24 Feb 2016
Review

ตะลึงงันไปกับเทคโนโลยี HDR ด้วยความเจิดจรัสระดับไม่มีใครเกิน !!? รีวิว Sony 65Z9D Flagship 4K HDR TV


  • ชานม

Sony 65Z9D Flagship 4K HDR TV

ตะลึงงันไปกับเทคโนโลยี HDR
ด้วยความเจิดจรัสระดับไม่มีใครเกิน !!?

ปี 2016 Sony สร้างความฮือฮาแก่วงการความบันเทิงด้านภาพและเสียงหลายประการ ที่ดูเป็นกระแสร้อนแรงมากทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ คงไม่พ้นการเปิดตัวและวางจำหน่ายเครื่องเกมคอนโซลตัวแรง PlayStation 4 Pro ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติรองรับการแสดงผล “เกม” ที่ความละเอียด 4K HDR แต่แน่นอนว่าการรับชมนั้น ต้องการจอแสดงผลที่รองรับมาตรฐาน 4K HDR ด้วย ซึ่งทีวีที่คู่ควรกับหน้าที่นี้คงไม่มีใครเด่นดีไปกว่า “ทีวีรุ่นเรือธง” อย่าง KD-Z9D และล่าสุด Sony ก็เพิ่งเปิดตัว “โฮมซินีม่าโปรเจ็คเตอร์เรือธงใหม่” รองรับ 4K HDR อย่าง VPL-VW5000ES (ราคา 60,000USD) ตามมาอีก เรียกว่าแต่ละรุ่นจัดเต็มด้วยดีกรีระดับ “สุดยอด” ของวงการทั้งนั้น.!

โฉมหน้านวัตกรรมความบันเทิงด้านภาพและเสียงระดับสุดยอดของวงการประจำปี 2016 จาก Sony อันได้แก่ เครื่องเกมคอนโซล PS4 Pro, ทีวีรุ่นเรือธง KD-Z9D และโฮมซินีม่าโปรเจ็คเตอร์รุ่นเรือธง VPL-VW5000ES ซึ่งทั้งหมดได้เดินทางมาถึงเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อย… บ่งบอกถึงการมาอย่างเต็มรูปแบบของมาตรฐาน “4K HDR”!! และวันนี้ เมื่อตัวแซมเปิลของทีวีรุ่นเรือธงขนาด 65 นิ้ว จาก Sony คือ KD-65Z9D ถูกส่งมาถึงมือทีมงาน LCDTVTHAILAND จึงไม่พลาดที่จะทำการทดสอบให้ทุกท่านได้รับชมประสิทธิภาพกันเช่นเคยครับ…

ดีไซน์

การออกแบบ 4K Android TV ในซีรี่ส์ระดับสูงอย่าง X และ Z Series ประจำปี 2016 มาในคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Slice of Living”

โดยแนวคิดในขั้นแรกเกิดจากการพยายามค้นหาคำตอบว่า หากจะออกแบบทีวีสักเครื่องหนึ่ง จะทำอย่างไรให้ทีวีเครื่องนั้นมีรูปลักษณ์ที่ “กลมกลืน” เข้ากับการตกแต่งภายในห้องอย่างลงตัว? (คลิกที่รูปด้านบนเพื่อรับชมวิดีโอ)

จากการสังเกตของทีมออกแบบพบว่า รูปทรงสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ภายในห้องทั่วไปนั้น มักมีลักษณะเป็น “แผ่นเรียบบาง” (Slate-like objects) ไม่ว่าจะเป็นจานบนโต๊ะอาหาร หนังสือบนชั้น หรือแม้แต่กรอบรูปบนผนัง หากทีวีมีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับสิ่งของเหล่านี้ ก็ย่อมกลายเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของห้องได้ไม่ยาก… อาจกล่าวได้ว่า รูปลักษณ์ วัสดุ และชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นทีวีของ Sony รุ่นนี้ มีที่มาจากสิ่งของรอบๆ ตัว ที่เราคุ้นเคยกันดีในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ด้านข้าง เปรียบเทียบระหว่างภาพคอนเซ็ปต์ (ซ้าย) กับ Final Product (ขวา)

ด้วยการจัดวางโครงสร้าง Backlight แบบ Full Array LED กระจายอยู่จำนวนมากจึงต้องการพื้นที่ติดตั้งด้านหลังจอภาพ เหตุนี้จึงไม่สามารถทำให้จอภาพแบนบางได้เหมือนดังภาพคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายภาพลักษณ์โดยรวมยังคงเอกลักษณ์รูปทรงตามแนวความคิดขั้นต้นได้ไม่น้อยทีเดียว

สังเกตที่ฐานตั้งและจอทีวี จะเห็นว่าประกอบขึ้นจากรูปทรงของแผ่นบางหลายชิ้น จัดวางในมุมที่ส่งเสริมในแง่ของความบาลานซ์ ดูเข้ากันอย่างลงตัว
นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าสนใจด้านหลัง ด้วยเท็กเจอร์ลายตาราง
ส่วนด้านข้างนำวัสดุคล้ายโลหะสีทองแชมเปญ ตัดกับเส้นสีดำเพื่อเพิ่มความหรูหรา
การออกแบบทางด้านหลังนอกจากประเด็นความสวยงามแล้ว ยังเสริมในเรื่องของฟังก์ชั่นใช้งาน อย่างการจัดวางช่องต่อรับสัญญาณต่างๆ พร้อมโครงสร้างฝาครอบที่หน้าที่จัดการเส้นสายต่างๆ เหล่านั้นให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยไปพร้อมกัน