05 May 2019
Review

รีวิว Pioneer BDP-X300 – เครื่องเล่น 3D Blu-ray 4K 24p Upscaling รองรับการถ่ายทอดเสียงระดับพรีเมียม


  • raweepon

Picture – ภาพ

หลังจากที่ไปไล่ดูในส่วนของดีไซน์บนตัวเครื่องเล่นกันไปแล้วทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะมาดูการเล่นไฟล์และแผ่นคอนเทนท์ต่างๆ กันต่อ ซึ่งก็จะได้มาทดสอบกันด้วยว่าคุณภาพของภาพที่ถูกส่งผ่านออกมาจาก Pioneer BDP-X300 นั้นมีความคมชัดและลื่นไหลตลอดการรับชมมากน้อยเพียงใด

หากพร้อมแล้วมาเริ่มที่การใส่แผ่นเข้าไปที่เจ้าเครื่องเล่น Blu-ray Player ตัวนี้กันก่อนเลย
สำหรับความละเอียดในการถ่ายทอดสัญญาณภาพวีดีโอสามารถรองรับการตั้งค่าได้สูงสุดที่ความละเอียดระดับ 4K/24p เนื่องจากตัวเครื่องเล่นรองรับ Ultra HD (4K/24p) Upscaling นั่นเอง
มาเริ่มเปิดเบิร์นเจ้า Pioneer BDP-X300 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “The Revenant” ที่มีเนื้อหาออกแนวผจญภัยและดราม่านิดๆ

สำหรับแนวภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะติดย้อมสีออกทึมๆ ให้อารมณ์เคว้งคว้างเล็กน้อย ซึ่งจากที่ได้ลองรับชมตัวเครื่องเล่นก็สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของภาพออกมาได้คมชัด และสามารถให้สีสันต่างๆ ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

ถัดมากระผมได้ทดสอบความลื่นไหลของภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “Fast And Furious 7” หลังจากที่ได้ลองรับชมเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบเรื่อง พบว่าการส่งผ่านสัญญาณภาพมายังทีวีนั้นสามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้อย่างลื่นไหล โดยที่ไม่พบอาการภาพค้างหรือกระตุกระหว่างที่กำลังรับชมคอนเทนท์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ในส่วนของการเล่นไฟล์ชนิดต่างๆ นอกจากจะรองรับการเล่นคอนเทนท์ผ่านทางแผ่น Blu-ray 3D, Blu-ray แบบปกติ และ DVD แล้วตัวเครื่องเล่นเองยังรองรับการเล่นไฟล์ผ่านทางพอร์ต USB และ LAN/WiFi ผ่านทางเทคโนโลยี DLNA อีกด้วย

สำหรับการเล่นไฟล์ผ่านทางพอร์ต USB และการเล่นไฟล์ผ่านเทคโนโลยี DLNA หรือการเล่นไฟล์ผ่านระบบ LAN นั้นตัวเครื่องสามารถรองรับการเล่นไฟล์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้ อย่างเช่นไฟล์สกุล DivX (.avi/.divx/.mkv), MP4, WMV, AVI, 3GP, FLV และ RMVB (.rm/.rmvb) ก็สามารถนำมาเล่นบนเครื่องเล่น Blu-ray Player ตัวนี้ได้อย่างหายห่วง

Sound – เสียง

มาถึงเรื่องของเสียงที่เป็นจุดเด่นของเจ้า Pioneer BDP-X300 ตัวนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันมาพร้อมกับ DAC Aduio แบบ on Board ในตัวที่สามารถรองรับการถอดรหัสเสียงและไฟล์เพลง Hi-Res Audio ที่มีความละเอียดในระดับ 192 kHz/24-bit ได้อย่างสบายๆ รวมทั้งที่ตัว DAC Audio ก็ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติ Anti-Standing Wave ที่ช่วยลดการรบกวนของคลื่นสัญญาณต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ส่วนที่เป็นขั้วต่อ HDMI Out และขั้วต่อสัญญาณเสียงต่างๆ บนตัวเครื่องยังได้ถูกเคลือบด้วยทองคำแท้ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งผ่านสัญญาณเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และส่วนที่เป็นภาคจ่ายไฟยังได้ถูกติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนที่มีชื่อว่า “SMPS Shield Case” อีกด้วย

