05 Jan 2018
Review

รีวิว Sony FDR-AX700 สร้างสรรค์ 4K HDR แบบง่ายๆ ด้วยกล้องวิดีโอขนาดเล็ก คุณภาพระดับโปร !!


  • ชานม
สิ่งที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่งของกล้องวิดีโอรุ่นนี้ คือ “Fast Hybrid AF” หรือออโต้โฟกัสที่รวดเร็ว โดยเฉพาะระบบติดตามวัตถุที่แม่นยำเชื่อถือได้ แต่การจะดึงศักยภาพนี้ออกมาใช้งานอย่างเต็มที่ตรงตามสถานการณ์นั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการตั้งค่า Tracking Depth Range และ Subject Switching Sensitivity โดยทาง Sony ให้คำอธิบายและแนะแนวทางไว้ ตามคลิปนี้ครับ

ภาพ

AX700 บันทึกวิดีโอต่อเนื่องความละเอียด 4K สูงสุดที่ 2160p 30Hz 8-bit 4:2:0 ที่บิตเรต 100Mbps และ 60Mbps โดยเข้ารหัสแบบ XAVC S 4K ส่วน Full HD สูงสุดที่ 1080p 120Hz 8-bit 4:2:0 เข้ารหัสแบบ XAVC S HD
การบันทึกค่าแสงและสีด้วย AX700 ครอบคลุมหลากหลายมาตรฐาน สามารถกำหนดผ่านตัวเลือก Picture Profiles (PP) ถึง 10 แบบ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ Instant (Static) HDR จากมาตรฐาน HLG จะอยู่ที่ “PP10”

HLG จาก PP10 จะสามารถปรับแต่งตั้งค่าเพิ่มเติมได้ โดย Gamma มีให้ถึง 3 ตัวเลือก เพื่อผลลัพธ์ที่เหมาะกับหลากหลายสถานการณ์ ดังนี้

HLG1 = เหมาะกับสภาพแสงน้อย เนื่องจากปริมาณน้อยส์ต่ำที่สุด แต่ไดนามิกเรนจ์จะแคบกว่าอีก 2 โหมด เนื่องจากระดับ Maximum video output level ถูกกดไว้ที่ 87%

HLG2 = บาลานซ์ไดนามิกเรนจ์กับปริมาณน้อยส์ให้เหมาะกับหลากหลายสถานการณ์ ระดับ Maximum video output level อยู่ที่ 95%

HLG3 = เน้นไดนามิกเรนจ์กว้างสุดโดยไม่คำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดน้อยส์ เหมาะกับสภาพแสงกลางแจ้ง ระดับ Maximum video output level อยู่ที่ 100%อ

ในขณะที่ Color Mode สามารถแม็ตชิ่งได้ 2 ตัวเลือก ได้แก่

BT.2020 = มาตรฐานขอบเขตสีจากอุตสาหกรรมวิดีโอและภาพยนตร์ในปัจจุบันและอนาคต เหมาะกับการรับชมร่วมกับอุปกรณ์จอภาพ และเพลเยอร์ยุค 4K HDR ที่ให้ขอบเขตสีกว้าง

BT.709 = มาตรฐานขอบเขตสีจากอุตสาหกรรมวิดีโอและภาพยนตร์ยุคก่อน แต่ปัจจุบันยังมีใช้งานแพร่หลายอยู่ เหมาะกับการรับชมร่วมกับอุปกรณ์จอภาพ และเพลเยอร์ยุค HD SDR

ภาพตัวอย่าง (แคปเจอร์จากไฟล์วิดีโอ) ของ AX700 เปรียบเทียบผลลัพธ์ Picture Profiles 3 แบบ คือ PP3 (ITU709), PP10 (HLG2) และ PP7 (S-Log2) ทั้งหมดตั้งค่ากล้อง (IRIS, ISO, Shutter Speed) เหมือนกัน อ้างอิงการแสดงผลแบบ SDR

