30 Dec 2013
Review

เรือธง ขย่มปฐพี !!! รีวิว Onkyo TX-NR5010 4K Ready Network AV Receiver


  • ชานม

Picture – ภาพ

ในส่วนของ Video Scaler นั้น สำหรับ 5010 จะเป็นการใช้งานในรูปแบบ Dual Video Processor chips หรือก็คือ มีจำนวนถึง 2 ชิพ และที่แปลก คือ ไม่ใช่ยี่ห้อเดียวกันเสียด้วย…

อานิสงส์จาก Video Processor chips ทั้ง 2 ตัว แยกทำงาน ในส่วน 4K Upscale รับหน้าที่โดย Marvell”s QDEO Gyto G2H (ซ้าย) และ 1080p Upscale รวมถึงกระบวนการ Analog to Digital Upcoversion (signal input from Composite/Component convert to HDMI Output) เป็นหน้าที่ของ IDT”s HQV Vida VHD1900 (ขวา)

แม้ว่าตลาด Video Processor chips จะมีผู้เล่นมากหน้าหลายตา แต่ปัจจุบันเมื่อก้าวสู่ยุค Digital 4K ดูเหมือนจะผูกขาดอยู่ที่ QDEO เป็นหลัก ทั้งนี้หากไล่อดีตมาจะพบว่ายุครุ่งเรืองของผู้ผลิตดูจะไม่ซ้ำหน้า ตั้งแต่ Faroudja”s DCDi, Anchor Bay”s DVDO Edge, IDT”s HQV Reon และล่าสุด คือ Marvell”s QDEO Gyoto G2 และ G2H อย่างไรก็ดีผู้ผลิต Video Processor chips อื่นๆ ที่เคยมีบทบาทในอดีตก็ไม่ได้หายหน้าไปไหน ปัจจุบันก็ยังคงพัฒนาโปรดักต์ใหม่อยู่ และก็มีการติดตั้งภายในสินค้า AV หลากหลาย นอกเหนือจาก AVR ไม่ว่าจะเป็น TV, Projector, BD/DVD Player, Set top box, etc. แต่อาจจะไม่เห็นการประชาสัมพันธ์โจ๋งครึ่มนัก

อันที่จริง Onkyo ใช้บริการ Video Processor chip ของ IDT (Integrated Device Technology, Inc.) กับ AVR ของตนมาช้านานแล้ว ช่วงที่เห็นชัดๆ ก็คงเป็น HQV Reon VX ในรุ่น TX-NR905 และก็มีการใช้งานต่อเนื่องเรื่อยมาใน AVR ระดับสูง จนมาถึง TX-NR5010 ที่ใช้งาน IDT Video Processor chip เจนเนอเรชั่นที่ 3 คือ HQV Vida (ชิพเปิดตัวในปี 2009) ซึ่งจากการออกแบบของทาง Onkyo ที่ใช้รูปแบบ Dual Video Processor chips นั้น หน้าที่หลัก (ที่น่าจะใช้งานบ่อย) อย่างการ Upconvert Analog Video signal to Digital และ 1080p Video Upscaling (noise reduction, motion adaptive de-interlacing, scaling and detail enhancement up to 1080/60p) จะเป็นหน้าที่ของ HQV Vida VHD1900 จากนั้นเมื่อต้องการอัพสเกลสัญญาณ Digital Video ใดๆ ขึ้นเป็น 4K (หากว่าฮาร์ดแวร์ปลายทาง คือ จอภาพ รองรับสัญญาณ 4K) จึงค่อยเป็นหน้าที่ของชิพ QDEO Kyoto G2H เมื่อพิจารณาแนวทางการใช้งานในปัจจุบัน ที่ยังคงใช้งานร่วมกับจอภาพมาตรฐาน Full HD เป็นหลัก ชิพ HQV Vida ก็จะมีบทบาทมากกว่าชิพ QDEO เสียด้วยซ้ำ สำหรับกรณี TX-NR5010!

