04 Jul 2023
Review

พรีวิว Denon AVC-A1H 8K AV Receiver “ตัวตึง” ประจำปี 2023 ! (แพง = ดี ?)


  • ชานม

จากที่เกริ่นไปในพรีวิวเปรียบเทียบ AV Receiver 2 รุ่นเล็ก ก่อนหน้านี้ว่า “รุ่นท็อป” ของ Denon ประจำปี 2023 ออกแบบมาเพื่อพลิกโฉมวงการโฮมเธียเตอร์อย่างแท้จริง ! ซึ่งคุณสมบัติแบบ “สุดในรุ่น” นั้นมีอะไรบ้าง ? ตามมาพิสูจน์กันได้เลยครับ…

ทวนความจำกันอีกทีว่า Denon AV Receiver ประจำปี 2023 มีทั้งหมด 5 รุ่น ด้วยกัน และ AVC-A1H ก็คือชื่อของ “รุ่นท็อป” จะเห็นว่าใช้อักษร A แทนที่จะเป็น X แบบรุ่นปกติ อันเป็นการบ่งบอกถึง “ความเป็นเรือธง” ที่มีความพิเศษ หากไม่สุดจริง Denon จะไม่ใช้รหัสนี้พร่ำเพรื่อครับ

ย้อนไปดูตระกูล A ของ Denon ที่ผ่านมาในอดีต อย่าง AVC-A1XV (2005) และ AVC-A110 (2020 รุ่นฉลองบริษัทครบรอบ 110 ปี) จะเห็นว่าเป็น “ตัวตึงระดับตำนาน” ทั้งสิ้น

ตารางสรุปเปรียบเทียบคุณสมบัติของ Denon AVR ประจำปี 2023 ทุกรุ่น ให้เห็นภาพรวมก่อนจะลงรายละเอียด “ตัวท็อป” ต่อไปครับ

และสำหรับใครที่ต้องการทราบ “ความแตกต่าง” ของ Denon AVR ประจำปี 2023 แบบย่อ ๆ ผมได้ทำคลิปเปรียบเทียบไว้แล้ว รับชมได้ตามลิงค์แนบครับ

Denon AVC-A1H 8K AV Receiver (15-channel Amplifier)

แค่กล่องก็รู้สึกได้ถึงขนาดที่ใหญ่โต และน้ำหนักที่มากกว่า AVR ทั่วไปหลายเท่า มีซ้อนกล่องนอกมาอีกชั้นเพื่อเสริมความแข็งแรงระหว่างการขนส่งด้วย อ้อ รุ่นนี้ทำการผลิต-ประกอบที่โรงงาน Shirakawa Audio Works ของ Denon ในประเทศญี่ปุ่นด้วยนะครับ แจ้งไว้ก่อนเผื่อใครเห็นว่าข้อมูลนี้สำคัญ

ตัวเครื่องจะมีขนาดที่สูง และลึกกว่า AVR ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด บ่งบอกถึงปริมาตรภายในที่มากกว่า แผงหน้าส่วนล่างมีฝาปิด เมื่อเปิดออกจะเห็นปุ่มควบคุม และช่องเชื่อมต่อ USB, Audyssey MIC In และ Headphones Out

ส่วนด้านหลังก็อัดแน่นไปด้วยช่องต่อจำนวนมาก แค่ HDMI In ก็มีมากถึง 7 ช่อง Out 3 ช่อง เป็นเวอร์ชั่น 2.1 ทั้งสิ้น ! จึงรองรับ 8K 60Hz และ 4K 120Hz พร้อม HDR10+, Dolby Vision, VRR Pass-through ฯลฯ ได้ โดยต้องปรับตัวเลือก 4K/8K Signal Format เป็น “8K Enhanced” ก่อน

แต่ที่เพิ่มเข้ามา พบเห็นได้ยากกับ AVR ทั่วไป คือ ช่องต่อสัญญาณเสียงอนาล็อกแบบ Balanced XLR โดยให้มาทั้ง Audio Input 1 set และ Pre Output 4 ch

