08 Jan 2016
Review

Brings depth and realism to your TV !!! รีวิว Oppo BDP-103D 4K 60Hz Ready Universal Player


  • ชานม

Picture – ภาพ

ดังที่เรียนไปว่าจุดหลักสำคัญของการอัพเกรดสู่ 103D ในครั้งนี้ คือ Video Processor จาก Darbee
และ VRS ClearView ซึ่งเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ค่ายนี้ เมื่อใช้งานจริงผ่าน 103D เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเป้าหมาย “การอัพสเกล” เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่าง การปรับคุณสมบัติการแสดงผลของสัญญาณภาพ (คุณลักษณะของพิกเซล เช่น ย่อ-ขยายอัตราส่วน, กระบวนการ deinterlacing ฯลฯ) ให้สัมพันธ์กับคุณสมบัติของจอภาพ และที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการปรับปรุงคุณภาพสัญญาณ เช่น การเพิ่มความคมชัด (Detail Enhancement) และการลดทอนสัญญาณรบกวน (Noise Reduction) ซึ่งคุณสมบัติการอัพสเกลนี้ จะถูกผนวกรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นทีวี มอนิเตอร์ หรือโปรเจ็กเตอร์เสมอ แต่อาจจะต่างกันที่คุณสมบัติ ความซับซ้อนในการประมวลผล ฯลฯ ขณะเดียวกันเราจะเห็นวิดีโอสเกลเลอร์ผนวกรวมเข้าไว้ในตัววิดีโอเพลเยอร์ด้วยเช่นเดียวกัน

กรณีที่วงจรวิดีโอสเกลเลอร์ภายในตัวจอภาพไม่สามารถตอบสนองในจุดนี้ได้ดีนัก วิดีโอสเกลเลอร์ภายนอกจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสเกลเลอร์แบบเฉพาะกิจ (stand-alone video scaler เช่น Darbee Darblet หรือจาก Lugamen และ DVDO หลายๆ รุ่น) หรือแม้แต่วงจรสเกลเลอร์ที่ผนวกมากับเพลเยอร์ อย่างที่เห็นใน BD Player ระดับสูงหลายๆ ยี่ห้อ (Oppo เป็นหนึ่งในนั้น) และที่ผนวกมากับ AV Receiver/Pre Processor หลายๆ รุ่น ส่วนนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญแทน

ดังนั้น ก่อนที่จะพิจารณาใช้งานฟังก์ชั่น “อัพสเกล” ก็ควรประเมินก่อนว่าสเกลเลอร์ที่ติดตั้งมากับอุปกรณ์ชิ้นใด มีประสิทธิภาพดีที่สุด ก็ให้ใช้งานเฉพาะที่อุปกรณ์นั้น ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ให้ทำการ “ปิด” ใช้งานฟังก์ชั่นวิดีโอสเกลเลอร์เสีย (หรือ Bypass) เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากวงจรสเกลเลอร์คุณภาพต่ำ และเพื่อให้สัญญาณตรงสู่ขั้นตอนแสดงผลโดยเร็วที่สุด อย่าลืมว่าการอัพสเกลจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการประมวลผล อาจเกิดการหน่วงสัญญาณภาพให้ดีเลย์ช้าลง หรือที่เรียกว่า Display Lag แม้ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการปรับชดเชย Delay แต่ไม่แนะนำ

เมื่อเข้าใจกระบวนการอัพสเกลกันไปคร่าวๆ แล้ว ทีนี้มาประเมินผลการใช้งาน สเกลเลอร์ในตัว Oppo Blu-ray Player กันครับ

หากจะใช้งานวิดีสเกลเลอร์ในตัว Oppo Blu-ray Player จะต้องทำอย่างไร?