หมายเหตุ: Dual Video Processor chips (QDEO + HQV Vida) เป็นฟีเจอร์ที่บรรจุมากับ Onkyo AVR รุ่น TX-NR8xx ขึ้นไป ส่วนในกรณีรุ่นเล็ก เช่น TX-NR6xx จะใช้งานซิงเกิลชิพ (QDEO) เป็นหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ Onkyo เลือกใช้ชิพ HQV Vida เข้าใจว่าส่วนหนึ่งจะเป็นประเด็นเรื่องของเหตุผลทางการตลาดอย่าง ISF Certified อย่างไรก็ดี คุณสมบัติของชิพ HQV Vida เองก็ไม่ใช่ธรรมดา อย่างเช่น HQV StreamClean หรือกระบวนการลดทอนน้อยส์ที่แฝงมากับคอนเทนต์บีบอัด โดยแยก algorithms จัดการ 3 รูปแบบ คือ TNR – Temporal noise reduction, BAR – Block artifacts noise reduction และ MNR – Mosquito noise reduction หรือกระบวนการ Four-field, motion adaptive de-interlacing ที่ให้ผลลัพธ์ได้น่าสนใจ (เวลารับชมรายการออกอากาศต่างๆ ฟรีทีวี/ดาวเทียม/เคเบิล จะได้ใช้บ่อย) หรือ HQV Resolution Enhancement ที่ช่วยให้ภาพความละเอียดต่ำ ดูคมชัดขึ้นได้บ้าง ไปจนถึง 12-bit output for deep color and 3D gamut conversion for xvYCC processing ที่จัดการในเรื่องของสีสันได้กว้างขวางสมจริงยิ่งขึ้น

พารามิเตอร์ในหัวข้อ Picture Adjust ที่เกี่ยวข้องกับการอัพสเกลโดยตรง ซึ่งถ้าหากเคยใช้งาน AVR เกือบทุกรุ่นของ Onkyo มาแล้ว ไม่ว่ารุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ก็จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากคงรูปแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของฟีเจอร์ในส่วนของ Video Processing สามารถเลือกโหมดภาพสำเร็จรูป ที่น่าสนใจก็ ISF Day และ ISF Night ที่จะชดเชยในส่วนของ Gamma เพื่อการแยกแยะรายละเอียดในส่วนของ Black Level มีความชัดเจนเหมาะสมกับสภาพแสงแวดล้อม (ดูตอนกลางวัน-แสงรบกวนมาก หรือกลางคืน-แสงรบกวนน้อย) หรือจะกำหนดตั้งค่าเองแบบละเอียดในโหมด Custom ก็ได้ โดยสามารถกำหนดให้เหมาะสมกับลักษณะ และคุณภาพของคอนเทนต์ที่รับชมได้อย่างละเอียด ความยืดหยุ่นต่อการใช้งานจึงสูง สามารถชดเชยอุณหภูมิสีได้ด้วย แต่เพื่อมิให้สับสน แนะนำว่าส่วนของอุณหภูมิสีให้ไปปรับเอาที่จอภาพจะดีกว่าครับ (นอกเสียจากจอภาพจะไม่มีให้ปรับ)

หมายเหตุ: กรณีที่ไม่ต้องการใช้ Video Scaler ใน 5010 (เช่นการเชื่อมต่อกับแหล่งโปรแกรมคุณภาพสูง) สามารถบายพาสโดยการกำหนด Picture Mode เป็น Direct ทั้งนี้การกำหนด Picture Mode รวมถึงการตั้งค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการอัพสเกลต่างๆ สามารถกำหนดแยกอิสระสำหรับแต่ละอินพุตแหล่งโปรแกรมได้

Sound – เสียง

จากการทดสอบพบว่า ต้องใช้เวลาเบิร์นอยู่นานพอดูจึงจะได้พบกับเสียงที่แท้จริงของ AVR รุ่นท็อปเครื่องนี้ ในช่วงแรกผมทดสอบเชื่อมต่อกับชุดลำโพง >>Tannoy Mercury V<< ที่คุณ Boomerang ทดสอบไป พบว่า น้ำเสียงที่อิ่มหวาน อ่อนช้อยนั้น ช่างส่งเสริมกันและกันเป็นอย่างดีมากๆ ฟังเพลงร้องหวานๆ นี่เสียงเนียนหยดย้อยจริงๆ อย่างไรก็ดีในช่วงแรกของการรันอิน ปลายเสียงจะยังติดห้วนอยู่บ้าง ต้องเปิดเบิร์นทั้งแอมป์ และลำโพงกันอยู่พักใหญ่ถึงจะเข้าที่ ซึ่งในช่วงท้ายๆ เมื่อพ้นเบิร์นแล้ว ต้องบอกว่ารายละเอียดเสียงพรั่งพรูขึ้นมาเลย แต่จุดเด่นเรื่องน้ำเสียงก็ยังคงอยู่ ฟังสบายๆ ไม่รุกเร้าแต่อย่างใด

