30 Dec 2013
Review

รีวิว KEF X300A Wireless ขยับการรับฟังไปอีกขั้นด้วยลำโพง Active Desktop Monitor ระดับสตูดิโอ


  • raweepon
เมื่อขยับขึ้นไปที่มุมด้านบนของลำโพงทั้งข้างซ้ายและข้างขวาจะพบเข้ากับสกรีนตัวหนังสือสีขาวที่จะคอยบอกว่าข้างไหนคือลำโพงข้างซ้ายหรือข้างขวา นอกจากนี้ก็จะเป็นส่วนที่อยู่ของท่อเบส
ที่จะระบายลมเบสออกทางด้านหลังอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในชุดยังได้แถม Foam plug สำหรับไว้อุดท่อเบสมาด้วยอีกสองชุด

โดยตัวของ Foam plug จะสามารถใช้งานได้ทั้งแบบอุดเต็มท่อเบสและแบบอุดเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งตัวของเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้จะช่วยให้สามารถปรับจูนอัตราการตอบสนองความถี่ต่ำของลำโพง ให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพต่างๆ นั่นเอง

Setup – การติดตั้ง

ผ่านส่วนของดีไซน์กันไปแล้วก่อนที่เราจะไปฟังเพลงกันต่อนั้น ต้องขอพาคุณผู้อ่านมาดูที่วิธีการเริ่มใช้งานและการติดตั้งเจ้า KEF X300A Wireless กันสักเล็กน้อยจะได้ทราบว่าเราสามารถทำอะไรกับลำโพงตัวนี้ได้บ้าง โดยการใช้งานจะรองรับการใช้งานได้ทั้งแบบใช้สายและแบบไร้สาย แต่ถ้าหากใครไม่ต้องการฟังก์ชันไร้สายอาจจะเลือกเป็นรุ่น X300A ธรรมดาก็ได้ไม่ว่ากันส่วนสเปคพื้นฐานนั้นก็จะเหมือนกับรุ่น X300A Wireless ที่กระผมกำลังรีวิวอยู่แทบทุกประการ 

สำหรับการจัดวางถึงแม้ว่าตัวลำโพงจะเป็นแบบ Desktop Monitor ที่สามารถวางบนโต๊ะและนั่งฟังในระยะใกล้กับหู (Near Field) ได้แล้ว แต่ทาง KEF ก็ยังคงใส่โหมด EQ มาให้เราเลือกปรับเป็นแบบ STAND ได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่เราใช้วางหิ้งและนั่งฟังห่างออกมาในระยะหนึ่ง
มาเริ่มกันที่การเชื่อมต่อแบบใช้สายกันก่อนนะครัช การเชื่อมต่อในลักษณะนี้จะรองรับทั้งการเชื่อมต่อผ่านทางพอร์ต USB DAC และ AUX ซึ่งทั้ง 2 แบบจะให้คุณภาพเสียงที่แตกต่างกันด้วย

โดยการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่านทางสาย USB เขามายังตัวของ KEF X300A Wireless ตามกายภาพแล้วจะให้คุณภาพเสียงได้ดีที่สุด เพราะว่าบนตัวของลำโพงนั้นจะมาพร้อมกับ USB DAC 96kHz/24-bit ในตัว (พบได้ในลำโพงที่ค่อนข้างมีราคาสูง) นั่นก็หมายความว่ามันสามารถที่จะถอดรหัสเสียงดิจิตอลได้ในตัวเลยทีเดียว ส่วนการเชื่อมต่อผ่านทางพอร์ต AUX จะเป็นสัญญาณเสียงแอนะล็อกทั่วไป

อีกหนึ่งรูปแบบการเชื่อมต่อที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนั่นคือการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ซึ่งฟังก์ชันนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ KEF X300A Wireless เขาเลยล่ะ

สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายจะรองรับการสตรีมมิ่งเพลงผ่านทาง  Airplay® หรือ DLNA จากคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่น MP3 และอุปกรณ์พกพาชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งของ Apple หรือแม้แต่ Android โดยการเชื่อมต่อไร้สายนั้นจะเป็นการทำงานผ่านทางเทคโนโลยี IEEE 802.11 b/g/n นั่นเอง

