01 Jan 2014
Review

อีกหนึ่งอัญมณีประดับวงการลำโพง !! รีวิว Wharfedale Quartz Series 5.1


  • ชานม

Sound – เสียง

สไตล์เสียงของลำโพง Wharfedale นั้น ก็อย่างที่หลายท่านทราบว่าจะออกแนวนุ่มนวล เรียกว่าหาความหยาบกระด้างไม่เจอเลย และก็เช่นกันว่า Quartz Series ก็ไม่ผิดไปจากนี้ น้ำเสียงที่นุ่มนวล ฟังสบายๆ ต่อเนื่อง ไม่รุกเร้าแบบนี้ยังคงยึดมั่นเอาไว้ได้เช่นเคย ซึ่งไม่ว่าจะตั้งวางในสภาพแวดล้อมเช่นไร ก็ให้ผลลัพธ์ดังที่กล่าวไปข้างต้นเสมอ ด้วยระดับราคาที่ต่ำกว่า Diamond 100 Series บางอย่างก็ย่อมจะย่อหย่อนลงไปบ้าง กระนั้น ในบางประเด็นพบว่า Quartz เองก็ทำได้ดี และก็มีบางจุดที่ออกจะได้เปรียบ Diamond 100 เสียด้วย ประเด็นที่ว่าคืออะไร?

Quartz Series

นอกเหนือจากประเด็นที่ว่า Quartz มีราคาต่ำกว่าแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของความง่ายในการเซ็ตอัพ ประการแรก การเลือกภาคขยายมาแม็ตช์กับ Quartz Series ทำได้ง่ายกว่าเล็กน้อย เดิม Diamond 100 (155) นั้น พบว่า หากแม็ตช์ซิสเต็มไม่ดี ภาคขยายกำลังไม่ถึง เสียงจะไม่กระฉับกระเฉงเท่าที่ควร จึงต้องพิถีพิถันกันในประเด็นนี้สักหน่อย ซึ่งถ้าทำได้ก็แน่นอนว่าจะได้รับความพึงพอใจเต็มที่ ในขณะที่ Quartz เองนั้น ประเด็นเรื่องการแม็ตชิ่งแนวเสียงของซิสเต็ม มิใช่จะละเลยได้ ทว่าความต้องการในเรื่องของพละกำลังจากภาคขยายนั้น สามารถย่อหย่อนลงได้ระดับหนึ่ง

นั่นหมายความว่านอกเหนือจากงบของลำโพงที่ต่ำกว่า เรื่องของงบประมาณภาคขยายที่นำมาใช้งานก็อาจจะน้อยลงได้มากกว่าด้วย ที่พูดแบบนี้มิได้หมายความว่าจะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับภาคขยายนะครับ แต่หากงบจำกัดจริงๆ หรือเป็นกรณีใช้งานซิสเต็ม Home Theter in a Box อยู่ แล้วจะอัพเกรดชุดลำโพงมามอง Quartz “น่าจะ” ให้ความลงตัวได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำเสมอ คือ แนวเสียงจะต้องไปกันได้ด้วย

ประเด็นนี้พิสูจน์ด้วยผลการใช้งานร่วมกับ Denon AVR-X500 ซึ่งถือเป็น AVR รุ่นน้องสุดท้องในตระกูล X Series ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจไม่น้อยเลยดีเดียว เรียกว่าความหนาของเนื้อเสียง บาลานซ์กับแนวเสียงติดรุกเร้านิดๆ ของ Denon AVR ได้เป็นอย่างดี รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้ง แต่ก่อนอื่นขอพูดถึง ข้อดีจาก Quartz Series ประการที่สอง ที่ส่งผลผลเกี่ยวเนื่องจากความง่ายในการเซ็ตอัพ คือ ลักษณะทางกายภาพ

หากเทียบกันในรุ่นตั้งพื้น Quartz Q7 จะมีขนาดตัวตู้ที่เล็กกว่า Diamond 155 อยู่เล็กน้อย แน่นอนปริมาณเบสจะน้อยกว่า ทว่าแง่หนึ่งถือเป็นข้อดี หากเป็นการใช้งานในพื้นที่จำกัดคับแคบ พบว่า ผลกระทบจากระยะตั้งวางที่ค่อนข้างชิดติดผนัง Q7 จะได้รับผลกระทบไม่มากเท่า 155 กล่าวคือ เบสจะบวมน้อยกว่า ซึ่งเมื่อปริมาณความคลุมเครือย่านต่ำลดลง ดุลเสียงย่านกลางแหลมจะเปิดเผยให้เห็นชัดขึ้น เช่นเดียวกับการรับฟังจะผ่อนคลายมากขึ้นเพราะความรู้สึกอึดอัดจากการเหลื่อมล้ำของปริมาณเบสจากผลกระทบของสภาพแวดล้อม ลดน้อยลง

