อยู่ในความมืดอยู่ในระดับการมองเห็นตามจริง ไม่จมหาย ส่วนที่เป็นแสงไฟก็ขับแสงชัดสว่าง สร้างความเปรียบต่างระหว่างความมืดและความสว่างจาก HDR ได้ดีเยี่ยม

สีผิวถูกต้องตามธรรมชาติ แม้จะเป็น QLED TV แต่สีสันเนียนตาจนน่าประทับใจ

จุดให้สังเกตของเรื่องนี้ยังอยู่ที่สีผิวและเครื่องแต่งกาย เนื่องจากการย้อมภาพสไตล์ฟิล์ม สีสันจึงมีความทึมเพิ่มขึ้น ทำให้บางสีสันจืดลงไป เช่นเสื้อโค้ทของตัวเอกในเรื่องที่เป็นสีเขียว อ้างอิงจากคำพูดตัวละครในเรื่อง หากทีวีที่รับชมมีขอบเขตสีแคบ หรือจอภาพติดโทนใดโทนหนึ่ง รับรองว่าจะไม่เห็นเสื้อตัวเองเป็นสีเขียวแน่นอน ซึ่งจุดนี้ ผลพลอยได้จากเทคโนโลยีเม็ดสี Quantum Dot ที่มีอยู่ใน Samsung Q7FN ทำให้สามารถถ่ายทอดความถูกต้องของสีออกมาได้ตรงตามภาพยนตร์

ค่าภาพหลังคาลิเบรท ให้ขอบเขตได้กว้างถึง 96.4% ตามค่า DCI-P3 ผ่านมาตรฐาน UHD Premium แบบขาดลอย ทั้งยังคาลิเบรทได้ง่ายขึ้นด้วยฟีเจอร์ CalMAN AutoCal ที่มีเฉพาะรุ่น Q7FN ขึ้นไป

ความดีความเด่นของเทคโนโลยี Quantum Dot ไม่ได้เหมาะกับการรับชมคอนเท็นต์ประเภท HDR เพียงอย่างเดียว เพราะการรับชมผ่านช่องดิจิตอลทีวีของบ้านเรา ที่เป็นคอนเท็นต์ประเภท SDR ระดับความคมชัดและคุณภาพสีสันยากที่จะเติมเต็มอรรถรสแก่ผู้รับชม แต่เมื่อเทคโนโลยีภาพนี้ทำงานร่วมกันความสามารถในการอัพสเกลความละเอียดภาพให้ใกล้เคียงระดับ 4K มากขึ้น ทำให้การรับชมคอนเท็นต์ SDR มีรายละเอียดคมชัด สีสันสดใส ยกระดับอรรถรสการรับชมอีกเท่าตัว

ค่าภาพ SDR ก่อนคาลิเบรท
ค่าภาพ SDR หลังการคาลิเบรท ได้ขอบเขตสีดีเยี่ยม ผลจากฟีเจอร์ CalMAN AutoCal ที่ช่วยปรับสีสันให้ถูกต้องได้ดีขึ้น

และจุดเด่นที่ชื่นชอบที่สุดของรุ่นนี้ อยู่ที่ความลื่นไหลของภาพ ซึ่ง Q7FN สามารถเลือกปรับระดับการแทรกเฟรมภาพได้หลายระดับ แต่ในการรับชมภาพยนตร์นั้น แนะนำว่าควรใช้ค่ามาตรฐานที่มาจากโรงงาน เพราะค่าเดิมนี้สามารถให้ความลื่นไหลเนียนตาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องปรับแต่งใดๆ เลย ใครที่มักเวียนหัวจากอาการ Motion Sickness การเปิดแทรกเฟรมภาพของรุ่นนี้ ช่วยให้รับชมอย่างเพลิดเพลินเป็นเวลานานได้สบาย 

แต่คุณสมบัติด้านความลื่นไหลของ Samsung Q7FN ไม่ได้เหมาะแค่กับภาพยนตร์ ด้านเกมเล่นเกม รุ่นนี้ก็ใส่ฟีเจอร์เด็ดๆ อย่าง Game Mode และ Free Sync มาให้ด้วย ในส่วนของ Game Mode จะเป็นโหมดภาพสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้การตั้งค่าภาพเดิมได้ เพื่อลด Input Lag ที่อาจส่งผลต่อการเล่นเกม 

อีกโหมดการตั้งค่าที่ควบคู่กันกับ Game Mode คือโหมด Game Motion Plus ที่มีเฉพาะทีวีรุ่นสูงของ Samsung เอาไว้ปรับแต่งการแทรกเฟรมภาพ มีให้เลือกหลายระดับ เหมือนกับการปรับสำหรับรับชมภาพยนตร์ ช่วยให้โมชั่นในการเล่นเกมคอนโซลมีความลื่นไหลต่อเนื่อง ดูสมจริงได้มากกว่าการเล่นแบบธรรมดา ยิ่งการเล่นเกมแนว Racing หรือ Shooting ยิ่งเห็นถึงความต่างแบบชัดเจน

ถูกใจผู้ใช้งาน Xbox One S และ Xbox One X ได้การเล่นเกมแบบ 4K HDR แท้ๆ พร้อมโมชั่นลื่นไหลด้วยลูกเล่น FreeSync

ลูกเล่นด้านการเล่นเกมยังไม่หมด Samsung ได้เอาใจคอเกมอย่างเต็มที่ นำฟีเจอร์ FreeSync มาไว้ในทีวีเป็นครั้งแรก เพื่อจัดเต็มฟีเจอร์การเล่นเกมให้สมบูรณ์แบบ โดยฟีเจอร์นี้จะใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ FreeSync เช่นกันเท่านั้น ปัจจุบันมีเพียงเครื่องเล่นคอนโซล Xbox และ PC ที่รองรับความสามารถนี้

ฟีเจอร์ FreeSync ใน Q7FN มีให้เลือกปรับ 2 ระดับ ได้แก่ Basic กับ Ultimate การเปิด FreeSync จะช่วยให้ทีวีและเครื่องเล่นเกมรับส่งเฟรมภาพได้สอดคล้องกันในอัตราที่เหมาะสม ลดอาการภาพขาด (Screen Tearing) ที่มักเจอในการเล่นเกมขณะหมุนภาพตัวละคร หรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว คงความราบรื่นอย่างต่อเนื่อง

ชาวเกมเมอร์ทั้งหลาย แนะนำว่าให้เปิด Game Mode และ Game Motion Plus เอาไว้เลย
เดี๋ยวจะหาว่าโม้ รักษาอัตราเฟรมเรทไว้ที่ 59-60 Hz เมื่อเล่นผ่าน Xbox One S ที่มี FreeSync