08 Jan 2016
Review

Brings depth and realism to your TV !!! รีวิว Oppo BDP-103D 4K 60Hz Ready Universal Player


  • ชานม

Connectivity – ช่องต่อ

เปรียบเทียบจำนวนช่องต่อ Input/Output ระหว่าง BDP-103D, BDP-103 และ BDP-93
จะเห็นว่า 103D และ 103 ไม่ต่างกัน

จุดเด่นของ Oppo Blu-ray Player (ที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรก คือ BDP-93/95) คือ Dual HDMI Out โดยติดตั้ง HDMI Out 2 ช่อง เพื่อการใช้งานแบบ “Dual View” (ต่อจอภาพ 2 จอพร้อมกัน) หรือ “Split AV” (แยกสัญญาณภาพ-เสียง ออกทางสาย HDMI 2 เส้น เส้นหนึ่งต่อเข้าจอภาพ อีกเส้นต่อเข้า AVR อ่านเพิ่มเติมในส่วนของ Setup – การติดตั้ง)

ส่วน Dual HDMI In ได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาครั้งแรกกับรุ่น 103 ต่อเนื่องมาถึง 103D ประโยชน์เพื่ออาศัยอานิสงส์ของ Video Processor ในตัว 103/103D ในการปรับปรุงคุณภาพแหล่งสัญญาณภาพที่มาจากแหล่งโปรแกรม HDMI ภายนอกอื่นๆ (เช่น Satellite/Cable TV, Smart Devices ฯลฯ)

นอกจากนี้ในด้านของเสียง ก็ยังใช้อานิสงส์จาก Digital Surround Decoder และ DAC ในตัวของ 103/103D เพื่อถอดรหัสเสียงดิจิทัลและแปลงสู่สัญญาณอะนาล็อก เพิ่มทางเลือกในการเชื่อมต่อกับชุดเครื่องเสียงอะนาล็อก หรือลำโพงแอ็คทีฟได้ (การใช้งาน Multi-channel Analog Output อ่านเพิ่มเติมในส่วนของ Setup – การติดตั้ง)

การสลับใช้งานช่องสัญญาณอินพุต สามารถดำเนินการได้เพียงกดปุ่ม Source ที่รีโมตคอนโทรล จะแสดงรายการ Input ขึ้นมาให้เลือกบนหน้าจอทีวี ซึ่งมี HDMI In 2 ช่อง และการรับสัญญาณเสียงจากทีวีโดยเทคนิค ARC (Audio Return Channel)

Features – ลูกเล่น

เช่นเคยกับความสามารถอันหลากหลายจากสมญานาม อภิมหาจักรวาลเพลเยอร์ ทั้งเล่นแผ่นอ็อพติคัลดิสก์ BD/DVD/SACD/CD ไปจนถึงไฟล์วิดีโอ เสียง และภาพนิ่งหลากหลายฟอร์แม็ต ที่บรรจุอยู่แผ่นดิสก์ USB Storage Devices ครอบคลุมถึงการเล่นผ่านระบบเครือข่ายภายในบ้าน ในจุดนี้เรียกว่าศักยภาพเทียบเท่า HD Player ดีๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการรับชม/ฟัง ออนไลน์คอนเทนต์อีกต่างหาก

ก่อนจะไปลงดีเทล ผมเรียนให้ทราบก่อนว่าความสามารถตรงนี้ สำหรับรุ่นใหม่ 103D ไม่ต่างจาก 103 ครับ

จุดเด่นของ Oppo Blu-ray Player ตั้งแต่ไหนแต่ไร นอกเหนือจากการเล่นแผ่นหนัง แผ่นเพลงแล้ว ยังเล่นไฟล์ฟอร์แม็ตเด่นๆ ได้ครอบคลุมหลากหลาย ซึ่งไฟล์หลักๆ ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายกันในปัจจุบัน สามารถนำมาเล่นกับ BDP-103/103D ได้ ศักยภาพไม่แพ้ HD Player เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น MKV, AVI, MP4, FLV, 3GP ฯลฯ แน่นอนว่าฟอร์แม็ตเสียงรายละเอียดสูง (Hi-resolution Audio) ไม่ว่าจากภาพยนตร์ (TrueHD Audio) หรือเพลงระดับ 24-bit/192kHz ทั้ง WAV และ FLAC หรือแม้แต่ ALAC (Apple Lossless) และล่าสุด DSD (Direct Stream Digital) กับไฟล์ฟอร์แม็ต DFF และ DSF ก็ได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

