18 Jul 2018
Review

รีวิว Klipsch The Sixes ลำโพง Active สไตล์ วินเทจ กับแนวเสียงที่ ใสนุ่มลึก ฉีกแนวความเป็น Klipsch ได้อย่างดีเยี่ยม


  • TopZaKo

Klipsch The Sixes

Active Bookshelf Speaker

ในปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงเครื่องเสียงและลำโพง ได้ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์ รวมไปถึงการใช้งานต่างๆ ก็สะดวกง่ายดายและเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบอะไรแบบเก่าๆ หรือที่เรียกว่า สไตล์ “วินเทจ” นั่นเอง จึงเป็นสิ่งที่ Klipsch แบรนด์ผู้ผลิตลำโพงและเครื่องเสียงที่มีชื่อในวงการมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี ได้นำความ วินเทจ กับ เทคโนโลยีในสมัยนี้มาพัฒนาเป็นลำโพงวางหิ้งขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ในแบบ Active Bookshelf Speaker พร้อมดีไซน์และคุณภาพเสียงที่คุณได้เห็นได้ฟังแล้วคุณต้องเผลอยิ้มออกมาอย่างแน่นอน ลำโพงรุ่นนี้ก็คือ Klipsch The Sixes หนึ่งในลำโพงตระกูล Heritage นั่นเอง

ผมเชื่อว่าหากใครได้ยินชื่อ Klipsch ย่อมนึกถึงแนวเสียงที่ จัดจ้าน หนักแน่น ดุดัน ฟังสนุก อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นี้กันอย่ากันอย่างแน่นอน !!! และหากใครคิดว่า Klipsch The Sixes ก็คงจะให้เสียงแบบนั้นเช่นกัน ผมต้องขอบอกว่า คุณคิด…… ผิดครับ !!! หากใครอยากรู้จัก Klipsch The Sixes มากกว่านี้เชิญไปอ่านในรีวิวกันได้เลยยยย

Design – การออกแบบ

หน้าตาของ Klipsch The Sixes เวลาใส่หน้ากากลำโพงไว้
หน้าตา Klipsch The Sixes เวลาถอดหน้ากากลำโพงออก

มาดูในส่วนของการดีไซน์และการออกแบบกันก่อน เจ้า Klipsch The Sixes แวบแรกที่แกะกล่องออกมาผมถึงกับเผลอตะโกนออกมาเลยว่า “สวยมาก…!!!” ด้วยดีไซน์การออกแบบเหมือนลำโพงในสมัยก่อนซึ่งอาจไม่ดูสวยล้ำเหมือนลำโพงในสมัยนี้ แต่ก็ดูมีความสวยงามลงตัวในสไตล์ความเป็น “วินเทจ” อย่างมาก เหมาะกับการนำไปวางไว้ที่มุมฟังเพลงในบ้านหรือร้านอาหารที่ตกแต่งแนวย้อนยุคจะเป็นอะไรที่เหมาะอย่างยิ่ง

โลโก้ Klipsch ที่เปรียบเหมือนสัญญาณแห่งคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม

ตัวตู้ลำโพงทำมาจากไม้แท้ๆ สีวอลนัท เคลือบเงา ซึ่งแค่ยกออกจากล่องมาตั้งวางก็รู้แล้วว่างานประกอบเยี่ยม พร้อมผิวสัมผัสที่ทำให้รู้สึกว่าพรีเมี่ยม ดูแพง ได้เป็นอย่างดี

ท่อลมระบายเบสทางด้านหลังของตู้ลำโพง

โดยตัวตู้ มีขนาดความสูง 16.75 นิ้ว ความกว้าง 8.62 นิ้ว และความลึกอยู่ที่ 11 นิ้ว ซึ่งนับว่าเป็นลำโพง Bookshelf ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรจึงต้องอาศัยพื้นที่ในการวางอยู่บ้าง น้ำหนักของตัวลำโพงทั้งสองข้างจะต่างกันเล็กน้อยโดยข้างซ้ายมีน้ำหนักอยู่ที่ 7.26 กิโล ส่วนข้างขวาจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 8.05 กิโล เพราะว่าข้างขวานี้ถูกติดตั้งภาครับสัญญาณต่างๆ รวมถึง แอมป์พลิฟายเออร์ จึงทำให้มีน้ำหนักที่มากกว่า แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่มีผลกระทบต่อการใช้งาน

