01 May 2014
Review

ลำโพงแอ็คทีฟระดับโปรฯ กับความสามารถด้านเสียงที่ต้องเหลียวมอง !!! รีวิว Elac AM150 Studio Active Speakers


  • ชานม

Design – การออกแบบ (ต่อ)

มาดูในส่วนของตัวขับเสียงกันบ้าง

หากพูดถึง Elac คงจะนึกไปถึงเทคโนโลยีตัวขับเสียง JET Tweeter และ Aluminium Sandwich Woofer อันโด่งดัง นอกจากดูมีเอกลักษณ์ ผลการตอบสนองทางเสียงยังโดดเด่น ทว่าด้วยต้นทุนทางเทคโนโลยีในการผลิตตัวขับเสียงที่สูงอยู่สักหน่อย จึงจำกัดใช้งานเฉพาะลำโพงรุ่นระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น ในส่วนของ Active Speakers ของ Elac เอง ก็มีการใช้งานตัวขับเสียงดังกล่าวด้วย แต่จะเป็นรุ่นใหญ่สุดของซีรี่ส์ คือ AM 180 ส่วน AM 150 ซึ่งเป็นรุ่นน้อง แม้มิได้ใช้ JET และ Al Sandwich แต่เชื่อเถอะว่า ตัวขับเสียงที่ติดตั้งมาสามารถตอบสนองในแง่การถ่ายทอดความถี่เสียงที่เที่ยงตรง และแน่นอนว่า “สมกับความคุ้ม” แน่นอน!

ตัวขับเสียงสูงที่ Elac เลือกใช้กับลำโพง AM 150 คือ Fabric Dome หรือโดมผ้า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25mm
ทั้งนี้โดมผ้ากับ Elac มิใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการใช้งานกับลำโพงบ้านหลายๆ รุ่นด้วย อย่างเช่น 60.2 Series แต่ในรุ่นนั้นจะมีตะแกรงโลหะครอบทับเอาไว้จึงอาจไม่ได้สังเกตว่าทวีตเตอร์ข้างในเป็นอะไร

ทวีตเตอร์โดมผ้าของ AM 150 จะติดตั้งไว้ภายใต้โครงสร้างเวฟไกด์ ซึ่งผสานเป็นส่วนหนึ่งกับแผงหน้า ขึ้นรูปจากวัสดุสังเคราะห์ อันมีส่วนช่วยควบคุมมุมกระจายเสียง และเพิ่มประสิทธิภาพ (Sensitivity) ให้กับตัวขับเสียง

ส่วนวูฟเฟอร์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 130mm นั้น เป็น Paper Cone หรือกรวยกระดาษ แต่ไม่ใช่กระดาษพื้นๆ แบบที่เราๆ ท่านๆ ใช้เขียนหนังสือ หากสังเกตุที่ผิววัสดุโคนจะเห็นการเสริมเส้นใย (Fiber reinforced) เพื่อเพิ่มความแกร่ง

ตัวขับเสียงของ AM 150 จะได้รับการชีลด์ป้องกันสนามแม่เหล็ก
จึงสามารถวางใกล้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนต่อการถูกรบกวนทางสนามแม่เหล็กได้อย่างไม่มีปัญหา

สำหรับคุณภาพเสียงจากการแม็ตชิ่ง ทวีตเตอร์โดมผ้ากับวูฟเฟอร์กรวยกระดาษเสริมไฟเบอร์ของ Elac รุ่นนี้
จะให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร? เดี๋ยวไปว่ากันอีกครั้งในช่วง Sound – เสียง ครับ

อีกจุดสำคัญของลำโพงไม่ว่าจะ Passive หรือ Active คือ “ตัวตู้”ซึ่งมาตรฐานทั่วไป ประกอบขึ้นจาก MDF แล้วเสริมคาดโครงด้านในเพื่อเพิ่มความแกร่ง จากนั้นทำผิวด้านนอกให้ดูสวยงาม โดย AM 150 พบว่าตัวตู้แน่นหนา มาตรฐานดังเช่นลำโพงวางหิ้งชั้นดี น้ำหนักรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ข้างในเกือบ 8 กก. ต่อข้าง

ผิวชั้นนอกสุดมิได้ใช้วัสดุปิดผิวเหมือนลำโพงระดับราคาเดียวกัน แต่ใช้กรรมวิธีพ่นเคลือบสีหลายชั้น ข้อดีคือ ปกปิดรอยต่อตัวตู้ได้อย่างมิดชิด และแม้ว่ามิได้เคลือบแล็คเกอร์เงาวับ หรูหราเหมือนลำโพงพาสซีฟของ Elac รุ่นสูงๆ ทว่าเลือกที่จะทำสีแบบ “กึ่งด้าน” ซึ่งทนทานกับริ้วรอยอันเกิดจากการใช้งานสมบุกสมบันได้ดีกว่า ไม่ทิ้งรอยนิ้วมือชัดเจนให้กวนใจอีกด้วย

