30 Dec 2013
Review

เรือธง ขย่มปฐพี !!! รีวิว Onkyo TX-NR5010 4K Ready Network AV Receiver


  • ชานม

Connectivity – ช่องต่อ

ทีนี้มาดูกันที่ช่องต่อบนแผงหน้า ว่าจะมี “จุดสะดวกเชื่อมต่อ” ให้มากน้อยเพียงใด

เริ่มจากขั้วต่อหูฟังขนาด 1/8″ ปกติจะเห็นกับ AVR ทุกรุ่นจนเป็นของคู่กันอยู่แล้ว (ซื้อ AVR ก็เหมือนได้แถม Headphone Amp มาด้วย) จริงอยู่ว่าอาจจะไม่ค่อยได้ใช้งานกัน เพราะส่วนใหญ่จะเน้นฟังเสียงจากลำโพงโฮมเธียเตอร์กันเป็นหลัก ทว่าท่านใดใช้งานหูฟังอยู่ ลองจัดดูสักหน่อยก็ได้นะครับ ในส่วนของ TX-NR5010 พบว่า ช่องต่อ Headphone ก็มีทีเด็ด ไม่แพ้เรื่องศักยภาพของภาคขยายลำโพงเลยครับ
(จะรายงานผลอีกครั้งช่วง คุณภาพเสียง)

ถัดมาฝั่งขวา เป็นตำแหน่ง AUX Input จุดเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียงอเนกประสงค์ ที่มีทั้งดิจิทัล และอะนาล็อก ไม่ว่าจะเป็น HDMI In (รองรับมาตรฐาน MHL เพื่อเชื่อมต่อกับ Smart Devices ด้วย), Digital Optical In, Composite Video & Analog Audio In, และ USB Input รวมถึง Setup Mic Input สำหรับใช้งานร่วมกับฟังก์ชั่น Audyssey Auto Calibration

ต่อกันที่ด้านหลัง อันเป็นพื้นที่หลักสำหรับเชื่อมต่อสัญญาณ จะเห็นจำนวนปุ่มมากมาย เรียงรายครบครันตามมาตรฐานที่ใช้งานกันในปัจจุบัน จะมีที่พิเศษเพิ่มเติมจาก AVR ยี่ห้ออื่นก็ตรงที่สามารถรับสัญญาณ PC In (D-sub หรือ VGA) มาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญาณแบบอะนาล็อกสำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า แน่นอนว่าสามารถอัพสเกลเพิ่มได้ แต่ผลลัพธ์ของภาพคงได้ไม่ดีเท่าการเชื่อมต่อ ผ่านมาตรฐานที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ HDMI/DVI นะครับ ซึ่งจำนวน HDMI In/Out ของ 5010 ให้มามากถึง 9/2 ช่อง เลยทีเดียว

Universal Port ที่เคยถูกใช้เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมของ Onkyo ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ประเด็นนี้ไม่น่าจะต้องให้ความสำคัญ เพราะอุปกรณ์เสริมของ Onkyo ในปัจจุบัน ต่างก็เปลี่ยนไปเชื่อมต่อทาง USB

รุ่นนี้จะมี USB Inputทั้งหมด 2 ช่อง ด้านหน้า 1 ด้านหลังอีก 1 (ตำแหน่งอยู่ข้าง Ethernet port) นัยว่านอกเหนือจากการใช้งานเชื่อมต่อโดยตรงกับ USB Storage Devices และ Smart Devices (iOS/Android) เพื่อรับฟังดนตรีในรูปแบบดิจิทัลไฟล์แล้ว (รวมถึงการอัพเดทเฟิร์มแวร์) ยังเผื่อใช้งานอุปกรณ์เสริมภายนอกแบบ USB ให้เสียบคาไว้ได้เลย ไม่เบียดบังจำนวนช่องต่อกัน ยกตัวอย่างอุปกรณ์เสริมเด่นๆ เช่น UWF-1 USB Wireless Adapter อุปกรณ์เสริมที่จะอัพเกรด AVR เครื่องนี้ ให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์กไร้สาย (Wi-Fi) ได้ หรือ UBT-1 USB Bluetooth Adapter เพื่อเชื่อมต่อรับสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์ Smart Devices แบบไร้สาย ผ่านมาตรฐานบลูทูช

ความโดดเด่นอีกจุดหนึ่ง ที่ไม่กล่าวถึงมิได้ คือ ขั้วต่อสายลำโพงแบบใส หน้าสัมผัสชุบทอง ดูดี
ดังเช่นที่เคยเห็นในรุ่นก่อนๆ (5009) ยังคงไว้เช่นเดิม

