03 Oct 2015
Article

Laser Projector นวัตกรรมใหม่ที่จะมาปฎิวัติวงการโฮมเธียเตอร์จอยักษ์ !!?


  • lcdtvthailand

ช่วงกลางเดือนกันยายน ผมได้มีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวโฮมเธียเตอร์โปรเจ็คเตอร์รุ่นใหม่ในประเทศไทยจาก Epson คือ EH-LS10000 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่ลิงค์ด้านล่าง) แน่นอนด้วยดีกรีระดับรุ่นเรือธง คุณภาพของภาพจึงไม่ธรรมดา ซึ่งมีที่มาจากเทคโนโลยีระดับสูงมากมาย แต่ที่ดูเตะตาน่าสนใจมากที่สุด คือ การถ่ายทอดระดับไดนามิกเรนจ์ อันเป็นผลจากระดับสีดำ (Black Level) ที่ลึกเข้ม !!

Epson เปิดตัว EH-LS10000 ไฮเอ็นด์โฮมโปรเจ็กเตอร์ เทคโนโลยีแหล่งกำเนิดแสงแบบ “เลเซอร์” !?

อาจพูดได้ว่าการถ่ายทอดไดนามิกเรนจ์ที่โดดเด่นเหนือเทคโนโลยีโปรเจ็คเตอร์ใดๆ ในอดีตที่เคยมีมาของ EH-LS10000 นั้น ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ ก็เหมือนดั่งนำ OLED TV ไปเทียบความต่างกับ LCD/LED TV หรือ Plasma TV ทว่าเป็นภาพจากโปรเจ็คเตอร์ที่ฉายบนจอรับภาพขนาดใหญ่กว่า 100 นิ้ว นั่นแล…

ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย อยู่ดีๆ ภาพจากโปรเจ็คเตอร์จะดีขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลมิได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ EH-LS10000 สามารถถ่ายทอดไดนามิกเรนจ์ โดยเฉพาะผลลัพธ์จากความเปลี่ยนแปลงของระดับ Black Level ได้ยอดเยี่ยมอย่างมีนัยสำคัญ คือ พื้นฐานจากแหล่งกำเนิดแสงที่เรียกว่า “เลเซอร์”

Epson EH-LS10000 โฮมเธียเตอร์โปรเจ็คเตอร์แบบ 3LCD เครื่องแรก ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบ “Dual Laser Light Source”!

Projector Light Source

เทคโนโลยีเลเซอร์คงมิใช่ของใหม่ เพราะวงการเครื่องเสียง-โฮมเธียเตอร์ก็เคยใช้เทคโนโลยีนี้กับหัวอ่านเครื่องเล่นซีดีมาก่อนตั้งแต่ยุค 80s ก่อนได้รับการพัฒนามาเป็นเครื่องเล่นภาพและเสียงอย่าง ดีวีดี และ บลูเรย์เพลเยอร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีสำหรับการนำมาใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงของโปรเจ็คเตอร์ เพิ่งจะมีเมื่อไม่นานมานี้เอง

แหล่งกำเนิดแสงของโปรเจ็คเตอร์มีความสำคัญอย่างไร? เพื่อให้เข้าใจอย่างชัดแจ้ง ก่อนอื่นต้องขออธิบายหลักการทำงานของโปรเจ็คเตอร์ก่อน

หลักการทำงานของเครื่องฉายสไลด์ โดยพื้นฐานมีความคล้ายคลึงกับโปรเจ็คเตอร์ ภาพประกอบจาก http://labs.mete.metu.edu.tr

ท่านที่ปัจจุบันอายุ 30+ คงจะยังทันได้เห็นเครื่องฉายสไลด์ หลักการของเครื่องฉายสไลด์ที่ไม่ซับซ้อน โดยพื้นฐานนับว่าคล้ายคลึงกับโปรเจ็คเตอร์อยู่มากทีเดียวครับ กล่าวคือ ภาพฉายบนจอที่เราเห็นนั้นเกิดจากการนำแหล่งกำเนิดแสง (จากหลอดไฟ) ฉายผ่านเลนส์รวมแสงไปตกยังภาพที่ต้องการจะดู ในที่นี้ คือ ฟิล์มสไลด์**