แต่ที่ดู “อะเมซิ่ง” เมื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมจำกัดแบบนี้ กลับเป็นลำโพงวางขาตั้ง คือ Q1 (คู่ละ 5 พันกว่าบาท) เป็นซิสเต็มที่ดูเล็กๆ ง่ายๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวมากทีเดียว เดิมกรณีของ Q7 แม้ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่อาจจะยังรู้สึกถึงอาการโด่งล้ำช่วงย่านความถี่ต่ำจากข้อจำกัดของระยะตั้งวางอยู่บ้าง เมื่อสลับเป็น Q1 จึงให้เบสที่กระชับ เก็บตัวดีกว่า ขณะที่ยังคงอ้างอิงกับ AVR รุ่นเล็ก

กับซิสเต็มฟังเพลง หากเน้น Vocal เสียงกลางของ Wharfedale ที่อิ่มหนามาถูกทางแล้ว ลูกคอไม่ถึงกับใสกระจ่างเป็นแก้วเจียรไนรายละเอียดระยิบระยับ ทว่าฟังสบาย หากได้ภาคขยายที่เหมาะสม จะให้ช่วงปลายเสียงทอดยาวขึ้นด้วย ส่วนย่านต่ำลำพัง Q1 โดดๆ เวลาฟังเพลงก็ให้ปริมาณเบสได้เพียงพอ แต่หากรับชมภาพยนตร์คงเลี่ยงซับวูฟเฟอร์ไม่ได้

ประเด็นใช้งานเป็นชุดโฮมเธียเตอร์นั้น หากว่ากันที่ความคุ้มค่าของซับวูฟเฟอร์ในงบประมาณต่ำหมื่น คงมีตัวเลือกดีๆ น้อย แต่กระนั้นที่น่าจับตามอง ไม่อาจละเลยพูดถึงลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ในชุดนี้ คือ WH-S10 ไปได้ ด้วยพื้นฐานที่เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ตู้ปิด กับภาคขยายกำลังขับสูงถึง 215 วัตต์ (เข้าใจว่าจะเป็น Class-D) มีศักยภาพควบคุมไดรเวอร์ช่วงชักยาวขนาด 10 นิ้ว ได้เป็นอย่างดี ไม่เกิดเสียงแปลกปลอมผิดเพี้ยนเมื่อเปิดในระดับเสียงที่พอเหมาะ เบสกระชับไม่ย้วยยาน แต่ถ้าเทียบกับรุ่นระดับราคาที่สูงกว่าอย่าง Wahrfedale POWERCUBE SPC Series (ซับวูฟเฟอร์ที่จับคู่กับ Diamond Series) ขีดความสามารถในการถ่ายทอดเบสลึกที่ระดับความดังสูงจะทำได้ดีกว่า แต่กับราคา 7 พันกว่าบาทของ WH-S10 ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลยนะ หากเซ็ตอัพลงตัว ก็ให้อรรถรสและความกลมกลืนกับซิสเต็มลำโพงโฮมเธียเตอร์ได้เป็นอย่างดี

Q7+Q1+QC1+WH-S10 กับห้องโฮมเธียเตอร์เป็นสัดส่วน จะดึงศักยภาพออกมาได้คุ้มค่ามาก การจับคู่กับ X500 ยังคงใช้งานได้ผลลัพธ์ที่ดี ขยายมิติเสียงรายล้อมได้เต็มห้อง ทว่าหากโฟกัสในบางจุดจะพบว่ายังย่อหย่อนอยู่บ้างตามงบประมาณ ซึ่งมิใช่เรื่องผิดปกติ อาทิ น้ำหนักเสียงความถี่ต่ำจะขาดแรงปะทะไปสักนิด ทดลองขยับไปจับกับ AVR-X2000 พร้อมกับอัพเกรดสายลำโพงไปด้วย (เดิมกับ X500 ใช้สายลำโพงแถมเพราะขั้วลำโพงแบบหนีบทำให้เปลี่ยนสายลำบาก) พบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เสียงความถี่ต่ำจะให้โฟกัส และมีน้ำหนักมากขึ้น ในขณะที่รายละเอียดเสียงจะแจ้งขึ้นอีกระดับ

