30 Dec 2013
Review

เมื่อดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือ “ครอบงำ” มนุษยชาติ !!! รีวิว Philips Fidelio SoundSphere DS9800W


  • ชานม

Design – การออกแบบ

Philips DS9800W มาแบบเรียบง่าย อุปกรณ์น้อยชิ้น ทว่ารูปลักษณ์หวือหวาจนบางท่านอาจชำเลืองด้วยหางตาแล้วปรามาสว่าออกไปทาง “พิลึกพิลั่น”   ในชุดนั้นมีเพียง ลำโพง 1 คู่ มีภาคขยายในตัวพร้อมสรรพ (หรือที่เรียกว่า Active Speakers) กับ docking charger (ใช้กับ iPod/iPhone/iPad)  รีโมตคอนโทรล พร้อมสายไฟ และสายสัญญาณรวมกันอีก 2 – 3 เส้น เท่านั้น… ทว่าในความเรียบง่ายนี้ กลับเรียกความสนใจได้มาก จากรุปลักษณ์ของ Active Speakers รูปทรงประหลาด… มาลอง “จินตนาการ” กันเล่น ๆ ดูดีกว่า ว่ามันเหมือนอะไร ?

ที่มาของรูปลักษณ์ลำโพง แท้จริงแล้ว Philips ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน (พยายามค้นแล้วแต่หาไม่เจออ่ะ) แต่ส่วนตัวผมมองว่ามันเหมือน มนุษย์ต่างดาว (ภาพจากการ์ตูนเรื่อง ปรสิต) ผสม บาตรพระ แต่ฝรั่งคงไม่รู้จักบาตรกระมัง บางท่านอาจจะว่ามันเหมือนไห หรือตุ่มมากกว่านะ (ฮา) แต่ไม่ว่ามันจะเป็นตัวอะไร วัตถุประสงค์ของอุปกรณ์ชิ้นนี้ ชัดเจนอยู่แล้ว คือ เอาไว้เพื่อการ “สร้างเสียงดนตรี” !

มองจากด้านข้างเห็นสัดส่วนโค้งเว้าได้ใจ

เห็นทรงอวบ ๆ แบบนี้ ไม่ใช่ว่าขึ้นรูปจากวัสดุสังเคราะห์แปลกประหลาดอะไร แท้จริงแล้วมันเป็นวัสดุพื้นฐานที่ผู้ผลิตตู้ลำโพงคุณภาพมักใช้กัน ซึ่งก็คือ “ไม้” นั่นเอง งานนี้ การขึ้นรูปใช้ฝีมือล้วน ๆ ! จากรูป จะเห็นความต่อเนื่องระหว่างรอยต่อตู้ลำโพงอวบอั๋นส่วนล่างที่ทำจากไม้ กับส่วนบนที่เป็นโลหะ (อะลูมิเนียมแฮร์ไลน์สีดำ) ก่อนจะปิดทับด้านบนสุดด้วยโลหะชุบโครเมี่ยม เงาวับ ต่อเนื่องไปถึงก้าน (ที่เหมือนจุก เขา ลูกตา หนวด หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก) อันเป็นส่วนประกอบหนึ่ง อันเกิดจากความพยายามแยกส่วนของทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 19 มม. ให้เป็นอิสระจากโครงสร้างตัวตู้ลำโพง

ทวีตเตอร์โดมผ้า ถูกแยกส่วนออกมาจากโครงสร้างตู้ลำโพง

ตำแหน่งบนของส่วนที่ดูเหมือนฝาบาตร (หรือปากไห) เป็นตำแหน่งติดตั้งไดรเวอร์มิดเบสขนาด 130 มม.

ส่วนนี้ถูกทำให้โน้มเอียงไปข้างหน้าด้วยดีไซน์ของตัวตู้ ขณะเดียวกันไดรเวอร์มิด/เบส ก็จะอยู่ในตำแหน่งแหงนขึ้นด้านบนเล็กน้อยไปโดยปริยาย นี่เป็นเทคนิคหนึ่งในการสร้างสนามเสียงที่ Philips เรียกว่า SoundSphere สำหรับส่วน หน้ากากผ้า ป้องกันตัวไดรเวอร์ ถูกยึดไว้ด้วยแรงแม่เหล็กอ่อน ๆ หากจะเอาออกจึงไม่จำเป็นต้องออกแรงดึง หรืองัดแงะใด ๆ ทั้งสิ้น (เอามือดันเบา ๆ ก็หลุดละ) ที่ตัวตู้จึงไม่ต้องมีรอยมลทิน (รู) เพื่อใช้สำหรับยึดหน้ากาก

