01 Jan 2014
Review

สัมผัสคุณภาพเสียงระดับ Best-seller !! รีวิว Wharfedale Diamond 122 Bookshelf Speaker


  • ชานม

Hi-Fi Speaker System

Wharfedale Diamond 122

อีกหนึ่ง “อัญมณี”
ประดับวงการลำโพง !!

ในบรรดาลักษณะลำโพงที่วางขายกันอยู่ ลำโพงวางขาตั้งขนาดกลางน่าจะเป็นรูปแบบที่เอื้อต่อการใช้งานมากที่สุด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ การตอบสนองความถี่ที่ครอบคลุมกับปริมาณเบสที่เพียงพอต่อการใช้งานหลากหลาย ในขณะที่ขนาดไม่ได้ใหญ่โตมากนัก การติดตั้งจึงไม่ต้องการพื้นที่มากเหมือนลำโพงตั้งพื้น ความเสี่ยงที่เบสบวมในบางสถานการณ์ก็ย่อมจะน้อยกว่า… วันนี้จะมาทดลองใช้งานอีกหนึ่งลำโพงวางขาตั้งในตระกูล Diamond ที่ถือเป็นรุ่นที่ขายดีตลอดกาลของ Wharfedale รวมถึงการใช้งานในแบบ 2.1 ด้วยครับ

Design – การออกแบบ

กล่าวถึง Diamond 122 เป็นลำโพงวางหิ้งลำดับที่ 2 ของ Wharfedale Diamond 100 Series
หากเทียบขนาดของ 122 จะเหมือนกับเอาลำโพงวางพื้นรุ่น 155 ไปตัดส่วนล่างออก

ตัวขับเสียงที่ติดตั้งมาก็มีขนาดเท่ากันกับ 155 คือ ทวีตเตอร์โดมผ้าเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 25mm ติดตั้งไว้ภายในโครงสร้าง “เวฟไกด์” แบบใหม่ มองเผินๆ คล้ายขอบเซอร์ราวด์ของวูฟเฟอร์ แต่อันที่จริงเป็นวัสดุสังเคราะแข็ง หล่อขึ้นเป็นรูปทรงเพื่อควบคุมมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์

ในส่วนของวูฟเฟอร์มิดเรนจ์/เบส ขนาด 6 1/2 นิ้ว นั้น ท่านใดที่คุ้นเคยกับลำโพงของ Wharfedale มาก่อน จะทราบว่าเจ้านี้เขาเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์นำมา “ถักสาน” เป็นไดอะแฟรมมาช้านาน สำหรับ Diamond Series ก็ยึดมั่น Woven Kevlar เช่นเคย

ลวดลายถักสานบนผิวไดอะแฟรมที่เห็น คือ “เคฟล่าร์” แต่ที่พิเศษ คือ ผนวกลักษณะโครงสร้าง “ลายแฉก” จากรูปทรงครึ่งวงรี (Semi-elliptical) วางเรียงในแนวรัศมี ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่ทาง Wharfedale ใช้เสริมเพิ่มความแกร่งให้กับไดอะแฟรมของรุ่นไฮเอ็นด์ (Jade) เพื่อเพิ่มความแกร่ง ป้องกันการเสียรูป

นอกจากนี้ในส่วน “ขอบเซอร์ราวด์” ก็ยังมีลวดลายเป็นเส้นตัดไขว้กันไปมา (เหมือนกากบาท) ทาง Wharfedale เรียกว่า “Diamond Pattern” ซึ่งเป็นเทคนิคเสริมเพิ่มเสถียรภาพ ลดทอนปัญหาคลื่นสั่นค้าง ช่วยให้ไดรเวอร์หยุดตัวได้ดีขึ้น

(ซ้าย) Wharfedale Diamond 100 Series และ (ขวา) Wharfedale Jade Series
รูปนี้เปรียบเทียบให้เห็นว่า เทคโนโลยีตัวตู้ลำโพงของ Diamond 100 ถ่ายทอดลงมาจากรุ่น Jade โดยตรง

122 แม้จะเป็นลำโพงแบบวางขาตั้ง ตัวตู้ไม่ใหญ่ แต่การปรับจูนตัวตู้ก็ไม่แพ้รุ่นใหญ่

ลักษณะการออกแบบ Bass-reflex ที่มิได้ใช้ “ท่อ” ดังเช่นลำโพงทั่วๆ ไปนั้น อาศัยช่องเปิดจัดวางไว้ด้านล่างตู้ลำโพง จึงมีการเว้นระยะตู้ลำโพงกับแผ่นฐาน (plinth) ออกจากกัน การทดสอบใช้งานในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะดังกล่าวมีส่วนช่วยยกลอยตู้ลำโพงจากปัญหาการกระพือของโครงสร้างรองรับด้านล่างตู้ลำโพงได้ด้วยครับ

ขั้วลำโพงด้านหลัง จัดวางแบบสับหว่างอันเป็นเอกลักษณ์ของ Wharfedale
อันจะช่วยให้การเสียบต่อสายลำโพงทำได้สะดวกดีมาก ไม่ว่าจะเข้าสายแบบปลายเปลือย
หางปลา หรือ บานาน่า ไปจนถึงโครงสร้างสายลำโพงใหญ่ก็ดำเนินการได้ไม่ติดขัด

หน้ากากลำโพงดูเก๋ดี โดยแยกอิสระสำหรับทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์
ไม่ได้เป็นชิ้นเดียวปิดคลุมไปทั้งแผงหน้าเหมือนลำโพงทั่วไป