08 Jul 2015
Review

AVENTAGE เสียงเด็ดดวง พร้อมรองรับ Dolby Atmos !! รีวิว Yamaha RX-A3040


  • ชานม

Picture – ภาพ

ความเปลี่ยนแปลงในส่วนของระบบภาพจาก 3040 คือ รุ่นใหม่มาพร้อมมาตรฐาน HDMI 2.0 จะรองรับสัญญาณวิดีโอระดับ 4K/UHD เต็มสตรีมที่ 60Hz 4:4:4 แบบ Pass-through

ในส่วนของวิดีโอสเกลเลอร์ ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพของคอนเทนต์วิดีโอมาตรฐานต่ำกว่า 4K/UHD ให้ดูดีขึ้นนั้น รุ่นนี้มีศักยภาพสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสามารถไฟน์จูนการอัพสเกลได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นจากหัวข้อ Adjustmentซึ่งเพิ่มเติมให้น้ำหนักตัวเลือก Detail Enhancement, Edge Enhancement และ Brightness, Contrast, Saturation ตามคุณภาพของวิดีโอคอนเทนต์นั้นๆ ได้ และเก็บค่าไว้ในหน่วยความจำได้ถึง 6 Preset

Sound – เสียง

เพื่อให้เห็นความชัดเจนว่าผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพเสียงอ้างอิงจากการอัพเกรดอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อย่างไร ป้องกันมิให้มโนไปเอง ผมจึงขอเปรียบเทียบกับ AVENTAGE รุ่นก่อนหน้า ทว่าช่วงเวลาทดสอบหารุ่น 3030 มาไม่ได้ครับ จึงขอเปรียบเทียบกับรุ่น 3020 แทน ต้องขอขอบคุณเจ้าของ 3020 ที่อนุเคราะห์ให้ยืมเครื่องมาทดสอบเปรียบเทียบในครั้งนี้ด้วย

ความแตกต่างในส่วนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่สังเกตเห็นได้ในเบื้องต้นด้วยตา ระหว่าง 3040 และ 3020 มีดังนี้

  • ตัวเก็บประจุในส่วนภาคออดิโอของ 3040 เป็นขนาด 18000uF x 2 เกรดออดิโอของ Nippon Chemi-Con ส่วนของ 3020 ด้วยมุมการติดตั้งทำให้มองไม่เห็นเบอร์ แต่ดูจากสายตามีขนาดเล็กกว่า และสีภายนอกอ้างอิงได้ว่าอาจจะเป็นเกรดทั่วไป
  • ตัวเก็บประจุในส่วนของภาคจ่ายไฟ 3040 มีขนาดใหญ่กว่า 3020 (ตัวที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 220uF เทียบกับ 150uF) มีการเปลี่ยนแปลงเลย์เอาต์ และอุปกรณ์อื่นๆ พอสมควร
  • 3040 ย้ายตำแหน่งขั้วปลั๊กไฟ IEC Inlet ให้ออกห่างจากขั้วลำโพง เสียบสายไฟเอซีหัวใหญ่ได้ไม่เบียดเหมือน 3020/3030
  • 3040 เพิ่มแผ่นพลาสติกซ้อนด้วยแผ่นโลหะอีกชั้น รองเต็มด้านล่างแผงวงจรภาตจ่ายไฟ (ซึ่งวางแนวตั้ง) เลยไปถึงด้านหน้าส่วนที่ติดกับวงจรภาคขยาย เป็นการชีลด์กันแพร่กระจายสัญญาณรบกวน และป้องกันการลัดวงจรจากการสัมผัสกับด้านข้างตัวถังโดยไม่ตั้งใจ
  • บนดิจิทัลบอร์ดของ 3040 ติดตั้งครีบระบายความร้อนสำหรับชิพประมวลผลเพิ่มเข้ามา (3020 ไม่มี) เข้าใจว่าจะเป็นในส่วนของชิพวิดีโอโปรเซสเซอร์ที่มีอุณหภูมิขณะใช้งานค่อนข้างสูง
  • อ้างอิงจากสเป็ก ทั้งคู่ติดตั้ง Dual DAC Chip โดย 3040 ใช้ ESS ES9016 และ ES9006 ส่วน 3020 ใช้ Burr Brown DSD1791 และ DSD1796
  • การถอดรหัสเสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทาง ไปจนถึงระบบ CINEMA DSP HD3 อาศัย Dual Processor ทั้งคู่ แน่นอนว่า 3040 ใช้ชิพรุ่นใหม่กว่า (จุดประสงค์เพื่อให้รองรับระบบเสียงใหม่อย่าง Dolby Atmos)
  • 3040 มี Wi-Fi & Bluetooth module เพิ่มเข้ามา ติดตั้งอยู่ด้านบนดิจิทัลบอร์ด เยื้องไปด้านหลังใกล้กับตำแหน่งเสาอากาศ
  • ไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ แต่ครีบระบายความร้อนรวมถึงโครง H Frame ของ 3020 เป็นสีดำ ดูสวยกว่า 3040 ในขณะที่ Zip Tie ของ 3020 เป็นสีฟ้า ของ 3040 เป็นสีดำ
  • ทั้งคู่มีการแดมป์ตามจุดต่างๆ ที่คิดว่าจะมีการสั่นอยู่ทั่วไป เป็นจุดที่หาได้ไม่บ่อยนักสำหรับมาตรฐาน AVR

จากความแตกต่างข้างต้น มาทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพเสียงกันครับว่า ให้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

