28 Jun 2014
Review

รีวิว ASUS Monitor รุ่น PA249Q – ดีไซน์เรียบๆ สไตล์มืออาชีพ แต่แอบแฝงไปด้วยฟังก์ชันนัล!!


  • lcdtvthailand

ภาพ

หลังจากที่ได้ยลโฉมทั้งส่วนของดีไซน์และช่องต่อของเจ้า ASUS PA249Qกันไปพอหอมปากหอมคอแล้วทีนี้มาดูกันที่คุณภาพของการแสดงผลภาพที่แสดงผ่านทางหน้าจอ LCD (LED Backlight)  ขนาด 24.1 นิ้ว (1920 x 1200 พิกเซล) ที่เป็นแบบ AH-IPS (Advanced High-Performance In-Plane Switching) กันบ้าง

โดย ASUS PA249Q มาพร้อมกับเทคโนโลยีโดดเด่น อย่างเช่น Adobe RGB 99%, sRGB 100% และ NTSC 120% รวมถึงตัวหน้าจอยังรองรับการแสดงรายละเอียดของเฉดสีได้มากถึง 10 บิต ซึ่งในท้องตลาดแล้วถือว่าหาตัวจับได้ยากเว้นแต่ว่าจะเป็นจอที่ใช้งานกันในระดับกราฟิกสตูดิโอ หรือช่างภาพระดับโปรเฟสชันนัล จากที่เกริ่นมาข้างต้นหลายท่านอาจจะ “ร้องว้าว” ว่ามันสามารถทำได้ถึงขนาดนั้นเลยจริงเหรอ? จึงเป็นเหตุให้เราต้องไปทดสอบกัน!!

ด้วยดีกรีระดับโปรฯ ทาง ASUS จึงมีใบ “Testing Report” ยืนยันความเที่ยงตรงมาด้วย โดยเป็นค่าการตรวจวัดในเรื่องของความเที่ยงตรงของบาลานซ์สี (RGB Balance หรือที่หลายท่านรู้จักกันในชื่อ Color Temperature) และการไล่ระดับความสว่าง (Gamma)

อย่างไรก็ดีทางทีมงานจะทำการตรวจสอบความเที่ยงตรงอีกครั้งว่าเป็นดังที่แจ้งไว้หรือไม่

แต่ก่อนอื่นที่เราจะไปทดสอบความสามารถของ ASUS PA249Q ได้นั้น ต้องหยิบออกมาเสียบปลั๊กต่อไฟกันก่อน โดยการทดสอบครั้งนี้จะเป็นการทดสอบด้วยการต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ผ่านทางพอร์ต HDMI เป็นหลัก
มาเริ่มกันที่เมนู (OSD-Menu) ของตัวจอมอนิเตอร์กันก่อน  โดยโหมดภาพสำเร็จรูปที่ติดมากับ ASUS PA249Q
มีทั้งหมด 7 โหมด คือ Standard, sRGB, Adobe RGB, Scenery, Theater, User 1 และ User 2

โดยจากการวัดค่าความสว่าง (Luminance) และอุณหภูมิสีในโหมดภาพต่างๆ (Pre-calibrated) พบว่าได้ออกมาดังนี้

หมายเหตุ ค่าที่ใช้อ้างอิงคือ 6,500K = อุณหภูมิแสงสีขาวที่ใช้ในการอ้างอิงเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมวีดีโอ และภาพถ่าย 
Test Report ก่อนทำการปรับภาพ (Pre-Calibrate – User1) 

ในการตรวจสอบโหมดภาพจากโรงงาน (out of box) พบว่า User 1 ให้ความเที่ยงตรงดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการตอบสนองในเรื่องของการแสดงเรนจ์สีที่กว้างขวางในระดับ Adobe RGB จากภาพด้านบนเป็นการตรวจวัด Color Temp, Gamma และ Color Gamut จากค่าเริ่มต้น (Default) ที่มาจากโรงงาน ยังไม่ได้มีการปรับแต่งค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าที่กราฟ RGB Balance จะติดน้ำเงินเล็กน้อย (อุณหภูมิสีสูงกว่า 6,500K)