ทวิตเตอร์แบบ Tractix Horn อันเป็นเอกลักษณ์ของยี่ห้อ Klipsch นั่นเอง

ซึ่งหากมองจากด้านหน้าจะพบกับลำโพงทวิตเตอร์ที่ทำจากวัสดุไททาเนี่ยมที่ใช้การออกแบบ แบบ Tractix Horn ขนาดหนึ่งนิ้ว จำนวนหนึ่งดอก และดอกลำโพงวูฟเฟอร์ขนาด 6.5 นิ้ว อีกหนึ่งดอก โดยตามสเปคแล้ว Klipsch The Sixes ตัวนี้สามารถตอบสนองความถี่ได้ 40Hz ถึง 20kHz เลยทีเดียวซึ่งถือว่าดีมากสำหรับลำโพง Bookshelf

ไฟแสดงสถานะของการเชื่อมต่อว่าเลือกใช้สัญญาณช่องใดอยู่

ในตู้ลำโพงข้างขวาจะเป็นตัวควบคุมภาคสัญญาณต่างๆ ปุ่มกด ช่องต่อ และแอมป์พลิฟายเออร์ในตัวที่ให้กำลังขับ 200W x 2 Peak สู่ลำโพงทั้ง 2 ข้างโดยเรียกได้ว่าแค่เสียบปลั๊กก็พร้อมใช้งานได้เลย หากมองที่ด้านล่างจากซ้ายไปขวาจะพบกับสิ่งแรกคือ วงกลมสีดำซึ่งเป็นตัวรับสัญญาณรีโมท, ตามมาด้วยลูกบิด Volume, โลโก้ Klipsch, ไฟสถานะสัญญาณกับการเชื่อมต่อ, ลูกบิดเลือกช่องสัญญาณ และ สวิตซ์เปิด/ปิดเครื่อง (หากกดเปิด/ปิดผ่านรีโมทจะเป็นการ Standby)

รีโมทที่มาในขนาดเล็กกะทัดรัดใช้งานง่าย

ในส่วนรีโมทนั้นมาในแบบเล็กกะทัดรัด มีเฉพาะปุ่มสำคัญๆ เท่านั้น ทำให้ใช้งานง่ายโดยมี ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง(เข้าโหมด Standby), ปุ่มเปิด/ปิด ไฟสถานะ LED, ปุ่มเพิ่ม/ลดความดังเสียง, ปุ่มปิดเสียง (Mute), ปุ่มเพิ่ม/ลดความดังเสียงซับวูฟเฟอร์, ปุ่มช่องสัญญาณ Bluetooth (กดปุ่มแช่ไว้เพื่อทำการเชื่อมกับอุปกรณ์ใหม่), ปุ่มช่องสัญญาณ AUX, ปุ่มช่องสัญญาณ USB, ปุ่มช่องสัญญาณ Phono/Line In และปุ่มสุดท้ายคือปุ่มช่องสัญญาณเสียง Digital

Connectivity – ช่องต่อ

ด้านหลังของลำโพงทั้ง 2 ข้าง ที่รวบรวมช่องต่อต่างๆ เอาไว้

ในส่วนของช่องต่อนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Analog และ Digital โดยในส่วนของ Analog In จะประกอบไปด้วยช่องต่อ RCA Input ที่มีสวิตซ์สับเปลี่ยนเลือกได้ว่าจะให้เป็นแบบ Phono สัญญาณจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ สัญญาณ Line In แบบปกติ และ ช่องต่อ AUX 3.5 มม. ต่อมาเป็นช่องต่อ Subwoofer Out หรือ LFE

