22 Jun 2013
Review

รีวิว Samsung UA55F8000 Full HD 3D Smart LED TV [2013]


  • ชานม

ภาพ

ในส่วนของเทคโนโลยีโมชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว หรือที่ทาง Samsung ใช้ชื่อเรียกว่า Motion Plus นั้น สามารถเลือกได้ 3 ระดับ แบบสำเร็จรูป หรือจะกำหนดเอง (Custom) ก็ได้ ดังเช่นที่ทำได้ในรุ่นก่อน


ทั้งนี้ โดยทั่วไปหากการรับชมมิได้รู้สึกผิดปกติรำคาญตากับภาพเคลื่อนไหวบนจอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ดี การรับชมกับคอนเทนต์บางลักษณะ รวมถึงถ้าหากเป็นทีวีจอขนาดใหญ่ด้วยแล้ว อาจสังเกตความผิดปกติของภาพเคลื่อนไหวได้ง่าย หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น สามารถใช้งาน Motion Plus ได้ครับ

จากการทดลองใช้งานพบว่า ถ้าเป็นการรับชมบลูเรย์ (1080p/24) ใช้โหมด “Clear” ก็เพียงพอ โดยระบบจะทำการแทรกเฟรมเล็กน้อย แม้ไม่ได้รู้สึกว่าลื่นปื้ดๆ แต่ให้การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติมากกว่า กล่าวคือ อารมณ์ยังคงใกล้เคียงกับการดูม้วนฟิล์มเดิมๆ อยู่ และที่สำคัญผลกระทบจากเทคโนโลยี Motion แทรกเฟรมเสมือน ที่มากเกินไป อย่างอาการเงาวุ้นๆ เกิดขึ้นรอบๆ วัตถุที่เคลื่อนไหว จะน้อยมาก เรียกว่าแทบสังเกตได้ยาก
 

แต่ถ้าหากต้องการแทรกเฟรมมากขึ้น เพื่อให้ได้ความลื่นไหลใกล้เคียงดังเช่นการรับชมคอนเทนต์ที่มีระดับเฟรมเรตสูง หรือเมื่อพบว่าบางคอนเทนต์เมื่อรับชมในโหมด Clear แล้วภาพยังดูสั่นๆ หรือสะดุดอยู่ ก็เพิ่มระดับไปให้เลือกโหมด Standard แทนได้ ภาพเคลื่อนไหวจะดูไหลๆ ลื่นๆ ขึ้นแน่นอนครับ แต่ก็มีโอกาสสังเกตเห็นเงาวุ้นๆ รอบๆ วัตถุเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นเช่นกัน (โดยเฉพาะในฉากที่วัตถุเคลื่อนที่บนพื้นหลังที่มีรายละเอียดซับซ้อน) ส่วนระดับการแทรกเฟรมสูงสุด คือ Smooth นั้น อย่าใช้เป็นการดี แม้ลื่นสุด แต่จะสังเกตจุดบกพร่องได้ง่ายมากๆ ซึ่งตรงนี้มิใช่ความผิดปกติ เพราะถือเป็นเรื่องปกติสำหรับฟีเจอร์แทรกเฟรมซึ่งอาศัยกระบวนการทางเทคนิคขั้นสูงอันซับซ้อน ไม่ว่ายี่ห้อใดเมื่อเปิดระดับการแทรกเฟรมสูงสุด ก็มักจะพบจุดบกพร่องแบบนี้ได้เสมอ

กับการเล่นเกมหากเป็นเกมที่มีเฟรมเรตสูง (60fps) ก็ให้ความไหลลื่นดีโดยอาจไม่จำเป็นต้องอาศัย Motion Plus อย่างไรก็ดี กับบางเกมอาจมีบ้างที่ภาพสั่น ดูสะดุด ติดขัด ก็ให้ทดลองปรับระดับของ Motion Plus ดูครับ (ดูแล้วลงตัวที่ระดับใด ก็ใช้อันนั้นแหละ เพราะผลลัพธ์จะขึ้นกับตัวแปรหลัก คือ คอนเทนต์ อยู่มาก)
คุณสมบัติที่ให้ความเที่ยงตรงสูง (ภายหลัง calibrate) จึงสามารถนำ 55F8000 มาใช้งานเป็นจอมอนิเตอร์อ้างอิงได้ดีเลยทีเดียว ภาพที่ปรากฏบนจอที่ขอบบางมาก ช่างเป็นความสมบูรณ์ที่เต็มตาดีแท้ และด้วยพื้นฐานของ LED TV ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องของการ Burn-in จึงใช้หลากหลายหน้าที่ได้อย่างสบายใจ จะเปิดภาพนิ่งทิ่งไว้ก็ได้
และที่สำคัญการพัฒนา เปลี่ยนแปลง อันส่งผลถึงการใช้งานจริง ที่ทำได้ดีกว่าเดิม คือ เรื่องของมุมมองรับชมที่กว้างขึ้นอีกเล็กน้อย แม้รับชมในตำแหน่งมุมเอียงจากกึ่งกลางบ้าง ก็ยังได้ภาพที่ดี สีสันสดใส ไม่ขาวโพลน
ถัดมาดูในเรื่องการรับชมภาพสามมิติบ้าง กับ 3D Blu-ray ซึ่งเป็นรูปแบบ 3D Frame Packing นั้น แม้ภาพสามมิติจะดูเบลอสำหรับบางท่าน แต่กับรายละเอียดเต็ม Full HD 3D บน 55F8000 ผ่าน Active Shutter Glasses ของ Samsung ให้ภาพที่คมชัดดีมาก และการนั่งชมใกล้ๆ จอภาพ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาพเป็นเส้น ภาพที่ได้นั้นชัดเจน เต็มตา ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