จากจำนวนขั้วต่อสายลำโพง พบว่าสามารถเชื่อมต่อลำโพงได้ถึง 11 แชนเนล พร้อมกัน ! รองรับระบบเสียงรอบทิศทางสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้งานกันในปัจจุบันได้หมด ซึ่งรวมถึงระบบเสียงเสริม อย่าง Dolby Prologic IIz และ Audyssey DSX แต่ถ้าหากไม่ได้ติดตั้งใช้งานลำโพงรอบทิศทางจำนวนมากถึงขนาดนั้น ก็สามารถบริหารจัดการภาคขยายทั้งหมดที่มี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาไบแอมป์ ต่อลำโพงชุด B หรือแยกไปใช้งานห้องอื่นในแบบ มัลติโซน ก็ได้

Setup – การติดตั้ง

ดังเช่น AVR อื่นๆ ในปัจจุบันที่มาพร้อมกับระบบ Speakers Auto Calibration แต่ระดับ TX-NR5010 จุดนี้ย่อมต้องเน้นมาตรฐานระดับสูงสุดของทาง Audyssey คือ MultEQ XT32

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติเบื้องต้นของระบบ Audyssey MultEQ

จุดเด่นของ MultEQ XT32 คือเรื่องของปรับแก้ Room EQ ของลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ด้วยฟิลเตอร์ที่ละเอียดกว่า โอกาสจะได้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงใกล้เคียงอุดมคติก็ย่อมจะสูงกว่า และเมื่อดำเนินการร่วมกับระบบ MultEQ Pro จะสามารถวางตำแหน่งจุดนั่งฟัง เพื่อใช้อ้างอิงในการตรวจวัดได้มากถึง 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่นั่นคงจะเป็นโรงหนังแล้วละครับ ถ้าห้องฟังทั่วไป 8 จุด หรือขั้นต่ำ 3 – 5 จุด ก็เพียงพอ เพราะห้องนึงคงนั่งกันไม่เกิน 5 คน นะ (เยอะกว่านี้คงคับ)

หลังจากจัดวางลำโพง เสียบสายเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างครบถ้วนแล้ว เปิดเครื่อง AVR แล้วเสียบสาย Audyssey Setup Mic เข้าที่ช่องต่อด้านหน้าของ 5010 ก็จะปรากฏหน้าจอ MultEQ XT 32: Auto Setup ขึ้นมาบนจอภาพดังรูป

ดังที่เกริ่นไปว่า 5010 มาพร้อมกับภาคขยายจำนวนมากถึง 11 แชนเนล และสามารถกำหนดการใช้งานภาคขยายเหล่านั้นได้หลากหลาย โดยสามารถดำเนินการกำหนดตั้งค่าผ่านหน้าแรกของ MultEQ XT 32: Auto Setup ได้เลย อันเป็นขั้นตอนก่อนจะไปยังช่วงการ calibrate โดยระบบจะทำการตรวจวัด และกำหนดตั้งค่าลำโพงให้สัมพันธ์กับรูปแบบการติดตั้งใช้งาน

นอกเหนือจากรองรับระบบเสียงรอบทิศทางจากลำโพงหลายแชนเนลแล้ว การปรับรูปแบบภาคขยายเพื่อใช้ “Bi-amp” หรือเสริมลำโพงชุดที่ 2 (Speaker B) เป็นการเพิ่มศักยภาพการใช้งานภาคขยายอีกแนวทางหนึ่ง แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือ การใช้งานในรูปแบบ Digital Processing Crossover ซึ่งเป็นการเสริมวิธีการ Bi-amp พร้อมตัดความถี่ให้สัมพันธ์กับไดรเวอร์ของลำโพง ซึ่งรูปแบบ Digital Filter จะให้ slope ที่ชันกว่าวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กที่ติดตั้งใช้งานในลำโพงทั่วไป ปัญหา coloration จากเสียงของไดรเวอร์แต่ละชุดในช่วงความถี่ที่คาบเกี่ยวกันบริเวณจุดตัดก็จะน้อยลง และยังสามารถปรับชดเชย Time Alignment (จากระนาบของไดรเวอร์) ได้ด้วย แต่ฟีเจอร์นี้จะได้อานิสงส์ชัดเจนเมื่อใช้งานกับ “ลำโพงที่ไม่มีครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก” ครับ ส่วนลำโพงไบไวร์ ทั่วๆ ไปในท้องตลาดนั้น อาจจะได้อานิสงส์ในส่วนนี้บ้าง แต่ไม่มากเท่า ผลการใช้งาน Digital Processing Crossover ผมจะรายงานให้ทราบอีกครั้งในภายหลังครับ

เมื่อใช้งานร่วมกับระบบ Audyssey Auto Calibration ระบบจะรองรับการปรับตั้งซับวูฟเฟอร์ได้อิสระ 2 แชนเนล
(แต่เชื่อมต่อได้ 4 ตู้)