หมายเหตุ: ล่าสุด (06/2014) อ้างอิงการทดสอบจาก 105D เมื่ออัพเดทเฟิร์มแวร์ใหม่ พยว่าสามารถเล่นไฟล์ฟอร์แม็ต DFF (DSD64) ได้แล้ว จากเดิมที่เล่นไม่ได้

โชว์ปกได้ด้วย ทั้งไฟล์วิดีโอ และไฟล์เพลง

การเลือกเสียงพากย์ และซับไตเติลสำหรับไฟล์ MKV ทำได้สะดวกเพียงกดปุ่ม Audio และ Subtitle ที่รีโมต
จากการใช้งานพบว่ายังมีซับไตเติลที่ไม่รองรับอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

การเลือกช่วงเวลาการรับชมไปยังจุดที่ต้องการผ่านฟังก์ชั่น Go to ยังให้ความสะดวกได้ดีเช่นเคย และหากเป็น Full-rip (Folder) ก็ยิ่งไม่มีปัญหาในจุดนี้ เพราะสามารถเปลี่ยนแชปเตอร์ หรือเลือก Scene Selection ผ่าน Pop-up Menu ได้เลย

ในส่วนของ Online Content แม้จะมีตัวเลือกมากอยู่ (จำนวนคอนเทนต์เท่ากับในรุ่น 103)
แต่สำหรับประเทศไทยจะใช้งานได้จริงไม่กี่อย่าง ที่เด่นๆ ก็ไม่พ้น YouTube

ท่านที่ใช้งาน YouTube ผ่านเครื่องเล่นต่างๆ หรือแม้แต่บน Smart TV คงจะสังเกตเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ในช่วงแรกๆ จะติดปัญหาเรื่องใช้งานยาก เชื่องช้า และไม่ยืดหยุ่น จะพิมพ์คำค้นหาคลิปวิดีโอแต่ละทีแสนลำบาก และไม่รองรับการค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดภาษาไทยด้วย (รีโมตพิมพ์ไทยไม่ได้) แต่ปัจจุบัน YouTube เปิดโอกาสให้ทำการซิงก์กับ Smart Phone ทีนี้จะพิมพ์คำค้นหาคลิปอะไร ภาษาไหนก็ง่าย จะรับชมรายการไทยๆ ก็หาได้รวดเร็วทันใจ ทำ playlists ไว้ล่วงหน้าให้เล่นต่อเนื่องก็ได้ ถ้าเป็นเหตุการณ์อยู่ในกระแสทั้งไทย-เทศ ใส่คีย์เวิร์ดค้นหาไปแล้ว ได้ดูคลิปกันเพลินแน่ๆ

ด้วยพื้นฐานที่ไม่ต่างจาก BDP-103 การเชื่อมต่อใช้งาน BDP-103D จึงไม่แตกต่างกัน และอันที่จริงการเชื่อมต่อก็มิได้ซับซ้อนกว่าเครื่องเล่นบลูเรย์ในท้องตลาดทั่วไป เพียงแค่เชื่อมต่อสาย HDMI ไปที่ทีวี เปิดเครื่อง ใส่แผ่น หรือเล่นไฟล์ผ่าน Ext. HDD/Flash Drive ภาพก็มาเสียงก็ออกแล้ว อย่างไรก็ดี กับความสามารถที่พิเศษกว่า BD Player/HD Player ทั่วไป จึงมีขั้นตอนบางประการเพิ่มเข้ามาบ้าง

Oppo BD Player ทุกรุ่นจะติดตั้ง Dual HDMI Output ที่สามารถแยกสัญญาณภาพ-เสียง เพื่อแยกสัญญาณการเชื่อมต่อไปยังจอภาพ และ AVR ได้อิสระ หากต้องการประสิทธิภาพสูงสุดจาก Dual HDMI Output นี้ ก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อสาย HDMI จำนวน 2 เส้น (แทนที่จะเป็นเส้นเดียวแบบ BD Player ทั่วไป) โดย HDMI เส้นที่เชื่อมต่อกับ HDMI Out 1 ของ BDP-103/103D จะต่อไปยังจอภาพ และ HDMI Out 2 ต่อไปยัง AVR

