01 May 2014
Review

จอยักษ์ใหญ่! รีวิว Sony 4K TV KD-84X9000 ตัวแรกของไทย บทบัญญัติใหม่แห่งวงการ


  • lcdtvthailand

ภาพ

ทดสอบความดำของภาพ
84X9000 มีขนาดใหญ่ถึง 84″ ใช้หลอด Backlight แบบ Dynamic Edge LED หรือ Edge LED ที่ทำ Local Dimming ได้นี่เอง อย่างพี่ใหญ่ประจำปี 2012 รุ่น HX855 ก็ผ่านบททดสอบสุดหินในการทดสอบความดำและคุมแสง Backlight มาได้จนถือว่าเป็นหนึ่งใน Edge LED ที่สามารถคุมแสงได้ยอดเยี่ยมที่สุดตัวหนึ่ง ! เริ่มทดสอบพี่ยักษ์ 84″ ด้วยคอนเทนต์พระจันทร์ในคืนมืดของ Pioneer หากไม่เปิด LED Dynamic Control (Local Dimming) ก็จะมีแสงรั่วให้เห็นซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายเพราะพื้นที่จอใหญ่มากซึ่งถูกรายล้อมด้วยหลอดไฟแบบ LED โดยรอบ (ยิ่งจอใหญ่ยิ่งขี้ฟ้อง)  ในทางกลับกันหากเปิดใช้งาน LED Dynamic Control ก็ช่วยให้ทีวีแสดงพื้นหลังได้ดำมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นดำสนิทเพราะเป็นข้อจำกัดของโครงสร้างของ Edge LED แต่ทุนเดิม อย่างไรก็ตามทีมงานก็เห็นพ้องต้องกันว่าประสิทธิภาพที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจสำหรับการคอนโทรลแสงแบคไลท์ให้กับทีวีจอใหญ่ยักษ์ระดับนี้ ในทางกลับกันผลพวงด้านบวกที่ได้เพิ่มจากการเปิด LED Dynamic Control ซึ่งนอกเหนือจากการเพิ่ม-หรี่หลอด LED ให้สัมพันธ์กับฉากสว่าง-มืดแล้วซึ่งช่วยเรื่องความดำของภาพและคอนทราสต์ ยังได้การประหยัดไฟซึ่งบางฉากก็ประหยัดได้เป็นร้อยๆวัตต์ก็มี ข้อแนะนำของผมคือเพื่อความสบายตาในการดูเราสามารถ 1) ปรับระดับ Backlight ด้วยมือเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในห้องได้ 2) เปิดใช้งาน Light Sensor ให้เซนเซอร์ของทีวีปรับความสว่างอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดไฟแบบอัตโนมัติทันทีเช่นกัน คิดเล่นๆว่าหาก 4K TV จอยักษ์ใหญ่ในรุ่นถัดไปของ Sony ใช้หลอด Backlight แบบ Intelligent Peak LED (Full LED) แทน ข้าน้อยคงจะต้องยกตำแหน่งให้ทีวีตัวนั้นเป็นอภิมหาเทพแห่งทีวีไปเลย 555

หากเปิดใช้งาน LED Dynamic Control จะช่วยควบคุมหลอด LED Backlight ให้เปิด-ปิด-หรี่ตามความมืด-สว่างของคอนเทนต์ได้ดียิ่งขึ้น
LED Dynamic Control มี 3 ระดับคือ Off / Low / Standard
ส่วน Advanced Contrast Enhancer ผม “ปิด” ไปเลยครับ ภาพเดิมๆโอเคอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่ม Brightness ประมาณ 61 รายละเอียดในที่มืดจะเปิดเผยออกมาหมด

ทดสอบภาพเคลื่อนไหว
ภาพเคลื่อนไหวของพวกจอ LED / LCD TV โดยปกติแล้วจะลื่นไหลเป็นธรรมชาติสู้ Plasma TV ไม่ได้ จึงมีการคิดค้นเทคนิคการแทรกเฟรมภาพหรือ Frame Interpolation ขึ้นมาเพื่อคำนวณสร้างเฟรมภาพขึ้นมาใหม่และแทรกเพิ่มเข้าไประหว่างเฟรมต้นฉบับ เพื่อให้ภาพเคลื่อนไหวลื่นไหลขึ้นกว่าเดิม ของ Sony เองก็มีชื่อเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Motion Flow โดยเจ้า 84X9000 ก็ให้ Motion Flow มาด้วย ซึ่งมีให้เลือก 5 แบบได้แก่ Off / Clear / Clear Plus Standard / Smooth / Impluse โดยจากที่ทดสอบกับ Pattern วัด Response Time กับฉากแพนกล้องในห้องอาหารของแผ่น DVE ปรากฏว่าระดับ Smooth ให้ความลื่นไหลมากที่สุด แต่ก็ยังมีโกสท์หรือวุ้นเรืองๆตามวัตถุอยู่ดี พอลองมาทดสอบที่ระดับ Impulse ภาพที่ได้ดิมมืดลงไปหน่อย คล้ายๆกับมีฟิล์มกรองแสงติดทับหน้าจอไปอีกชั้น แต่ผลการทดสอบถือว่าเทพมาก กล่าวคือ Pattern ของเช็ค Response Time สามารถแสดงรายละเอียดของแท่งสีขาวๆที่เคลื่อนจากขวาไปซ้ายได้อย่างแม่นยำ มีเงาลากตามมาน้อยมากๆ (ดีเกินคาด) แบ่งแยกแท่งสีขาวแต่ละแท่งเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน ต่างจากทีวีที่มี Response Time ไม่ดี เจ้าแท่งสีขาวจะเคลื่อนจากขวาไปซ้ายแล้วผสมกลมกลืนกันมั่วไปหมด แถมมีหางขาวๆลากยาวเป็นโกสท์แถมมาด้วย อย่างไรก็ตามหากต้องการภาพที่เป็นธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่งเฟรมภาพจากชิพประมวลผล ก็ให้เลือก Motion Flow เป็น Off ครับ ภาพเคลื่อนไหวก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างดี ฉากแพนกล้องจะมีอาการสะดุดแบบฟิล์ม (แต่เป็นธรรมชาติ) ให้เห็นบ้างตามความใหญ่ของจอ 