นอกจากตัวตู้สีดำแล้ว AM 150 ยังมีสีขาวด้วยนะครับ… ดูเซ็กซี่ขึ้นนะ อิ อิ
(ภาพจาก IFA 2010 Gallery)

ลำโพงแอ็คทีฟของ Elac รุ่นนี้ จะไม่มีหน้ากากผ้า ซึ่งอันที่จริงหากเป็นการใช้งานในสตูดิโอ หน้ากากผ้าไม่มีความจำเป็นเลย (คงไม่มีใครแอบมาจิ้มไดรเวอร์เล่น) ตรงกันข้าม หน้ากากผ้าอาจเป็นตัวลดทอนคุณภาพเสียงลงด้วยซ้ำ (ลำโพงบ้านหลายๆ รุ่นก็ให้ผลลัพธ์ดังเช่นที่ว่านี้) แต่หากเป็นการใช้งานในบ้าน หน้ากากผ้าจะมีประโยชน์ในแง่การป้องกันอันตรายจากการกระทบกระแทกที่อาจเกิดกับตัวขับเสียง แต่ในจุดนี้ด้วยลักษณะของตัวขับเสียงของ AM 150 ก็นับว่าทนทานกับการถูกสัมผัสจับต้อง (ตามปกติ) ได้ดีอยู่ ถึงไม่มีหน้ากากก็ไม่น่าเป็นอะไร ระมัดระวังดูแลนิดหนึ่งแล้วกันครับ

ต่อไป ดูมาตรฐานช่องต่อด้านหลังของ AM 150 กันว่า “ครบครัน” พร้อมใช้งานมากน้อยเพียงใด

Connectivity – ช่องต่อ

อีกหนึ่งส่วนสำคัญ อันเป็นตัวตัดสินศักยภาพของลำโพงแอ็คทีฟ คือ “ช่องต่อ”
ด้วยดีกรีระดับโปรฯ ช่องต่ออินพุต-เอาต์พุตของ AM150 จึงมีมาให้พร้อมใช้งานอย่างครบครัน ตั้งแต่ช่องต่อพื้นฐานอย่างออดิโออินพุตแบบอะนาล็อก ซึ่งมีทั้งแบบ Unbalanced RCA และแบบ Balanced XLR และ TRS

แต่จุดที่พิเศษกว่าทั่วไป คือ มีออดิโออินพุตแบบ “ดิจิทัล” มาด้วย เท่ากับว่า AM150 ติดตั้ง DAC (Digital to Analog Converter) มาในตัว จึงสามารถรับสัญญาณดิจิทัลจากแหล่งโปรแกรมได้โดยตรง (PCM up to 48kHz sampling rate) ซึ่งมาตรฐานช่องต่อดิจิทัลอินพุตที่มีให้ มีทั้งแบบปกติที่นักเล่นเครื่องเสียงคุ้นเคยกัน คือ Coaxial (RCA) และมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ระดับโปร คือ AES/EBU (หัวแบบ XLR) แต่ไม่มี Optical ครับ

การกำหนดที่ตัวลำโพงว่าจะเลือกฟังอินพุตแบบอะนาล็อก หรือดิจิทัล สำหรับ AM 150 จะต้องสับสวิทช์ Input Mode ไปยังตำแหน่งอินพุตที่ต้องการก่อน เดิมจะถูกตั้งไว้ที่ Analog หากจะสลับเป็นดิจิทัล ต้องดันสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง Digital

คำเตือน: เนื่องจากเกนของสัญญาณอะนาล็อกและดิจิทัลไม่เท่ากัน (ปกติสัญญาณดิจิทัลจะต่ำกว่า) เพื่อความปลอดภัยก่อนสลับโหมด ควรตั้งระดับวอลลุ่มให้ต่ำไว้ก่อน

การเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัลมายัง AM 150 จะมีขั้นตอนเพิ่มเติมเล็กน้อย หลังจากปรับ Input Mode เป็น Digital แล้ว ด้วยลักษณะของสัญญาณดิจิทัลที่สามารถเข้ารหัสสัญญาณเสียงสเตริโอ 2 แชนเนล (หรือมากกว่า ในระบบโฮมเธียเตอร์) ผ่านสายสัญญาณเพียงเส้นเดียว การเชื่อมต่อกับ AM 150  จึงต้องมีการเชื่อมต่อสายสัญญาณดิจิทัลอีกเส้น ผ่านช่อง S/PDIF Thru ของลำโพงข้างหนึ่ง ไปยัง S/PDIF Inของลำโพงอีกข้างเพื่อให้เสียงออกครบทั้ง 2 ข้าง พร้อมทำการปรับตั้ง Channel Select เพื่อกำหนดแชนเนลลำโพงแต่ละข้างตามตำแหน่งตั้งวางว่าอยู่ข้างซ้าย หรือข้างขวา เพื่อให้ถ่ายทอดมิติสเตริโอได้อย่างถูกต้อง