ปกติวงจรสเกลเลอร์ในตัว Oppo BD Player จะถูกเปิดใช้งานไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว โดยตัวเลือก Resolution Output จะตั้งไว้ที่ Auto กล่าวคือ ระบบจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของจอภาพว่ามีอัตราความละเอียดในการแสดงผล (Native Resolution) เป็นอย่างไร ก็จะกำหนดค่าการแสดงผลให้แม็ตช์กันโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับเปลี่ยนเองแบบแมนนวลได้โดยการกดปุ่ม Resolution ที่รีโมต

ตัวเลือกตรงนี้ หากไม่ต้องการใช้งานสเกลเลอร์ภายในตัว Oppo BD Player เช่น กรณีที่เชื่อมต่อกับสเกลเลอร์ภายนอก (stand-alone) หรือต้องการใช้งานสเกลเลอร์ในจอภาพที่มีศักยภาพสูงกว่า ให้กำหนดตัวเลือก Resolution Output ที่ Oppo เป็น Source Direct ครับ

อย่างไรก็ดีการกำหนดตัวเลือกสเกลเลอร์ข้างต้น เป็นเพียงขั้นตอนพื้นฐานเท่านั้น ยังมิได้รวมถึงกระบวนการที่ช่วยปรับปรุง แก้ไข จุดบกพร่องของสัญญาณวิดีโอ กล่าวคือยังมีพารามิตเอร์อื่นที่ลึกกว่า หากจะใช้งานวิดีโอสเกลเลอร์ให้เต็มศัยกภาพ

หากเป็นรุ่นก่อนๆ BDP-93 หรือ BDP-103 เมื่อกดปุ่ม Setup ที่รีโมตค้างไว้ จะเป็นทางลัดเข้าสู่เมนูปรับตั้งละเอียดในส่วนของวิดีโอสเกลเลอร์ที่ซับซ้อนขึ้น โดยสามารถกำหนดเพิ่มเติมในส่วนของการให้ระดับการลดทอนสัญญาณรบกวน (Noise Reduction) และการเพิ่มความคมชัดให้กับสัญญาณความละเอียดต่ำ (Sharpness) ไปจนถึงการปรับชดเชยสีสัน คอนทราสต์ ฯลฯ

พอมาเป็น 103D การกดปุ่ม Setup ที่รีโมตค้างไว้ จะเป็นการเรียกเมนูวิดีโอสเกลเลอร์ขึ้นมาเหมือนรุ่นก่อน ดังรูปข้างบน นอกจากนี้ยังสามารถกดปุ่ม Darbee เพิ่มเติมได้อีกช่องทางหนึ่ง (แต่จะแสดงเฉพาะตัวเลือกของ Darbee)

จากเมนูตัวเลือกตั้งค่าวิดีโอสเกลเลอร์ละเอียดของ 103D นี้ จะเห็นว่า Oppo ได้เพิ่มเติมพารามิเตอร์ปรับภาพในส่วนของ Darbee และ VRS ClearView เข้ามา ซึ่งต่างจากในรุ่นก่อนๆ ชัดเจน และผลลัพธ์ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความต่างเมื่อเปรียบเทียบกับ Oppo BD Player รุ่นก่อนๆ

ในส่วนของ Darbee จะสามารถเลือกโหมดการประมวลผลให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังรับชม แบ่งเป็น 3 โหมด คือ Hi-Def, Gaming, Full-Pop และ Off (ปิดการประมวลผลในส่วนของ Darbee) จากนั้นสามารถกำหนดน้ำหนักการประมวลผลเพิ่มลดที่ Darbee Level ซึ่งถ้าหากต้องการเปรียบเทียบผลลัพธ์ (ระหว่างใช้ กับไม่ใช้) สามารถเปิดใช้งาน Demo Mode เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์แบบ Real time กับคอนเทนต์ที่กำลังรับชมดูได้เลยครับ

ผลการใช้งานพบว่า การเพิ่มระดับ Darbee Level จะให้ผลลัพธ์ในแง่ลดอาการเบลอขาดความคมชัดจากคอนเทนต์รายละเอียดต่ำได้เป็นอย่างดี ผลลัพธ์จะคล้ายคลึงกับการเพิ่มระดับ Sharpness หรือ Detail+Edge Enhancement ทว่าสิ่งที่เหนือกว่าของ Darbee คือ จะเน้นรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมเข้ามาโดยเฉพาะในส่วนความเปรียบต่างของแสงเงา อันเป็นผลจากเทคนิคที่เรียกว่า human-vision-based model ทาง Darbee อ้างว่าเป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมมิติที่ลึกขึ้น (stereoscopic depth) ซึ่งก็ช่วยได้จริงครับ โดยเฉพาะการรับชมคอนเทนต์ที่มีรายละเอียดต่ำกว่า Native Resolution ของจอภาพ จะเน้นรายละเอียดให้ชัดเจนคมชัดขึ้น แต่ก็ต้องขึ้นกับความเหมาะสม หากให้น้ำหนักมากเกินไป มันจะกลายเป็นรายละเอียดที่ถูกยัดเยียดเข้ามาแทน ดูแล้วขัดตาไป นั่นย่อมกระทบกับ “ความเป็นธรรมชาติ” ภาพอาจจะดูหยาบ และเกิดการแยกตัวของเม็ดสียิบๆ โดยเฉพาะพื้นที่ของภาพช่วงที่เป็นไฮไลท์ (จุดสว่าง)