ทดสอบภาพเคลื่อนไหวด้วย Pattern แท่งสีขาว โหมด Impluse ใน Motion Flow แสดงภาพเคลื่อนไหวเร็วๆได้นิ่ง+เนียนที่สุด
Motion Flow ระดับ Smooth ดูลื่นไหลในฉากห้องอาหาร แต่การใช้งานจริงยังมีวุ้นเรืองๆตามขอบวัตถุให้เห็นอยู่

ทดสอบคอนเทนต์ 4K !!!!
มีทีวีจอยักษ์ระดับเฮฟวี่เวท 4K แล้วใยคอนเทนต์เราต้องเอาแค่พวก Full HD  มาต่อกรอย่างเดียวหละ ! และเป็นครั้งแรกของผมและทีมงาน (จริงๆครั้งแรกของประเทศไทยด้วยหละครับ) ที่ได้มีโอกาสสัมผัสภาพความละเอียด 4K แท้ๆกับจอ 4K แท้ๆ โดยคอนเทนต์ที่ทาง Sony จัดทำมาเพื่อการสาธิตทีวีตัวนี้โดยเฉพาะ มีประมาณ 4-5 คอนเทนต์ อาทิเช่น ฟุตบอล, คอนเสิร์ตออเครสตร้า, วิวทิวทัศน์ และอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดด้วยคอมพิวเตอร์สั่งทำพิเศษ การ์ดจอและ CPU ระดับมหาเทพ เอาท์พุทจากเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น HDMI ออกมาเข้าช่อง HDMI ของตัวทีวีที่เขียนว่า Support 4K (ให้มา 2 ช่อง ส่วนอีก 2 ช่องรองรับแค่ 1080p) สัมผัสแรกที่เห็นภาพ 4K VS Full HD  ก็สังเกตความต่างได้ไม่ยาก คำศัพท์ในวงการทีวีที่ระบุถึงคุณภาพของภาพอย่างคำว่า “คมชัด” ซึ่งเป็นคำง่ายๆที่เห่อกันทั่วบ้านทั่วเมืองมากตอนเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วในการเปรียบเทียบภาพ “Blu-ray VS DVD” ในยุคเริ่มต้นของไฮเดฟฟินิทชั่นทีวีก็ผุดขึ้นมาในใจผมอีกครั้งหนึ่ง นึกภาพตามว่าปกติคอนเทนต์ Full HD จะละเอียดน้อยกว่า Content 4K ถึง 4 เท่า ดังนี้ความคมชัดที่เหมือนมีพิกเซล 4 ต่อ 1  (4K VS Full HD // หรือ 8.29 ล้านพิกเซล VS 2.07 ล้านพิกเซล) ไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว แต่ทีมงานท่านอื่นๆก็รู้สึกถึงความ “คมชัด” ได้ไม่ยากเลยทั้งการรับชมระยะใกล้-ไกล รายละเอียดภาพจัดเต็มสุดๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทางเราได้มีโอกาสทดสอบจอใหญ่ๆอย่างพวก 65″ 70″ 72″ 75″ ในความละเอียดแค่ระดับ Full HD มาบ้าง จึงรู้สึกถึงความไม่เพียงพอของจำนวนพิกเซลต่อหน้าจอใหญ่ขนาดนั้น กล่าวคือเม็ดพิกเซลมันเม็ดใหญ่เกินไป (Dot Pitch) ภาพจึงแลดูหยาบไม่คม ติดนวลแกมมนแทน พอมาเจอทีวีขนาด 84″ อัดความละเอียด 4K มาให้เต็มๆ จึงเห็นความต่างในเชิงบวกแบบเบ็ดเสร็จ

ดูมุมบนซ้ายให้ดี Source ความละเอียด 3840 x 2160p แท้ๆ (4K)
มิติความลึกของภาพ 4K
คอนเทนต์ 4K ของ Sony บอกเป็นนัยๆว่า 4K TV ให้ความละเอียดและอรรถรสมาขึ้นอีก 4 เท่าตัว !
พิกเซลมากขึ้น 4 เท่า = ความมันส์เพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า !
ภาพเด็กแบเบาะแบบ 4K ขนาดเท่าตัวเด็กจริงๆ
เปรียบเทียบขนาดจอ 84″ VS 65″ 55″ 46″ 40″ ซึ่งขนาด 84″ นี้เริ่มมาทับไลน์ของพวกจอโปรเจกเตอร์แล้ววว !