03 Jan 2016
Review

มหากาฬ 3D ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ !!! รีวิว Oppo BDP-95


  • ชานม

ดีท็อกซ์… สุขภาพดีเกิดจากภายในสู่ภายนอก ??

จากภายนอก มาดูภายในกันบ้าง ก่อนอื่นผมอยากให้ดูรุ่นเล็ก คือ รุ่น 93 ก่อน อาจดูว่าไม่ซับซ้อนอะไร ซึ่งก็เป็นปกติของบลูเรย์เพลเยอร์ระดับราคานี้ ตำแหน่งภาควิดีโอ กับดิจิทัลออดิโอจะรวมอยู่บนบอร์ดเดียวกันซ้ายมือ ส่วนอะนาล็อกออดิโอแยกบอร์ดไว้ขวามือข้าง ๆ กัน ใกล้กันนั้นมีภาคจ่ายไฟแบบสวิตชิ่ง ซึ่งเปลือยเปล่า มิได้กั้นส่วนใด ๆ อย่างไรก็ดีเมื่อดูเกรดอุปกรณ์ประกอบภายในเล็ก ๆ เหล่านี้ ก็ดูดีมีคุณภาพทีเดียว

ทีนี้พอมาเป็นรุ่นใหญ่ ราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่านึง ความแตกต่างย่อมมี แต่จะมีอะไรบ้างที่พัฒนาขึ้น จากรูป (ถ้าอ้างอิงกับรูปของ 93 รูป 95 ถ่ายสลับบนล่างกันนิดหนึ่งนะครับ ด้านล่างของรูป คือ ด้านหน้าเครื่อง ส่วนรูป 93 ด้านล่างของรูป คือ ด้านหลังเครื่อง) จุดที่เห็นชัดเจนเพราะปิดบังพื้นที่เกินครึ่งจนมองส่วนอื่น ๆ แทบไม่เห็น นั่นคือ “อะนาล็อกออดิโอบอร์ด” เพราะอะไร ขนาดจึงใหญ่กว่าเดิมถึงกว่า 4 เท่า !

ถ้าไล่นับจำนวนช่องต่อจะพบว่า Oppo ได้เพิ่มอะนาล็อกแบบ 2 แชนเนล มาเฉพาะการณ์ จึงไม่ต้องไปอิงกับมัลติแชนเนลอะนาล็อกเอาต์เหมือนเดิม ทั้งนี้ในกรณีที่เชื่อมต่อผ่านเอาต์พุตนี้กับซิสเต็มแบบอะนาล็อก 2 แชนเนล แม้สัญญาณต้นฉบับเป็นรูปแบบมัลติแชนเนล ระบบจะทำการดาวน์มิกซ์สัญญาณเป็นสเตริโอให้อัตโนมัติเลย (เดิมหากเชื่อมต่อกับช่องมัลติแชนเนล ต้องมาเซ็ต Audio Processing Output ให้ตรงกับการใช้งาน กล่าวคือ อาจต้องปิดฟังก์ชั่น Bass Management เพื่อให้ LFE ถูกมิกซ์มากับสัญญาณสเตริโอ รวมไปถึงเอฟเฟ็กต์จากแชนเนลอื่น ไม่ถูกตัดทิ้งหายไปไหน) แต่ข้อดีมิได้มีแค่นั้น ประโยชน์แท้จริงคงต้องให้น้ำหนักไปที่การเพิ่มช่องต่อแบบบาลานซ์มากหน่อย ก็อย่างที่ทราบว่าเอาต์พุตรูปแบบนี้ให้อัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนที่ดีกว่าแบบอันบาลานซ์ แต่อีกจุดสำคัญที่เอาต์พุต 2 แชนเนล ทั้งบาลานซ์และอันบาลานซ์ได้อานิสงส์ไปพร้อม ๆ กัน คือ การเพิ่มเติม ESS ES9018 SABRE32 32-bit DAC chip สำหรับสเตริโออะนาล็อกเอาต์โดยเฉพาะ ส่งผลให้ตัวเลขอย่าง DNR (Dynamic Range) และ THD+N (Total Harmonic Distortion plus Noise) มีเพดานที่สูงขึ้นไปอีก ส่วนจะส่งผลกับคุณภาพเสียงในการใช้งานจริงมากน้อยเพียงใด เดี๋ยวมาลองกันช่วงรายงานคุณภาพเสียงครับ

หมายเหตุ : ในรุ่น 95 ใช้ ES9018 DAC chip 2 จุด โดยแยกสำหรับมัลติแชนเนลอะนาล็อกเอาต์พุตจุดหนึ่ง และสเตริโอเอาต์พุตอีกจุดหนึ่ง) ถึงแม้ 2 จุด มันจะไม่เทพแบบยูนิเวอร์แซลรุ่นท็อประดับตำนานหลายตัวในตลาด ที่แยกอิสระในระดับแชนเนลละตัว แต่ก็สมควรแก่ราคาแล้ว ส่วน 93 นั้น ใช้ Cirrus Logic CS4382A 24-bit DAC chip (เบอร์เดียวกับรุ่น 83) เพียงจุดเดียวสำหรับอะนาล็อกออดิโอเอาต์ทั้งหมด