ซึ่งจากค่าที่วัดได้ก็สอดคล้องกับภาพที่แสดงออกมาทางหน้าจอในขณะนั้น โดยคาแรคเตอร์ของภาพจะออกโทนสีน้ำเงินติดเขียวมรกตนิดๆ แต่ต้องยอมรับว่าสีเขียวนั้นโดดเด่นกว่าจอปกติมากๆๆๆๆ จากเรนจ์การแสดงสีเขียวที่กว้างขวางยิ่งกว่า

หลายท่านที่อาจจะยังคงสงสัยกันว่าเจ้าเทคโนโลยี Adobe RGB มันสามารถแสดงช่วงของเฉดสี (Range color) ได้กว้างขนาดนั้นเลยหรือ? ซึ่งจากภาพด้านบนเมื่อนำช่วงของเฉดสี Adobe RGB มาเปรียบเทียบกับ sRGB จะเห็นว่าColor Gamut จากมาตรฐาน Adobe RGB สามารถแสดงช่วงของเฉดสีได้กว้างกว่ามากๆ โดยเฉพาะความเอิบอิ่มของโทนสีเขียว

อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าผลลัพธ์ในส่วนของ RGB Balance ที่ได้อาจจะยังห่างจากระดับอุณหภูมิสีอ้างอิงที่ 6,500K อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี (ค่าเฉลี่ย ΔE2000 ที่ใช้อ้างอิงระดับความผิดเพี้ยนอยู่ที่ “5.9” ซึ่งสูงกว่าที่แจ้งไว้ที่ 3 ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี) ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่า Test Report ที่ Asus อ้างอิงนี้ ตรวจวัดและ calibrate เจาะจงละเอียดทุกซีเรียลหรือไม่ อย่างไรก็ดีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ก็สามารถทำให้เปลี่ยนแปลงค่าภาพบางอย่างไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ นี่เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ทีมงานพยายามเน้นเสมอว่า หากต้องการความเที่ยงตรงสูงสุด ให้ดำเนินการปรับภาพในสภาพแวดล้อมใช้งานจริง การอ้างอิงตัวเลือกปรับภาพถึงแม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน แต่ต่างเครื่อง ต่างปัจจัยแวดล้อม ค่าที่ใช้อ้างอิงก็อาจมิใช่ค่าเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการปรับภาพกัน สำหรับเมนู Color จะเกี่ยวกับการปรับค่าสีของหน้าจอทั้งหมด รองรับการปรับแต่งค่าได้ละเอียดในระดับที่ดีทีเดียว ตั้งแต่การปรับแต่งพื้นฐานอย่าง Brightness (สำหรับ Monitor ตัวเลือกนี้จะไม่เหมือนกับทีวี กล่าวคือ ใช้ในการปรับระดับความสว่างของ Backlight), Contrast, Saturation, Hue, Color Temp (สำเร็จรูป) และ Gamma

ส่วน Advanced Setting มาพร้อมกับการปรับแต่งระดับมืออาชีพ อย่างเช่น ปรับจูน Color Temp ละเอียด (2-point calibration) และ CMS โดยทั้งคู่จะอยู่ในหัวข้อ Advanced Settings เพื่อการแสดงภาพที่มีความเที่ยงตรงที่สุด
เมนูการปรับแต่งค่าสีแบบ Advanced สามารถรองรับการตั้งค่า CMS ได้ในระดับ RGB & CMY (Primary & Secondary) กันเลยทีเดียว
ภาพแสดงค่าที่วัดได้หลังทำการปรับภาพ (Post-Calibrate)

