07 Jul 2014
Review

THX 3D Plasma TV ที่คุ้มที่สุด ? รีวิว LG 50PZ950


  • ชานม

ชื่อชั้นของ THX นอกเหนือจากการเป็นต้นแบบของมาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางในโรงภาพยนตร์ (ที่มาพร้อมกับมหากาพย์สงครามแห่งดวงดาว) ก็ไม่พ้นเป็นที่รู้จักในแง่ของการเป็นตัวแปรอ้างอิงมาตรฐานสินค้าในหมวดภาพและเสียง ที่ผ่านมาสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน THX ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าโฮมเธียเตอร์ ซึ่งเป็นหมวดเครื่องเสียง และลำโพงเสียมากกว่า สำหรับหมวดจอภาพ ที่ผ่านมาดูจะมีจำนวนน้อยกว่า ไม่ก็ยังมิได้รับการเปิดเผยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก ปัจจุบันเมื่อระบบสามมิติเข้ามาสู่โรงภาพยนตร์   THX จึงเริ่มเข้ามาข้องเกี่ยวกับระบบภาพสามมิติมากขึ้นดังเช่นที่เคยทำกับระบบเสียงเซอร์ราวด์ในยุคบุกเบิก และค่อย ๆ ทยอยเข้ามาสู่ระบบโฮมเธียเตอร์ จนมาเป็นมาตรฐานของทีวีบางรุ่นในปัจจุบัน แม้วันนี้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ทีวีที่ได้มาตรฐานนี้ ก็น่าจะเป็นที่คาดหวังว่ามีแนวโน้มด้านศักยภาพที่โดดเด่นกว่ามาตรฐานทั่วไป หมายความว่า มันควรช่วยให้ชีวิตเรา ๆ ท่าน ๆ ดีขึ้นไหม ? หรืออย่างไร ? ต้องพิสูจน์…

50PZ950 3D Plasma TV รุ่นท็อป ขนาด 50 นิ้ว ในปีนี้ ของ LG จุดที่ไม่ธรรมดามาอย่างแรก คงไม่พ้น มาตรฐาน “THX 3D Display” คงต้องมาพิสูจน์กันว่า มาตรฐานที่ได้มานี้กับตำแหน่งระดับรุ่นท็อป จะสร้างความประทับใจเมื่อถึงมือผู้ใช้อย่าง เรา ๆ ท่าน ๆ ได้มากน้อยเพียงใด…

การออกแบบ

LG ยังคงยึดมั่นคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Borderless Design เป็นการใช้แผ่นกระจกปิดทับเต็มพื้นที่จอภาพทั้งหมด ซึ่งรวมพื้นที่ที่เคยเป็นกรอบเข้าไปด้วย เทคนิคนี้ช่วยให้พื้นผิวจอเรียบเสมอเป็นระนาบเดียวกันทั้งหมด  เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีมีกรอบแบบปกติจึงพบว่า Borderless Design ไม่มีขอบนูนต่างระดับจากกรอบให้เห็น จึงดูเหมือนว่าไม่มีขอบ (กรอบ) ที่ชัดเจน เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้กับทีวีของ LG มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น LCD/LED TV หรือ Plasma TV โดยเฉพาะรุ่นใหญ่ ๆ เช่นเดียวกับ 50PZ950 เครื่องนี้

หมายเหตุ: ประโยชน์ของแผ่นกระจกนี้มิได้ให้ผลด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว ด้วยความคงทน แข็งแรง ทำให้มันเป็นเหมือนเกราะป้องกันพาเนลจากแรงกระแทกได้ดีระดับหนึ่ง (ประโยชน์ด้านนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนกับ LCD/LED TV ที่เดิมทีผิวบนสุดของพาเนลเป็นแบบอ่อนนิ่ม มากกว่า Plasma TV ที่แผ่นกระจกถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างจอภาพตั้งแต่ต้น) จึงถูกเรียกว่าเป็น Protective Skin Glass ทั้งนี้การใช้แผ่นกระจกในการตกแต่งแบบนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความหนาของกระจกเอง ไปจนถึงระยะห่างระหว่างพาเนล เพื่อมิให้เกิดปัญหาแสงเงาสะท้อน (จากภายใน) รบกวน  หรือการบิดเบือนภาพ (เมื่อดูใกล้ ๆ ในบางมุมมอง คล้ายกับการมองวัตถุผ่านเลนส์) อันจะส่งผลถึงความกว้างของมุมมองการรับชมภาพ

