08 May 2014
Review

เพชรนี้เลอค่า… อมตะ ?? รีวิว Wharfedale Diamond 100 Series HomeTheater Speakers


  • ชานม

Design – การออกแบบ

เริ่มจากลำโพงคู่หน้า แบบตั้งพื้น คือ Diamond 155 ถึงแม้จะเป็น “รุ่นตั้งพื้น” ที่มีขนาดเล็กสุดในซีรี่ส์
แต่ขนาดโดยรวมก็ไม่ได้เล็กนะครับ ดูจากปริมาตรตัวตู้ถือว่ากระเดียดไปทางใหญ่อยู่ ออกแบบเป็นลำโพงตู้เปิด Bass-reflex port อยู่ด้านล่าง ติดตั้งวูฟเฟอร์ Woven Kevlar คู่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 165 มม. และ Soft Dome Tweeter ขนาด 25 มม. น้ำหนักต่อข้าง เกือบ 20 กก. เลยทีเดียว นับว่าไม่น้อย (ดูรูปโครงสร้างตัวตู้ที่ลงไว้ในหน้าแรก ก็คงพอจะทราบว่าหนักเพราะอะไร)

ถัดมาเป็นลำโพงวางขาตั้ง รุ่นเล็กสุดของซีรี่ส์ คือ Diamond 121 มารับหน้าที่เป็นลำโพงเซอร์ราวด์
(แต่จะมีสลับมาใช้งานเป็นคู่หน้าในบางโอกาส จะกล่าวถึงในช่วงรายงานการทดสอบ)

ขนาดตัวตู้ก็นับว่ากะทัดรัด (แต่ไม่เล็กมาก) ตามสไตล์ลำโพงวางขาตั้งไซส์เล็ก มาพร้อมวูฟเฟอร์ Woven Kevlar ขนาด 130 มม. และ Soft Dome Tweeter ขนาด 25 มม. ออกแบบเป็นตู้เปิด ท่อพอร์ทอยู่ด้านล่างเช่นเดียวกับรุ่นตั้งพื้น

ผู้รับหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดเสียงสนทนาของภาพยนตร์ คือ Diamond 101C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์ไซส์เล็กสุดของซีรี่ส์ ขนาดกำลังดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ จัดวางวูฟเฟอร์คู่ Woven Kevlar ขนาด 130 มม. ขนาบ Soft Dome Tweeter ขนาด 25 มม. (ตัวขับเสียงไซส์เดียวกับ 121) ท่อพอร์ทจัดวางด้่านล่างตัวตู้เช่นเดียวกัน

ลำโพงโฮมเธียเตอร์จะสมบูรณ์มิได้เลย หากขาดลำโพงซับวูฟเฟอร์ และรุ่นที่รับหน้าที่สำคัญดังกล่าวนี้ คือ
ลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ Wharfedale ในซีรี่ส์ POWERCUBE รุ่น SPC-10

ลวดลายตัวตู้นับว่าแม็ตช์เข้ากับลำโพงหลักในซีรี่ส์ Diamond 100 ได้พอดิบพอดี ภายใต้ตัวตู้ลายไม้โค้งมน ดูเก๋ไก๋นี้ (ออกแบบเป็นตู้ปิด) อัดแน่นไปด้วยพละกำลังจากภาคขยาย Class D ขนาด 215W (450W Peak)

ตัวขับเสียงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ติดตั้งไว้ด้านล่างของตัวตู้ในลักษณะ “ยิงลงพื้น”
การใช้งานจะต้องติดตั้งเดือยแหลมรองรับตัวตู้ เพื่อให้ตำแหน่งตัวขับเสียงมีช่องว่างห่างจากพื้นเล็กน้อย

ความเก๋อีกอย่างของ SPC-10 คือ ปุ่มปรับระดับเสียง และครอสโอเวอร์จะติดตั้งอยู่ด้านบนตัวตู้ ซึ่งให้ความสะดวกต่อการใช้งานมากกว่านำไปไว้ด้านหลังตัวตู้ครับ แต่มิใช่แค่นั้น เพราะว่าปุ่มปรับนี้จะมีไฟเรืองสว่างเป็นวงอัตโนมัติเมื่อทำการหมุนปรับด้วย เจ๋งมาก เวลาใช้งานในห้องโฮมฯ มืดๆ มองเห็นชัดดีนักแล (ไฟนี้จะดับลงไปเองเมื่อมิได้มีการสัมผัสปรับอะไร)