ในส่วนของ Balanced XLR Pre out ทั้ง 4 ช่อง นอกจากทำหน้าที่ Subwoofer Output (รองรับ Directional Bass) แล้ว ยังปรับเปลี่ยนเป็น Pre out สำหรับแชนเนลลำโพงหลัก FL, C, FR เผื่อสำหรับอัพเกรดภาคขยายภายนอกในอนาคตได้อย่างยืดหยุ่น

ซึ่งรูปแบบช่องต่อ Balanced มีคุณสมบัติต้านทานต่อสัญญาณรบกวนได้ดีกว่ารูปแบบ Unbalanced RCA หากจำเป็นต้องใช้สายสัญญาณยาว รูปแบบนี้จะได้เปรียบเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังใช้จัดการกับ Ground Loop ปัญหาที่อาจพบเจอกับการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงระหว่างอุปกรณ์แบบ Unbalanced ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของขั้วลำโพง A1H นอกจากดูสวยงาม วัสดุโครงสร้างยังแน่นหนาแข็งแรง รับน้ำหนักและขนาดสายลำโพงใหญ่ได้อย่างมั่นคง รองรับการเชื่อมต่อสายลำโพงทั้งแบบเปลือยตัวนำ หรือเข้าหัวแบบบานาน่า และที่พิเศษ คือ รองรับแบบหางปลาด้วย

รีโมทคอนโทรลของรุ่นนี้ แม้มองเผิน ๆ จะคล้ายรุ่นรอง ๆ ลงมา แต่ถ้าพินิจโดยละเอียดจะเห็นการเสริมแต่งด้วยวัสดุโลหะ และยังมีไฟ Backlit เพิ่มความสะดวกหากต้องใช้งานในห้องมืดได้ดี

ภายนอกดูน่าเกรงขามแล้ว แต่ขอบอกเลยว่า ภายใน A1H “เด็ดยิ่งกว่า” ด้วยความที่เป็น AVR เครื่องแรกที่บรรจุวงจรภาคขยายกำลังขับสูงจำนวนมากถึง 15 แชนเนล ! ซึ่งแนวทางนี้ถือว่าท้าทาย ไม่ใช่ว่าอยากจะทำก็ทำกันได้ง่าย ๆ เพราะด้วยพื้นที่ภายใน AVR ที่จำกัด จึงต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบชิ้นส่วนอุปกรณ์ ไปจนถึงจัดวางเลย์เอาต์วงจรต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ

หัวใจอันดับแรก คือ ภาคจ่ายไฟ ซึ่ง Denon ออกแบบ Customized High Current EI Transformer สำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะให้รับโหลดได้สูง และเสริมโครงสร้าง Silicone Steel Plated & Copper Ring เพิ่มประสิทธิภาพและลดทอนการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการเหนี่ยวนำ อันเป็นที่มาของน้ำหนักที่มากถึง 11.5 กก. (หนักว่าที่ใช้ในรุ่น X8500HA 41%)

และยังใช้ Customized Polyolefin film Capacitor (เกรดออดิโอ ผลิตโดย Nichicon) ความจุ 33000uF/80v โดยติดตั้งทั้งหมดจำนวน 1 คู่ เพื่อให้การเก็บประจุทำได้รวดเร็ว ตอบสนองต่อการจ่ายกระแสเลี้ยงวงจรภาคขยายทั้ง 15 แชนเนล ได้แบบฉับพลันทันท่วงทีและต่อเนื่อง… ทั้ง Transformer และ Block Capacitor ถือเป็น “ขนาดที่ใหญ่ที่สุด” เท่าที่ Denon เคยนำมาใช้กับ AVR

หัวใจสำคัญอันดับสอง คือ ภาคขยายคลาส AB ให้กำลังขับต่อแชนเนล 150 วัตต์ (8 ohms, 20 Hz – 20 kHz with 0.08 % T.H.D., 2ch Drive) ออกแบบแยกอิสระ 1 แผงวงจร ต่อ 1 แชนเนล จัดวางแยกฝั่งซ้าย-ขวา แบบกึ่งสมมาตร

ซึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้วงจรภาคขยายสามารถจ่ายกำลังขับได้สูง คือ การใช้ Denon High Current Transistor (DHCT) ซึ่งทำการวิจัยและผลิตร่วมกับ Sanken ผู้ผลิต Power Transistors ระดับโลก ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของ Transistor ลง แนวทางของ Denon จึงพยายามออกแบบโครงสร้างในตัว Transistor เพื่อลดทอนอุณหภูมิการทำงานลง ทว่าเพิ่มประสิทธิภาพการนำพากระแสได้สูงขึ้น

การเสริมแผ่นทองแดง หนา 4 มม. ระหว่าง DHCT กับ ครีบอะลูมิเนียม ยังเพิ่มประสิทธิภาพนำพาความร้อนสะสมออกไปได้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้แผ่นทองแดงยังทำหน้าที่ชีลด์ป้องกันวงจรภาคขยายจากสัญญาณรบกวนที่อาจแพร่มาจากภาคจ่ายไฟอีกทางหนึ่ง

หัวใจสำคัญอันดับสาม คือ ระบบประมวลผลด้านภาพและเสียง ซึ่ง Denon นำ DSP Chip รุ่นล่าสุดมาใช้กับ A1H คือ ADSP21593 1GHz Dual-core SHARC+ จาก Analog Devices ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นจึงรองรับระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่ (Object-based Audio) ไปจนถึงระบบชดเชยตั้งค่าลำโพง และ Digital Room Correction ต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนได้อย่างเต็มที่

และถ้าพูดถึงคุณภาพเสียง จะขาด DAC ดี ๆ ไปไม่ได้ ซึ่ง A1H ติดตั้ง ESS ES9018K2M 32-bit Reference DAC chip มาถึง 10 ชุด ด้วยกัน (ใช้ 1 ชิป ต่อ 2 แชนเนล) ซึ่งให้ระดับ DNR per channel สูงมากระดับ 127dB พร้อมฟีเจอร์ Time Domain Jitter Eliminator

จากภาพจะเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของวงจรถอดรหัสสัญญาณภาพและเสียงที่สำคัญ จะมีครีบระบายความร้อนปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเพิ่มเสถียรภาพและยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ในระยะยาวแล้ว ยังช่วยป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอก รวมถึงควบคุมการแพร่กระจายสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของวงจรเอง

ภายในที่อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์คุณภาพจำนวนมาก น้ำหนักย่อมมากตามเป็นธรรมดา ดังนี้เพื่อความมั่นคง แท่นเครื่อง โดยเฉพาะฐานล่างต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ โดยโครงสร้างประกอบด้วยแผ่นเหล็กหนา 1.6 มม. กับแผ่นเหล็กหนา 1.2 + 1.2 มม. ซ้อนรวมทั้งหมดเป็น 3 ชั้น และยังมีแผ่นทองแดงหนา 2 มม. รองใต้หม้อแปลงอีกทีหนึ่ง ทั้งหมดถูกรองด้วยขารับแท่นเครื่องที่ขึ้นรูปจากเหล็กหล่อ นอกจากความแข็งแรงเพราะต้องรับน้ำหนักเครื่องที่มากแล้ว โครงสร้างยังคำนึงถึงการซับ-สลาย Micro Vibration (ขารับใต้เครื่องรูปแบบนี้ ถูกออกแบบและใช้มาก่อนในรุ่น AVC-A110)

คุณสมบัติที่น่าสนใจ

จำนวนภาคขยายที่มากถึง 15 แชนเนล ของ A1H รองรับการใช้งานระบบลำโพงรอบทิศทางยุคใหม่ อย่าง Dolby Atmos/DTS:X ได้ถึง 9.4.6 แชนเนล โดยปรับเปลี่ยน Layouts และลักษณะการติดตั้งลำโพงด้านสูง อิงตามการใช้งานจริงได้หลายแบบ ทั้ง Front Height, Top Front/Middle หรือ Upfiring (Dolby Atmos Enabled Speakers Front/Surround) ความยืดหยุ่นจาก Speaker Mapping ตรงนี้เองที่ช่วยให้ลำโพงที่ติดตั้งอยู่รองรับระบบเสียงทุกค่าย (Atmos, DTS:X รวมถึง Auro3D) ได้สะดวกขึ้น