หมายเหตุ: การติดตั้งตัวขับเสียง (ไดรเวอร์) ที่ด้านหน้าตู้ลำโพงแบบปกติทั่วไป มุมกระจายเสียงจะถูกบังคับให้มีทิศทางออกไปทางด้านหน้าของตู้ลำโพงเท่านั้น แต่ด้วยลักษณะการออกแบบของ SoundSphere ที่วางไดรเวอร์ไว้บริเวณส่วนบนของตัวตู้ มุมกระจายเสียงจึงกว้างขวางกว่า (เพราะไม่ถูกตู้ลำโพงบดบัง) นอกจากจะส่งผลด้านการสร้างมิติเวทีเสียงให้ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดเสียงตามอุดมคติแล้ว ยังช่วยขยายขอบเขต sweet spot ให้กว้างขึ้น จนอาจแผ่รวมไปถึงด้านข้าง และด้านหลังลำโพงด้วย หมายความว่าผู้ฟังจะยังคงรับรู้ stereo Image ได้ แม้มิได้นั่งอยู่กึ่งกลาง ด้านหน้าลำโพง

ด้านหลัง มีลักษณะไม่ต่างกับลำโพงวางหิ้งชั้นดี ขั้วต่อสายลำโพงแบบไบดิ่งโพสต์ ชุบทอง ดูดีเลยทีเดียว มีอักษรกำกับเพื่อความชัดเจนว่านี่เป็นลำโพงข้างขวา เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งท่อเปิด

การแยกแยะข้างของลำโพง นอกจากสังเกตจากตัวอักษรแล้ว ยังสังเกตุจากส่วนประกอบอื่น ๆ ได้อีก

อย่างเช่น อินพุต สวิทช์เพาเวอร์ ไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่อ Wi-Fi และช่องเสียบสายไฟ AC รูปแบบ C7 (หรือหัวเลขแปด) โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะมีเฉพาะลำโพงข้างซ้ายเท่านั้น อันเป็นข้างที่ติดตั้งภาคขยายเอาไว้

จุดเชื่อมต่อสายลำโพงของลำโพงข้างซ้าย จึงทำหน้าที่ “Amplifier output” เพื่อเป็นจุดจ่ายกระแสส่งผ่านกำลังขับไปยังลำโพงข้างขวา ดังนั้นอย่าได้เผลอนำภาคขยายภายนอกมาเชื่อมต่อกับลำโพงข้างซ้ายเป็นอันขาด เพราะดูเผิน ๆ อาจแยกได้ลำบาก เพราะไม่ต่างอะไรกับลำโพงทั่ว ๆ ไป (ที่เป็นรูปแบบ passive)

สายลำโพงที่ให้มามีความยาวมากทีเดียว เชื่อว่าน่าจะรองรับรูปแบบการตั้งวางในห้องได้อย่างยืดหยุ่น หลากหลายลักษณะ (สามารถวางลำโพง 2 ข้าง ห่างจากกันได้มากอยู่)

อุปกรณ์ชิ้นถัดมา คือ Docking Charger ชื่อก็ตรงตัว คือ ประโยชน์หลักของอุปกรณ์ชิ้นนี้มีเพียงเอาไว้ชาร์จไฟ ขณะเดียวกันก็เป็นฐานตั้งให้กับ iPod/iPhone/iPad จะได้เห็นหน้าจอได้ชัด ๆ เวลาวางอยู่บนชั้น ทั้งนี้เวลาเสียบกับ iPod หรือ iPhone จะไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่เวลาเสียบกับ iPad ต้องทำความคุ้นเคยเพื่อหาเทคนิคเฉพาะตัวกันเล็กน้อย

iPod dock นี้ อาจจะแตกต่างจากที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป ในจุดที่ไม่มีอินพุต หรือเอาต์พุตใด ๆ
นอกจากจุดเชื่อมต่อปลั๊กไฟ DC เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เหตุที่ dock นี้ ไม่มีช่องต่ออื่น ๆ เลย เนื่องจากการเอาต์พุตสัญญาณเสียงจาก iPod/iPhone/iPad ไปยังลำโพง DS9800W ใช้วิธีส่งผ่านทางสัญญาณวิทยุ (Wi-Fi) จึง “ไร้สาย” แต่ผู้ผลิตก็มิได้บังคับ หากจะเลือกวิธีที่ใช้สายก็ได้ โดยดำเนินการเชื่อมต่อจาก Stereo 3.5mm analog out ที่ตัว iPod/iPhone/iPad ไปเข้ากับ MP3-LINK ที่ด้านหลังลำโพงโดยตรง (มีสาย 3.5mm to 3.5mm เส้นสั้น ๆ แถมมาให้ด้วย)