คุณภาพเสียงนั้น ไม่เสียแรงที่เป็นรุ่นใหญ่ พละกำลังดูจะเหนือกว่า AVR รุ่นต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีส่วนช่วยให้มวลเสียงอิ่มเอิบคงเส้นคงวา ไม่ใช่ว่าเปิดเบาๆ ก็ให้น้ำหนักเสียงดี แต่พอเปิดดังแล้วเหมือนคอนโทรลลำโพงไม่ได้ ในเรื่องสไตล์เสียงนั้น ในบรรดา AVR ด้วยกัน คงหาน้ำเสียงอิ่มๆ สไตล์ Onkyo แบบนี้ได้ยาก ฟังเพลงร้องผู้หญิงนี่โดนจริงๆ ไม่มีคำว่าจัดจ้านให้ได้ยินเลยแม้แต่น้อย (ถ้าซิสเต็มไม่ผิดปกติ) ถ้าจะโหยหาความเฟี้ยวฟ้าวล่ะก็ 5010 คงไม่ใช่แนวครับ แต่ถ้าหาความหนักแน่น เนื้อเสียง และบรรยากาศ นี่ล่ะใช่เลย

เสียงความถี่ต่ำถือเป็นจุดเด่นอีกประการของ AVR เครื่องนี้ ซึ่งถึงแม้จะใช้งานซับวูฟเฟอร์ที่มีภาคขยายในตัว ไม่ได้ใช้ภาคขยายของ AVR ก็ยังได้อานิสงส์ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคถอดรหัสที่ให้ความเด็นขาด และสงัดอันเป็นคุณสมบัติของเครื่องระดับสูง เบสลึกมีรายละเอียดที่ชัดเจน สะอาด ให้แรงปะทะหนักแน่นมากกว่า หากใช้งาน Audyssey MultEQ XT32 ก็พบว่าให้ผลลัพธ์โดดเด่นในแง่ที่ช่วยปรับจูนครอสโอเวอร์ เฟส รวมถึงดุลเสียงของซับวูฟเฟอร์ให้อัตราตอบสนองความถี่ราบเรียบ เที่ยงตรงยิ่งขึ้น

ติดค้างเอาไว้ในบททดสอบ >>Polk Audio UltraFocus 8000<< เกี่ยวกับผลการใช้งานหูฟังร่วมกับ AVR
ซึ่งอันที่จริง AVR + Headphone นั้น สามารถตอบสนองการใช้งานได้โดดเด่นน่าสนใจมากๆ ครับ
จริงอยู่ว่าวัตถุประสงค์หลักที่อุตส่าห์ลงทุนซื้อ AVR มา ก็คือนำมาใช้งานร่วมกับระบบลำโพงโฮมเธียเตอร์รอบทิศทาง ครั้นจะนำมาใช้งานกับหูฟังเป็นหลักคงไม่มีใครทำกัน อย่างไรก็ดีถึงแม้ประเด็นนี้จะดูเหมือนของแถม แต่ก็เป็นของแถมที่คุ้มค่าน่าลอง… เพราะอะไร?

