04 Jan 2015
Review

Experience Dolby Atmos 5.1.4 !!! รีวิว Onkyo TX-NR3030


  • ชานม

Experience Dolby Atmos 5.1.4

ในส่วนของการรายงานคุณภาพเสียง ขอแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้

– หากเปรียบเทียบ Dolby Atmos 5.1.4 กับ 5.1.2 ไปจนถึง Dolby TrueHD 5.1 เดิมๆ ประสบการณ์รับฟัง แตกต่างกันอย่างไร?

ต้องยอมรับว่าเมื่อครั้งสัมผัสระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.2 เปรียบเทียบกับระบบเสียงยุคก่อน Dolby TrueHD 5.1 ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนในแง่การสร้างมิติเสียงรายล้อม โดยเฉพาะการก่อตัวของบรรยากาศด้านสูง เท่ากับว่าการเพิ่มเติมลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง เพียง 2 แชนเนล ไม่ว่าจะเป็น Top Speakers (In-ceiling) หรือ Dolby Atmos Enabled Speakers ก็สร้างผลลัพธ์ในจุดนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเพิ่มลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงดังกล่าว จาก 2 เป็น 4 แชนเนล (5.1.4) แน่นอนว่าความสมบูรณ์ของการถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงย่อมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในแง่การเจาะจงทิศทางเสียงที่ละเอียดลออกว่า การก่อตัวของบรรยากาศโอบล้อมจะเป็น 3 มิติ มากกว่า ดังนั้นถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหา ระบบ 5.1.4 ย่อมจะให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงอุดมคติมากกว่า

แต่ถ้ามองในแง่ของงบประมาณเปรียบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้าโฟกัสเฉพาะจำนวนแชนเนลลำโพงที่เพิ่มขึ้น ไม่นับประเด็นเรื่องของคุณสมบัติของ AVR ความต่างของผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงจาก 5.1.2 ไป 5.1.4 ก็ยังน้อยกว่า ความเปลี่ยนแปลงจาก 5.1 เดิม ไปเป็น 5.1.2 ครับ ข้อสรุปตรงนี้ หากงบยังไม่มาก เริ่มที่ 5.1.2 ก็สามารถให้ประสบการณ์ Atmos ได้อย่างคุ้มค่า หากไฟน์จูน 5.1.2 ดีๆ ผลลัพธ์ก็ดีจนน่าแปลกใจทีเดียวครับ อนาคตเมื่อมีความพร้อม หากต้องการขยับขยายเป็น 5.1.4 ก็สามารถดำเนินการได้ในภายหลัง

– ประสิทธิภาพจากลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง ระหว่าง Top Speakers (In-ceiling) กับ Dolby Atmos Enabled Speakers แบบไหนดีกว่า?

ประเด็นนี้อยากให้มองประเด็นที่ว่า “สะดวกจะใช้” แบบใดมากกว่ากันก่อน ต้องยอมรับว่าในแง่อุดมคตินั้น ลำโพงแบบ Top Speakers (In-ceiling) จะให้ผลลัพธ์ในเชิงการถ่ายทอดตำแหน่งทิศทางเสียงได้ใกล้เคียงอุดมคติมากกว่า เพราะตำแหน่งลำโพงติดตั้งอยู่เหนือศรีษะจริงๆ ทว่าก็ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนจะใช้งานลำโพงลักษณะนี้

ประการแรก คือ ผู้ใช้พร้อมสำหรับการติดตั้งที่ต้องมีการเจาะ-คว้าน ฝ้าเพดานหรือไม่ หากเป็นการบิลท์ห้องโฮมเธียเตอร์ใหม่ ประเด็นนี้ไม่ต้องคิดมาก เพราะสามารถดำเนินการได้ง่าย ทว่าสำหรับห้องเดิมที่เข้าอยู่แล้ว คงต้องพิจารณาตรงนี้ก่อน

นอกเหนือจากการเจาะฝ้าเพื่อฝังยึดลำโพงแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเดินสายลำโพง กรณีนี้สำหรับห้องที่อยู่ชั้นล่างของบ้าน 2 ชั้น การเดินสายลำโพงเหนือฝ้าจะทำได้ยากกว่าห้องที่อยู่ชั้น 2 เพราะสามารถเปิดฝ้าแล้วขึ้นไปทำการติดตั้งง่ายกว่า ประเด็นนี้จะเกี่ยวเนื่องถึงปัจจัยเรื่องของโครงสร้างจับยึด ซึ่งสามารถเสริมความแข็งแรงได้ง่ายกว่าด้วย แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ พื้นที่เหนือฝ้าที่เปิดโล่ง อาจส่งผลให้เสียงของลำโพงฝังฝ้า เล็ดลอดไปรบกวนห้องข้างเคียงได้ง่าย

ประการสุดท้าย ที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพของลำโพงฝังฝ้า โดยทั่วไปสามารถหาลำโพงลักษณะนี้ในราคาหลักร้อยเท่านั้น ทว่าจะคาดหวังคุณภาพเสียงคงยาก จึงควรให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย หากท่านมั่นใจว่าสามารถจัดการในสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ เลือกลำโพงฝังฝ้า รับรองไม่ผิดหวังครับ