โดยทั่วไป Darbee Level ประมาณ 20% – 50% กำลังดีครับ (อ้างอิงสำหรับ Darbee Mode – Hi-Def) ทั้งนี้การให้น้ำหนัก Darbee Level จะไม่ตายตัว ขึ้นกับคุณภาพคอนเทนต์ ทดลองใช้งานโดยเพิ่ม-ลดระดับดูเพื่อหาจุดที่เหมาะสม อาจทดลองสลับไปใช้ Darbee Mode อย่าง Gaming สำหรับคอนเทนต์ที่เป็นภาพกราฟิก-แอนิเมชั่น หรือ Full-Pop สำหรับคอนเทนต์รายละเอียดต่ำ (low bit- rate) ซึ่งระดับผลลัพธ์ของแต่ละโหมดก็จะต่างกัน

สำหรับท่านใดที่ชอบปรับแต่งผลลัพธ์ด้วยตนเอง การใช้งานในส่วนของ VRS ClearView จะสามารถกำหนด Detail Enhancement และ Edge Enhancement แยกกันได้ ทว่าจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น และผลลัพธ์อาจไม่ได้ดีกว่า Darbee ซึ่งการให้น้ำหนัก Detail/Edge Enhancement มากเกินไปนอกจากจะทำให้ภาพหยาบแล้ว ยังจะเร่งให้เห็นสัญญาณรบกวนที่แฝงมากับคอนเทนต์ชัดเจนขึ้น

นอกจากขั้นตอนการเสริมรายละเอียดด้วย Darbee Level หรือ VRS ClearView Detail/Edge Enhancement แล้ว ในส่วนของการแก้ไขสิ่งรบกวนที่ปะปนมากับคอนเทนต์ จำเป็นต้องอาศัยตัวเลือก Noise Reduction เข้ามาแก้ไขในจุดนี้ ซึ่งการเพิ่มระดับ Noise Reduction มากขึ้น จะครอบคลุมการลดทอนสัญญาณรบกวนที่ซับซ้อนขึ้น (เช่น MPEG noise และ Mosquito Noise) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับรุ่นก่อนๆ (QDEO) และเช่นเดียวกันว่า การให้น้ำหนัก Noise Reduction จะไม่ตายตัว ขึ้นกับคุณภาพคอนเทนต์ หากให้น้ำหนักมากเกินไป จะส่งผลกระทบลดทอนรายละเอียดภาพลง (ภาพจะเบลอ ขาดความคมชัด)

การใช้งานสเกลเลอร์ในตัว 103D มีจุดให้ขัดใจอยู่บ้างที่ คือ ไม่สามารถใช้สเกลเลอร์กับออนไลน์คอนเทนต์ที่รับชมผ่าน 103D เอง อย่างเช่น YouTube อย่างไรก็ดีปัจจุบันคอนเทนต์บน YouTube เริ่มปรับเปลี่ยนมาตรฐานเป็น Hi-Def แล้ว การปรับปรุงข้อบกพร่องด้วยสเกลเลอร์แจึงไม่จำเป็นนัก

การรับชมผ่าน YouTube ผ่าน Oppo BD Player ระบบจะเลือกแสดงระบบภาพแบบ HD มาให้รับชมโดยอัตโนมัติครับ (ถ้ามี)

การอัพสเกลนั้น มิใช่เฉพาะการอัพ Standard Definition เป็น Full HD อย่างเดียว แต่ยังรวมถึง Standard Definition เป็น 4K และ Full HD/HD เป็น 4K ด้วย