แม้ว่าค่าเริ่มต้นของโหมด User 1 จะยังไม่เที่ยงตรงเป๊ะที่สุด แต่ด้วยพื้นฐานที่ดี รองรับการปรับภาพได้ละเอียด ภายหลังการ Calibrate พบว่า ASUS PA249Q ผลจากการ Calibrate ทั้งก่อนและหลังนั้นค่าที่ทำออกมาได้ค่อนข้างต่างกันมากอยู่พอสมควร เมื่อนำกราฟ 2 กราฟมาเทียบกันจะเห็นได้ว่าค่าแม่สีหลัก (RGB) มีอาการฟุ้งน้อยลง และค่าที่วัดได้โดยรวมนั้นก็ไม่ได้ห่างจากค่ามาตรฐานที่ใช้อ้างอิงเท่าใดนัก รวมถึงค่า Color temp ที่วัดได้ประมาณ 6,600K (ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 0 – 100IRE มิใช่วัดแค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง) ถึงตรงนี้มาดูค่าเฉลี่ย ΔE2000 ที่ใช้อ้างอิงระดับความผิดเพี้ยนจะลงมาอยู่ที่ “2” ซึ่งต่ำกว่าที่ Test Report ของทาง Asus แจ้งไว้ที่ 3 (ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี) ก็นับว่าเทพพอตัว สมศักดิ์ศรีมอนิเตอร์ระดับโปร !!

ทดสอบ Aspect Ratio หรือการแสดงอัตราส่วนของภาพ ด้วยการใช้ Pattern จากแผ่น DVE ซึ่งเป็นแพทเทิร์นทดสอบ Ratio ที่ความละเอียด 1920×1080 pixels (16:9)

จากภาพจะเห็นได้ว่าเจ้า ASUS PA249Q มาพร้อมกับโหมดสำหรับปรับอัตราส่วนของการแสดงผลภาพทั้งหมด 3 โหมด คือ Full Screen, Overscan และ 1:1 ซึ่งในการแสดงอัตราส่วนแต่ละโหมดทำออกมาได้ตามฟังก์ชันนั้นๆ

   1. Full Screen : อัตราส่วนของภาพจะมีขนาดเท่ากับจอโดยเป็นการยืดอัตราส่วนของภาพในแนวใดแนวหนึ่งให้เต็มจอนั้นเอง ภาพที่ได้จึงมีความผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเล็กน้อย
   2. Overscan : อัตราส่วนของภาพที่ได้นั้นจะมีลักษณะเต็มจอพอดี โดยที่รายละเอียดของภาพจะไม่มีการยืดหรือบีบภาพแต่อย่างได้ แต่จะขยายทั้งหมดโดยคงอัตราส่วนไว้ ภาพที่อยู่บริเวณขอบจอจะถูก Crop หายไปบางส่วน
   3. 1:1 : จะเป็นโหมดที่ให้อัตราส่วนพิกเซลแบบ 1:1 ได้ถูกต้อง อัตราส่วนและตำแหน่งพิกเซลจะตรงตามภาพต้นฉบับ

มาวัดอัตราการบริโภคกระแสไฟฟ้าในแต่ล่ะโหมดกันสักหน่อย

ซึ่งในแต่ละโหมดภาพก็มีอัตราการบริโภคกระแสไฟฟ้าดังนี้

ในส่วนของเมนู PIP/PBP หรือการรองรับการแสดงผลภาพจากแหล่งสัญญาณพร้อมๆ กัน 2 Input นั้น เจ้า ASUS PA249Q สามารถแสดงผลพร้อมกันได้ในลักษณะ Pop-up และแบบแบ่งครึ่งหน้าจอ
ที่เมนู Input รองรับทั้งพอร์ต VGA, DVI, HDMI และ Display Port ทั้งนี้หากผู้ใช้งานไม่ต้องการ เข้ามาเปลี่ยน Input ที่หน้าเมนูหลักก็สามารถใช้คีย์ลัดที่อยู่บนขอบจอได้เช่นกัน
ส่วนที่เมนู System Setup จะมาพร้อมกับลูกเล่นให้เลือกปรับกันได้ตามใจชอบอีกมากมาย
แม้แต่การแสดงรายละเอียด Information ของ Input ที่เชื่อมต่อเข้ามายัง ASUS PA247Q ก็มีแสดงให้ได้ดูด้วย
ถ้าหากท่านต้องการตั้งค่าเมนูลัดให้กับ ASUS PA249Q สามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนได้ที่เมนู Shortcut จ้า!!