หมายเหตุ ** กรณีของโปรเจ็คเตอร์ “ภาพ” จะมาจากเทคโนโลยีแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นภาพ อาทิ DLP (Digital Light Processing), LCD (Liquid Crystal on Silicon) หรือ D-ILA (Direct-drive Image Light Amplifier) ที่มีหลักการปลีกย่อยแตกต่างกัน แต่ทำหน้าที่เดียวกัน

จากนั้นภาพ (ที่มาพร้อมกับแสงของหลอดไฟ) จะผ่านเลนส์ขยายไปตกกระทบบนจอรับภาพให้ได้ชมกัน โปรเจ็คเตอร์ก็มีโครงสร้างการทำงานแบบเดียวกับเครื่องฉายสไลด์นี้ ต่างที่รายละเอียดขั้นสูงที่ซับซ้อนกว่า

จากหลักการข้างต้น หากต้องการรับชมภาพฉายที่มีความสว่างจะแจ้ง หลอดไฟจะต้องมีกำลังความสว่างสูงพอ โดยเฉพาะหากต้องการความชัดเจนเมื่อฉายบนจอรับภาพขนาดใหญ่ หรือในสภาพแวดล้อมที่ต้องสู้แสง แต่ปัญหาคือ หลอดไฟกำลังสูงมักจะมาพร้อมกับความร้อน การถ่ายเทระบายความร้อนออกจากระบบจึงสำคัญ

ที่เห็นทั่วไปก็คือการเพิ่มพัดลม ถ้าไม่เพิ่มขนาดก็ต้องเพิ่มความเร็วรอบของพัดลม นี่คือที่มาของเสียงรบกวน บ่อยครั้งเราจึงเห็นโปรเจ็คเตอร์พรีเซ็นเทชั่นบางเครื่องที่กำลังหลอดไฟสูงๆ เวลาเปิดใช้งานทีเสียงดังอย่างกับเรือหางยาว ซึ่งต้องยอมแลกเพราะหากการระบายความร้อนทำได้ไม่ดี อายุการใช้งานของอุปกรณ์ก็จะสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น

ผลกระทบอีกประการของหลอดไฟกำลังสูง คือ มันจะกลายเป็นภาระสำหรับโปรเจ็คเตอร์เมื่อต้องการแสดงสีดำ สีดำจะไม่ดำสนิทเนื่องจากเป็นการยากจะปิดบังแสงสว่างที่สว่างมากจากหลอดไฟกำลังสูงนั้น มิให้เล็ดลอดออกมารบกวน

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมโฮมเธียเตอร์โปรเจ็คเตอร์ทั่วไปจึงไม่เน้นความสว่างสูง ก็ด้วยข้อจำกัดเรื่องของการควบคุมแสงจากหลอดไฟ และเสียงรบกวนจากระบบระบายความร้อนนั่นเอง คงไม่ดีแน่ถ้าต้องนั่งฟังเสียงพัดลมโปรเจ็คเตอร์ไปพร้อมๆ กับการลุ้นฉากสำคัญของภาพยนตร์

ปัจจัยด้านคุณภาพของภาพที่เกี่ยวเนื่องกับหลอดไฟ ยังมีประเด็นเรื่องของการถ่ายทอดคุณภาพสีสัน เนื่องจากความสามารถในการถ่ายทอดสเป็กตรัมแสง กับอุณหภูมิสีของหลอดไฟ จะส่งผลกับภาพฉายโดยตรง ถ้าเทคโนโลยีหลอดไฟถ่ายทอดสเป็กตรัมแสงได้จำกัด ขอบเขตการแสงเฉดสีของโปรเจ็คเตอร์ก็ย่อมจำกัดไปด้วย และเช่นกันว่าถ้าอุณหภูมิสีของหลอดไฟไม่คงที่ การจะได้ภาพฉายที่ให้สมดุลสีเที่ยงตรงย่อมเป็นไปได้ยาก