ทดสอบการอัพสเกลที่ความละเอียดระดับ 4K โดยจะอ้างอิงเปรียบเทียบกับ Samsung UA65F9000 UHD LED TV เมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จาก Oppo BD Player รุ่นก่อน (103) เมื่อทำการอัพสเกลสัญญาณภาพจาก Blu-ray Disc (1080p) ไปรับชมที่ความละเอียด 4K พบว่า ปัญหาอาการหน่วงเล็กๆ ของภาพเคลื่อนไหวภายหลังผ่านกระบวนการอัพสเกลลดน้อยลง ดังนี้ 103D จะให้ความต่อเนื่องของภาพเคลื่อนไหวได้ไหลลื่นเป็นธรรมชาติมากกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย เรียกว่าประเด็นนี้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ (เมื่อไม่เปิดใช้งานสเกลเลอร์) อย่างไรก็ดีหากเทียบศักยภาพโดยรวมแล้ว การใช้สเกลเลอร์ในตัวทีวี UA65F9000 ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าครับ* ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่สเกลเลอร์ในทีวีระดับแสน จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสเกลเลอร์ในตัวเพลเยอร์ระดับหมื่น หากอนาคตมี 4K/UHD TV ราคาประหยัดออกมา อาจจะได้ใช้งาน 4K/UHD Scaler ในตัวเพลเยอร์กันจริงจังกว่านี้ แต่สำหรับเคสนี้ แนะนำให้รับชมโดยกำหนด Resolution ที่ 103D เป็น Source Direct (บายพาสสเกลเลอร์ในตัว 103D) ครับ

*ผลการทดสอบเป็นการอ้างอิง 103D พร้อมเฟิร์มแวร์เก่า ที่ยังจำกัดระดับการอัพสเกลสัญญาณเอาต์พุตที่ 4K/24Hz ปัจจุบัน 103D/105D มีเฟิร์มแวร์อัพเดทให้สามารถอัพสเกลที่ระดับสัญญาณเอาต์พุต 4K/60Hz ได้ แต่จุดนี้จะส่งผลให้กระบวนการอัพสเกล 4K ภายใน Oppo ดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ขอยืนยัน (อัพเดท 06/2014)

เน้นย้ำว่า ไม่มีสเกลเลอร์รุ่นไหนที่จะให้ผลลัพธ์ดีเทียบเท่ากับการรับชมคอนเทนต์ที่ต้นทางดีมาตั้งแต่ต้น การรับชมคอนเทนต์คุณภาพสูง (คอนเทนต์ 1080p รับชมกับ Full HD TV หรือคอนเทนต์ 4K รับชมกับ 4K/UHD TV) ดังนั้นพยายามคัดคุณภาพคอนเทนต์สักเล็กน้อย หากเลือกรับชมระบบ HD ได้ ก็ให้เลือกไว้ก่อน แล้วท่านจะไม่ต้องวุ่นวายกับการตั้งค่าใช้งานสเกลเลอร์เลยครับ แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ก็เลือกใช้สเกลเลอร์ดีๆ อย่างที่บรรจุอยู่ใน Oppo BDP-103D เครื่องนี้ ก็เป็นทางออกที่คุ้มค่ากับงบประมาณ

Sound – เสียง

ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานที่เหมือนกัน ประเด็นเรื่องการถ่ายทอดคุณภาพเสียงของทั้งคู่จึงไม่แตกต่างกัน (DAC Chip เป็นตัวเดียวกับ 93 และ 103 คือ Cirrus Logic CS4382A หรือพูดได้ว่า Analog Audio Board เหมือนกัน)

อย่างไรก็ดี โดยพื้นฐานทั้ง 103D และ 103 ถือว่าให้ความยืดหยุ่นและตอบสนองการใช้งานได้ดี ทั้งในส่วนของ Audio Output นอกเหนือจากรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังมี Multi-channel Analog Output พร้อม Digital Surround Decoder กับระบบ Bass Management ในตัว สามารถเชื่อมต่อกับ Multi-channel Amp หรือ Active Speakers ได้ มี Digital Volume สามารถปรับระดับเสียงที่ตัวเพลเยอร์ได้ จึงครอบคลุมการใช้งานดีมาก