อย่างไรก็ดีเพดานของผลลัพธ์ที่ได้จะยังจำกัดเป็นรอง Diamond 100 Series อยู่ครับ พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีการอัพเกรด โดยพื้นฐานของลำโพงซีรี่ส์สูงกว่าจะส่งเสริมผลลัพธ์ขึ้นไปได้ไกลกว่า ยกตัวอย่าง กรณีอัพเกรด AVR เป็น X2000 โดยพื้นฐานปกติหรือเมื่อกำหนดใช้งานภาคขยายของเป็น Bi-amp เพื่อขับ 155 ผลลัพธ์ทางเสียงที่ได้จะขยายขอบเขตเหนือขึ้นไปอีกระดับนึงเลยเมื่อเทียบกับ Q7 (Quartz Series เป็นลำโพง Single-wire ไม่สามารถ Bi-wire หรือ Bi-amp ได้ แต่มิใช่เรื่องผิดปกติหรือเกินความคาดหมายสำหรับลำโพงระดับราคานี้) ทีนี้ก็อยู่ที่งบประมาณแล้วล่ะครับว่าพึงพอใจในระดับใด ถ้างบจำกัด Quartz ก็ให้ความคุ้มค่าเช่นเดียวกัน

Conclusion – สรุป

ด้วยระดับราคาน่าสนใจ เริ่มต้นแค่ 5 พันต้นๆ สำหรับลำโพง Wharfedale Quartz Series ในรุ่นวางขาตั้ง ขณะเดียวกันรูปลักษณ์ภายนอก ก็สมราคา ดูทันสมัย จึงเป็นบรรทัดฐานซีรี่ส์ลำโพงที่ให้ความคุ้มค่าในระดับสูง หากได้ซิสเต็มเครื่องเสียงที่ลงตัวเข้ากันแล้วละก็ เชื่อว่าจะให้ความพึงพอใจทั้งคุณภาพเสียง และจำนวนเงินที่เหลือในกระเป๋าครับ

หมายเหตุ: ทราบมาว่า Quartz จะมาแทน Vardus Series ซึ่งมีระดับราคาใกล้เคียงกัน ท่านใดที่สนใจอาจหาโอกาสไปทดลองฟังเปรียบเทียบทั้ง 2 ซีรี่ส์นี้ดูได้ที่ร้านตัวแทนจำหน่ายครับ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.00
เสียง (Sound)
8.25
ลูกเล่น (Features)
8.25
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.30

คะแนน Wharfedale Quartz Series HT Speaker Set

8.3

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– แม้เข้าข่ายลำโพงรุ่นประหยัด แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับดีไซน์ เน้นเรียบๆ แต่ดูดี แผงหน้าวัสดุสังเคราะห์สีดำเงา กับตัวตู้ลายไม้สีดำที่เน้นเหลี่ยมมุมชัดเจน งานประกอบลวดลายไม่เนี้ยบหรูถึงขั้น Diamond แต่เรื่องเสียงไม่ธรรมดา  
– ยังคงเอกลักษณ์น้ำเสียงแบบ Wharfedale เช่นเคย คือ ออกแนวนุ่มนวล ฟังสบาย ไม่รุกเร้า เสียงกลางที่หวานอิ่ม รายละเอียดกำลังดี ขนาดของรุ่นตั้งพื้น Q7 ไม่เทอะทะ จัดวางได้ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่ที่เห็นจะถูกใจเป็นพิเศษคือรุ่นวางหิ้ง Q1 หากได้ภาคขยายที่แนวเสียงแม็ตช์กัน (ไม่จำเป็นต้องกำลังสูง) ก็ให้เสียงโดดเด่นลงตัว ซับวูฟเฟอร์คุ้มราคา 7 พันกว่าบาทมาก
– ลำโพงตั้งพื้นมีสไปก์ปรับระดับโลหะ พร้อม Shoe รองรับกันพื้นเป็นรอย ทำจากวัสดุสังเคราะห์หยุ่นตัวเล็กน้อยคล้ายยาง ไม่ใช่โลหะเงาแบบรุ่น Diamond 100
– ขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์พลาสติกสีแดงดำ แบบซิงเกิลไวร์ ขนาดจะเล็กกว่าปกติ จึงเข้าสายลำบากกว่านิดหน่อย แต่ใช้งานได้ไม่ติดขัด
– ชุดลำโพงแบบ Full-size ราคาประหยัดจาก Wharfedale ที่มีศักยภาพในแง่ถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้เกินตัว ท่านใดกำลังมองหาลำโพงโฮมเธียเตอร์ราคาไม่สูง มองดู Quartz Series ก็นับว่าเป็นตัวเลือกน่าสนใจครับ

by ชานม !
2014-02

ราคา Wharfedale Quartz Series
Quartz Q7 Floorstanding = 15,000.-
Quartz Q1 Bookshelf = 5,500.-
Quartz QC1 Center = 5,000.-
WH-S10 Active Subwoofer = 7,900.-

ขอขอบคุณร้านไฮไฟทาวเวอร์(HiFi Tower)
ร้านขายเครื่องเสียงใหญ่ที่สุดในย่านฝั่งธน
ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ในการทดสอบครั้งนี้ด้วยครับ โทร. 02-8817273-7