ด้วยคุณสมบัติการทำหน้าที่เป็นตัวถอดรหัสเสียงดิจิทัลทั้งหลายแหล่ ปัจจุบัน AVR จะกลายเป็นมีเดียเพลเยอร์อยู่แล้ว สามารถเล่น USB/Network ซึ่งรองรับ Studio Master files ระดับ Hi-res ไปจนถึง Internet Radio เมื่อมี Headphone Amp ติดมาแล้ว เพียงเชื่อมต่อหูฟังก็สามารถรับฟังได้เลยง่ายๆ ไม่ต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกเพิ่มเติม อีกทั้งทางเดินสัญญาณก็สั้นด้วย โอกาสสูญเสียจากตัวแปรคือสายสัญญาณก็ย่อมจะน้อย แต่หน้าที่หลักที่โดดเด่นที่สุด คือ “ภาคถอดรหัสระบบเสียงเซอร์ราวด์” ผ่านกระบวนการ “Down-mix” เป็นระบบเสียง Stereo ในการรับฟังผ่านหูฟัง ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีอุปกรณ์ใดทำได้ดีกว่า AVR อีกแล้ว (เพลเยอร์เองแม้จะทำได้เหมือนกัน ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่า AVR ในประเด็นนี้) แน่นอนอานิสงส์นี้จะส่งผลถึงการใช้งานหูฟังในการรับชมภาพยนตร์ การตอบสนองย่านความถี่ต่ำ (จากประสิทธิภาพการ down-mix ช่องเสียง LFE) มิติเสียงรายล้อม (จากการ down-mix ช่องเสียงเซอร์ราวด์) ก็ย่อมจะให้ผลลัพธ์อย่างโดดเด่น เมื่อผนวกกับศักยภาพของ Headphone Amp ของ AVR ระดับนี้ อรรถรสการรับชม (ฟัง) ผ่านหูฟังจะไปไหนเสีย…

Conclusion – สรุป

AVR ดีกรีระดับเรือธง คุณภาพเสียงจึงเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ 5010 มิใช่ AVR ที่รุกเร้า เสียงออกจะเนียนสะอาด ฟังสบาย ทว่าย่านต่ำนั้นเล่า ก็หนักแน่นดุดันดี บวกกับคุณสมบัติเด่นตามยุคสมัยที่ผู้ใช้ควรจะได้

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.75
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
9.00
เสียง (Sound)
9.50
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.80

คะแนน Onkyo TX-NR5010 Network AV Receiver

8.8

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– โครงสร้างระดับเรือธงตัวถังย่อมไม่ธรรมดา นอกจากนี้ส่วนประกอบภายในยังจัดเต็มโดยเฉพาะในส่วนของภาคขยาย และภาคจ่ายไฟที่จัดมาเต็มพิกัด ใกล้เคียง PR-SC5509 + PA-MC5501 ที่เป็นชุด Processor+Multi-ch Poweramp
– นอกเหนือจากการอัพสเกลระดับ 4K โดย ODEO Video Processor chip แล้ว การปรับปรุงวิดีโอคอนเทนต์ด้วยการอัพสเกลสู่ระดับ 1080p โดยเฉพาะการอัพสเกลจากสัญญาณอะนาล็อก รับหน้าที่โดย HQV Vida ให้ผลลัพธ์ได้อย่างน่าสนใจ พร้อมตัวเลือกปรับแก้อุณหภูมิสี และ ISF Mode
– กำลังสำรอง MultEQ XT32 มาตรฐานสูงสุดของระบบ Audyssey Auto Calibration ช่วยให้การติดตั้งระบบลำโพงรอบทิศทางลงตัวได้ง่าย ด้วยผลลัพธ์ความเที่ยงตรงสูง
– Network AVR ที่
– อินพุตช่องต่อครบครัน มีช่องต่อแปลกๆ แตกต่างจาก AVR เครื่องอื่น อย่างเช่น VGA ที่เพิ่มความยืดหยุ่นรองรับสัญญาณจากหลากหลายมาตรฐาน ให้ HDMI In/Out มากถึง 9/2 ช่อง โดย HDMI Out SUB สามารถกำหนดเป็น HDMI Out Zone2 ได้ / ภาคขยาย แชนเนล สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการ Bi-amp ลำโพงคู่หน้า และ Digital Crossover / รองรับอุปกรณ์เสริมในรูปแบบ USB Dongle ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi Adapter (UWF-1) หรือ Bluetooth (UBT-1)
– Onkyo AVR รุ่นท็อป ราคาย่อมไม่ต่ำ แต่สิ่งที่เหนือกว่า คือ คุณภาพเต็มดีกรีความใหญ่

by ชานม !
2013-03

ขอขอบคุณบริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป
ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ในการทดสอบครั้งนี้ด้วย