15 Apr 2014
Article

Basic Home Theater FAQ – รู้จักกับระบบโฮมเธียเตอร์


  • lcdtvthailand

 “อุปกรณ์ทางด้านภาพ (Video) สำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ คืออะไร ?”


การมองเห็น เป็นประสาทสัมผัสหลักที่มนุษย์ใช้ในการรับรู้ ดังนั้นในการสร้างความบันเทิง “ภาพ” จึงเป็นสื่อสำคัญในการส่งผ่านความบันเทิงนั้น ตรงเข้าไปยังประสาทการมองเห็น อันเป็นจุดที่กระตุ้นเตือนการรับรู้ได้ง่ายที่สุด และอุปกรณ์ที่รับหน้าที่ในการนำเสนอภาพ ก็คือ “จอภาพ” (Display)

จอภาพ ในระบบโฮมเธียเตอร์ จึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปลงสัญญาณภาพที่บันทึกอยู่ในรูปแบบของสื่อสัญญาณไฟฟ้า ให้กลับไปเป็นภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว อันเป็นรูปแบบที่มนุษย์สามารถรับรู้ และเข้าใจได้

 “ชนิดของจอภาพ (Display) ที่ใช้ในระบบโฮมเธียเตอร์มีอะไรบ้าง ?”


ชนิดของจอภาพที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ที่ทุกท่านคงจะคุ้นเคยกันดี ชนิดแรก คือ “โทรทัศน์” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทีวี” ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกของทีวีในปัจจุบันอาจดูคล้ายคลึงกัน คือ เป็นลักษณะแผ่นบาง หรือที่เรียกว่า “Flat Panel” แต่ทีวีในปัจจุบันก็มีพื้นฐานการ “สร้างภาพ” ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น OLED, LED/LCD, Plasma (Flat Panel TV) แต่หากย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้า CRT TV หรือทีวีหลอดภาพ ที่ไม่ใช่ลักษณะของ Flat Panel ก็ทำหน้าที่จอภาพได้ดีระดับหนึ่ง (ปัจจุบันยังคงมีการใช้งานกันบ้างประปราย) ทั้งนี้เทคโนโลยีแต่ละรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น จะมี “จุดเด่น จุดด้อย” แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ “แสดงภาพ” จากแหล่งโปรแกรมวิดีโอต่าง ๆ ผมคงจะไม่ลงดีเทลในบทความนี้ ท่านสามารถศึกษาความแตกต่างของ “เทคโนโลยีทีวี” แต่ละชนิดในเบื้องต้น ได้ที่นี่  ซึ่งเป็นบทความที่ทางทีมงาน LCDTVTHAILAND ได้รวบรวมไว้ครับ

จอภาพ ชนิดที่สอง ที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลายไม่แพ้ทีวี คือ “โฮมเธียเตอร์โปรเจ็กเตอร์” หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า เครื่องฉาย ทั้งนี้ด้วยลักษณะการฉายภาพลงบนจอฉายขนาดใหญ่ ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ใช้ในการรับชมนั้น มีความคล้ายคลึงกับโรงภาพยนตร์ จึงเป็นรูปแบบของระบบภาพโฮมเธียเตอร์ในฝันของใครหลาย ๆ คน แต่ในการใช้งานเครื่องฉาย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ จอฉาย (Screen) และ ควบคุมสภาพแวดล้อม (แสงสว่างในห้อง) ให้เหมาะสม จึงจะแสดงประสิทธิภาพออกมาได้ดีที่สุด

 “แล้วควรจะเลือก จอภาพ ชนิดใด มาใช้งานกับระบบโฮมเธียเตอร์ดี ?”
จอภาพทั้ง 2 ชนิดข้างต้น มีจุดเด่น-จุดด้อยทางคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

เปรียบเทียบจอภาพแบบ Flat Panel และ Projector
เพื่อการใช้งานกับระบบโฮมเธียเตอร์ในปัจจุบัน

Native Resolution*ขนาด
จอภาพ
(นิ้ว)
เหมาะจะใช้ ถ้า…ไม่เหมาะจะใช้ ถ้า…
โทรทัศน์
Flat Panel TV