จุดที่ 2 ที่เพิ่มเข้ามา คือ Toroidal Power Supply สำหรับภาคออดิโอ ซึ่งพะยี่ห้อ “Rotel” มาด้วย… คงได้ใจสาวกหัวใจออดิโอไฟล์พอสมควรเลย แต่ดูแล้วมันก็ไม่ธรรมดาจริง ๆ (ข้อดีของหม้อแปลงแบบนี้ คือ อัตราการแผ่สัญญาณรบกวน EMI ต่ำกว่าแบบ EI) จึงเป็นขุมกำลังคุณภาพ ก่อนจะส่งไปเลี้ยงบอร์ด (อยู่อีกฝั่ง ด้านขวามือ) ที่มีตัวเก็บประจุของ ELNA วางเรียงรายเป็นขุมกำลังให้กับอะนาล็อกออดิโอบอร์ดอีกทีหนึ่ง ส่วนภาคจ่ายไฟแบบสวิตชิ่งที่ยังต้องมีอยู่ (ตัดออกไม่ได้) ก็มีการกั้นครอบเอาไว้ต่างหาก ป้องกันการแผ่สัญญาณรบกวนไปยังวงจรข้างเคียงอื่น ๆ

ว่าด้วยเรื่องของ “Dual HDMI”

Oppo 93/95 เป็นหนึ่งในเพเยอร์ที่มี Dual HDMI ว่าแต่มันเอาไว้ใช้ประโยชน์อะไร ? การเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียง จากแหล่งโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม (BD/DVD Player, HD Player, Game Console, Satellite Receiver, etc.) ในปัจจุบัน ที่ใช้มาตรฐานการเชื่อมต่อแบบรวบสัญญาณภาพและเสียงไว้ในสายสัญญาณเพียงเส้นเดียว (HDMI) หากจะให้สมบูรณ์ในการรับชม (ฟัง) ทั้งภาพและเสียง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมต่อสัญญาณผ่าน AVR ซึ่งที่ผ่านมาการเชื่อมต่อลักษณะนี้สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ดีวิธีการนี้เป็นการเพิ่มความสำคัญให้กับ AVR โดยเป็นศูนย์รวม หรือทางผ่านของสัญญาณด้านภาพและเสียงทั้งหลาย และฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงในระบบโฮมเธียเตอร์ ภาระอันหนักอึ้งนี้ หาก AVR ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการอัพเดทให้รองรับมาตรฐานใหม่ ๆ ย่อมกลายเป็นภาระอันส่งผลกระทบกับศักยภาพ และลดทอนประสิทธิภาพการใช้งานเสียเอง

แล้ว Dual HDMI จะช่วยอะไรในประเด็นนี้ ? หากเพลเยอร์ได้ให้ HDMI Output แบบคู่ (Dual) มา ประการแรก ผู้ใช้สามารถตัดประเด็นเรื่องสัญญาณภาพผ่าน AVR ไปได้ (เฉพาะการรับชมภาพยนตร์บลูเรย์ ดีวีดี ฯลฯ ที่เล่นผ่านเพลเยอร์เครื่องนี้) เช่น หากเป็น AVR รุ่นเก่าที่ไม่รองรับ 3D Pass-through โดยปกติจะเป็นปัญหาสำหรับการใช้งาน เพราะ AVR ไม่สามารถเอาต์พุตระบบภาพ 3D ไปยังจอภาพ ครั้นจะต่อตรงเข้าจอภาพ ก็จะไม่ได้อานิสงส์ด้านเสียงผ่าน AVR

แต่ถ้ามี HDMI คู่ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเราสามารถปล่อยสัญญาณ 3D Video ตรงเข้าที่ทีวีได้เลยแบบชิลล์ ๆ ส่วนเสียงก็ไม่เสียอรรถรส เพราะยังคงเชื่อมต่อสัญญาณเสียงดิจิทัลผ่าน HDMI อีกเส้นหนึ่งไปยัง AVR วิธีการนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการสูญเสียสัญญาณสำหรับท่านที่จริงจัง เนื่องจากลดตัวกลาง (AVR) ที่อาจลดทอนคุณภาพสัญญาณลง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังชูเหตุผลในเรื่องของ Bit rate (หลักการคล้าย ๆ กับการแยกท่อ) การส่งผ่านสัญญาณจึงดีขึ้น ผลลัพธ์อย่างคุณภาพภาพและเสียงก็จะดีขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีวิธีการนี้จำเป็นต้องเพิ่มสาย HDMI เข้ามาอีก 1 เส้น เพราะมิได้หมายความว่าจะตัดการใช้งาน HDMI Monitor Out ที่ใช้กับ AVR ออกไปได้ เพราะยังคงต้องอาศัย AVR ในการคอนเวิร์ต รวมถึงการอัพสเกลสัญญาณภาพรูปแบบเก่า (analog video – standard definition) สำหรับอุปกรณ์วิดีโออื่น ๆ นอกเหนือจาก oppo ที่เชื่อมต่อกับ AVR และสาย HDMI จาก AVR Monitor Out เส้นนี้ ยังเอาไว้ใช้ดูค่ากำหนดเวลาทำการเซ็ตอัพ หรือเปลี่ยนแปลงค่าพารามิเตอร์ของ AVR อีกด้วย

หมายเหตุ : หากต้องการได้อานิสงส์ด้านคุณภาพของภาพสูงสุด แนะนำให้เชื่อมต่อสัญญาณทาง HDMI 1 Out เนื่องจากช่องสัญญาณนี้ผ่านการประมวลผลสัญญาณภาพด้วยชิพ Marvell Qdeo 88DE2750 (Kyoto-G2 ซึ่งเป็น Video Processor chip โดยตรง) ในขณะที่ HDMI 2 Out ผ่านการประมวลผลสัญญาณภาพโดยชิพ Mediatek MT8530HEFG (เป็นรูปแบบ Processor chip อเนกประสงค์)