31 Oct 2018
Review

รีวิว Sony 65A9F 4K HDR OLED TV ตัวท็อป กับศักยภาพระดับ Master Series !!?


  • ชานม

ภาพ

ในรุ่น A9F ทาง Sony ยังคงเลือกใช้ 4K WRGB OLED Panel เช่นเดียวกับรุ่น A1E และ A8F แต่จุดต่างที่สำคัญ คือ ชิพประมวลผลภาพระดับท็อปล่าสุดที่เรียกว่า X1 Ultimate อีกทั้งยังทำการ calibrated ปรับภาพเบื้องต้นมาจากโรงงานให้มีความเที่ยงตรงขึ้นในโหมด “Custom” อันจะมีส่วนช่วยอัพเกรดคุณภาพของภาพ A9F ให้ดีขึ้น แต่ข้อสันนิษฐานนี้จะจริงหรือไม่? มาพิสูจน์กันครับ…

เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของ A9F ว่าดีกว่าเจนฯ ก่อน คือ A1E จริงหรือไม่ ทีมงานจึงเปรียบเทียบผล Lab Test ระหว่างโหมดภาพที่ให้ความเที่ยงตรงใกล้เคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมวิดีโอมากที่สุดของทั้ง 2 รุ่น คือ Custom ของ A9F และ Cinema Pro ของ A1E ผลเป็นดังนี้

ระดับความบิดเบือนผิดเพี้ยนของสีสัน A9F มีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าจริง (เป็นการเปรียบเทียบในโหมดการแสดงผลแบบ HDR10) ผลการใช้งานจริงจะสังเกตได้ว่า ดุลสีของ A9F ดีกว่า สีสันดูสมจริงเป็นธรรมชาติกว่า A1E ขึ้นอีกระดับหนึ่ง
จุดที่ทำให้ A9F ดูสว่างเจิดจ้ากว่ารุ่น A1E ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดทอนผลกระทบจาก OLED Auto Brightness Limiter ผลการใช้งานจริงจะสังเกตได้ชัดในฉากภาพยนตร์กลางแจ้งที่มีพื้นที่ส่วนสว่างมาก ภาพจะดูเจิดจ้ามีไดนามิกดีกว่า จุดนี้เข้าใจว่าจะเป็นความสามารถ Pixel Contrast Booster ของชิพ X1 Ultimate นั่นเอง
มาดูผล Lab Test แยกแต่ละโหมดภาพของ A9F กันบ้าง เริ่มกันที่โหมดการแสดงผลแบบ SDR ซึ่งจากตารางข้อมูลนี้จะเห็นว่า A9F มีการปรับเปลี่ยนโหมดภาพแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ เล็กน้อย โหมดภาพที่ให้ความเที่ยงตรงของสีสันใกล้เคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากที่สุด คือ Custom
Custom เป็นโหมดภาพที่ผ่านการ Calibrate ปรับภาพเบื้องต้นมาจากโรงงาน จึงไม่แปลกที่ผลลัพธ์จะออกมาดี ค่าความบิดเบือนผิดเพี้ยนของสมดุลสี (dE) อยู่ที่ 1.87 ถือว่าดีมากสำหรับโหมดโรงงาน อย่างไรก็ดีด้วยปัจจัยแวดล้อมบางอย่าง ผลลัพธ์จะเบี่ยงเบนไปบ้างเล็กน้อย ท่านใดที่จริงจังกับความถูกต้องของภาพสูงสุด เช่น จะนำไปใช้งานเป็นจออ้างอิงสำหรับตัดต่อภาพยนตร์หรือโปรเซสภาพถ่าย อาจจำเป็นต้อง calibrate ปรับภาพเพิ่มเติม
ความพิเศษของ A9F ที่เหนือกว่าทีวีรุ่นอื่นใดในอดีตของ Sony คือ การรองรับ Calman AutoCal หรือการปรับภาพอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดเวลาและความยุงยากในขั้นตอนปรับภาพลงได้มาก ทว่าความสามารถนี้หากอ้างอิงช่วงเวลาทดสอบ จะยังทำไม่ได้ครับ ต้องรอให้ทาง Spectracal ทำการอัพเดทซอฟต์แวร์ Calman เป็นเวอร์ชั่น 2018 R3 เสียก่อน
ถึงจะยังปรับภาพแบบอัตโนมัติไม่ได้ แต่ยังดำเนินการปรับภาพ A9F แบบแมนนวลได้ และรุ่นนี้อัพเกรดเพิ่มเติมให้ไฟน์จูนในส่วนของ Color Management System (CMS) เข้ามาด้วย
เท่ากับว่ารุ่น A9F นี้ สามารถไฟน์จูนค่าภาพละเอียดครบทั้ง 2P White Balance, 10P White Balance และ CMS ผลลัพธ์ความเที่ยงตรงที่ได้จึงเข้าใกล้ความเพอร์เฟ็กต์ยิ่งขึ้น ค่าความผิดเพี้ยน (dE) หลังดำเนินการปรับภาพจะลดต่ำลงเหลือเพียง 0.92 เท่านั้น!
มาดูในส่วนของโหมดการแสดงผลแบบ HDR กันบ้าง โหมดภาพที่ให้ความเที่ยงตรงของสีสันดีที่สุดยังคงเป็น Custom เช่นเคย หากอ้างอิงตัวที่ส่งมาทดสอบจะพบว่าความสว่าง HDR Peak Brightness (10% Window) ที่ 639 nits และขอบเขตสี (HDR Color Space) ที่ 94.3% (DCI-P3 coverage) อาจจะดูไม่หวือหวา แต่ถ้าเทียบกับโหมดภาพหลังจาก calibrate ปรับภาพแล้ว ของ A8F และ A1E ก็นับว่าตัวเลขใกล้เคียงกัน ผลลัพธ์ยังคงผ่านมาตรฐาน “Ultra HD Premium” ได้สบาย
โหมด Custom ของ A9F ยังคงให้ความเที่ยงตรงได้โดดเด่นเช่นเคยไม่เว้นแม้กับการแสดงผลแบบ HDR ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่มีความจำเป็นต้องปรับภาพเพิ่มเติมก็ได้
หากสามารถไฟน์จูน White Balance และ CMS อีกเล็กน้อย ก็จะให้ผลลัพธ์ความเที่ยงตรงยิ่งขึ้น ในจุดนี้คาดว่าถ้าทำ AutoCal ได้ ผลลัพธ์น่าจะเพอร์เฟ็กต์ขึ้นอีกครับ

ผลลัพธ์หลังปรับภาพโหมด Custom (HDR) พบว่า ความสว่าง Peak Brightness จะลดต่ำลงเล็กน้อยอยู่ที่ 610 nits แต่จะได้ดุลสีเที่ยงตรงขึ้น ขอบเขตสีกว้างขึ้นเล็กน้อยที่ 95.1% (DCI-P3 coverage) แต่การรับชมจริงก็ยังพบว่า ให้ระดับความสว่างโดยเฉพาะซีนกลางแจ้งได้เจิดจรัสกว่า A1E อันเป็นผลจาก Pixel Contrast Booster ดังที่กล่าวไปข้างต้น

ระบบแทรกเฟรมภาพ Motionflow ยังให้ผลลัพธ์ได้ดีเช่นเคย สามารถกำหนดระดับ Smoothness แบบ Custom ได้ตามความชอบ ที่ระดับ 1 จะคงอารมณ์แบบต้นฉบับ 24p ไว้ ไม่แทรกเฟรมมากจนเกินไปแต่โดยรวมดูมีความต่อเนื่องขึ้น