หมายเหตุ: หากเป็นการเปิดรับชม 3D Frame Packing ระบบของทีวีจะจับสัญญาณและปรับเข้าสู่โหมดการแสดงภาพ 3D ให้เองโดยอัตโนมัติ แต่หากเป็นคอนเทนต์ 3D ฟอร์แม็ตอื่นๆ  เช่น SBS หรือ Top-Bottom รวมถึงการแปลง 2D to 3D จะต้องกดปุ่ม 3D เลือกโหมดที่ถูกต้องเอาเองครับ

เรื่องความลึก-ลอยนั้น สามารถปรับแต่งได้ตามรสนิยม ไปจนถึงการควบคุมระดับความสว่าง ซึ่งในบรรดาทีวีสามมิติในจักรวาลทีวีนั้น เชื่อว่าจะหารุ่นที่ดู 3D ในสภาวะสู้แสงมาชนกับ Samsung ได้ยาก ความกระจ่าง จะแจ้ง ชัดเจน ถือเป็นจุดเด่น

เสียง

ในรุ่นใหม่เพิ่มเติมขั้นตอนอ้างอิงปรับแต่งเสียงแบบง่ายๆ มาด้วย ถึงแม้จะไม่ได้อิง Standard หรือมีมาตรฐานอะไรที่ชัดเจน แต่น่าจะช่วยให้ได้เสียงที่ถูกใจได้ง่ายขึ้น

คุณภาพเสียงยังคงทำได้ดี สำหรับทีวีที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งลำโพง การให้น้ำหนักเสียงเบสพอเพียง รายละเอียดเสียงใช้ได้ ไม่คลุมเครือ และยังมีระบบจำลองเสียงเซอร์ราวด์มาด้วย ทดลองเปรียบเทียบดูครับว่าถูกรสนิยมหรือไม่

สรุป

ข้อดี
1. ดีไซน์สวยงามทั้งหน้า-หลัง ฐานตั้งโฉบเฉี่ยวโค้งมนยึดกับทีวีได้อย่างกลมกลืน มีฝาปิดช่องต่อสายดูเรียบร้อย
2. ภาพสว่าง กระจ่างจะแจ้งเป็นที่สุด หากจะอัดสู้แสงภายในห้องที่ไม่ได้ควบคุมแสงสว่าง คงไม่มีใครเทียบได้
3. ภาพสามมิติคมชัดแม้รับชมในระยะใกล้ ภาพไม่กะพริบแม้ใช้งานในห้องสว่าง และด้วยศักยภาพของทีวี โหมด 3D ภาพก็ยังสว่างชัดเจน ไม่อึมครึมเหมือนบางยี่ห้อ
3. ตอกย้ำผู้นำ Smart TV ด้วยการเพิ่มเติมลูกเล่น Smart Interaction มากขึ้น ทั้งท่าทาง และคำสั่งเสียง สั่งงานทีวีได้ ไม่ต้องพึ่งรีโมต
4. กล้องเว็บแคม Built-In อเนกประสงค์ ใช้งานได้หลากหลาย รวมถึงจับการเคลื่อนไหว สามารถพับเก็บได้ด้วย
5. มีแอพพลิเคชั่นมากที่สุดทั้งไทยและเทศ โหลดมาเก็บในเครื่องได้เยอะ

ข้อเสีย
1. การควบคุม Backlight แบบ Micro Dimming ยังไม่ละเอียดเท่ากับ Local Dimming แต่รุ่นใหม่ได้เพิ่มเติม Cinema Black เข้ามา ช่วยให้ควบคุมระดับแสง Backlight ช่วงบนและล่างของจอภาพได้ดีขึ้น
2. มุมมองดีขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมกว้างขวางเพอร์เฟ็กต์ถึงที่สุด… ซึ่งคงไม่มีใครนั่งดูทีวีเอียงๆ กันมากกระมัง
3. ขาตั้งปรับหมุนซ้ายขวาไม่ได้
4. Smart Interaction ยังมีติดขัดเมื่อใช้งานจริงอยู่บ้าง

สรุป
Samsung UA55F8000 นับเป็นผลของการตอกย้ำนวัตกรรม Smart Interaction 2.0 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะที่คงศักยภาพในแง่การเป็นทีวีระดับอ้างอิง ที่ให้ความถูกต้องของสีสันได้เป็นอย่างดี แต่ที่โดดเด่นคือภาพที่สว่างกระจ่างชัดเจน เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในบ้านพักอาศัยทั่วไป และแน่นอนว่าดีไซน์นั้นตั้งโชว์ได้ ไม่อายใคร จะดูด้านหน้า หรือด้านหลัง ก็สวยนะเออ… อนาคตอัพเกรดได้ด้วยนะ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
9.0
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.5
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
9.0
ภาพ 3 มิติ
8.5
เสียง (Sound)
8.5
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.5
ลูกเล่น (Features)
9.0
ความคุ้มค่า (Value)
8.25
คะแนนตัดสิน (Total)
8.6

Samsung UA55F8000

8.6