จุดที่สัมผัสได้ยินชัดเจนมากทีสุด คือ น้ำหนักเสียงของ 3040 มีความหนักแน่นกว่า ทดสอบรับฟังแบบ 2 แชนเนล พบว่า การผลักดันเสียงความถี่ต่ำผ่านลำโพงตั้งพื้น Quad 22L นั้น ได้น้ำได้เนื้อเลยทีเดียว ถึงแม้ผลลัพธ์จาก 3020 จะมิได้ขี้เหร่ แต่ 3040 ก็ให้เบสได้เป็นตัวเป็นตนกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ

อานิสงส์ข้างต้น พบว่า ส่งผลถึงน้ำเสียง 3040 ให้ความอิ่มเอิบกว่าอยู่เล็กน้อย ฟังแล้วไหลลื่นลงตัว ในส่วนของย่านความถี่สูงให้รายละเอียดจะแจ้งดีมาก อันเป็นจุดเด่นของ Yamaha มาแต่ไหนแต่ไร และไม่รู้สึกว่ารุกเร้าแต่อย่างใด อาจด้วยแนวเสียงที่เข้ากันดีกับลำโพง

การอ้างอิงรับฟังมิติเสียงด้านสูงจากระบบเสียงรอบทิศทางนั้น เนื่องจาก 3020 ยังไม่สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos ได้ จึงอ้างอิงจากระบบ DSP Sound Fields ด้วยโหมด CINEMA DSP HD3 ร่วมกับลำโพง Front Height พบว่า 3040 ให้ความกลมกลืนของสนามเสียงด้านสูงได้ดีกว่าเล็กน้อย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอานิสงส์จากระบบ YPAO-R.S.C. 3D ซึ่งเพิ่มเติมอ้างอิงตรวจวัดระดับความสูงด้วย แน่นอนเมื่อใช้รับฟังระบบเสียง Dolby Atmos เสียงจากลำโพงรอบทิศทางก็ลงตัวมาก อาจไม่ต้องไฟน์จูนอะไรเพิ่มเติม

หากพูดถึงคุณภาพเสียง จะไม่กล่าวถึงผลลัพธ์จาก YPAO-R.S.C 3D มิได้ เพราะการปรับตั้งระบบลำโพงรอบทิศทางเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพเสียงที่จะได้รับโดยตรง ซึ่งผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่า มีความเที่ยงตรงมากขึ้นทั้งในส่วนของการชดเชยค่าปรับตั้งพื้นฐานอย่าง Distance, Level Balance และ Bass Management ต้องขอบคุณรูปแบบการอ้างอิงแบบ Multi point ที่อ้างอิงถึงองศาตำแหน่งลำโพงด้วย

แต่สิ่งที่ใช้ยืนยันถึงความเหนือชั้นกว่าจากรุ่นเล็กๆ หรือแม้แต่รุ่นระดับเดียวกันในซีรี่ส์ก่อน คือ ผลลัพธ์จาก Parametric EQ ที่ช่วยแก้ไขดุลเสียงของลำโพงที่ถูกบิดเบือนจากปัญหาทางด้านอะคูสติกนั้น ให้ความเที่ยงตรงสูงมากขึ้นด้วย เดิมทีจุดนี้ผมให้คะแนนระบบ Audyssey ไว้สูงกว่า ทว่าผลลัพธ์จาก YPAO-R.S.C. 3D อาจต้องพิจารณาใหม่

In room Frequency Response – YPAO Flat vs No Calibration (Straight Mode)RX-A3040 + Front L (Large) Speaker @ Listening Position (Far-field)
1/6 Octave smoothing
In room Frequency Response – YPAO Flat vs No Calibration(Straight Mode)RX-A3040 + Center (Small) + SWSpeaker @ Listening Position (Far-field)
1/6 Octave smoothing

ดุลเสียงจากลำโพงทุกแชนเนลราบเรียบขึ้นมากทีเดียว อย่างไรก็ดีผลลัพธ์จะดีได้ ยังคงต้องอาศัยการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แย่จนเกินไปนัก เมื่อดุลเสียงเที่ยงตรงขึ้น เสียงก็จะเป็นธรรมชาติมากขึ้น การรับฟังคอนเทนต์ไม่ว่าเพลงหรือภาพยนตร์ก็จะให้ความลงตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

หมายเหตุ: ผลลัพธ์ที่อ้างถึงในบทความนี้ เป็นการอ้างอิงในสภาพแวดล้อมทดสอบ ทั้งนี้ปัจจัยภายนอก หรือตัวแปรแวดล้อมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไป ผลลัพธ์สุดท้ายจึงอาจเปลี่ยนไปได้

Conclusion – สรุป

อีกครั้งที่ Yamaha ตอกย้ำในประเด็นเรื่องคุณภาพที่ได้รับจาก AVENTAGE AVR Series โดยเน้นเอาใจใส่แม้ในรายละเอียดปลีกย่อย ผลลัพธ์นับว่าชัดเจนสามารถสัมผัสได้อย่างไม่ยากเย็น ประกอบกับการเพิ่มเติมคุณสมบัติอย่างการรองรับระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่ Dolby Atmos ถึงแม้บางจุดอาจยังไม่ลงตัวดีนัก อย่างเช่น การถอดรหัสระบบเสียงนี้ ผู้ใช้ต้องดำเนินการแบบแมนนวล (ระบบไม่ดำเนินการถอดรหัสแบบอัตโนมัติ) แต่ด้วยหน้าที่หลักถ่ายทอดอรรถรสด้านภาพและเสียงนั้น จุดด้อยดังว่า กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลยจริงๆ…

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.75
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.75
เสียง (Sound)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.70
คะแนนตัดสิน (Total)
8.50

คะแนน Yamaha RX-A3040 4K/60Hz Ready AV Receiver

8.5

by ชานม !
2015-07

ราคาตั้ง Yamaha RX-A3040
78,500 บาท