01 Jan 2014
Review

AVENTAGE The Season of Advent !!! Yamaha RX-A1010


  • ชานม

The Season of Advent !!!

หากย้อนอดีตที่ผ่านมา Yamaha ไม่เคยตั้งชื่อซีรี่ส์ให้กับ AVR ของตนมาก่อนเลย นี่จึงเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าการเปิดตัวซีรี่ส์ใหม่ภายใต้ชื่อ “AVENTAGE” ครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา กล่าวได้ว่า เป็นการปฏิวัติแนวคิดในการปรับปรุงรูปแบบของ AVR ระดับกลาง ไปจนถึงสูง เลยทีเดียว !?

AVENTAGE มาจากการผสมรวมคำ 3 คำ คือ Audio/Video + ENTertainment + New AGE หากจะอธิบายความหมาย ก็น่าจะเป็น “ระบบความบันเทิงด้านภาพและเสียงยุคใหม่” อันคำว่า “ยุคใหม่” แฝงนัยของการเปลียนแปลงอยู่ แต่จะเปลี่ยนแค่ไหน อย่างไร จะเรียกว่า “ปฏิวัติ” ได้หรือไม่ คงต้องมาพิสูจน์กัน

Design – การออกแบบ

ถึงแม้แนวคิดทางการตลาดของ AVENTAGE จะออกมาค่อนข้างชัดเจนในแง่ของการปฏิวัติปรับเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบ AVR แต่ลักษณะภายนอกโดยทั่วไป ก็ยังคงสไตล์ Yamaha AVR (รุ่นใหญ่) ดังที่ผ่าน ๆ ตามา กล่าวคือ ไม่มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้แหวกแนวออกไปจากเดิมนัก (เห็นหน้าตาแบบนี้ก็รู้ว่าเป็น AVR Yamaha) สำหรับ RX-A1010 ที่ส่งมาทดสอบคราวนี้มาด้วยตัวถังสีดำ แต่น่าจะสามารถหา สี Titan(ium) ! อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Yamaha AVR ได้เช่นเดียวกัน (หากนึกสี Titan ไม่ออก ก็ดังเช่นที่ผ่านตาในรุ่นเล็กอย่าง RX-V471 ที่ส่งมาทดสอบก่อนหน้านี้)

เปรียบเทียบกับซีรี่ส์ก่อน (RX-V1067) ดูเผิน ๆ ก็คล้ายกัน จะต่างบ้าง ก็ในจุดเล็ก ๆ แน่นอนว่าจุดต่างที่สามารถใช้แยกแยะรุ่นเก่ากับใหม่ได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวอักษร “AVENTAGE” เล็ก ๆ ที่กำกับไว้ที่มุมขวาบน ว่าแต่ อะไรคือ “ความแตกต่าง” (ที่แท้จริง) ของ Yamaha AVENTAGE AVR ?

ภาพรวมของแนวคิดในการปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์ จากคอนเซ็ปต์ AVENTAGE

นอกจากรหัสรุ่นที่เปลี่ยนตัวอักษรนำหน้าตัวเลขจาก V เป็น “A” แล้ว (เช่น RX-V1067 กลายเป็น RX-A1010) ก็คงมีเพียงแผงหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เรียกว่าถ้าไม่ตั้งข้าง ๆ กัน คงแยกไม่ออก อาจนึกว่าเป็นรุ่นเดิมด้วยซ้ำ กระนั้นหากจะว่ากันตามตรง ความพิเศษของ AVENTAGE ส่วนใหญ่่มิได้โชว์หลาให้เห็นจากรูปลักษณ์ภายนอก หากแต่แฝงอยู่ภายในต่างหาก… แบบนี้จะเรียกพิมพ์นิยม รุ่นปิดทองหลังพระหรือเปล่า? ว่าแล้วคงต้องเจาะกันทีละจุด (ที่สำคัญ พอหอมปาก หอมคอ)