สำหรับผู้ที่มี BDP-103 อยู่แล้ว ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่หากจะอัพเกรดเป็นรุ่น BDP-103D? ด้วยพื้นฐานที่เหมือนกัน จุดต่างจะเน้นเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีวิดีโอสเกลเลอร์จาก Darbee และ VRS ClearView โดยศักยภาพที่ได้ในแง่การปรับปรุงสัญญาณภาพนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ผลลัพธ์ไม่ถึงกับแสดงความห่างชั้นจาก Qdeo ในรุ่นก่อนอย่างชัดเจนมากนัก หากจะให้เห็นความต่างชัดเจน การอัพเกรดไปใช้งาน Stand-alone Video Scaler (ที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติการอัพสเกลสูงกว่า) จะเห็นผลมากกว่า แต่แน่นอนว่างบประมาณย่อมสูงตามไปด้วย

ดังนี้หากพิจารณาประเด็นหลักในแง่ของศักยภาพในการถ่ายทอดอรรถรสของภาพยนตร์ และดนตรีในฐานะ BD Player นั้น 103D ก็ยังเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ โดยเฉพาะหากท่านยังมิได้ครอบครอง Universal Player จาก Oppo มาก่อน นี่คือคำตอบที่คุ้มค่า น่าสนใจมากทีเดียวครับ และคุณสมบัติพิเศษจากวิดีโอสเกลเลอร์ โดยเฉพาะ Darbee ก็นับเป็นส่วนเสริมที่เพิ่มคุณค่าให้สูงยิ่งขึ้น

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน

  • รูปลักษณ์ตัวถังภายนอก คือ BDP-103 จำแลงนั่นเอง จุดหลักที่ได้รับการอัพเกรดเพียงประการเดียว คือ Video Processor ที่ติดตั้งภายใน
  • คุณสมบัติอัพสเกลสัญญาณภาพถึงระดับ 4K แม้ว่าคงจะไม่ได้ใช้งานกันแบบจริงจัง เพราะข้อจำกัดเรื่องราคาของจอภาพ 4K ในปัจจุบัน แต่ศักยภาพการปรับปรุงสัญญาณภาพระดับ SD ไปที่ 1080p โดยทำได้โดดเด่น ซึ่งถ้าต้องการสะดวกก็เลือกใช้ Darbee แต่ถ้าต้องการปรับจูนละเอียดก็ดำเนินการในส่วนของ VRS ClearView (ไม่แนะนำให้ใช้ 2 อย่างพร้อมกัน) หากต้องการใช้งานสเกลเลอร์ภายนอก ให้เลือก Source Direct
  • คุณสมบัติด้านเสียงไม่มีจุดที่เปลี่ยนแปลงจาก 103 อย่างมีนัยสำคัญ กระนั้นกับคุณสมบัติที่มี สามารถตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีกับผลลัพธ์การรับฟังระบบเสียงจากภาพยนตร์ (TrueHD) หรือเพลง (Hi-res Format) และไม่ว่าจะเชื่อมต่อแบบดิจิทัล (HDMI) หรืออะนาล็อก (รองรับ Multi-channel พร้อม Bass Management)
  • ยังคงการเป็น Universal Media Player ความสามารถครอบคลุมรอบด้านเช่นเคย รองรับอ็อพติคัลดิสก์หลากหลาย รวมถึงดิจิทัลไฟล์ ครอบคลุมไปถึงการสตรีมมิ่งผ่านระบบเน็ตเวิร์ก อ็อพชั่นอุปกรณ์ของแถมอย่างสาย HDMI, Wi-Fi Dongle ยังจัดเต็มเช่นเดิม
  • อรรถประโยชน์จาก HDMI/MHL In และ Dual HDMI Out with ARC ให้อรรถประโยชน์ที่กว้างขวางกว่า BD Player ในท้องตลาดทั่วไป มี USB In ถึง 3 ช่อง
  • สานต่อความสำเร็จจาก 103 รุ่นคุ้มค่า โดยอัพเกรดในส่วนของวิดีโอสเกลเลอร์แล้วเพิ่มงบประมาณอีกเล็กน้อย

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.00
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.50
เสียง (Sound)
8.50
ลูกเล่น (Features)
9.50
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
9.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.70

คะแนน Oppo BDP-103D 4K Ready Universal Player

8.7

by ชานม !2013-12

ราคา Oppo BDP-103D
24,000 บาท
(BDP-103 = 20,000 บาท)