เมื่อเปิดภาพอาจจะเห็นในส่วนของ “ขอบดำ” อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับทีวีปกติทั่วไป (ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ในส่วนที่มีกรอบบังอยู่) แต่เนื่องจากแผ่นกระจกช่วยให้พื้นผิวจอเรียบสนิทเป็นระนาบเดียวกัน มันจึงมิได้แสดงขอบเขต (Border) จาก “กรอบ” ที่ชัดเจน
ปุ่มควบคุม (ซึ่งเหมือนไม่ใช่ปุ่ม เพราะมันไม่ได้นูน) อยู่บริเวณมุมขวาล่าง

แน่นอนเห็นแบบนี้ต้องเป็นรูปแบบสัมผัส อันราบเรียบเสมอเป็นพื้นผิวเดียวกับแผ่นกระจก ปุ่มนี้จะไม่มีการเรืองแสงขึ้นมา แต่ด้วยการพิมพ์สัญลักษณ์และตัวหนังสือสีขาว ตัดกับพื้นดำ ทำให้พอมองเห็นได้ไม่ลำบากนัก แต่หากจะใช้งานในที่มืดสนิทจริง ๆ ก็คงต้องคลำกันหน่อยละ (อันที่จริงจะหาทีวีเครื่องที่ปุ่มระบบสัมผัสแบบเรืองแสงได้ ปัจจุบันก็หายากอยู่เหมือนกัน) แต่นี่มิได้เป็นปัญหาในการใช้งานนัก เพราะการกดสั่งการเอาจากรีโมต (ที่เรืองแสงได้) เป็นทางออกที่ง่ายกว่า

โครงสร้างฝาหลังเป็นโลหะ ดูแข็งแรงใช้ได้ รูระบายอากาศพอเหมาะ ซึ่งเป็นเป็นเรื่องปกติสำหรับ พลาสมา

ช่องต่อต่าง ๆ ดูครบครัน รวมถึง Component รูปแบบมาตรฐาน (ไม่ต้องใช้สายอะแดปเตอร์) ที่ขาดไม่ได้ คือ LAN Input ซึ่งสำคัญมากสำหรับ Smart TV อ้อ ช่องต่อสายไฟของรุ่นนี้เป็นมาตรฐาน IEC เสียบสายไฟไฮโซได้สบาย แต่กรณียึดแขวนผนัง อาจต้องเช็คระยะห่างนิดนึงว่าระยะดัดงอสายจะติดขัดอะไรไหม

ด้านข้าง มี HDMI In ให้อีก 2 ช่อง (HDMI In 3 รองรับ ARC) และ USB 2 ช่อง ซึ่งเผื่อไว้ให้เสียบกับ USB Wi-Fi Dongle ส่วนอีกช่องไว้เสียบต่อกับ USB Storage Devices (หรือเอาไว้ชาร์จไฟแว่น 3D Active Shutter Glasses 2 แว่น พร้อม ๆ กันก็ได้) มี AV Input ซึ่งเป็นรูปแบบ RCA มาตรฐาน ไม่เหมือนกับบางรุ่นที่ลดรูปให้เป็นแบบ 3.5mm (รูเดียว เป็นช่องต่อทั้งภาพ และเสียง แบบสเตริโอ) เพื่อประหยัดที่

หมายเหตุ: ถึงแม้ Composite จะเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบภาพที่ให้คุณภาพได้ไม่สู้ดีนัก แต่ก็ยังมีการใช้งานกันค่อนข้างแพร่หลาย เพราะเป็นรูปแบบพื้นฐาน (Basic) สำหรับอุปกรณ์ AV ปัจจุบันช่องต่อลักษณะนี้ (ที่มีให้ในทีวี) มักจะถูกลดความสำคัญลง จากการแทนที่ของมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบภาพรูปแบบอื่นที่ดีกว่า บางครั้ง Composite จึงถูกลดรูปให้เหลือเพียงช่องต่อเล็ก ๆ แบบ 3.5mm ซึ่งต้องพึ่งสายอแดปเตอร์ที่ผู้ผลิตให้มา (อานิสงส์หนึ่งของการลดรูปช่องต่อที่ไม่สำคัญ เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ด้านหลัง หรือด้านข้างของทีวี เนื่องจากนับวันพื้นที่ติดตั้งช่องต่อจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากขนาดจอภาพที่บางลงทุกวัน)

