12 Jun 2018
Review

รีวิว Sony 65A8F 4K HDR OLED TV ถอดแบบ A1 ในราคาท้าให้เป็นเจ้าของได้ง่ายยิ่งกว่า !!?


  • ชานม

ภาพ

ในรุ่นนี้ Sony ยังคงเลือกใช้ 4K WRGB OLED Panel เช่นเดียวกับ A1 รวมไปถึงส่วนประกอบสำคัญอย่างชิพประมวลผล X1 Extreme จึงไม่แปลกที่ศักยภาพด้านภาพ แทบจะเหมือนกับรุ่น A1 พิสูจน์ได้ด้วยผล Lab Test

Sony 65A8F Pre-calibration Data (SDR Picture Modes)

โหมดภาพโรงงานเมื่อรับชม SDR Content เหมือนกับ A1 ทุกประการ เช่นเดียวกับผลลัพธ์ก็เรียกว่าใกล้เคียงจนแทบแยกไม่ออก แต่ถึงกระนั้น Sony ได้ทำการเพิ่มเติมอีกหนึ่งตัวเลือกโหมดภาพให้กับรุ่นใหม่ 65A8F โดยตั้งชื่อเรียกว่า “Dolby Vision” อย่าเพิ่งสับสนกับการแสดงผลเมื่อรับชม Dolby Vision HDR content เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกันครับ ตัวเลือกโหมดภาพ Dolby Vision ที่ใช้กับ SDR Content นี้ เรียกว่าเป็นการ “จำลองโทนสีภาพ” อีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับโหมดภาพโรงงานอื่นๆ นั่นเอง

โหมดภาพที่สามารถใช้อ้างอิงในแง่ความถูกต้องของสีสันที่ใกล้เคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (SDR) มีอยู่หลายโหมด ทั้ง Cinema Pro, Cinema Home ฯลฯ ไปจนถึง Game และ Graphics (2 โหมดนี้ เหมาะใช้งานเมื่อเชื่อมต่อ Game Console หรือ PC) โดยอุณหภูมิสีวัดได้อยู่ที่ราว 6400K ในหลายๆ โหมดภาพ อันเป็นผลจากตัวเลือก Color Temperature = Expert1 ความเที่ยงตรงนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐาน Sony

ทดสอบวัดค่าดูพบว่า Expert1 ให้ดุลสีติดอมเขียวเล็กน้อย แต่ยังถือว่าดีใกล้เคียงมาตรฐาน D65 กรณีที่จะนำไปใช้เป็นจอภาพอ้างอิงกับงานที่จริงจังอย่าง Photo Post Processing หรือ Video Editing สามารถคาลิเบรทสีเพิ่มเติมผ่าน 2P/10P White Balace ได้ ผลลัพธ์เข้าใกล้เพอร์เฟ็กต์มากยิ่งขึ้น

ผลลัพธ์ภายหลังคาลิเบรทพบว่า ได้สมดุลสีดีเยี่ยม ค่าความผิดเพี้ยน (dE) ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.90 เท่านั้น และถึงแม้ Sony จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทำการไฟน์จูนในส่วนของ Color Management System (CMS) เช่นเคย ทว่าด้วยความเชี่ยวชาญของวิศกรออกแบบระบบ หากทำการไฟน์จูนค่าภาพในจุดอื่นจนเที่ยงตรงดีแล้ว ผลลัพธ์จะส่งผลให้ CMS ดีขึ้นตามไปด้วยจนอาจไม่มีความแตกต่างจากทีวีรุ่นที่สามารถปรับ CMS แบบละเอียด ซึ่งขอบเขตสี (Color Space) ของ 65A8F ขณะรับชม SDR Content จะทำได้ครอบคลุม 99.6% (Pre) – 99.9% (Post) เมื่ออิงมาตรฐาน Rec.709/sRGB