สายไฟ 4 ขั้วที่ไว้สำหรับต่อจากลำโพงข้างขวาไปสู่ลำโพงข้างซ้าย

ในส่วนถัดมาจะเป็นของ Digital In ที่ประกอบไปด้วยช่องต่อ Optical และ USB Type B ถัดมาจะเป็นช่องต่อ USB ที่เอาไว้สำหรับการบริการ Service เท่านั้นไม่สามารถเล่นไฟล์ต่างๆ ได้ ในอีกส่วนจะเป็นที่เสียบสาย Ground ไว้ลดสัญญาณรบกวนเวลาใช้ภาคสัญญาณ Phono ต่อมาเป็นช่องต่อสายสัญญาณไปยังลำโพงข้างซ้ายแบบ 4 ขั้วที่ Klipsch ออกแบบมาเฉพาะ โดยสายที่ให้มามีความยาวถึง 6 เมตรทำให้สามารถใช้ในห้องใหญ่ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา กับ ช่องเสียบสายไฟ AC IN และท้ายสุดจริงๆ ที่อาจดูไม่มีตัวตน แต่ก็มีอยู่จริงก็คือ Bluetooth aptX นั่นเองครับ

Features – ลูกเล่น

ฟังก์ชั่นโดยรวมของ Klipsch The Sixes ถือว่าครบครันใช้งานง่ายมาก

ในส่วนของลูกเล่นต่างๆ ของเจ้า Klipsch The Sixes นั้นก็ถือว่าให้มาเยอะมาพอสมควร มีทั้งภาครับแบบ Analog และ Digital ซึ่งหากดูจากดีไซน์การออกแบบของ Klipsch The Sixes แล้วการจะจับลำโพงคู่นี้กับอะไรที่มันเป็น Analog คงจะเข้ากันได้ดีไม่น้อย เครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงเป็นคำตอบที่ดีเลยนั่นเอง โดยตัวลำโพงได้ติดตั้ง Phono Pre-Amp Line In มาให้ในตัวทำให้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยตรงได้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อตัวแปลงสัญญาณ Phono เพิ่มเติม หรือถ้าอยากต่อกับเครื่องเล่นทั่วไปผ่านทาง Line In ก็ได้เช่นกัน โดยทำการสับสวิตซ์เพื่อให้ตัวลำโพงทำหน้าที่เปลี่ยนเป็นรับสัญญาณเสียงแบบ Line In ทั่วไปแทน

แต่แน่นอนหละว่ายุคนี้อะไรๆ ก็เป็น Digital ไปหมด ลำโพงรุ่นนี้จึงให้ช่องการเชื่อมต่อแบบ Digital มาไว้หลายอย่างเช่นกัน โดยมี USB-Bที่สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเพลงต่างๆ ที่รองรับความละเอียดสูงสุด 24-bit/192kHz ซึ่งตอบโจทย์นักฟังเพลงแบบ Hi-resได้เป็นอย่างดี พร้อม Optical ไว้เพื่อเชื่อมต่อกับ TV เพื่ออัพเกรดเสียงหรือนำไปต่อกับเครื่องเล่นต่างๆ อย่างเครื่องเล่น UHD Blu-ray, PS4 Pro และถ้าหากว่าเสียงเบสที่ได้จากลำโพงตัวนี้ยังไม่ถูกใจ ก็สามารถต่อเพิ่มซับวูฟเฟอร์ทาง Sub Out เพื่อเพิ่มพลังเสียงความถี่ต่ำก็ทำได้อีกเช่นกัน

แต่ที่บอกไปยังไม่หมดเท่านั้นครับ ส่วนที่เด็ดที่่สุด และ เหมาะกับคนในยุค Digital อย่างเราเป็นที่สุดก็คือการเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth aptX ที่รองรับการส่งสัญญาณเสียงความละเอียดสูงสุดที่ 16bit/44.1kHz เทียบเท่ากับการฟังผ่านแผ่น CD เลยทีเดียว โดยหากจะรับฟังความละเอียดเสียงระดับนี้ได้ อุปกรณ์ก็ต้องรองรับ Bluetooth aptX ด้วยเช่นกัน

หากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าคงอยากจะรู้เรื่องแนวเสียงของลำโพงตัวนี้แล้วใช่ไหมหละว่าจะเป็นอย่างไร ดีแค่ไหน ไปตามอ่านที่หน้า 2 กันได้เลยยยยยยย