10 Mar 2017
Review

โปรเจ็คเตอร์เพื่องานจัดแสดงขนาดใหญ่ ศักยภาพเต็มเปี่ยมด้วยแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ !!? รีวิว Epson EB-L1100U


  • ชานม

ภาพ

ด้วยดีกรีโปรเจ็คเตอร์ระดับโปรเฟสชันนัล นอกเหนือจากคุณสมบัติที่เอื้อต่อการติดตั้งอันยืดหยุ่นดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ปัจจัยสำคัญอย่างตัวเลือกปรับแต่งด้านการแสดงผลภาพนิ่งและภาพวิดีโอของ L1100U ก็ยอดเยี่ยมครอบคลุมหลายมิติเช่นเดียวกัน อาทิ สามารถไฟน์จูนในส่วนของความเที่ยงตรงของการถ่ายทอดสีสัน White Balance (2-point), Color Management System (CMS – Primary & Secondary) และ Gamma เป็นต้น

ตัวอย่างในส่วนของหัวข้อเมนูการปรับแต่งตั้งค่า Gamma ซึ่งนอกจากค่าตัวเลือกสำเร็จรูปแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถกำหนดจุด Gamma Curve ที่จะทำการไฟน์จูนโดยละเอียดได้ด้วย

L1100U มาพร้อมโหมดภาพสำเร็จรูปจากโรงงานทั้งสิ้น 6 โหมด ได้แก่ Dynamic, Presentation, Cinema, sRGB, DICOM SIM และ Multi-Projector ในจำนวนนี้มีโหมดพิเศษที่จะไม่พบเห็นกับโปรเจ็คเตอร์ทั่วไป คือ DICOM SIM ถือเป็นโหมดพิเศษสำหรับการฉายภาพจำพวกฟิล์มเอ็กซเรย์ ภาพถ่ายทางการแพทย์ ฯลฯ ส่วน Multi-Projection มีไว้สำหรับกรณีที่ต้องการฉายภาพต่อๆ กันจากโปรเจ็คเตอร์หลายเครื่อง

สำหรับการใช้งานทั่วไป โหมดภาพที่แนะนำของ L1100U คือ Presentation เพราะถึงแม้สมดุลสีจะติดไปทางโทนเย็นมากกว่านิดหน่อย (ราว 8500K) เมื่อเทียบกับโหมด Cinema และ sRGB แต่จะให้ระดับความสว่างสูงกว่า 2 โหมดนี้ ราว 30% เลยทีเดียว (อ้างอิงที่ Light Source Mode = Normal) ศักยภาพดังกล่าวหากต้องใช้งาน L1100U ในสภาวะสู้แสง หรือกรณีที่ต้องฉายภาพขึ้นจอขนาดใหญ่มากๆ โหมด Presentation จะทำได้อย่างลงตัวเหนือโหมดภาพอื่นๆ และในส่วนของขอบเขตสี (Color Space) ในโหมด Presentation ก็ทำได้กว้างขวางที่สุด ครอบคลุมราวๆ 97% ของมาตรฐาน Rec.709

หมายเหตุ: โหมดภาพ Presentation ของ L1100U ถือว่าให้ระดับความสว่างได้สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐาน Home Theater หรือ Presentation Projector อย่างไรก็ดีโหมดภาพของ L1100U ที่มีระดับความสว่างสูงที่สุดที่ คือ Dynamic โดยให้ระดับความสว่างสูงกว่า Presentation ขึ้นไปอีกราว 38% ทว่าสมดุลสีของ Dynamic นั้นค่อนข้างผิดเพี้ยน จึงไม่แนะนำให้ใช้

แต่หากเป็นการใช้งานที่ไม่ต้องการระดับความสว่างสูงมากนัก เช่น ใช้งานในห้องที่คุมแสงรบกวนได้ โหมดภาพ sRGB และ/หรือ Cinema จะให้ความลงตัวกว่าในเรื่องของสมดุลสี
กระนั้นดังที่เรียนไปในตอนต้นว่า ผู้ผลิตเปิดโอกาสให้ทำการไฟน์จูนปรับภาพ L1100U เพิ่มเติมได้ และด้วยศักยภาพของโหมดภาพ Presentation ภายหลังดำเนินการปรับภาพพบว่า ให้ผลลัพธ์เที่ยงตรงขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจในทุกๆ ด้าน
ประเด็นเรื่องของระดับความสว่างของ L1100U นั้น ผู้ใช้สามารถกำหนดได้ ผ่านตัวเลือก Light Source Mode ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 ระดับ เรียงจากสว่างมากไปน้อย ดังนี้ Normal > Quiet > Extended หรือจะทำการไฟน์จูนโดยละเอียดด้วยตนเองก็ทำได้ (Custom กำหนดจาก 100% ถึง 30%) ผลพลอยได้ของการปรับลดความสว่างของโปรเจ็คเตอร์ คือ เสียงพัดลมระบายความร้อนจะเบาลง อายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสงที่ยาวนานขึ้น และยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย แต่ต้องเลือกใช้ในสภาวการณ์ที่เหมาะสม