(LCD/LED, Plasma TV)
4K**
3840×2160

Full HD 1920×1080

HD Ready 1366×768

HD Ready 1024×768
19 – 100up– ใช้งานในพื้นที่ลำลอง เช่นลักษณะห้องพักอาศัยทั่วไป

– เน้นดูข่าว ชมละคร เล่นเกม หรือชมภาพยนตร์ต่อเนื่อง

– ต้องการอรรถประโยชน์หลากหลาย (มีลำโพงในตัว, ต่อเน็ต, USB Media Player ฯลฯ)
– ต้องการจอภาพขนาดใหญ่มาก ในขณะที่งบจำกัด

– เน้นชมภาพยนตร์เป็นหลัก (ไม่เน้นดูทีวี)
เครื่องฉาย
Projector

(LCD, DLP,
D-ILA)
4K**
4096×2160

Full HD 1920×1080

HD Ready 1280×720
HD Ready 1280×800
60 – 300up***– แยกพื้นที่ห้อง
โฮมเธียเตอร์เป็นสัดส่วน ควบคุมแสงได้

– ต้องการจอภาพขนาดใหญ่ อารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับโรงภาพยนตร์
– ไม่สามารถควบคุมแสงในห้องได้ ที่ทางจำกัด (ระยะฉายไม่พอ)

– เบื่อกับการต้องเปลี่ยนหลอดทุก 2,000 ~ 4,000 ชม. (>10,000 ชม. สำหรับ LED Lamp)

หมายเหตุ:
* Native Resolution อ้างอิงเฉพาะกับมาตรฐาน Flat Panel TV และ Projector ที่ใช้งานแพร่หลายในระบบโฮมเธียเตอร์ปัจจุบัน (มิได้นับรวมถึงมาตรฐานที่ใช้งานกับระบบคอมพิวเตอร์)

** ปัจจุบันอาจพบเห็นทีวี และโปรเจ็กเตอร์ ที่ให้ความละเอียดสูงระดับ 4K 4096×2160, 3840×2160 แต่เนื่องจากยังไม่มีคอนเทนต์ที่เป็น 4K แท้ ณ เวลานี้ จึงยังไม่ขอลงรายละเอียด

*** ขนาดของภาพฉาย ขึ้นอยู่กับตัวแปร อย่างศักยภาพของเครื่องฉาย เช่น Native Resolution, Throw Distance ไปจนถึงตัวแปรอย่างระยะฉาย (ระยะห่างของเครื่องฉาย กับจอ) สภาพแวดล้อม ฯลฯ

จากข้อมูลข้างต้น หากจะกล่าวโดยสรุป ทีวี เหมาะกับทุกสภาพแวดล้อมในพื้นที่บ้านพักอาศัย จะตั้งไว้ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น รับแขก หรือแม้แต่ห้องน้ำก็ไม่เกี่ยง อีกทั้งการติดตั้งใช้งานก็ไม่ยุ่งยาก หาที่ตั้งเหมาะ ๆ เชื่อมต่อสายสัญญาณก็รับชมได้เลย

มีลำโพงในตัว แม้คุณภาพเสียงจากลำโพงทีวีจะไม่ถึงกับนำมาใช้งานได้จริงจังนัก แต่ก็ไม่ขี้เหร่ หากจะนำมาดู (ฟัง) ข่าว ชมละคร หรือภาพยนตร์แบบลำลองง่าย ๆ ก็นับว่าตอบสนองการใช้งานได้ดี ลูกเล่นที่เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ฟังก์ชั่น Smart TV ไปจนถึงรูปลักษณ์การออกแบบตัวทีวีเอง ให้ความรู้สึกดังเช่นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงาม สร้างอรรถประโยชน์ให้ทีวีวันนี้มีความคุ้มค่าน่าลงทุนมากขึ้นไปอีก ข้อเสียที่ชัดเจน เพียงประการเดียว คือ เรื่องของขนาด ซึ่งผันแปรตามราคา (และน้ำหนัก) ในเกณฑ์ราคาที่รับได้ สำหรับใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์นั้น (กระเป๋าไม่ฉีก) ขนาดจอภาพจะอยู่ราว 40 ~ 60 นิ้ว ซึ่งขนาดอาจจะยังไม่สะใจนักสำหรับบางท่านที่ต้องการระบบโฮมเธียเตอร์อลังการแบบเดียวกับโรงภาพยนตร์ หากจะนำทีวีที่มีขนาดจอใหญ่กว่าตัวเลขข้างต้นมาใช้ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องแลกกับเพดานราคาที่สูงขึ้นมาก

