31 Dec 2013
Review

รีวิวลำโพง Tangent รุ่น EVO E4 – บ่งบอกความเป็นตัวตนด้วยลำโพงสีจี๊ดจ๊าด เสียงดีเกินตัว!!


  • raweepon
ทั้งนี้ท่านที่สนใจอยากจะรับเจ้า EVO E4 ไปเลี้ยงดูก็สามารถเลือกสีตามรสนิยมส่วนตัวได้ โดยมีให้เลือก
ทั้งหมด 5 สีคือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีดำ และสีขาว

Sound – เสียง

และแล้วเราก็มาถึงยังส่วนของเสียงกันแล้ว การจะเลือกซื้อลำโพงมาใช้งานสักคู่ เราจะดูแต่รูปลักษณ์ของมันอย่างเดียวคงจะไม่ได้ใช่ไหมล่ะครับ? ยิ่งเจ้า Tangent รุ่น EVO E4 นั้นเป็นลำโพงขนาดเล็กแล้วคุณภาพเสียงที่ได้นั้นจะสู้กับลำโพงรุ่นใหญ่ได้ไหม และอาจจะมีการลดทอนคุณภาพของเสียงไปบ้างรึป่าว

ด้วยความกังวลและข้อสงสัยที่กล่าวมาทำให้เราต้องไปพิสูจน์กันแล้วล่ะว่ามันจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไปหรือไม่? ถ้าพร้อมแล้วกระผมก็ขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรับชมการทดสอบจริงพร้อมๆ กันเลย ณ บัด Now !!

การรับฟัง E4 ในระบบสเตริโอ (2 แชนเนล)

อันดับแรกกระผมได้ทำการทดสอบเจ้า EVO E4 โดยต่อฟังแบบ เพียวๆ 2 แชนเนล โดยเชื่อมต่อกับอินทิเกรตแอมป์สเตริโอยี่ห้อ Zound ของทางผู้นำเข้าเจ้าเดียวกัน ที่มีค่าตัวเหมาะกับ E4 มากๆ ผลลัพธ์จากขนาดตัวลำโพง E4 ที่ดูค่อนไปทางเล็กจิ๋วนี้ อาจไม่ให้เสียงเบสที่ปึ๋งปั๋ง โครมคราม แต่ก็พอเพียงกับเพลง Pop, Jazz ทั่วๆ ไป

จากที่กระผมได้นำกลับไปทดลองฟังเพลงที่บ้านอยู่หลายวัน พบว่าคุณภาพเสียงดี ตู้สวยเกินคาด
(แอบอยากได้มาใช้สักคู่เลยล่ะ)

การจัดวางปรับเซ็ตตำแหน่งนั้นจำเป็น ลำโพงเล็กแบบนี้ต้องอาศัยผนังช่วยในการปรับจูนระดับเสียงย่านต่ำ แนะนำว่าอย่าวางห่างจากผนังหลังเกินกว่า 40 ซม. (วัดจากผนังตู้ด้านหลังลำโพง ถึงผนัง) ก็จะช่วยเสริมดุลเสียงขึ้นมา ไม่ให้เทไปทางกลางแหลมอย่างเดียว อันเป็นแนวทางปกติสำหรับการใช้งานลำโพงเล็ก

คุณภาพของเสียงกลางที่เปล่งออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบมิดเรนจ์ของ EVO E4 แสดงน้ำเสียงคนร้องออกมาได้ชัดเจน “ถือว่าเป็นจุดเด่นของ Tangent เขาล่ะครับ” ในส่วนของเสียงแหลมก็คมใสชัดเจนไม่จัดจ้านเกินไปนัก อาจทดลองใส่หน้ากากผ้าเพื่อปรับจูนเสียงกลางแหลมร่วมด้วยได้ ซึ่งกับหลายๆ อัลบั้มไม่ว่าจะเป็น เพลงไทย และเพลงสากล แบบขับร้อง หรือบรรเลงเบาๆ ฟังได้เรื่อยๆ ลำโพงขนาดเล็กคู่นี้ให้เสียงที่น่าฟังเลยทีเดียวสำหรับการใช้งานง่ายๆ แบบตั้งวางบนโต๊ะ หรือวางหิ้ง