จากนั้นกำหนดตัวเลือก Dual HDMI Output เป็น “Split A/V” เพื่อกำหนดสถานะการทำงานในการส่งผ่านสัญญาณออกไป ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ (BDP-93/95)

ตัวเลือกหนึ่งที่แนะนำร่วมกับการตั้งค่าใช้งาน Dual HDMI Output แบบ Split A/V คือ การกำหนดตัวเลือก Blank HDMI 2 เป็น Yes เพื่อเน้นให้การส่งผ่านสัญญาณดิจิทัลทาง HDMI 2 เป็นสัญญาณเสียง ไม่ต้องเจียดแบนด์วิดธ์ให้กับสัญญาณวิดีโอสามมิติ แต่หากต้องการใช้งาน Dual HDMI Output แบบ Dual Display (ต่อภาพออกทีวีหรือโปรเจ็กเตอร์ 2 จอพร้อมกัน) ตัวเลือก Blank HDMI 2 จะต้องกำหนดเป็น No ครับ ไม่อย่างนั้นเวลาเล่น 3D ภาพจะไม่ออกที่ HDMI 2

ดังเช่นที่กล่าวไว้ว่า Oppo BD Player เป็น Universal Player ที่เล่นฟอร์แม็ตอ็อพติคัลดิสก์ได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงฟอร์แม็ต Hi-res อย่าง SACD ซึ่งความพิเศษของ Oppo BD Player ในการเล่นแผ่น SACD คือ สามารถปล่อยผ่านสัญญาณ DSD Digital Bitstream ผ่านทาง HDMI เพื่อการเชื่อมต่อกับ External DAC ที่มีความสามารถในการถอดรหัสสัญญาณ DSD ได้ (ซึ่ง AVR หลายๆ รุ่น ก็มาพร้อมกับความสามารถในจุดนี้) และด้วยศักยภาพของ HDMI จึงรองรับในส่วนของ Multi-channel SACD ด้วย มิใช่จำกัดแต่เฉพาะ Stereo เพียงอย่างเดียว แต่หาก External DAC ไม่สามารถรับ DSD Bitstream ก็ยังมีทางเลือกในการกำหนดตัวเลือก SACD Output เป็น PCM (อาศัย DSD Decoder ในตัวเครื่อง ซึ่งรองรับ Multi-channel เช่นกัน)

เช่นเดียวกับฟอร์แม็ต HDCD ที่ Oppo BD Player สามารถถอดรหัส (decode) ให้อยู่ในรูปของ Hi-res PCM แล้วส่งสัญญาณออกทาง HDMI ไปยัง DAC ภายนอกที่ไม่มี HDCD Decoder ในตัว (แนวทางนี้จะให้ความสะดวกเวลาใช้งานกับ AVR ปัจจุบัน AVR หรือ Ext. DAC ที่มี HDCD Decoder หายากมาก พอๆ กับแผ่น HDCD) หรือจะเชื่อมต่อทางอะนาล็อกก็ได้ (ใช้ DAC ในตัว Oppo ตรงนี้เพียงแค่กำหนดตัวเลือก HDCD Decoding เป็น On )

นอกเหนือจากการเชื่อมต่อใช้งาน Oppo BD Player ในระบบโฮมเธียเตอร์ร่วมกับ AVR ทาง HDMI Output แล้ว ด้วยคุณสมบัติในแง่การถอดรหัสเสียงดิจิทัลเซอร์ราวด์พร้อมแปลงสู่อะนาล็อกในตัว ผ่าน Multi-channel Analog Output อานิสงส์ที่จะได้ คือ การใช้งานร่วมกับ Analog Milti-channel Amplifier (ที่ไม่มีภาคถอดรหัสเสียงดิจิทัลเซอร์ราวด์ในตัว) หรือ Active Speakers ได้อีกทางหนึ่ง

ซึ่งแนวทางดังกล่าว สามารถปรับระดับเสียง (Master Volume) ผ่าน Oppo BD Player ได้ (เท่ากับทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ในตัว) โดยการกำหนด Audio Processing หัวข้อ Output Volume เป็น Variable และเมื่อต้องการปรับระดับเสียง ก็ดำเนินการผ่านรีโมตคอนโทรลไร้สายได้