จะดูว่าแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ให้ความยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากน้อยเพียงใด ก็ต้องดูที่ช่องต่อด้านหลัง

ซึ่ง SPC-10 นับว่า จัดเต็ม ให้ความยืดหยุ่นดีมาก ช่องต่อสัญญาณเสียงอินพุตทั้งแบบ Low-level (เชื่อมต่อทางสายสัญญาณ RCA) รองรับทั้งแบบ Stereo Input สำหรับใช้งานกับซิสเต็มฟังเพลง และ Mono LFE สำหรับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ และ High-Level Input (เชื่อมต่อสัญญาณทางสายลำโพง)

และยังมีเมนเพาเวอร์สวิทช์ (ตัดไฟเมื่อไม่ใช้งานนานๆ) และสวิทช์ปรับชดเชยเฟส (0°/180°) ทั้ง 2 ปุ่มปรับนี้ จะอยู่ทางด้านหลัง จัดวางเหนือช่องต่ออินพุต ขั้วต่อสายไฟเป็นแบบ IEC ถอดสายได้

Setup – การติดตั้ง

ในชุดลำโพง Wharfedale Diamond 100 ในรุ่นตั้งพื้น และซับวูฟเฟอร์ จะให้จานรองสไปก์ (เดือยแหลม) มาด้วย

การใช้งาน Diamond 155 ลำโพงตั้งพื้น ซึ่งจะต้องติดตั้งเดือยแหลมเอาไว้เสมอ และปรับระดับให้ได้ระนาบที่มั่นคง ห้ามละเลยเป็นอันขาด ส่วนท่านใดที่กังวลว่าเดือยแหลมของลำโพงจะทำให้พื้นเป็นรอย สามารถนำจานรองมาใช้งานได้ดังรูป

และเช่นกัน เมื่อใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ จะละเลยไม่ติดตั้งเดือยแหลมมิได้เป็นอันขาด เนื่องจากเดือยแหลมจะเป็นตัวกำหนดระยะห่างของวูฟเฟอร์กับพื้น กรณีที่พื้นตั้งวางไม่ได้ระนาบ จะต้องปรับเดือยแหลมเพื่อให้ลำโพงมีเสถียรภาพ สามารถนำจานรองมาใช้งานได้ ถ้ากลัวพื้นเป็นรอย

ในส่วนของลำโพงวางขาตั้ง และลำโพงเซ็นเตอร์จะมีการติดตั้งวัสดุสังเคราะห์รองรับตัวตู้อยู่แล้ว
สามารถวางบนขาตั้ง หรือชั้นวางที่มั่นคงได้โดยตรง

การเชื่อมต่อสายลำโพง กรณีที่จะเชื่อมต่อแบบ “ไบไวร์” หรือ “ไบแอมป์” จะต้องถอดจัมเปอร์โลหะออกก่อน
ซึ่งขั้วลำโพงของ Wharfedale ออกแบบให้เอื้อต่อการเสียบต่อสายลำโพงหลายๆ ลักษณะได้สะดวกดี

สำหรับการเชื่อมต่อซับวูฟเฟอร์นั้น เพียงเชื่อมต่อสายสัญญาณจากช่อง Subwoofer Out ของ AV Receiver มายังช่อง Low Level “1/LFE” In ของ Wharfedale SPC-10

การตั้งค่าเริ่มต้นของซับวูฟเฟอร์ ให้ปรับระดับ Level ที่แผงหน้าปัดเริ่มต้นไว้ที่ตำแหน่ง 12 น., Phase 0° จากนั้นเปิดสวิทช์เพาเวอร์ของซับวูฟเฟอร์ และ AVR เสียบสาย Mic แล้วดำเนินขั้นตอน Speaker Auto Calibration ที่ AVR ได้เลย