การรับฟัง E4 ในระบบสเตริโอ (2.1 แชนเนล)

เมื่อทดลองใช้งานแบบ E4 เพียวๆ ไปแล้ว ลองใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบ 2.1/5.1 แชนแนล โดยในการทดสอบนี้ จะอ้างอิงร่วมกับลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ Elac SUB 2030 ที่มีขนาดกะทัดรัดเข้ากันเป็นอย่างดี การเสริมย่านต่ำลึกด้วยซับวูฟเฟอร์ จะช่วยให้รองรับการใช้งานได้หลากหลายแนวมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการรับชมภาพยนตร์ และเล่นเกมที่หนักหน่วง

แผ่นที่ใช้ทดสอบคือ คอนเสิร์ต THE EAGLES FAREWELL LIVE FROM MELBOURNE และภาพยนตร์เรื่อง
G-FORCE กับ RESIDENT EVIL RETRIBUTION

จากการทดลองรับชมทั้งคอนเสิร์ต แอนิเมชั่น และภาพยนตร์แนวเอคชั่นด้วยระบบเสียง Stereo ที่ต่อผ่าน AVR Receiver พบว่าเสียงกลางที่ขับออกมาจากซับวูฟเฟอร์ถือว่าชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ แต่ในส่วนของการเก็บรายละเอียดน้ำเสียงของคนจะติดบางไปเล็กน้อย ทั้งนี้ถ้าหากเป็นฉากที่มีเสียงปืน เสียงระเบิดอาจจะต้องใช้ซับวูฟเฟอร์เข้ามาช่วยเสริมแรงอีกที ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ว่าชุดไหน กับการชมภาพยนตร์จริงจัง ยังไงก็ขาดซับวูฟเฟอร์ไม่ได้อยู่แล้ว

การรับฟัง E4 ในระบบโฮมเธียเตอร์ (5.1 แชนเนล)

ในการจัดเซ็ตลำโพงโฮมเธียเตอร์รอบทิศทางนั้น สามารถนำ E4 3 คู่ มาจัดวางแบบ 5.1/6.1 แชนเนล ซึ่งสามารถเลือกสีลำโพงได้หลากหลายมากมายตาม E4 ที่มีเลย การนำ E4 1 ข้าง มาทำเซ็นเตอร์อาจจะดูแปลกตา เนื่องจากปกติจะเห้นลำโพงเซ็นเตอร์แบบแนวนอนเสียส่วนใหญ่ แต่ในสตูดิโอเขาก็ใช้ลำโพงแบบตู้ปกติทรงสูงแบบนี้กันเยอะนะ และเรื่องความกลมกลืนนั้น ไม่ต้องห่วงเลย เพราะเป็นลำโพงแบบเดียว รุ่นเดียวกันทั้งหมด แต่อาจต้องตรวจสอบตำแหน่งทีวางลำโพงเซ็นเตอร์ก่อน ว่ามีที่พอวาง E4 ได้หรือเปล่า โดยเฉพาะถ้าต้องวางในช่องชั้นใต้ทีวี

หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ ใช้ E4 2 คู่ และหา E5C อีก 1 ข้าง ซึ่งรุ่น E5C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์แบบวางนอนที่คุ้นเคย (ดูรูปด้านบนประกอบ) แบบนี้จะรวมลำโพงเป็นเซ็ต 5 แชนเนล พอดี แต่ E5C จะมีสีจำกัดแค่สีขาว และดำ เท่านั้น หากใครซีเรียสเรื่องสีของลำโพงที่เข้าชุดกันทั้งเซ็ต อาจจะมีตัวเลือกน้อย เพราะจะเลือกสี E4 แบบสดใสไม่ได้ เนื่องจาก E5C มีสีจำกัด ตัวเลือกไม่เยอะเหมือน E4

เดี๋ยวมาลองเสียง E4 กับระบบรอบทิศทางกันบ้าง