สำหรับเคสที่มีจำนวนลำโพงในระบบไม่มาก ก็ยังใช้ประโยชน์จากภาคขยายทั้ง 15 แชนเนล ได้ โดยนำมาใช้งานแบบ Full Bi-amp (up to 7 ch)

Bass Management อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญที่ขาดไม่ได้ของ AVR เพื่อทำหน้าที่จัดการลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้สัมพันธ์กับย่านเสียงความถี่ต่ำของลำโพงในระบบ ซึ่งในรุ่นนี้เพิ่มคุณสมบัติใช้งาน Multi-subwoofer เพื่อจัดการเสียงความถี่ต่ำโดยกำหนดหน้าที่แบบ Directional Bass ได้

ขณะเดียวกัน สำหรับใครที่ไม่ได้ใช้งานลำโพงซับวูฟเฟอร์ถึง 4 ตัว ก็สลับหน้าที่ SW Out ช่องที่เหลือ ไปใช้งานร่วมกับ Tactile Transducer (ตัวสร้างแรงสั่นสะเทือน) แทน จะได้ใช้ประโยน์ทางอื่นได้ครบ ๆ ครับ

นอกจาก MultEQ XT32 ระบบ Auto Calibration ขั้นสุดสำหรับ AVR ของค่าย Audyssey แล้ว (มี Audyssey Microphone มาให้) A1H ยังรองรับ Dirac Live อีกหนึ่งระบบ Auto Calibration ที่ให้ระดับความเที่ยงตรงสูง ทว่าให้เป็นทางเลือก คือ มีค่าใช้จ่ายกับต้องการอุปกรณ์เพิ่มกรณีที่จะใช้งานครับ

ทดสอบการถอดรหัสเสียง ทำได้ครบทั้ง Dolby Atmos (TrueHD & DD+), DTS:X (DTS-HD Master Audio), IMAX DTS:X และ Auro3D

ตัวเลือกโหมดเสียง (Listening Mode) ที่ปรับเปลี่ยนได้ (บางส่วน)

เช่นเคยว่ายุคนี้ การที่มี Ethernet และ Wi-Fi Built-in ส่งผลให้ AVR สามารถออนไลน์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ฟัง Internet Radio หรือ Music Streaming อย่าง Tidal, Spotify, Deezer, Amazon Music ฯลฯ ได้ โดยจะเล่นผ่าน AVR โดยตรง หรือสตรีมผ่านแอพ HEOS ก็เหมาะ รุ่นนี้ยังรองรับ AirPlay 2, Chromecast และ Roon tested ด้วย

ความสามารถรองรับ Lossless Hi-res Formats ผ่านทาง USB และ Local Network Streaming ของรุ่นนี้ ทำได้ครอบคลุมรวมไปถึง DSD (DSF/DFF up to 5.6MHz) เพิ่มเติมจาก FLAC, WAV และ ALAC (up to 24-bit/192kHz)

หากเทียบ AVC-A1H กับ AVC-X8500HA (รุ่นเรือธงก่อนหน้า) พบว่า มีจุดเด่นสำคัญเพิ่มมาดังนี้*

  • ภาคขยายกำลังขับ 150W เท่ากัน แต่ A1H มีจำนวนแชนเนลมากกว่า (15 vs 13 ch)
  • Pre out (Unbalanced) มากกว่า (17 vs 15 ch)
  • Subwoofer out 4 (with Directional Bass) vs 2
  • A1H มี Balanced XLR Input 1 set, Pre out 4 ch
  • HDMI 2.1 (40Gbps) with HDCP 2.3 Input จำนวนมากกว่า (7 vs 1)
  • เพิ่มความแรงของสัญญาณ HDMI Output (300ma vs 200ma) ใช้งานกับสาย HDMI ยาว ได้มีเสถียรภาพกว่า
  • ขั้วลำโพงแบบ Binding Post อัพเกรดวัสดุโครงสร้างดูพรีเมียม และให้ความมั่นคงแน่นหนาขึ้น
  • แผงวงจร PCB เพิ่มความหนาของชั้นทองแดง 2 เท่า (70um vs 35um)
  • DSP Chip รุ่นล่าสุด ADSP21593 vs ADSP21573 x 2
  • DAC Chip รุ่นสูงกว่า ESS ES9018K2M (127dB) vs ES9010K2M (116dB)
  • ระดับสัญญาณรบกวนภายใน (THD+N, SINAD) ต่ำลง
  • รองรับ Dirac Live (Optional)
  • A1H มี Preamplifier Mode ปิดการทำงานวงจรภาคขยาย เพื่อทำหน้าที่เป็น Pure Pre Processor ได้
  • Bluetooth รองรับ Transmitter Mode
  • HD GUI Menu ความละเอียดสูง