ทั้งนี้หากใช้งานร่วมกับแหล่งโปรแกรม หรือ MP3 Player ยี่ห้ออื่น ๆ ที่มิใช่ลูกเมียหลวงแบบ iPod/iPhone/iPad (คือ ไม่รองรับมาตรฐาน AirPlay) ก็ต้องพึ่งช่องต่ออะนาล็อกนี้ ตามวิธีการเชื่อมต่อ “แบบมีสายนี้” เท่านั้นแล… และด้วยประการฉะนี้ dock นี้จึงสบาย เพราะไม่ต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมต่ออื่นใด ซึ่งก็ดี เพราะเราจะได้ไม่ต้องยึดติดกับอุปกรณ์ชินนี้มากนัก (ไม่ต้องเสียบกับ dock ตลอดเวลา หรือจะไม่ใช้ก็ยังได้)

อ้อ เวลาเสียบปลั๊กเข้ากับ dock นี้ ไฟสีขาว นวลตา ที่อยู่ด้านล่างจะสว่างเรืองขึ้นมา ช่วยสร้างบรรยากาศ (โรแมนติกป่าว ?) เวลาอยู่ในที่มืดได้ดีทีเดียว แสงไฟนี้จะไม่ดูเจิดจ้าโดดเด่นนักเมื่ออยู่ในที่สว่าง แบบนี้เขาเรียก สวยไม่สร่าง สว่างไม่สวยป่าว (สวยในที่มืด) 55
หากไม่ต้องการแสงนี้ ก็มีสวิทช์ปิดอยู่ด้านใต้… ก็ต้องยกกันหน่อย (อย่านึกว่ามันจะลอยขึ้นมาเองแบบ “UFO” นะ ฮา)

และแน่นอนจะใช้ให้สะดวก จะขาดสิ่งนี้ไปได้อย่างไร… หน้าที่หลักของ “รีโมตคอนโทรลขนาดย่อม” นี้ เอาไว้ควบคุมสั่งการลำโพง DS9800W โดยตรง (เซ็นเซอร์ IR อยู่ที่ด้านหน้าของลำโพงข้างซ้าย) โดยไม่ว่าจะเลือกอินพุต (สลับระหว่าง AirPlay และ MP3-LINK) เพิ่มลดระดับวอลลุ่ม และปิดเสียงชั่วคราว (Mute) ในส่วนของปุ่มเล่น – หยุด เปลี่ยนเพลง ฯลฯ จะเป็นการคอนโทรลผ่านไปยัง iPod/iPhone/iPad ได้ด้วย (อาศัยการส่งผ่านข้อมูลทาง AirPlay)

ข้อสังเกต: ปุ่มกดที่รีโมตอาจไม่รู้สึกนิ่มมือเท่าใดนัก และที่รีโมต รวมไปถึงที่ด้านหน้าลำโพง ไม่มีไฟแสดงสถานะใด ๆ จึงไม่อาจทราบว่า ที่สั่งการผ่านรีโมตไปนั้นได้รับการตอบสนองหรือไม่ ? ระดับวอลลุ่มเป็นอย่างไร ? อยู่ในโหมด Mute หรือเปล่า ? ตอนนี้กำลังเลือกอินพุตอะไรอยู่ ? ฯลฯ จึงต้องอาศัยสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเสียงที่กำลังฟังอยู่ หรือสังเกตการตอบสนองผ่านหน้าจอ iPod/iPhone/iPad (กรณีเชื่อมต่อทาง AirPlay โดยดูผ่าน Philips” Fidelio App) แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การที่ไม่มีแผงดิสเพลย์แปะอยู่ หรือมีไฟวิ่ง ๆ กระพริบ ๆ ที่ตัวลำโพง เป็นสิ่งที่ทำให้มันดูดีอย่างที่เป็นอยู่นี้… ดังนั้นคงต้องทำใจนิดนึงว่า ถึงแม้จะเดาใจยาก แต่ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับความงามนะ อิ อิ