ในส่วนของการ Output สัญญาณเสียงผ่านพอร์ต HDMI สามารถเลือกได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ Bitstream, PCM และ Reencode

แต่ในส่วนของรีวิวนี้จะเลือกใช้เป็นแบบ Bitstream เนื่องด้วยกระผมใช้ตัวเครื่องเล่นต่อเข้ากับชุด AV Receiver ที่ทำหน้าที่ในการถอดรหัสสัญญาณเสียงก่อนที่จะส่งสัญญาณภาพวีดีโอไปยังทีวี ซึ่งจากที่ได้ทดสอบพบว่าเจ้า Pioneer BDP-X300 สามารถทำการ Bitstream สัญญาณเสียงทั้งแบบ Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio ได้อย่างลื่นไหล

มาทดสอบที่การใช้รับชมคอนเสิร์ต และการฟังเพลงจากแผ่นซีดีกันบ้างดีกว่า

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเจ้า Pioneer BDP-X300 นั้นมีจุดเด่นที่เรื่องของเสียง เพราะว่าตัวของมันมาพร้อมกับระบบ HQ Sound ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยในการตัดสัญญาณภาพวีดีโอทิ้งในขณะที่เราใช้เจ้าเครื่องเล่น Blu-ray Player ตัวนี้ในการเล่นเพลงจากแผ่น CD/SACD ที่มีแต่เสียงเพลงล้วนๆ ซึ่งไม่นับรวมแผ่น Blu-ray คอนเสิร์ตที่เราจะต้องรับชมทั้งภาพและเสียง หรือถ้าคุณผู้อ่านท่านใดต้องการฟังแต่เสียงก็สามารถตัดภาพวีดีโอทิ้งได้นะ ด้วยฟังก์ชันที่เรียกว่า “HQ Sound” นี้ซึ่งจะมีปุ่มอยู่บนรีโมทคอนโทรล

ฟังก์ชัน HQ Sound ที่ถูกติดตั้งมาบนเครื่องเล่นตัวนี้ทำงานอย่างไร?

สำหรับฟังก์ชัน HQ Sound นั้นจะเป็นฟังก์ชันที่เรามักเจอในกลุ่มของเครื่องเล่นระดับไฮเอ็นด์ หรือกลุ่มผู้เล่นหูเทพหูทองที่เข้ามักใช้กันนั่นล่ะ โดยผู้เล่นกลุ่มนี้มักจะมีการต่อเครื่องเล่น Blu-ray Player เข้ากับชุด AV Receiver, Amplifier และลำโพงระดับไฮเอ็นด์ที่ค่อนข้างจะมีความไวต่อการตอบสนองต่อสัญญาณเสียงในย่านความถี่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ถ้าเรามีการเปิดเครื่องเล่น Blu-ray Player เพื่อฟังเพลงจากแผ่น CD/SACD เพียงอย่างเดียว หากเป็นเครื่องเล่นทั่วๆ ไปตัวเครื่องเล่นจะยังมีการประมวลผลสัญญาณภาพอยู่ถึงแม้ว่าตัวคอนเทนท์ที่เราเปิดอยู่จะไม่มีภาพวีดีโอหรือมีแต่เสียงก็ตาม บางครั้งอาจจะทำให้สัญญาณภาพที่ถูกส่งออกมาพร้อมๆ กับสัญญาณเสียงผ่านทางสาย HDMI เส้นเดียวกันอาจถูกบันทอนเสียงลงได้ จึงเป็นเหตุให้เครื่องเล่นตัวบนๆ ที่มีราคาสูงมักจะมีโหมด HQ Sound ติดมาให้นั่นเอง