อีกหนึ่งความยอดเยี่ยมของชิพประมวลผล X1 Extreme คือ “ภาพเคลื่อนไหว” ที่ทำได้ไหลลื่นเป็นธรรมชาติดีมาก และกรณีที่ต้องการแทรกเฟรมเพิ่ม สามารถดำเนินการผ่านตัวเลือก Motionflow โดยระดับ True Cinema ดูเป็นธรรมชาติใกล้เคียงต้นฉบับ แต่หากต้องการความไหลลื่นเพิ่มมากขึ้น Standard ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นเดียวกัน (artifacts น้อยมากสำหรับปริมาณการแทรกเฟรมเพิ่มระดับนี้) หรือจะกำหนดระดับของโมชั่นแบบละเอียดเลยก็ได้ที่ตัวเลือก Custom

มาดูศักยภาพด้านการแสดงผล HDR Content ของ A8F ดูบ้าง ภายหลังอัพเดทเฟิร์มแวร์ล่าสุด (มิ.ย. 61) รุ่นนี้รองรับครบทั้ง HDR10, HLG และ Dolby Vision โดยโหมดภาพที่แนะนำสำหรับการรับชม HDR10 หากอิงเรื่องของความบิดเบือนผิดเพี้ยนของสีสันต่ำที่สุด ยังคงเป็น Cinema Pro หรือ Cinema Home เช่นเคย ดุลสีจะติดอมเขียวนิดๆ เหมือนเวลารับชม SDR แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในส่วนของระดับความสว่าง (HDR Peak Brightness; 10% Window) ของทั้ง 2 โหมดนี้วัดได้ราว 730 nits (ต่ำกว่า Vivid เพียงเล็กน้อย ที่ 752 nits แต่ให้สมดุลสีดีกว่า)

ที่พิเศษเห็นจะเป็นขอบเขตสีในโหมด HDR ที่ทำได้กว้างขวางทำลายสถิติทีวีในรุ่นปี 2017 โดย A8F ทำได้ครอบคลุม 99.6% DCI-P3 (Pre-cal) เลยทีเดียว (หย่อน 100% ไปนิดเดียวเท่านั้น) ผลลัพธ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หาก Sony จะส่ง A8F ไปสอบเทียบ ก็คงผ่านมาตรฐาน “Ultra HD Premium” ได้สบาย ไม่เป็นที่กังขาใดๆ

การสังเกตว่าขณะนี้ 65A8F กำลังแสดงผล HDR อยู่หรือไม่ สามารถดูได้จากสัญลักษณ์ “HDR” ตรงมุมขวาบนในหน้าเมนู Picture 
ข้อดีของระบบจัดการโหมดภาพของทีวี Sony ที่น่าประทับใจ คือ หากดำเนินการปรับภาพในโหมดการรับชมแบบ SDR แล้ว จะส่งอานิสงส์ให้ดุลสีในโหมด HDR เที่ยงตรงขึ้นด้วย (ในโหมดภาพเดียวกัน การรับชม SDR กับ HDR10 จะอิง White Balance ค่าเดียวกัน) จึงย่นเวลาขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุดอย่างการคาลิเบรทปรับภาพลงไปได้ ผลลัพธ์ก็เรียกว่าน่าพอใจมาก
สำหรับการเล่นเกม ทั้งรูปแบบ HDR และ SDR นั้น โหมดภาพ Game และ Graphics ของ A8F จะให้ระดับ Input Lag ต่ำที่สุดในบรรดาทั้งหมด อยู่ที่ราว 47.3 ms ในขณะที่ความเที่ยงตรงของสมดุลสี ไม่ต่างจาก Cinema Pro และ Cinema Home มากนัก ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียว คือ ตัวเลือก Motionflow จะไม่สามารถเปิดใช้งานได้กับ 2 โหมดนี้ (แต่คงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Motionflow เวลาเล่นเกม)
หากสรุปผล Lab Test จาก HDR Picture Modes ข้างต้น จะพบว่ารุ่นใหม่ A8F มีศักยภาพที่สูงกว่า A1 จริง ทั้งความสว่าง และขอบเขตสี ถึงแม้ระดับความแตกต่างที่ไม่มากนักส่งผลให้การใช้งานจริง สามารถแยกแยะความแตกต่างจากภาพที่เห็นได้ไม่ง่ายนักก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับราคา A8F ที่ต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ต้องบอกว่า คุ้มค่าตัวมากครับ