23 Aug 2019
Review

รีวิว LG 65B9 ต้นตำรับ OLED TV รุ่นเล็ก แต่คุณภาพไม่เล็ก !!?


  • ชานม

Picture – ภาพ

เมื่อพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลกับคุณภาพของภาพ “ชิพประมวลผล” มีส่วนสำคัญลำดับต้นๆ มาพิสูจน์กันว่า ชิพ Alpha 7 Gen 2 ของ B9 ที่เด่นเรื่องของ AI (Artificial Intelligence) จะส่งผลกับการใช้งานจริงอย่างไรบ้าง

LG OLED65B9 มีโหมดภาพจากโรงงานสำหรับการรับชม SDR Content จำนวน 10 โหมด ให้ผล Lab Test ดังนี้

เช่นเคยว่าโหมดภาพที่ให้สีสันเที่ยงตรงที่สุดสำหรับ LG TV เมื่อรับชม SDR Content คือ ISF Expert (Bright Room) และ ISF Expert (Dark Room) ความแตกต่างของทั้ง 2 โหมด ก็ตามชื่อ คือ Bright Room สำหรับการรับชมเวลากลางวัน โหมดนี้อาจไม่ใช่โหมดที่สว่างมากที่สุดก็จริง (เมื่อเทียบกับ Vivid, Football หรือ HDR Effect) แต่ก็เพียงพอกับการใช้งานตามบ้านพักอาศัย

ส่วน Dark Room ระดับความสว่างต่ำลง เน้นสบายตา ความเปลี่ยนแปลงความเปรียบต่างของแสงจะไม่กระชากตามากนัก ดูนานๆ ไม่ล้า เหมาะสำหรับรับชมในห้องที่คุมแสงได้…

ผล Lab Test โหมดภาพ ISF Expert Dark Room ให้ “ความเที่ยงตรง” อยู่ในเกณฑ์ดีมาก อุณหภูมิสีเฉลี่ยราว 6400K ติดโทนร้อนนิดๆ แต่ให้สมดุลสีดี ขอบเขตสีจากตัวเลือก Colour Gamut = Auto ทำได้ครอบคลุมราว 99.9% ของมาตรฐาน Rec.709 ส่วนค่า Gamma ก็ใกล้เคียง BT.1886

ความเที่ยงตรงของโหมดภาพ ISF Expert Dark นี้ หากเป็นการใช้งานทั่วไปก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้าเป็นการใช้งานที่จริงจังมากขึ้นกรณีจะนำไปใช้เป็นจอภาพอ้างอิง สามารถปรับภาพละเอียดเพิ่มเติมได้ ซึ่ง LG มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้การปรับภาพอันยุ่งยากสามารถดำเนินการได้รวดเร็วและง่ายขึ้น

ยุคนี้อะไรก็ AI จึงไม่แปลกที่ LG จะนำ AI มาช่วยในการปรับภาพทีวีแบบอัตโนมัติ ซึ่งรองรับมาตั้งแต่รุ่นปี 2018 แล้ว โดยจับมือกับ Portrait Displays/Spectracal ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ปรับภาพชื่อดังอย่าง CalMAN นั่นเอง อุปกรณ์ที่ต้องใช้ คือ Colorimeter และคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ CalMAN

ผลลัพธ์ที่ได้ยอดเยี่ยม แต่มีข้อแม้… กล่าวคือในส่วนของการปรับจูน White Balance ระบบ AutoCal ทำได้ไม่มีที่ติ ทว่าการจัดการกับ Color Management System (CMS) ระบบประเมินและปรับขยายขอบเขตสีออกไปเกินมาตรฐาน Rec.709 สีสันจึงติดสดจัดเกินไปบ้าง (Over Saturation) โดยเฉพาะสีเขียว แต่ดีที่สามารถไฟน์จูนแก้ไขแบบ Manual ได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดำเนินการได้ไม่ยากสำหรับ Calibrator ครับ