หมายเหตุ: เดิมทีตัวเลือก Light Source Mode ของทุกๆ โหมดภาพจะถูกกำหนดไว้ที่ Normal แต่กรณีที่ผู้ใช้ทำการเปลี่ยนตัวเลือกเป็น Quiet ร่วมกับโหมดภาพ Presentation พบว่า ถึงแม้ระดับความสว่างที่ได้จะลดลงตามคาดแต่ก็ยังเป็นระดับที่สูงพอๆ กับโหมด Cinema และ sRGB (ที่กำหนด Light Source Mode = Normal) แน่นอนว่าอัตราการกินไฟก็ลดลงตามไปด้วยจากเดิมที่ 383 วัตต์ เหลือเพียง 281 วัตต์ ดังนี้โหมด Presentation (Quiet) จึงให้ประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการใช้พลังงานเพื่อแปลงเป็นแสงสว่างได้ดีกว่า

เมื่อรองรับการปรับภาพจนได้ความเที่ยงตรงตามมาตรฐานอ้างอิงแล้ว ย่อมจะนำ L1100U ไปใช้งานได้หลากหลายครอบคลุมทั้งแสดงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง หรือเพื่องานที่จริงจัง
หากจะนำโปรเจ็คเตอร์เครื่องนี้ไปใช้กับงานโชว์ด้านเกมก็สามารถทำได้ เนื่องจาก L1100U มีศักยภาพรองรับการแสดงผลได้เป็นอย่างดี ซึ่งด้วยระดับความสว่างที่สูง ภาพจึงดูจะแจ้งชัดเจนแม้เป็นการใช้งานในพื้นที่แวดล้อมที่มิแสงรบกวน ไม่จำเป็นจะต้องคุมแสงแวดล้อมให้มืดสนิทเท่านั้น และในส่วนของ HDMI Input Lag นั้น ก็ทำได้ดีที่ราว 41 – 42 ms ในทุกโหมดภาพ

สรุป

Epson สร้างปรากฎการณ์อีกครั้งด้วย L1100U โปรเจ็คเตอร์ระดับโปรเฟสชันนัล ที่ผนวกสุดยอดแหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ เข้ากับเทคโนโลยี 3LCD จึงให้ศักยภาพถ่ายทอดคุณภาพของภาพแม้ในพื้นที่ใช้งานขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี พร้อมสำหรับการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ด้วยฟังก์ชั่นของโปรเจ็คเตอร์ระดับโปรเฟสชันนัลอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่สามารถหาเทคโนโลยีจอภาพแบบอื่นใดทดแทนได้ในเวลานี้…

จุดเด่นของ Epson EB-L1100U

– แหล่งกำเนิดแสง Laser Phosphor ผสาน Inorganic 3LCD Panels ให้ระดับ White Light Output และ Color Light Output ได้สูงมาก พื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถสู้แสงหรือฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

– ความละเอียด WUXGA (1920 x 1200) พร้อมเทคโนโลยี 4K Enhancement เพียงพอสำหรับงานจัดแสดงในปัจจุบัน รองรับการฉายภาพต่อกันด้วยโปรเจ็คเตอร์หลายเครื่องได้ (Multi-Projection)

– ระบบปรับหน้าเลนส์ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์มอเตอร์ทั้ง Zoom, Focus และ Shift ให้ความละเอียดเที่ยงตรงและยืดหยุ่น

– รองรับระบบเครือข่ายผ่าน LAN และ Wi-Fi (อุปกรณ์เสริม) พร้อมการควบคุมผ่าน Web Base Control ศักยภาพสูง

– มาพร้อมฟังก์ชั่นชดเชยปรับแต่งรูปแบบการฉายภาพ ให้เอื้อกับการติดตั้งโปรเจ็คเตอร์หลากหลายสถานการณ์

– แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์อายุการใช้งานยาวนานสูงสุดถึง 20,000 ชม. อุปกรณ์ต่างๆ ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการบำรุงรักษาในระยะยาว

จุดด้อยของ Epson EB-L1100U

– ขนาดตัวเครื่องใหญ่โต น้ำหนักมาก ในการติดตั้งจะต้องคำนึงถึงความมั่นคง โครงสร้างรองรับต้องมีความแข็งแรงสูง

– โหมดภาพจากโรงงานยังไม่ถึงกับเที่ยงตรงที่สุด ต้องทำการไฟน์จูนเพิ่มเติม ซึ่งในจุดนี้ระบบฯ รองรับการปรับภาพละเอียด ผลลัพธ์สุดท้ายจึงเป็นที่น่าพอใจมาก

– ขอบเขตสียังไม่ครอบคลุมถึง DCI-P3 (ในขณะที่รุ่น LS10000 Home Theater Projector ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์จากผู้ผลิตเดียวกันทำได้)

– ระดับ Black Level ยังเป็นรอง Home Theater Projector แต่ก็แลกมาด้วยความสว่างที่ทำได้สูงกว่ามากๆ

– เสียงพัดลมระบายความร้อนอาจไม่ถึงกับเงียบ แต่ถือว่าเบาสำหรับเกณฑ์ Installation Projector และเบากว่า Presentation Projector หลายๆ รุ่น ที่ใช้งานตามออฟฟิศด้วยซ้ำ