ผลลัพธ์ Picture Profiles 3 แบบ หากอ้างอิงกับจอภาพ SDR จะพบว่า PP3 ดูสว่างและให้ระดับคอนทราสต์ดีที่สุดเพราะเป็นมาตรฐานที่แม็ตช์กับจอภาพแบบนี้ อย่างไรก็ดี หากสังเกตช่วงไฮไลท์จากหลอดไฟหลายๆ ตำแหน่งในภาพ จะพบว่าติด Overexpose รายละเอียดบางอย่างบริเวณจุดสว่างในภาพจึงหายไป ในขณะที่ PP10 และ PP7 ถ่ายทอดรายละเอียดในจุดนี้ได้ครบถ้วนกว่า ไฟ LED ยังเห็นเป็นเม็ดชัด ส่วนไฟนีออนก็เห็นเป็นเส้นคมชัดเจนไม่ฟุ้งจนเกินไป

ในส่วนของ Shadow Detail PP3 จะให้ระดับสีดำที่ลึก แต่บางสถานการณ์มีโอกาสที่รายละเอียดในที่มืดจะจมหายไป ในขณะที่ PP10 และ PP7 จะชดเชยระดับสีดำดูลอยนิดๆ เพื่อคงรายละเอียดส่วนมืดไว้ให้มากที่สุด

เมื่อลองเปรียบเทียบ PP10 กับ PP7 ซึ่งเป็น Picture Profiles ที่ชดเชยไดนามิกเรนจ์ให้กว้างทั้งคู่ จะพบว่า PP10 ได้เปรียบในเรื่องความถูกต้องของสีสันและระดับคอนทราสต์ที่ดูใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า จนอาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการโปรเซสเพิ่มเติม แต่หากต้องการ ก็โปรเซส PP10 เพิ่มเติมได้ ปัจจุบันซอฟต์แวร์ตัดต่อดังๆ อย่าง Adobe Premiere Pro, Davinci Reslove (Studio) ฯลฯ รองรับมาตรฐาน HLG แล้ว

อย่างไรก็ดี ศักยภาพที่แท้จริงของ PP10 คือ การรับชมร่วมกับจอภาพที่รองรับการแสดงผล HDR (แบบ HLG) อาทิ 4K HDR TV ที่ทยอยเพิ่มจำนวนรองรับหลากหลายรุ่นในปัจจุบัน ผลลัพธ์จะให้ความโดดเด่นเหนือกว่า PP3 ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสว่าง คอนทราสต์ สีสัน เผยให้เห็นรายละเอียดปลีกย่อยจากระดับไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขึ้น ในขณะที่การรับชม PP10 แบบ HDR (HLG) จะเห็นว่าสามารถควบคุมระดับน้อยส์ได้ดีกว่าการรับชมแบบ SDR ด้วย

สามารถดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอต้นฉบับทดสอบ Picture Profile ทั้ง 3 แบบของ AX700 ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

AX700 วิดีโอทดสอบ Picture Profile 3 (ITU709)

AX700 วิดีโอทดสอบ Picture Profile 10 (HLG2)*

AX700 วิดีโอทดสอบ Picture Profile 7 (S-Log2) 

*ไฟล์นี้หากนำไปเปิดรับชมกับ 4K HDR TV (ที่รองรับ HLG) จะแสดงผลแบบ HDR ได้

การถ่ายวิดีโอคงเลี่ยงปัญหาภาพสั่นไหวได้ยาก Sony จึงให้ระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ใช้ชื่อเรียกว่า SteadyShot มาด้วย สำหรับ AX700 มี 2 ระดับสำหรับโหมดวิดีโอ คือ Standard และ Active ส่วนโหมดถ่ายภาพนิ่ง สามารถเปิดใช้งานได้เช่นกัน ที่ระดับ Standard