ซึ่งข้อดีของการเปิดฟังก์ชัน HQ Sound ในขณะที่ใช้เครื่องเล่นฟังเพลงอย่างเดียวจะทำให้ตัวเครื่องจะตัดการประมวลผลวีดีโอทิ้งไป และจะมามาเน้นหรือให้ความสำคัญในการประมวลผลสัญญาณเสียงจากคอนเทนท์ที่เรารับฟังอยู่เพียงอย่างเดียว โดยอาจจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าสัญญาณเสียงนั้นดีขึ้นกว่าการไม่ได้เปิดฟังก์ชันดังกล่าว

จากการทดสอบเปิดและปิดฟังก์ชัน HQ Sound ที่อยู่บนตัวของเจ้า Pioneer BDP-X300 โดยกระผมได้ลองใช้เพลง “My Heart Will Go On – Celine Dion” ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไททานิคในการทดสอบครั้งนี้

หลังจากที่กระผมได้ทดสอบด้วยการเปิดฟังเพลงดังกล่าววนแล้ววนอีกอยู่ประมาณ 30 รอบเห็นจะได้ โดยเปิดฟังวนไปทั้งแบบที่เปิดฟังก์ชัน HQ Sound และแบบที่ปิดฟังก์ชัน HQ Sound ซึ่งก็สังเกตได้ว่าตัวเนื้อเสียงกลางที่เป็นลูกๆ ค่อนไปทางเสียงสูงของ Celine Dion นั้นจะติดจมนิดๆ ถ้าหากไม่ได้เปิด HQ Sound แต่ถ้าหากเทียบกับแบบเปิดฟังก์ชันดังกล่าวแล้วจะรู้สึกว่าเสียงกลางที่ออกมาระหว่างที่นักร้องอ้าปากแล้วค่อยๆ ไล่ลมเสียงออกมาจะมีความพุ้งของเนื้อเสียงที่มากกว่า

ทั้งนี้บางท่านอาจจะสงสัยว่าตัวเครื่องเล่นสามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลงแบบไหนได้บ้าง จากที่ทดสอบมานั้นก็ต้องขอบอกเลยว่าสามารถเล่นได้ทั้งไฟล์ MP3, WMA, AAC (.m4a), WAV, FLAC และ DSD (.dff/.dsf) โดยทั้งหมดนี้สามารถเล่นผ่านได้ทั้งในรูปแบบของแผ่น CD/SACD/BD, USB และผ่านทางเครือข่าย Network บนเทคโนโลยี DLNA ได้ทั้งสิ้น

Features – ลูกเล่น

ถึงแม้ว่าบนตัวของเครื่องเล่นจะไม่ได้มีการติดตั้งแอพพลิเคชันใดๆ มาให้ และไม่สามารถใช้งานเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ก็ตาม แต่ตัวของมันเองยังคงรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Network ภายในบ้านได้อยู่ ด้วยการเชื่อมต่อผ่านทางสาย LAN หรือจะเชื่อมต่อไร้สายผ่านทางสัญญาณ WiFi ก็ได้ จึงทำให้ตัวมันเองสามารถรองรับการเล่นไฟล์คอนเทนท์ต่างๆ ผ่านทางเทคโนโลยี DLNA ได้อยู่นะ

ทั้งนี้ทาง Pioneer ก็ไม่ได้ถึงกับใจร้ายอะไรขนาดนั้น จึงได้ทำการใส่ฟังก์ชัน Miracast ที่เอาไว้ให้เราสามารถแชร์ภาพและเสียงจาก Smart Phone และ Tablet ไปแสดงผลยังหน้าจอทีวี นอกจากนี้แล้วเรายังใช้แอพพลิเคชันที่มีชื่อว่า “iControlAV5” ควบควมตัวเครื่องเล่น Blu-ray Player ตัวนี้ได้อีกด้วย โดยที่ Smart Device และตัวเครื่องเล่นจะต้องเชื่อมต่ออยู่ในเครือข่าย LAN เดียวกันนะ

หน้าตาของแอพฯ iControlAV5 จะเป็นเช่นนี้

หมายเหตุ แอพฯ iControlAV5 สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ Google Play Store และ Apple Store ฟรี!