ขอเริ่มจาก “ช่วงล่าง” ก่อนแล้วกัน… เมื่อส่องข้างใต้ดู จะพบบางสิ่งให้แปลกใจเล่น เพราะเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยกับสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ตรง “หว่างขา” แหม… เห็นแล้วให้รู้สึก “คันหู” อยากลองฟังเสียงขึ้นมาทันที…(ฮา) ขาที่ 5 แสดงตัวแบบแอบ ๆ นี้ (บาทาไร้เงา ?) แท้จริงแล้ว คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ Yamaha ใช้ลดทอนแรงสั่นสะเทือน และเพิ่มความมั่นคงให้กับ AVR ในตระกูล AVENTAGE เรียกว่า A.R.T. (Anti-Resonance Technology)

หลักการทำงานของขาที่ 5 ในการสลายแรงสั่นสะเทือน ทาง Yamaha มิได้แจงว่ามันทำงานอย่างไร กระนั้นหากสังเกตลักษณะขานี้ ที่เป็นกึ่งทรงกรวยคล้ายทิปโท ทว่าตัดยอดแหลมออกไป มีวัสดุสังเคราะห์แผ่นบางรองรับด้านล่าง เมื่อทำการลากเส้นแทยงจากขารองรับตัวถังหลักทั้ง 4 มุม จะพบว่า ขาที่ 5 นี้ อยู่ที่ตำแหน่งจุดตัดพอดี นัยว่าช่วยบาลานซ์การรับน้ำหนักของขาหลัก และเสริมความแข็งแรงในส่วนพื้นที่ที่อาจเป็นจุดอ่อนเดิม แน่นอนว่าแนวทางนี้ต้องขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งบาลานซ์น้ำหนักของอุปกรณ์ภายในตัวถังให้สัมพันธ์กันด้วย (จะกล่าวถึงต่อไป) นอกจากนี้ทาง Yamaha ยังได้ทำการเสริมโครงเพลทล่างของตัวถังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ดังที่เรียกว่า Double Bottom Construction อีกด้วย เรียกว่าเน้น “ฐานราก” กันเป็นพิเศษเลยนะเนี่ย…

ทีนี้เมื่อเปิดดูโครงสร้างภายในตัวถัง จะพบตำแหน่งของ EI Transformer อยู่บริเวณกึ่งกลาง แตกต่างจากผู้ผลิตอื่นรวมถึง AVR รุ่นก่อน และรุ่นเล็กของ Yamaha เอง ซึ่งมักจะวาง Transformer ไว้ด้านข้าง (ส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งซ้าย) นอกจากนี้ในส่วนของวงจรภาคขยาย ยังได้ทำการแยกฝั่งซ้ายและขวาออกไปอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของโครงสร้างภายใน ยังไม่ถึงกับมีการกั้นตัวถังเพื่อกั้นแยกส่วนสำคัญออกจากกัน แต่ก็แยกภาคจ่ายไฟสำหรับภาคดิจิทัล และอะนาล็อกให้ห่างจากกัน

แนวทางการจัดวางภาคขยาย และภาคจ่ายไฟ ตามลักษณะของ AVENTAGE นี้ นอกจากจะเป็นการบาลานซ์ตำแหน่ง (อันส่งผลไปถึงการกระจายน้ำหนัก – จุดศูนย์ถ่วง) แล้ว ผลพลอยได้อีกประการ คือ ช่วยลดการรบกวนข้ามแชนเนลภายในวงจรภาคขยาย หรือที่เรียกว่า Channel Separation (ระหว่างแชนเนลซ้ายและขวา) อันจะช่วยปรับปรุง S/N Ratio ของระบบให้สูงขึ้น (จากสัญญาณรบกวนข้ามแชนเนลที่ลดน้อยลง) แม้ผลลัพธ์อาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับรูปแบบ Monoblock Design ของแอมปลิฟายเออร์ไฮเอ็นด์ (2 แชนเนล) แต่ก็นับว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกัน…

แน่นอนว่าชิพสำคัญ ๆ หลายตัวเป็นแบบ Custom-made โดย Yamaha และยังมีการ tweak จุดเล็ก ๆ เพื่อปรับปรุงศักยภาพของระบบ สายสีฟ้าที่เกี่ยวสายไฟ-สายสัญญาณอยู่ คือ Zip Tie โดยปลายด้านหนึ่งจะเชื่อมต่กับจุดกราวด์บน PCB เอาไว้ลดทอนการรบกวนทางคลื่นวิทยุ และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า