23 Aug 2019
Review

รีวิว LG 65B9 ต้นตำรับ OLED TV รุ่นเล็ก แต่คุณภาพไม่เล็ก !!?


  • ชานม

การเชื่อมต่อกับ PC ผ่านทาง HDMI นั้น พบว่า B9 รองรับสัญญาณ High Frame Rate 120Hz กรณีที่ Graphic Card เป็นมาตรฐาน HDMI 2.0 จะรองรับที่ความละเอียด 1080p ไปจนถึง 1440p แต่ในอนาคตเมื่อมีอุปกรณ์ HDMI 2.1 ออกมา ทาง LG แจ้งว่า B9 จะสามารถรับและแสดงผลสัญญาณ 4K 120Hz ทาง HDMI ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

การรับสัญญาณ High Frame Rate 120Hz ของ B9 ยังรวมไปถึงเมื่อเชื่อมต่อสัญญาณกับ Xbox One S/X ด้วย โดยรองรับ 120Hz ที่ความละเอียด 1080p และ 1440p ส่วนความละเอียด 4K จะรองรับที่ 60Hz ตามมาตรฐาน HDMI 2.0 ของเครื่องเกมคอนโซลปัจจุบัน

การใช้งาน Xbox One S/X ร่วมกับ B9 สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ Variable Refresh Rate (VRR) เพื่อให้ B9 ปรับรีเฟรชเรตให้สัมพันธ์กับอัตราเฟรมเรตของเกมที่ไม่คงที่ แก้ปัญหาภาพขาดหรือ Screen Tearing ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีฟีเจอร์ VRR ของ B9 ปัจจุบันจะยังไม่รองรับการใช้งานร่วมกับ PC (FreeSync) ครับ

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับการเล่นเกม ทั้งการเชื่อมต่อกับ PC หรือ Game Console คือ HDMI Input Lag ซึ่งสำหรับ B9 โหมดภาพ Game จะให้ระดับ Input Lag ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโหมดภาพอื่น อยู่ที่ 21.6 ms สูงสุดไม่เกิน 40.2 ms (โหมดอื่นๆ Input Lag จะอยู่ที่ราว 92.2 ms) แต่ถ้าตัวเลขนี้ยังไม่สะใจ สามารถเปิดฟีเจอร์ที่เรียกว่า Instant Game Response เพิ่มเติมได้ ระดับ HDMI Input Lag จะยิ่งต่ำลงอีก เหลือเพียง 13.1 ms สูงสุดไม่เกิน 33.6 ms

ดุลสีของ B9 โหมด Game แม้จะยังติดโทนเย็นอยู่บ้าง อุณหภูมิสีเฉลี่ย 9000K แต่ก็ดีกว่าโหมด Game ของรุ่นที่ออกมาก่อนปี 2018 กรณีที่ต้องการสีสันถูกต้อง (แต่อาจจะไม่ถูกใจ) สามารถปรับเปลี่ยนตัวเลือก Color Temperature ของโหมด Game จาก Medium เป็น Warm2 ได้ ความเที่ยงตรงของดุลสีที่ได้ จะใกล้เคียง ISF Expert Bright Room

Sound – เสียง

ระบบเสียงของ B9 ติดตั้งลำโพงแบบ 2.2 แชนเนล กำลังขับรวม 40 วัตต์ จัดวางอยู่บริเวณส่วนล่างของจอภาพ ในแง่ดุลเสียงถือว่าทำได้ดีทีเดียว ปริมาณเบสพอเหมาะ เสียงไม่ก้องอุดอู้คลุมเครือ รายละเอียดชัดเจนสำหรับมาตรฐานการจัดวางลำโพงทีวีลักษณะนี้ โดยรวมถือว่าตอบสนองได้ทั้งการรับชมรายการทีวี ภาพยนตร์ หรือฟังเพลงทั่วไป  

LG มีฟีเจอร์เสียงที่เรียกว่า AI Sound โดยหลักการ ระบบฯ จะทำการปรุงแต่งเสียงให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่รับชมในขณะนั้น อย่างไรก็ดีรสนิยมความชอบนั้นไม่มีมาตรฐาน จึงเป็นการยากที่ระบบฯ จะปรุงแต่งเสียงให้ออกมาถูกใจทุกคนหรือเหมาะสมกับทุกสถานการณ์

จากการใช้งาน AI Sound พบว่า ถ้าเป็นการรับชมภาพยนตร์ ระบบฯ จัดการปรุงแต่งเสียงได้โอเค หากเป็นคอนเทนต์ระบบเสียงเซอร์ราวด์มีการมิกซ์เอฟเฟ็กต์จำลองเสียงรอบทิศทางสำหรับฟังกับลำโพงทีวี ส่วนรายการทีวีทั่วไปก็ฟังเสียงสนทนาได้ชัดเจนดี ไม่มีอะไรให้ติติง แต่ถ้าเป็นการฟังเพลง โดยเฉพาะฟอร์แม็ต Hi-res ดูเหมือนระบบจะจำลองเสียงเซอร์ราวด์เข้ามาด้วย ฟังแล้วเสียงก้องแปลกๆ ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผมว่าไม่เหมาะ… แต่ก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละคน นานาจิตตัง หากไม่ถูกใจก็สามารถปิดฟีเจอร์ AI Sound ได้ครับ