ฐานตั้งวางที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน มิได้หวือหวา แต่ก็ดูดีด้วยการผสานวัสดุทึบจากโลหะ และใสจากอะครีลิก เข้ากับฐานแผ่นกระจกสีดำเงา
รีโมตคอนโทรลรูปแบบมาตรฐาน ที่คุ้นเคยกันดี มี Back-lit ส่องสว่างได้ สำหรับการใช้งานในที่มืด 
อันนี้สิเด็ด “Magic Motion Remote Control” หรือ “คฑาเวทย์มนต์”

แม้ว่านวัตกรรมการควบคุมสั่งการด้วยการ “แกว่งไกว” แบบนี้ จะมิใช่เรื่องใหม่ เพราะถูกใช้กับเกมคอนโซลมาก่อน (และมีการใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์บ้างประปราย) ซึ่งแฟน ๆ หลายท่านน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่กับทีวี เห็นจะมีแต่ LG ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองการควบคุมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวทางการพัฒนาไปสู่รูปแบบของ Smart TV อันเกินกว่าจะคาดหวังได้จากทีวียุคก่อน อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือ การออกแบบอินเทอร์เฟสที่เอื้อต่อการใช้งานร่วมกับ Magic Remote

แต่เดิมการควบคุมด้วยรีโมตพื้นฐาน ในบางประเด็น อาจรู้สึกติดขัดอยู่หลายประการ เช่นการเลื่อนตำแหน่งเคอร์เซอร์เพื่อเลือกหัวข้อเมนู บัดนี้ได้รับการคลี่คลายลง แม้ว่าไม่ถึงกับทดแทนรีโมตพื้นฐานได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงยังคงต้องใช้ร่วมกัน แต่ก็เป็นการส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (อารมณ์คล้าย ๆ กับคอมพิวเตอร์ ที่มีการใช้เมาส์ ร่วมกับคีย์บอร์ด) ให้ภาพรวมของการควบคุมที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

หมายเหตุ: การควบคุมทีวี หรือแม้แต่อุปกรณ์เครื่องเสียง-โฮมเธียเตอร์ ในปัจจุบัน รองรับการควบคุมสั่งการด้วย Smart Phone ซึ่ง 50PZ950 (รวมถึง Smart TV รุ่นอื่น ๆ ของ LG) ก็รองรับในจุดนี้เช่นกัน ทั้งนี้ศักยภาพของ Smart Phone ช่วยเพิ่มศักยภาพการควบคุมสั่งการ Smart TV ได้เหนือกว่ารีโมตคอนโทรลมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น การใส่อินพุตข้อความได้สะดวกกว่า (เมื่อใช้งาน social network apps หรือ web browser) อย่างไรก็ดีด้วยการที่เป็นอุปกรณ์นอกเหนือ (ไม่ได้จัดมาให้) อีกทั้งราคาที่ค่อนข้างสูง ความสำคัญในการควบคุมหลักจึงยังคงต้องพึ่งรีโมตคอนโทรลพื้นฐานอยู่ และ Magic Motion Remote Control ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาที่น่าสนใจ ก็หวังว่าในอนาคตอาจจะมีรูปแบบการควบคุมทีวี อย่างเช่น การจับความเคลื่อนไหวร่างกายออกมาบ้าง คงสนุกพิลึกนะ อิ อิ

ขึ้นชื่อว่าทีวีสามมิติ จะขาดอุปกรณ์อย่าง “แว่นตา” ไปได้อย่างไร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพสามมิติ และในรุ่นนี้ ทาง LG ให้แว่นมา 2 อัน จะได้ดูแบบ ไม่เหงา !
สำหรับทีวีของ LG ที่รองรับเทคโนโลยีสามมิติ ในส่วนของ  3D Plasma TV ในปีนี้ ใช้เทคโนโลยี 3D Active Shutter Glasses ซึ่งแตกต่างจาก 3D LED TV ของผู้ผลิตเจ้านี้ ที่เป็นรูปแบบ 3D Polarized Glasses

ดังนั้นเมื่อเป็นรูปแบบ Active Shutter Glasses ก่อนการใช้งานจึงต้องมีการประจุไฟให้กับแบ็ตเตอรี่ภายในเสียก่อน ผ่านทางช่องต่อ Mini USB ดังภาพ (มีสาย USB แถมมาให้พร้อมสรรพ)