โปรเจ็กเตอร์ จะเหมาะกับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ที่ต้องการระบบฉายภาพ ความรู้สึกแบบเดียวกับโรงภาพยนตร์ ทั้งรูปแบบความยิ่งใหญ่ และบรรยากาศแวดล้อม แต่หากต้องการประสิทธิภาพสูงสุดจากการฉายภาพรูปแบบนี้ ต้องพิถีพิถันกันสักเล็กน้อย มิใช่เฉพาะแต่คุณภาพของเครื่องฉายเท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ จอฉาย (Screen) ก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะเป็นพื้นผิวที่แสงจากเครื่องฉายตกกระทบเพื่อสะท้อนภาพมายังตาของผู้ชม หากจอฉายไม่ได้คุณภาพ ภาพจากเครื่องฉายย่อมถูกบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไป ส่วนการติดตั้ง ต้องทำการวางแผนกำหนดตำแหน่งที่แน่นอน สภาพแวดล้อมในการใช้งานต้องมีการควบคุมแสงสว่าง หากทำตามที่กล่าวมานี้ได้ รูปแบบการรับชมระบบภาพโฮมเธียเตอร์ลักษณะนี้ จะตอบสนองการใช้งานได้อย่างน่าทึ่ง ! ถึงแม้จะมีค่าบำรุงรักษาที่ต้องคำนึงถึงในภายหลังอย่าง อายุหลอด (Lamp Life) ของเครื่องฉาย ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2,000 ~ 4,000 ชม. (ต้องเปลี่ยนเมื่อถึงกำหนด) แต่ก็คงมิใช่อุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการ “ที่สุดของความอลังการ”

หมายเหตุ:
 ปัจจุบันผู้ผลิตโปรเจ็กเตอร์เริ่มนำหลอดกำเนิดแสงแบบ LED มาใช้ ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ถึงระดับ 10,000 ชม. ขึ้นไป แต่จำนวนรุ่นดังกล่าวยังมีจำกัด และที่สามารถให้ระดับความสว่างสูง เพื่อใช้งานกับระบบ
โฮมเธียเตอร์แบบจริงจัง จะมีราคาสูงตามไปด้วยเช่นกัน


เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาจอภาพ ยังมีรายละเอียดอีกมาก ในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการเลือกซื้อ และการใช้งาน สามารถติดตามได้จาก LCDTVTHAILAND


ข้อมูลที่ควรทราบ
ปัจจุบันมาตรฐานความละเอียด (Resolution) สูงสุด สำหรับจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หรือ โปรเจ็กเตอร์ ในระบบ
โฮมเธียเตอร์ที่แพร่หลาย คือ Full HD 1080p (1920 x 1080 pixels) ซึ่งตรงกับมาตรฐานแหล่งโปรแกรม (Contents) ที่ดีที่สุดสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ (Consumer ในปัจจุบัน) คือ Blu-ray แต่ในอนาคตมาตรฐานความละเอียดสำหรับทีวี และโปรเจ็กเตอร์ รวมถึงคอนเทนต์ จะพัฒนาไปสู่มาตรฐาน 4K (4096 x 2160 pixels) ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาอีกสักพักหนึ่ง เพื่อให้ตลาดโฮมเธียเตอร์ปรับตัวตามได้ทัน (กลไกราคา) รวมไปถึงการพัฒนา และเพิ่มจำนวนตัวเลือกของคอนเทนต์ 4K ที่จะนำมารับชมร่วม (หมายถึง 4K แท้ ๆ ไม่ใช่การรับชมคอนเทนต์มาตรฐานเดิม ๆ ที่ผ่านการอัพสเกล !)