สำหรับ Dolby Atmos Enabled Speakers นั้น ขั้นตอนการติดตั้งง่ายกว่า In-ceiling เยอะ เพราะแค่วางบนลำโพงชุดเดิมที่ใช้งานอยู่ได้เลย (หากเป็นแบบ Add-on) แต่สิ่งที่อาจส่งผลให้การถ่ายทอดมิติเสียงโดยเฉพาะด้านสูงจาก Dolby Atmos ด้อยกว่า In-ceiling นั้น ปัจจัยภายนอกมีผลมากกว่าตัวลำโพง

ด้วยลักษณะที่เป็นการติดตั้งเข้ากับลำโพงหลัก (คู่หน้า และ/หรือ เซอร์ราวด์) จากข้อกำหนดเรื่องของความกลมกลืน ดังนั้นตำแหน่งติดตั้งจึงเหมือนถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้ว เมื่อบวกกับหลัการอาศัยเสียงสะท้อนในการสร้างบรรยากาศด้านสูง ลำโพงลักษณะนี้จะให้ผลลัพธ์ดีที่สุดเมื่อระดับหูของผู้ฟังอยู่ต่ำกว่าระดับลำโพง หากระดับหูของผู้ฟังอยู่สูงกว่า (อาจด้วยความสูงของลำโพงคู่หน้า หรือลำโพงเซอร์ราวด์ที่ใช้วางลำโพง Dolby Atmos เตี้ยเกิน) หรือแม้แต่เมื่อผู้ฟังยืนขึ้น สนามเสียงจะเสียไป ตรงนี้จึงสู้ลำโพง Top Surround ที่ติดตั้งอยู่เหนือศรีษะมิได้ แต่คงมิใช่ปัญหาหนัก เพราะสามารถไฟน์จูนแก้ไขได้ ส่วนเรื่องยืน คงไม่มีใครพิเรนทร์ยืนชมภาพยนตร์กระมัง

ระดับฝ้าเพดานที่สูงเกินไปก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพการสร้างสนามเสียงด้านสูงของ Dolby Atmos Enabled Speakers ลดลง โดยทั่วไประดับความสูงฝ้าเพดานมาตรฐานที่ 2.4 ~ 2.5 ม. ไม่เกิน 3 ม. กำลังเหมาะ และรูปทรงและวัสดุฝ้าฉาบเรียบธรรมดา จะดีกว่ารูปทรงและวัสดุฝ้าลักษณะอื่น หากเป็นรูปทรงแปลกๆ ควรบาลานซ์ซ้ายขวาเท่ากัน

  • ดุลเสียงของ 3030 ให้ความอิ่มเอิบ ฟังได้ผ่อนคลายดีมาก รายละเอียดปลายเสียงดี ไม่ห้วน กำลังสำรองเพียงพอสำหรับการใช้งานร่วมกับชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ทั่วไปได้ดี เรียกว่าครบเครื่องสำหรับเป็นศูนย์กลางซิสเต็มโฮมเธียเตอร์คุณภาพสูง
  • AccuEQ ให้ความเที่ยงตรงดีมากในการอ้างอิงตั้งค่าลำโพงพื้นฐานอย่างการบาลานซ์ระดับเสียง (Level), ดีเลย์ระยะห่าง (Speaker Distance), จุดตัดความถี่ (Crossover) อย่างไรก็ดีการตรวจสอบเบื้องต้นในส่วนของ Room EQ ระหว่าง On กับ Off ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ แสดงว่าระบบฯ ไม่ได้ apply ในส่วนของ Room EQ แม้ว่าจะดำเนินขั้นตอน Auto Calibration ไปแล้ว อาจต้องรอดูเฟิร์มแวร์ตัวต่อไปว่าจะแก้ไขในจุดนี้หรือไม่ ข้อสังเกตอีกประการ คือ ไม่มี GEQ สำหรับให้ดำเนินการแบบแมนนวลครับ ซึ่งถ้าเป็นซิสเต็มที่ไม่มีปัญหาเรื่องของการบิดเบือนดุลเสียงโดยสภาพอะคูสติก ในส่วนนี้ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานแต่อย่างใด

Conclusion – สรุป

TX-NR3030 คือ สิ่งที่ใช้ยืนยันถึงประสิทธิภาพแบบจัดเต็มที่ Onkyo พยายามแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบจาก Dolby Atmos มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่ ด้วยพื้นฐานภาคถอดรหัสจากชิพประมวลผลระดับ 32-bit จำนวน 2 ชุด กับภาคขยายที่มีมากถึง 11 แชนเนล ซึ่งเป็น Dolby Atmos AVR ณ เวลานี้ เพียงไม่กี่รุ่น ที่มีจำนวนภาคขยายมากพอรองรับ Dolby Atmos Speaker Configurations ทุกรูปแบบ (เท่าที่สามารถกำหนดได้ในปัจจุบัน) ท่านใดที่กำลังมองหา AVR ระดับสูงที่พร้อมรองรับระบบเสียง Dolby Atmos นี่จะเป็นตัวเลือกที่ไม่อาจละสายตาได้เลย

by ชานม !
01/2015

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.50
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.75
เสียง (Sound)
9.00
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
9.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.25
คะแนนตัดสิน (Total)
8.70

คะแนน Onkyo TX-NR3030 4K/60Hz Ready AV Receiver

8.7