ผลการใช้งานพบว่า SteadyShot สามารถลดทอนภาพสั่นไหวได้จริง โดยระดับ Standard หากประคองกล้องถ่ายวิดีโอ 2 มือให้มั่น และค่อยๆ เดิน ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่หากถือมือเดียวและปล่อยตัวเดินสบายๆ จะพบว่ายังมีการสั่นไหวอยู่บ้าง ในขณะที่ระดับ Active สามารถลดทอนการสั่นไหวได้ดีมาก ถือถ่ายมือเดียวเดินสบายๆ ไม่เกร็ง ภาพก็ยังนิ่ง แต่ต้องแลกกับการถูกคร็อปภาพหายไปบางส่วน (เข้าใจว่าที่ระดับ Active จะใช้ Optical SteadyShot ควบคู่กับการประมวลชดเชยจากฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ภายในตัวกล้องเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพลดทดอนการสั่นไหวได้ดีขึ้น)

ถัดมาทดสอบ SteadyShot กับ Power Zoom เพื่อดูความสามารถของกันสั่นที่ระยะ Wide-angle และ Telephoto โดยยืนอยู่กับที่ ถือกล้องด้วยมือเดียว แล้วดูว่าระหว่างเปิดใช้ SteadyShot ผลลัพธ์เป็นเช่นไร สามารถดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอต้นฉบับได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 AX700 วิดีโอทดสอบ Power Zoom กับระบบ SteadyShot – Off

 AX700 วิดีโอทดสอบ Power Zoom กับระบบ SteadyShot – Standard

 AX700 วิดีโอทดสอบ Power Zoom กับระบบ SteadyShot – Active

*ไฟล์นี้หากนำไปเปิดรับชมกับ 4K HDR TV (ที่รองรับ HLG) จะแสดงผลแบบ HDR ได้

AX700 สามารถถ่ายภาพนิ่งความละเอียดสูง 14.2M pixels (16:9) และ 12M pixels (3:2) ผ่าน “Photo Mode” ไฟล์ที่ได้เป็นฟอร์แม็ต JPEG (ไม่รองรับ RAW)

คุณภาพของภาพนิ่งที่ได้นั้นถือว่าใช้การได้ดีทีเดียว อย่างไรก็ดีการตั้งค่ากล้องเชิงลึกบางอย่างเมื่อถ่ายภาพนิ่งค่อนข้างจำกัด เช่น ไม่สามารถกำหนดจุดโฟกัส (ระบบฯ จะเลือกจุดโฟกัสให้แบบออโต้), ความเร็วชัตเตอร์ 1/50s – 1/10000s ขาดความยืดหยุ่นในบางสถานการณ์ จึงไม่สามารถแทนที่กล้องถ่ายภาพนิ่งได้เบ็ดเสร็จ… แต่ประเด็นนี้คงมิใช่เรื่องที่ต้องตำหนิ เพราะหน้าที่หลักใช้งาน AX700 เป็นกล้องวิดีโอได้ยอดเยี่ยมก็เพียงพอ การถ่ายภาพนิ่งถือเป็นของแถม

ตัวอย่างภาพนิ่งจาก AX700 ที่ระยะ 29mm F/2.8 1/60 ISO200

ขนาดรูรับแสงกว้างสุดที่ F/2.8 ส่งผลให้ AX700 มีความไวแสงพอตัว นำไปถ่ายเวลากลางคืนในสถานที่ที่มีไฟประดับก็ไม่ต้องดัน ISO สูงมาก แต่ในแง่ความสามารถละลายฉากหลังนั้น F/2.8 กับเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1 นิ้ว การแยก subject ออกจากฉากหลังยังไม่ถึงกับโดดเด่น ส่วนใหญ่ภาพที่ได้จะออกไปทางชัดลึกมากกว่า ซึ่งในแง่ความชัด ทำได้คมยัดขอบ ไม่มีจุดให้ต้องติติงที่ระยะ Wide

