30 Dec 2013
Review

Music makes us feel truly alive !!! รีวิว Elac 6x.2 Series Home Theater System


  • ชานม

Home Theater Speaker System

Elac 6x.2 Series + SUB 111.2 ESP

Music makes us feel
truly alive !!!

Elac ผู้ผลิตลำโพงเก่าแก่จากเยอรมัน แน่นอนว่าระยะเวลาที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานเกือบหนึ่งศตวรรษ คงมิใช่เรื่องบังเอิญ ความเป็นที่สุดในเรื่องของเทคโนโลยีจากเยอรมัน คงจะหาผู้เทียบเคียงได้ยาก ซึ่ง Elac ก็คิดค้นและพัฒนาลำโพง ทั้งยังออกแบบไดรเวอร์เอง จึงได้ความน่าเชื่อถือทั้งในแง่เสถียรภาพความลงตัว และคุณภาพเสียง

6x.2 Series ถือเป็นลำโพงระดับ High Performance ของ Elac คือ เน้นความคุ้มค่าจากการตอบสนองด้านคุณภาพเสียงที่โดดเด่น แต่คำนึงถึงความคุ้มค่า

ดูโหงวเฮ้งรูปลักษณ์โดยเฉพาะไดรเวอร์ที่ใช้กับ 6x.2 Series แล้ว ทำให้นึกถึงลำโพง Elac ตัวดังในอดีต คือ CL 82i โดยส่วนตัวอาจกล่าวได้ว่ารุ่นนั้นเป็นหนึ่งในลำโพงที่สร้างความประทับใจให้กับตัวผมเองเมื่อช่วงเริ่มสนใจเรื่องเครื่องเสียงใหม่ๆ ซึ่งตอนนั้นถึงจะได้ยินเสียงจากในห้างที่มิได้จัดเตรียมสภาพแวดล้อมอะไรมากมาย แต่เสียงที่ได้ยินช่างเรียกร้องความสนใจไม่น้อย อาจด้วยศักยภาพการตอบสนองย่านต่ำ ที่ทำได้น้องๆ ลำโพงตั้งพื้นขนาดย่อม ทั้งๆ ที่ตัวมันเองเป็นเพียงลำโพงวางหิ้งแท้ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ “ลีลาที่ฟังสนุก” ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความกระฉับกระเฉงฉับไวจาก Aluminium Sandwich (AS) Cone ไดรเวอร์มิดเบสที่เกิดจากการผสานอะลูมิเนียมฟอยล์แผ่นบาง (ราว 0.2 มม.) ประกบเข้ากับไฟเบอร์โคนด้วยเทคนิคการยึดติดแบบพิเศษ เพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับตัวไดรเวอร์ และช่วยลดความเพี้ยน เทคโนโลยี AS Cone นี้ ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ Elac ยึดมั่นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลักษณะ 6x.2 Series กับ CL 82i จะพบว่านอกเหนือจากตัวขับเสียง AS Cone ที่คล้ายคลึงกันแล้ว ในส่วนของทวีตเตอร์ก็ดูใกล้เคียงกันมาก จากตะแกรงโลหะสีเงินครอบทับเหนือทวีตเตอร์โดม ที่ติดตั้งอยู่บนโครงสร้างเวฟไกด์ (เพื่อควบคุมมุมกระจายเสียง) เหตุนี้เมื่อไดรเวอร์ทั้งสองถูกติดตั้งเข้ากับตู้ลำโพงแล้ว สีเงินสะอาดตาจึงตัดกับแผงหน้าตัวตู้ ดูโดดเด่นมากๆ นี่คือเอกลักษณ์ของ Elac จาก 6x.2 Series และ CL 82i ที่สังเกตได้ด้วยตา แต่ถึงแม้จะคล้าย ผมก็ไม่แน่ใจว่าไดรเวอร์ทั้ง 2 นี้ เป็นตัวเดียวกันหรือไม่ นี่ก็ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้ว ทาง Elac คงต้องทำการปรับเปลี่ยนสเป็กปลีกย่อยของไดรเวอร์ไปบ้าง แต่คงมิใช่ประเด็นสำคัญอะไรหากว่ามันสามารถเรียกความประทับใจในอดีตให้หวนกลับคืนมาได้อีกครั้ง ซึ่งประเด็นนี้คงต้องพิสูจน์กันต่อไปในส่วนของคุณภาพเสียง… ก่อนอื่นมาดูในส่วนของดีไซน์การออกแบบในจุดอื่น ของ 6x.2 Series ก่อนครับ

