27 Oct 2016
Review

คุณภาพจัดเต็ม รีวิว OLED55C6T รองรับทั้ง HDR10 และ Dolby Vision


  • Dear_Sir

Picture – ภาพ

OLED55C6T เครื่องนี้มีความละเอียดภาพ 3,840 x 2160 หรือก็คือ 4K, UHD สุดแท้แต่จะเรียก อีกทั้งยังรองรับทั้ง HDR 10 และ Dolby Vision น่าเสียดายครับที่ในปัจจุบันการจะหาคอนเทนท์แบบ 4K HDR แบบเป็นกลาง นี่ยากเย็นแสนเข็ญเสียเหลือเกินในบ้านเรา ดังนั้นสิ่งที่พอจะทดสอบให้เห็นภาพกันได้จริงๆ จังๆ ก็จะเป็นการแสดงผลภาพจากคอนเทนท์ความละเอียดแบบ Full HD ซึ่งยังถือว่าเป็นความละเอียดหลัก ที่ทุกๆ คนสามารถหามาเปิดได้ มีติดไว้อยู่ทุกบ้าน

เริ่มแรกผมคว้าแผ่น The Revenant มาทดสอบก่อนเลย ภาพในเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโทนทึมๆ มืดๆ และมีฉากเคลื่อนไหว แพนกล้องค่อนข้างเยอะ ทำให้สามารถดูเรื่องการแสดงรายละเอียดในที่มืด ภาพเคลื่อนไหว ได้ง่าย คือแค่ฉากแรกตอนที่แพนต้นไม้กลางป่า เส้นขอบต้นไม้ไม่ขาด มีความต่อเนื่องลื่นไหล และเมื่อดูไกลไปอีกหน่อยก็จะพบกับฉากที่พระเอกของเรารำลึกถึงอดีต ช่วงนี้ในภาพเดียวกันจะมีความเปรียบต่างของแสงค่อนข้างมาก หากทีวีเครื่องไหนที่ไล่ระดับสีดำได้ไม่ดีจริงก็จะเห็นภาพเป็นปื้นๆ ทุกรายไป แต่กับ OLED55C6T รุ่นนี้ขอให้วางใจครับ เพราะเนื่องจากเม็ดพิกเซลแต่ละเม็ดสามารถให้กำเนิดแสงได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้การไล่ระดับสีดำ การแสดงความสว่างแต่ละตำแหน่ง เป็นไปอย่างที่ภาพที่มันควรจะเป็นตรงตามจุดประสงค์ที่ผู้กำกับภาพต้องการ ไม่ขาด ไม่เกิน แนวภาพของรุ่นนี้มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ไม่สดจี๊ดจ๊าดแต่มีความอิ่มเข้ม สามารถรับชมภาพได้นานไม่ทำให้เหนื่อยล้า โดยโหมดภาพที่ผมใช้รับชมก่อนการปรับภาพนั้นก็คือโหมด ISF Expert Dark ซึ่งเหมาะกับห้องปิด ไม่มีแสงจากภายนอกรบกวน แต่ถ้าท่านผู้อ่านไม่มีห้องปิดแบบนี้ก็สามารถใช้โหมด ISF Expert Bright ได้ครับ ทั้งสองโหมดนี้ให้อุณหภูมิสี โทนภาพใกล้เคียงกัน ต่างกันหลักๆ ที่ระดับความสว่างของ OLED Light และระดับ Gamma เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 โหมด Default Color Temperature คือ Warm2

ส่วนเปรียบต่างแสงเยอะขนาดนี้ ทีวีก็ยังขุดรายละเอียดมาให้เห็น

ภายในปีนี้ความเปลี่ยนแปลงเรื่องภาพที่เพิ่มเข้ามาก็คือโหมดภาพอัตโนมัติที่มีความยืดหยุ่นกับผู้ใช้มากขึ้น จากเดิม ISF Expert 1, ISF Expert 2 ค่าทุกค่าจะเหมือนกันซึ่งผู้ใช้จะต้องมาปรับแต่งเอง แต่ในปี 2016 นี้สองโหมดภาพ ISF ดังกล่าวจะกลายเป็นเป็น ISF Expert (Bright) และ ISF Expert (Dark) จุดต่างหลักๆ ก็คือระดับความสว่างของภาพ อย่างที่บอกไปในตอนต้น และที่มีเพิ่มเข้ามาก็คือโหมด HDR Effect ซึ่งจะเป็นการจำลองให้ภาพจากคอนเทนท์ธรรมดากลายเป็นคอนเทนท์แบบ HDR มีตัวเลือกย่อยให้ปรับสามระดับคือ Low, Middle และ High แต่จากการทดสอบ พบว่าการจำลองนี้ให้ผลที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะทำจุดที่สว่างหม่นลง ระดับสีดำดูเป็นปื้นมากกว่าเดิม ฉะนั้นใช้โหมด ISF เหมือนเดิมจะดีกว่า แต่เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด และต้องการอยากจะรู้ว่าเจ้า OLED55C6T เครื่องนี้ขุมพลังที่แท้จริงมันมีอยู่แค่ไหน ผลจากการปรับภาพทำให้ได้อุณหภูมิสีที่เพอร์เฟกต์ 6498K สาเหตุที่ทำได้ขนาดนี้เพราะตัวเครื่องมีเมนูการปรับแต่งค่าได้อย่างลึกซึ้ง ปรับไฟล์จูนค่า White Balance ได้ถึง 20จุด รองรับการปรับค่า CMS ได้อย่างละเอียด ที่สำคัญ รองรับมาตรฐานขอบเขตสีของ DCI P3 ได้เกิน 95% ซึ่งทำได้เหนือกว่า 4K/UHD OLED TV เจนฯ ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

ค่าก่อนปรับภาพ ที่วัดด้วยโหมด ISF Expert Bright ใช้ Color Temp เป็น Warm 2 ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
โหมดเดียวกัน แต่เมื่อปรับจูน CMS, White Balance ต่างๆ แล้ว ค่าอุณหภูมิสีเพอร์เฟกต์มาก!!