ในเมนูหัวข้อ Sound จะมีตัวเลือก Dolby Atmos อยู่ ตัวเลือกนี้จะเปิดการจำลองเสียง Atmos ด้วยระบบ DSP เพื่อให้สามารถฟังผ่านลำโพงสเตอริโอของทีวีที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่างของจอภาพได้ แต่ในแง่การถ่ายทอดเสียงโอบล้อมและมิติเสียงด้านสูงอันเป็นจุดเด่นของ Atmos จะยังทำไม่ได้เหมือนซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ที่มี Top Surround Speakers หรือซาวด์บาร์ที่มี Upward Firing Speakers อย่างไรก็ดีเทคนิคการจำลองมิติเสียงโอบล้อมผ่านระบบ DSP ของ LG นี้ ก็เป็นตัวเพิ่มสีสันให้ลำโพงทีวีดูมีมิติที่แตกต่างแและน่าจะให้ความถูกใจหลายๆ ท่านอยู่บ้างเหมือนกัน

ทีวีของ LG ประจำปี 2019 หลายรุ่น เริ่มทยอยรองรับ eARC ซึ่ง B9 ก็เป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ดีการแจ้งข้อมูลที่ช่องต่อ HDMI จะกำกับไว้แค่ ARC หากต้องการทราบว่าทีวี LG รุ่นที่ใช้ รองรับ eARC หรือไม่ ให้ดูที่เมนู All Settings > Sound > Sound Out > HDMI ARC หากมีตัวเลือก eARC ก็แสดงว่าทีวีรุ่นนั้นรองรับ ทั้งนี้ซิสเต็มโฮมเธียเตอร์หรือซาวด์บาร์ที่นำมาใช้งานร่วม จะต้องรองรับ eARC เช่นเดียวกัน จึงจะสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Conclusion – สรุป

แม้ B9 จะเป็น 4K HDR OLED TV รุ่นเล็กของ LG แต่คุณสมบัติด้านภาพยังคงแสดงความเด่นชัดของเทคโนโลยี OLED ออกมาได้ จะมีบ้างบางจุดที่ย่อหย่อนลงจากรุ่นใหญ่แต่ก็เป็นจุดที่สังเกตความแตกต่างได้ไม่ง่ายนัก ในขณะที่ลูกเล่นการปรับภาพขั้นสูงทั้ง AutoCAL และ Manual ประกอบกับระบบ Smart TV จาก ThinQ AI ทำได้ไม่ต่างกัน เมื่อประเมินจากระดับราคาที่ต่ำกว่า จึงนับว่า B9 เป็น OLED TV ประจำปี 2019 ที่ให้ความครบเครื่องคุ้มค่าคุ้มราคา

ข้อดีของ LG OLED65B9

1. โดยลำดับรุ่นแม้จะเป็น OLED TV เริ่มต้นของ LG แต่ดีไซน์ภายนอกไปจนถึงคุณภาพของภาพและเสียงทำได้ดีเกินราคา 
2. โหมดภาพจากโรงงาน โดยเฉพาะ ISF Expert ทั้ง 2 ตัวเลือก ให้สมดุลสีมีความเที่ยงตรงดีมาก จะย่อหย่อนจาก C9 ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
3. รองรับ CalMAN AutoCal ให้ผลลัพธ์การปรับจูน White Balance ได้ยอดเยี่ยมทั้งโหมด SDR และ HDR
4. มีคุณสมบัติบางอย่างของ HDMI 2.1 เช่น การรองรับสัญญาณ High Frame Rate 120Hz, Variable Refresh Rate (VRR), Auto Low Latency Mode (ALLM) และ eARC  
5. ThinQ AI ใช้งานง่ายขึ้น รับคำสั่งเสียงภาษาไทยได้แม่นยำ แม้ประโยคยาวๆ หรือสะกดแตกต่างก็แสดงได้อย่างถูกต้อง
6. รีโมทแบบ Air Mouse ควบคุมใช้งานทีวีและอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ได้สะดวกรวดเร็ว

ข้อเสียของ LG OLED65B9

1. การปรับจูน CMS (Color Management System) ของ CalMAN AutoCal ยังให้ผลลัพธ์ได้ไม่เที่ยงตรงดีนัก แต่แก้ไขได้โดยดำเนินการเองแบบ Manual 
2. ไม่มีช่องต่อ USB 3.0
3. จะอัพเดทให้รองรับ Google Assistant เต็มรูปแบบ เร็วๆ นี้

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.50
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.75
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
9.00
ภาพ 2 มิติ (HDR)
9.25
เสียง (Sound)
8.25
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.70

คะแนน LG OLED65B9 (2019)

8.7

หมายเหตุ : มาตรฐานคะแนนปี 2019

ราคาเปิดตัว LG OLED65B9  119,990 บาท