*ช้อมูลอ้างอิงจาก Denon

สรุป Denon AVC-A1H เหมาะกับใคร ?

คุณสมบัติแบบรุ่นเรือธง จึงจัดเต็มทุกอย่างเท่าที่ AVR เครื่องหนึ่งจะให้ได้ เหมาะกับใครที่อยากจะไปให้สุด โดยเฉพาะกับห้องโฮมเธียเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้งานลำโพงคุณภาพสูงในระบบจำนวนมาก เชื่อว่าคุณภาพที่ได้รับนั้นสมราคากับความคาดหวังแน่นอน

สำหรับห้องโฮมเธียเตอร์ขนาดทั่วไปจำนวนลำโพงในระบบไม่มาก กับบางคุณสมบัติของ A1H มองเผิน ๆ อาจดูมากเกินกว่าจะได้ใช้ ทว่า Denon ก็ให้ทางเลือกเพื่อใช้ประโยชน์จากทุกฟังก์ชั่นได้อย่างลงตัว อาทิ มีลำโพงในระบบน้อย ก็นำภาคขยายทั้งหมดมา Bi-amp เพิ่มประสิทธิภาพแทนได้ หรือ Subwoofer Output 4 ช่อง แทนที่จะใช้งานกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั้งหมด ก็นำไปใช้ร่วมกับ Tactile Transducer (ตัวสร้างแรงสั่นสะเทือน) เป็นต้น

ในส่วนการรองรับอนาคต ถือว่าใช้งานได้ยาว ๆ มี HDMI 2.1 (40Gbps) ให้ครบทุกช่อง พร้อมรองรับระบบเสียงรอบทิศทางทุกรูปแบบที่มีในปัจจุบัน (ควบรวมถึง IMAX Enhanced, Auro3D และ 360 Reality Audio ที่อาจจะยังไม่แพร่หลายนักเวลานี้) มี 17.4 ch Pre out ให้ขยับขยายซิสเต็มต่อได้ หรือจะให้ทำหน้าที่เป็น Pure Pre Processor โดยเฉพาะ ก็ได้เช่นกัน

ใครที่สนใจ Denon AVC-A1H สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และทดลองใช้งานได้ที่ โชว์รูมมหาจักร, ร้าน Sound City, ร้าน Dream Theater และ ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ

ราคาโปรโมชัน Denon AVC-A1H

189,000 บาท (จากราคาปกติ 280,000 บาท)

https://shorturl.at/grzJR


เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบโฮมเธียเตอร์ และ Denon AV Receiver

พรีวิวเปรียบเทียบ AVR 2 รุ่นเล็ก ประจำปี 2023 Denon AVR-X580BT vs AVR-X2800H
ตอบข้อข้องใจ Dolby Atmos เสียงดีกว่าจริงหรือ ? Dolby Atmos กับ DTS:X ระบบไหนดีกว่ากัน ? ฯลฯ คลิปนี้มีคำตอบ
ระบบเสียงที่ดีมีส่วนช่วยให้การเล่นเกมสนุกขึ้นได้อย่างไร ? พร้อมอัพเดทเทคโนโลยีระบบเสียงรอบทิศทางของเกมในปัจจุบัน
เจาะลึก ซาวด์บาร์ และ โฮมเธียเตอร์ จุดเด่น-จุดด้อย แตกต่างกันอย่างไร ?
แนวทางการเลือก โฮมเธียเตอร์ หรือ ซาวด์บาร์ ให้ตรงใจ
รีวิว Denon AVR-X1700H 8K Dolby Atmos AVR + ชุดลำโพง JBL Stage Ultra HD 5