ถัดมาเป็นโหมดการรับชมแบบ HDR10 ซึ่งโหมดภาพสำเร็จรูปมีทั้งหมด 6 โหมด ได้แก่ HDR Vivid, HDR Standard, HDR Cinema Home, HDR Cinema, HDR Game และ HDR Technicolor

โหมดภาพที่ให้ความสว่าง (HDR Peak Brightness) สูงสุด คือ Vivid อยู่ที่ราว 652 nits ในขณะที่โหมดที่ให้สีสันความเที่ยงตรงสูง อย่าง HDR Cinema Home และ HDR Cinema ระดับ Peak Brightness อยู่ที่ 599 และ 563 nits ตามลำดับ หากเทียบกับรุ่นพี่ C9 รุ่นสูงกว่าจะสว่างกว่าอยู่เล็กน้อย ความแตกต่างประมาณ 150 nits

ทดสอบดูความเที่ยงตรงสีสันของโหมดภาพโรงงาน HDR Cinema พบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีมากทีเดียว อาจจะย่อหย่อนจากรุ่นพี่ C9 บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดุลสีติดโทนร้อนนิดๆ ความสามารถด้านขอบเขตสี (Color Space) ทำได้ครอบคลุมราว 96.2% ของมาตรฐาน DCI-P3 หากเป็นการใช้งานรับชมความบันเทิงทั่วไป ความเที่ยงตรงระดับนี้เพียงพอแล้วครับ

แต่หากจริงจัง และต้องการปรับภาพให้ได้ความเที่ยงตรงสูงสุด CalMAN AutoCal ก็เป็นเครื่องมือที่สะดวกรวดเร็ว สามารถดำเนินการร่วมกับโหมดภาพแบบ HDR ได้ ผลลัพธ์พบว่า ในส่วนของการคาลิเบรทดุลสี White Balance และ HDR Tone Mapping ทำได้ยอดเยี่ยมมาก ทว่าในส่วนของ CMS ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก

CMS ภายหลังดำเนินขั้นตอน AutoCal จะตรงข้ามกับโหมด SDR กล่าวคือ  สีสันของโหมดภาพ HDR ดูจืดลงเมื่อเทียบกับค่าดั้งเดิมจากโรงงาน แต่จุดนี้แก้ไขได้ด้วยการปรับภาพ HDR แบบ Manual หรือถ้าใช้ AutoCal ก็อิงเฉพาะการปรับจูน White Balance เพียงอย่างเดียวก็พอ

ความสว่าง Peak Brightness ของ B9 โหมด HDR Cinema ภายหลังปรับภาพจะลดลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อยู่ที่ 560 nits (จาก 563 nits) ยังสูงกว่ามาตรฐาน Ultra HD Premium ที่กำหนดไว้ 540 nits จึงถือว่า 65B9 ผ่านเกณฑ์ Ultra HD Premium ทั้งก่อนและหลังปรับภาพครับ!

กรณีรับชมคอนเทนต์ HDR แบบ Dolby Vision จะมีโหมดภาพ Dolby Vision แยกออกมาต่างหาก สามารถปรับจูนภาพได้อิสระแยกจากโหมดภาพ HDR ปกติ

จุดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นชัดเจนภายหลังจาก LG นำชิพประมวลผลตระกูล Alpha มาใช้ คือ “ภาพเคลื่อนไหว” โดยสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่รุ่นปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งฟีเจอร์โมชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว TruMotion ให้ผลลัพธ์ความต่อเนื่องดีกว่า LG TV เจนเนอเรชั่นที่วางจำหน่ายก่อนปี 2018 มาก ปริมาณการแทรกเฟรมคงที่อิงตามระดับการแทรกเฟรมที่ผู้ใช้กำหนด และยิ่งชัดเจนเมื่อทำการปรับแต่ง De-Judder และ De-Blur โดยละเอียด

นอกจากนี้ตัวเลือกเสริมอย่าง OLED Motion ยังเพิ่มเทคนิคทางเลือกในการแทรกเฟรมดำ (Black Frame Insertion) เพื่อลด Motion Blur ให้ภาพเคลื่อนไหวดูคมชัดขึ้นได้แต่จะให้ผลดีในบางสถานการณ์