สำหรับท่านไหนที่ชื่นชอบความมืดสนิท ถือว่าท่านได้มาถูกทางแล้วที่สนใจ OLED TV เพราะด้วยความที่โครงสร้างพิกเซลให้กำเนิดแสงได้ด้วยตัว แม้จะปิดไฟมืดสนิทแล้วดูภาพเราจะไม่เห็นอาการแสงลอดแต่อย่างใด ความดำสนิทกลับจะยิ่งขับเน้นความดุดัน และสีสัน ให้ดีมากยิ่งขึ้น

ทดสอบอาการแสงลอด กินขาดนิ่มๆ ไปเลยถ้าเป็น OLED

OLED55C6T รุ่นนี้รองรับคอนเทนท์แบบ HDR ด้วย ทั้ง HDR 10 (HDR10 คือ มาตรฐานภาพ HDR ที่ถูกพัฒนามาจาก HDR ธรรมดา) และ Dolby Vision (Dolby Vision คือระบบภาพ HDR ที่มีการพัฒนาในทิศทางของ Dolby) ปัจจุบันเรายังไม่ทราบนะครับว่าภาพ HDR จากทั้งสองระบบนี้แตกต่างกันยังไง แบบไหนดีกว่ากัน แต่จุดประสงค์หลักของทั้งสองก็คือต้องการให้ภาพที่ฉายออกมามีความใกล้เคียงกับที่ตามนุษย์เห็นได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีสัน การไล่เฉดสี โดยเฉพาะส่วนที่สว่างที่สุด กับส่วนที่ดำมืดที่สุดในภาพ โชคดีครับที่เราได้คอนเทนท์สาธิตทั้งสองแบบมาจากทาง LG ย้ำนะครับว่ามันเป็นคอนเทนท์สาธิต ดังนั้นคอนเทนท์นี้จึงบอกเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาพไม่ได้ เนื่องจากภาพในคอนเทนท์มันถูก “ดัดแปลง” มาตั้งแต่ต้นนั่นเอง แต่สิ่งที่บอกได้จริงๆ ก็คือ ตัวเครื่องรองรับ HDR และ Dolby Vision ได้จริงไม่มีโมเม สังเกตได้จากตอนเปิดคอนเทนท์ HDR ตัวทีวีจะมีโหมดภาพสำหรับปรับแต่งภาพ HDR แต่ละแบบมาให้โดยเฉพาะ อีกทั้งทีวีก็จะมีการแจ้งเตือนว่า “คุณกำลังรับชมคอนเทนท์ HDR แบบนั้นๆ อยู่” คราวนี้ก็มารอดูในอนาคตกันว่าคอนเทนท์ HDR จะเริ่มแพร่หลายเมื่อไหร่

ปล.เล่นผ่านช่อง USB 3.0 ของทีวีนะครับ

เปิดกับคอนเทนท์ HDR, HDR 10 ก็จะมีป๊อบอัพเด้งขึ้นมาแจ้งเตือนที่บริเวณมุมขวาบน
ส่วนด้านซ้ายมือตรง Info ก็จะมีรายละเอียดไฟล์กำกับไว้ว่าเป็น 3840×2160 HDR
คอนเทนท์สาธิต HDR ในรูปแบบ Dolby Vision ก็จะมีป๊อบอัพแจ้งเตือนขึ้นมาเช่นเดียวกัน
อีกทั้งบริเวณด้านซ้ายที่แสดง Info ก็จะมีคำว่า Dolby Vision แสดงขึ้นมากำกับไว้ด้วย
รุ่นนี้รองรับภาพสามมิติด้วยนะครับ ค่าเดิมๆ นี่ดีมากอยู่แล้วไม่ต้องปรับแต่งอะไร ลอยเด้งๆ เลย
ดูดิจิตอลทีวีภาพก็คมชัด จอใหญ่ 55 นิ้ว ความละเอียด 4K ไม่ได้เกินกำลังระบบอัพเสกลภาพแต่อย่างใด

คนที่สนใจ OLED TV หรือที่กำลังศึกษาอยู่คงจะพอรู้กันบ้างแล้วว่า OLED TV นั้นก็มีโอกาสเกิด Burn In (โอกาสนี้น้อยมากครับ น้อยกว่า Plasma TV) เผื่อคนที่มาใหม่จะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะ Plasma TV ได้ตายจากไปแล้ว อาการ Burn In นั้นก็คือเป็นอาการที่ภาพติดค้างที่หน้าจอ ยกตัวอย่างเช่นเวลาเราเปิดฟรีทีวีมันก็จะมีโลโก้ของช่องนั้นประจำอยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลาใช่ไหมครับ เมื่อเราดูช่องนั้นหลายชั่วโมงเข้า โลโก้นั้นก็มีโอกาสติดค้างที่หน้าจอ ตามหลอกหลอนเรื่อยไป ไม่ว่าจะดูหนังจากบลูเรย์ หรือฟรีทีวีจากช่องอื่น เพื่อป้องกันอาการนี้ หรือในกรณีที่มีอาการเกิดขึ้น ทางผู้ผลิตจึงเพิ่มฟีเจอร์ “Clear Panel Noise” เข้ามาแก้ปัญหา

ถึงแม้ว่ามันจะเกิดยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี ถือว่าดีมากที่ผู้ผลิตอย่าง LG ให้ฟีเจอร์นี้มา