ทั้งนี้ผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชันที่มีชื่อว่า “KEF Wireless Setup” ได้ฟรีที่ Apple store และ Google play

จากที่ได้ลองเชื่อมต่อเข้ากับ iPhone 5 ที่อยู่ในมือกระผมเข้ากับเจ้าลำโพงตัวเทพนี้ พบว่าแอพพลิเคชันของ KEF ค่อนข้างใช้งานได้ง่ายดาย เพราะว่าบนตัวแอพฯ จะมีการอธิบายวิธีการเชื่อมต่อไร้สายไว้ได้อย่างละเอียด

สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายนั้นถ้าหากต้องการใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมที่ใช้ในการเชื่อมต่อได้ที่เว็บไซต์ของ KEF ซึ่งมีให้เลือกดาวน์โหลดทั้งระบบปฏิบัติการ Windows (เวอร์ชัน 7 ขึ้นไป) และ Mac (Mac OS X 10.6 ขึ้นไป) ฟรีอีกเช่นกันนะจ๊ะ

Sound – เสียง

ในที่สุดเราก็มาถึงยังส่วนของเสียงกันแล้ว ในที่นี้กระผมจะทดสอบด้วยการนำไปใช้งานด้วยการฟังเพลงกับคอมพิวเตอร์แบบพกพาและสมาร์ทโฟนเป็นหลักนะ สำหรับคุณภาพเสียงที่ได้นั้นจะเป็นอย่างไรถ้าพร้อมแล้วไปฟังกันเลยจะได้ไม่ยืดเยื้อมากไปนัก

หลักจากที่ได้ทำการจัดวางเจ้า KEF X300A Wireless เข้ากับโต๊ะและจัดมุมการรับฟังให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดแล้ว จึงได้ทำการเปิดเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์เบิร์นให้ตัวของไดร์เวอร์นั้นเข้าที่เข้าทางซะก่อน
ภาพโครงสร้าภายในของ X300A Wireless จะแสดงให้เห็นว่ามีการแยกติดตั้งวงจร DAC ออกจากวงจรภาคขยาย ไม่ได้รวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งน่าจะช่วยในแง่ของการลดทอนสัญญาณรบกวนได้ดีอีกด้วย

เมื่อพ้นระยะเบิร์นแล้วกระผมจึงได้ลองนั่งฟังเพลงอยู่ร่วมๆ ครึ่งร้อยเพลงเห็นจะได้ แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าตัวลำโพงนั้นจะมาพร้อมกับ DAC 96kHz/24-bit และแอมปลิฟายเออร์ Class-AB ติดมาให้บนตัวเลย ทำให้การใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นไม่ต้องใช้ DAC จากภายนอกเป็นตัวถอดรหัสเสียงอีกที

ซึ่งจากการทดลองฟังนั้นพบว่าเจ้า KEF X300A Wireless สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของน้ำเสียงออกมาได้อย่างคมชัดเรียบเนียนทุกระเบียบนิ้วสมกับความเป็นดิจิตอลทั้งระบบเสียจริงๆ ถึงแม้ว่าคุณภาพของเสียงที่เปล่งออกมานั้นแทบจะไม่ได้ถูกบีบเป็นระบบแอนะล็อกเลยแม้แต่นิด แต่ก็ยังคงให้คาแรคเตอร์ของการรับฟังที่ไม่แข็งกระด่างจนเกินไป

โดยตัวไดร์เวอร์แบบ Uni-Q driver array ที่ถูกติดตั้งมานั้นยังให้รายละเอียดของเสียงในย่านความถี่ต่างๆ ได้อย่างนุ่มละมุนตามสไตล์ลำโพงผู้ดีเมืองอังกฤษเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเสียงแหลมตัวไดร์เวอร์ที่เป็นอะลูมิเนียมก็สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้เรียบเนียนและต่อเนื่องโดยที่ไม่มีอาการเสียงขาดหรือสะดุดเลยแม้แต่นิด แถมโทนเสียงในย่านเสียงสูงก็ไม่ได้ใสกิ๊กแบบเอาเป็นเอาตายจนบาดหูแต่อย่างใด