หมายเหตุ: ลักษณะตัวขับเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของ Elac ในส่วนของตัวขับเสียงสูง นอกเหนือจากทีวเตอร์โดมอ่อนภายใต้ตะแกรงโลหะดังที่เห็นจากลำโพง 6x.2 Series ยังมี JET Tweeter ซึ่งใช้โครงสร้างตัวขับเสียงสูงแบบเมมเบรน (ใช้พื้นฐานจากเทคโนโลยี Air Motion Transformer ของ Dr.Oskar Heil) และ 4Pi 360 omnidirectional ribbon tweeter (ลักษณะเหมือนดอกเห็ด) ที่ขึ้นชื่อมากในวงการ โดยทั้ง 2 เทคโนโลยี ถูกใช้ในลำโพงของ Elac รุ่นกลางสูงขึ้นไป

Design – การออกแบบ

ลำโพงในซีรี่ส์ 6x.2 ของ Elac มีทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกัน ประกอบไปด้วยลำโพงวางหิ้ง (Book Shelf – BS) 2 รุ่น
ตั้งพื้น (Floor Standing – FS) 2 รุ่น และเซ็นเตอร์ (CC) 1 รุ่น

รูปลักษณ์ของลำโพงในซีรี่ส์ 6x.2 ต้องเรียกได้ว่าดูเก๋ไก๋เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะแผงหน้าที่ดูเรียบง่าย สะอาดสะอ้าน ไม่มีรูร่องใดๆ จากเทคนิคการฝังแม่เหล็กไว้ใต้แผงหน้า เมื่อใส่หน้ากากผ้าจึงยึดได้ด้วยแรงแม่เหล็ก ไม่จำเป็นต้องมีรูหรือโครงสร้างยึดหน้ากากใดๆ อันจะทำให้รกลูกตา การจัดวางไดรเวอร์วัสดุโลหะสีเงิน ตัดกับสีของแผงหน้าสีดำเงาสร้างความโดดเด่นได้มาก แม้ว่าพื้นผิวมันเงาที่ได้จะเกิดจากการใช้วัสดุสังเคราะห์ ไม่ใช่การลงเงาบนผิวไม้ จึงไม่อาจให้อารมณ์สัมผัสหรูหราแบบผิวเปียโน แต่ก็น่าจะช่วยให้ดูแลรักษาง่ายกว่า ส่วนผนังตู้ด้านอื่น (นอกเหนือจากแผงหน้า) ที่เป็นผิวไวนีลลายไม้ มิใช่ผิวไม้แท้ ซึ่งจำกัดลาย (สี) เพียง 2 แบบ ความหลากหลายในแง่ของตัวเลือกด้านรสนิยมอาจไม่มาก แต่โดยรวมก็ให้ความสวยงามลงตัว แลดู “เก๋” และ “เท่” ไม่น้อย รับรองว่าเมื่อตั้งอยู่ในบ้านแล้ว ไม่เชย!

สำหรับเซ็ตลำโพงที่ประกอบมาเป็นชุดโฮมเธียเตอร์ดังที่ท่านจะได้อ่านต่อไป ประกอบไปด้วยลำโพงคู่หน้า คือ FS 68.2 ซึ่งเป็นลำโพงรุ่นใหญ่ที่สุดในซีรี่ส์ 6x.2 ของ Elac ลักษณะพื้นฐานก็เป็นเช่นเดียวกับลำโพงตั้งพื้นทั่วไปที่มีขนาดค่อนไปทางใหญ่ แต่ไม่ถึงกับใหญ่โตมากนัก เป็นลำโพง 3-ทาง ติดตั้งทวีตเตอร์ coated silk dome ขนาด 2.5 มม. มิดเรนจ์ AS Cone ขนาด 140 มม. และวูฟเฟอร์ AS Cone ขนาด 175 มม. จำนวน 1 คู่ ค่าความต้านทานปกติที่ 6 โอห์ม (ต่ำสุด 4.6 โอห์ม)

ด้านหลังส่วนล่างจะพบกับท่อเปิดคู่ ในกรณีที่จำเป็นต้องวางชิดผนังเพราะที่ทางจำกัด และประสบปัญหาเบสบวมสามารถใช้ Foam plug อุดท่อเบสนี้ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาย่านต่ำลงได้ (จะกล่าวถึงต่อไป) ถัดลงมาด้านล่างจะเป็นจุดเชื่อมต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบไบไวร์ มีจัมเปอร์โลหะติดตั้งอยู่ หากใช้สายลำโพงแบบไบไวร์ หรือเชื่อมต่อแบบไบแอมป์ ต้องถอดจัมเปอร์นี้ออก

ส่วนล่างของลำโพง FS 68.2 จะมีโครงสร้างฐานไม้ขนาดกว้างยาวเลยตัวตู้ลำโพงออกมาอีกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรากฐานความมั่นคง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังให้สไปก์โลหะ (เดือยแหลมปรับระดับ) พร้อมจานรองสีเงินเงาวับมาด้วย สไปก์ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับลำโพงวางขาตั้ง แต่จานรองนี่ถือว่าหายากสำหรับลำโพงระดับนี้ ท่านใดที่กลัวสไปก์จะทำให้พื้นเป็นรอยก็หมดกังวลได้ครับ