09 Aug 2015
Review

สัมผัสบรรยากาศสด กับชุดลำโพงอังกฤษระดับพระกาฬ !! รีวิว KEF R Series Speaker Set


  • ชานม

Home Theater Speaker Set

KEF R Series

สัมผัสบรรยากาศสด
กับชุดลำโพงอังกฤษระดับพระกาฬ !!

หากพูดถึงลำโพงที่เป็นตำนาน มีประวัติเรื่องราวอันน่าจดจำ คงจะขาด KEF ไปมิได้ และหากพูดถึงคุณภาพเสียง ลำโพงแบรนด์อังกฤษยี่ห้อนี้ก็ได้สร้างสีสันให้กับวงการอยู่มาก พอๆ กับรูปลักษณ์ของลำโพงรุ่นคอนเซ็ปต์เรืองธงทั้ง 2 รุ่นที่โดดเด่นไม่แพ้กัน อย่าง Muon และ BLADE

ลำโพง KEF ซีรี่ส์คอนเซ็ปต์เรือธงทั้ง 2 รุ่น คือ Muon และ BLADE
ภาพโดย Nishant Padhiar

ทั้ง 2 รุ่นข้างต้นล้วนแล้วแต่ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการเข้าถึงอรรถรสด้านเสียงขั้นสูงสุด และด้วยนวัตกรรมด้านเสียงที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อการณ์นี้ ปัจจุบันถูกถ่ายทอดลงมายังลำโพงรุ่นใหม่ๆ ของ KEF เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

เปรียบเทียบ R Series (R900) กับ Reference Series (Reference 3)

หากลำดับซีรี่ส์แล้ว ถ้าไม่นับรุ่นคอนเซ็ปต์เรือธง อาทิ Muon และ BLADE จะพบว่า R Series เป็นรองเพียง Reference Series เท่านั้น ซึ่งในส่วนของนวัตกรรมด้านเสียงที่ถ่ายทอดลงมา ดูจะใกล้เคียงกับ Reference Series มากเป็นพิเศษในขณะที่มีค่าตัวต่ำกว่า… มาดูกันว่า พื้นฐานการออกแบบขั้นสูงที่ส่งกับคุณภาพเสียงของ R Series นั้น มีอะไรบ้าง และโดดเด่นเพียงใด?

Design – การออกแบบ

นวัตกรรมด้านเสียงที่สร้างชื่อให้กับ KEF อิงที่มาจากรุ่นคอนเซ็ปต์เรือธง และถูกถ่ายทอดลงมายังรุ่นอื่นๆ จนเป็นเอกลักษณ์ของลำโพง KEF ยุคใหม่ คือ เทคโนโลยีตัวขับเสียงที่เรียกว่า Uni-Q

KEF เป็นผู้ผลิตลำโพงเจ้าแรกๆ ที่นำทวีตเตอร์ไปติดตั้งไว้ที่ใจกลางของวูฟเฟอร์ เพื่อผลด้านความกลมกลืนของรอยต่อเสียง ผลลัพธ์จะเป็นดังเช่น เสียงที่ออกมาจากจุดกำเนิดเดียวตามอุดมคติ

เทคนิคการนำตัวขับเสียง 2 ชนิต คือ ทีวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ไว้ในแกนกลางเดียวกันของ KEF มีรายละเอียดที่โดดเด่นแตกต่างจากเจ้าอื่น ส่วนของตัวขับเสียงกลาง .ในส่วนของไดอะแฟรมขึ้นรูปจากวัสดุผสมที่มีความแกร่งสูง คือ Magnesium และ Aluminum เสริมด้วยโครงสร้างพิเศษเพื่อป้องกันเสียรูป ในส่วนของขอบเซอร์ราวด์ที่เรียกว่า Z-flex จะทำอีกหน้าที่ คือ ป้องกันมิให้เสียงของทวีตเตอร์สะท้อนกับแผงหน้าตัวตู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

ส่วนทวีตเตอร์โดมที่อยู่ใจกลางนั้นเสริมด้วยโครงสร้างจีบโลหะเป็นแฉกๆ ที่เรียกว่า Tangerine Waveguide ทำหน้าที่ควบคุมมุมกระจายเสียง เพิ่มความไว (Sensitivity) ให้กับทวีตเตอร์

ทั้งทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ของ Uni-Q ถูกขับเคลื่อนด้วยวอยซ์คอล์ยภายใต้แม่เหล็ก (นีโอไดเมียมสำหรับทวีตเตอร์ และเฟอร์ไรต์สำหรับมิดเรนจ์) ขนาดใหญ่ รับกำลังขับจากภาคขยาย ถ่ายทอดไดนามิกได้อย่างเต็มที่

ความแปลกตาที่ดูงดงามของ KEF จากตัวขับเสียง มิได้มีเพียงแค่ Uni-Q
หากสังเกตที่ Bass Driver จะเห็นความแตกต่างที่โดดเด่นเช่นเดียวกัน

ตัวขับเสียงเบสของ KEF จะไม่เหมือนลำโพงทั่วไปที่มีลักษณะเป็นกรวยเว้าลึกลงไป ทว่าเกือบเป็นแผ่นเรียบ และไม่มีเฟสปลั๊กหรือดัสท์แค็ปเป็นรอยต่อตรงใจกลางให้เกะกะลูกตา แต่ในความแปลกนี้ก็แฝงไว้ด้วยนวัตกรรมทางเสียงเช่นกัน…

ตัวไดอะแฟรมสีดำที่เห็นนั้นขึ้นรูปแบบไฮบริด โดยมีวัสดุหลัก คือ โลหะอะลูมิเนียม ทั้งนี้เพื่อให้มีความแกร่งแต่น้ำหนักเบา การขยับเคลื่อนตัวก็จะทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ยังผลให้การตอบสนองความถี่ต่ำลงได้ลึก และถ่ายทอดไดนามิกได้อย่างเต็มที่

โครงสร้างตัวตู้ที่ดูสวยงามจากสีสันที่เงางามดั่งเปียโน ดูสะอาดตาไม่มีหัวสกรูให้เห็น ภายในยังพิถีพิถันเผื่อผลด้านความแกร่ง
มีการกั้นส่วนตัวตู้ คาดโครง พร้อมกับแดมป์ป้องกันการสั่นสะเทือนตามจุดต่างๆ ดังเช่นลำโพงระดับสูง

นอกจากนี้ในส่วนของการไฟน์จูนเสียงความถี่ต่ำด้วยท่อเปิด มีการคำนวณจำลองการไหลเวียนมวลอากาศด้วยคอมพิวเตอร์โดยละเอียด เพื่อให้แรงดันอากาศภายในตัวตู้มีการถ่ายเทเข้าออกได้อย่างรวดเร็ว

ขั้วลำโพงของ R Series เป็นไบดิ้งโพสต์แบบไบไวร์ ทว่าแตกต่างจากลำโพงทั่วไป (อีกแล้ว) เพราะจัมเปอร์โลหะจะซ่อนอยู่ด้านในด้วยกลไกพิเศษ การปรับรูปแบบการเชื่อมต่อสายลำโพงระหว่างซิงเกิลไวร์ และไบไวร์ ทำได้โดยปุ่มปรับหมุนที่อยู่ระหว่างขั้วลำโพงด้านบนและล่าง

ฐานพร้อมเดือยแหลมรองรับตัวตู้ลำโพงเป็นอีกจุดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยให้ปรับระดับลำโพงได้อย่างเที่ยงตรงแล้ว ยังให้ความมั่นคง และสวยงามไปพร้อมๆ กัน