ถัดมาที่รายละเอียดเสียงกลางอย่างเช่นน้ำเสียงคนร้องจากที่กระผมเป็นคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงของ “Tong Li” ที่เพลงส่วนใหญ่มักจะเป็นแนวเพลงร้องเอื่อยๆ พร้อมกับมีเครื่องดนตรีเข้ามาผสมผสานภายในเพลงอยู่หลายชนิดพอสมควร ความรู้สึกที่ได้จากการรับฟังผ่านเจ้าลำโพงคู่นี้คือพบว่าน้ำเสียงการร้องของ Tong Li ที่แปล่งออกมานั้นถือว่ามีความเอิบอิ่ม แถมยังสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของน้ำหนักเสียงในระดับต่างๆ ออกมาได้อย่างพริ้วไหว ในขณะที่เสียงเบสที่ถูกส่งผ่านออกมาจากไดร์เวอร์รอบนอกนั้นทำออกมาได้อย่างกระชับและไม่เยอะจนรู้สึกว่าฟังในระยะใกล้ๆ หรือติดหน้าลำโพงแล้วไม่รู้สึกว่าล้าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ก็มีข้อสังเกตอยู่เล็กน้อยคือถ้าผู้ใช้งานนั่งห่างจากรัศมีของลำโพงออกมาสักประมาณ 2 เมตรขึ้นไป อาจจะรู้สึกว่าเสียงเบสที่ถูกส่งผ่านออกมาทางด้านหน้าไดร์เวอร์และท่อเบสด้านหลังจะมีอาการเบสบางลงไปพอสมควร จากความเห็นส่วนตัวของกระผมคิดว่าอาจจะด้วยขนาดและการออกแบบที่เน้นใช้งานในแบบ Near Field หรือการใช้งานในลักษณะที่ต้องนั่งฟังในระยะกระชั้นชิดตามสไตล์ของลำโพง Desktop Monitor เขาล่ะจ้า

หลังจากที่ฟังเพลงแบบจริงจังด้วยการเชื่อมต่อผ่านทางสาย USB กันไปแล้ว ทีนี้ขอเปลี่ยนมาชิวๆ กับการใช้งานแบบไร้สายกันบ้างนะ

ซึ่งจากการทดสอบด้วยการเล่นเพลงจาก iPhone ของกระผมผ่านรูปแบบการเชื่อมต่อไร้สาย พบว่าคุณภาพเสียงที่ได้นั้นแทบไม่มีความผิดเพี้ยนในระหว่างการตรีมมิ่งสัญญาณไร้สายไปยัง KEF X300A Wireless ให้ได้เห็นเลย อาจเป็นเพราะว่าการตรีมมิ่งสัญญาณเพลงไร้สายบนชุดลำโพงนี้จะใช้การสตรีมมิ่งเพลงผ่านทางสัญญาณ Wi-Fi ซึ่งต่างกับลำโพงแบบไร้สายตัวอื่นๆ ที่กระผมได้เคยทดสอบมานั้นที่มักจะใช้สัญญาณ Bluetooth เป็นสื่อกลางทำให้พบอาการเสียงดรอปอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่ตัวของ KEF X300A Wireless ไม่พบว่ามีอาการเสียบดรอปหรืออุดอู้แต่อย่างใด

โดยข้อดีของการสตรีมมิ่งไร้สายผ่านทางสัญญาณ Wi-Fi จะช่วยลดการสูญหายของข้อมูลระหว่างทาง จึงเป็นที่นิยมใช้กันในชุดเครื่องเสียงหรือลำโพงที่ต้องการรักษาคุณภาพเสียงให้เหมือนกับไฟล์ต้นทางไว้ให้มากที่สุด