7 กลีบรูรับแสงที่ F/2.8 (ระยะ 29mm) ให้ Bokeh ค่อนข้างกลม แต่โอกาสเห็น Bokeh ตามการใช้งานปกติคงไม่บ่อยนัก (ถ้าไม่ตั้งใจถ่ายไฟแบบปรับโฟกัสให้เบลอ)
ตัวอย่างภาพนิ่งทดสอบคุณภาพเลนส์ของ AX700 เมื่อเปิดรูรับกว้างสุด ที่ระยะ Wide 29mm (F/2.8) เปรียบเทียบกับที่ระยะ Telephoto 348mm (F/4) ตัวอย่างภาพนิ่งทดสอบคุณภาพเลนส์ของ AX700 เมื่อเปิดรูรับกว้างสุด ที่ระยะ Wide 29mm (F/2.8) เปรียบเทียบกับที่ระยะ Telephoto 348mm (F/4)
ภาพข้างต้น ทำการ Crop 100% ให้เห็นรายละเอียดคุณภาพเลนส์จากทั้ง 2 ระยะ ชัดๆ

หากทำการซูมจากมุมกว้าง ไปที่ระยะเทเลโฟโต้ รูรับแสงจะหดแคบลงเรื่อยๆ จาก F/2.8 ไปหยุดที่ F/4 นอกจากนี้คุณภาพของภาพที่ได้ช่วงระยะเทเลโฟโต้จะตกลงเล็กน้อย ทั้งคอนทราสต์ ความคมชัด และมีโอกาสเห็นขอบม่วง (Chromatic Aberration) ง่ายกว่า ภาพติดฟุ้งนิดๆ แต่โดยรวมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี (ภาพที่เห็นมีโทนสีแตกต่างกันเล็กน้อยเนื่องจากผลของ Auto White Balance) บางจุดสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมแต่งรูป ซึ่งด้วยระยะเลนส์ซูมที่ไกลมาก ยังคงเป็นจุดแข็งหลักที่จะได้ใช้ประโยชน์ในสถานการณ์จริงอยู่บ่อยครั้ง

สามารถดาวน์โหลดภาพนิ่งต้นฉบับที่ได้จากการทดสอบ AX700 (Photo Mode) เพิ่มเติม >>ที่นี่<<

สรุป

ศักยภาพอันโดดเด่นจากระบบโฟกัสที่รวดเร็ว แม่นยำ บวกกับลูกเล่นที่ให้อรรถประโยชน์หลากหลาย AX700 จึงนับเป็นอุปกรณ์สร้างสรรค์งานวิดีโอสำหรับยุค 4K HDR ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าอนาคตเราคงจะได้เห็นผลงานคุณภาพรูปแบบใหม่นี้อย่างแพร่หลาย เพราะคอนเทนต์วิดีโอแบบ HDR จะไม่จำกัดที่มา เฉพาะจากสตูดิโอใหญ่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว เราๆ ท่านๆ ก็มีสิทธิ์ทำออกมาเผยแพร่ได้ไม่ยาก

จุดเด่นของ Sony FDR-AX700

– ความสามารถระดับกล้องวิดีโอ Prosumer ความละเอียด 4K แต่มีขนาดบอดี้ค่อนข้างเล็ก น้ำหนักเบา ออกแบบให้จับถนัดมือ

– Back Illuminated Exmor RS stacked CMOS sensor ขนาด 1″ ล่าสุด ให้การถ่ายโอนข้อมูลไปยังหน่วยประมวลผล BIONZ X ได้อย่างรวดเร็ว รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ High Frame Rate สูงสุดถึง 1000 fps (Slow Motion)

– Fast Hybrid Auto Focus โดดเด่น โดยเฉพาะการติดตามวัตถุ ให้ความแม่นยำสูง ตอบสนองรวดเร็วฉับไว จุดโฟกัส 273 จุด (PDAF) ครอบคลุม 84% ของพื้นที่เซ็นเซอร์ 

– เลนส์ซูม 12 เท่า มาตรฐาน Zeiss Vario-Sonnar T* ครอบคลุมระยะ Wide-angle ถึง Telephoto ให้ความยืดหยุ่นสูง ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์มอเตอร์ทำงานเงียบ ให้ฮูดครอบป้องกันหน้าเลนส์มาด้วย

– คุณภาพวิดีโอโดดเด่น รายละเอียดคมชัดทั้ง 4K และ Full HD; HLG Picture Profile (PP10) สามารถเก็บ Dynamic Range ได้กว้างขึ้นจริง นำไปใช้ได้ทั้ง SDR และ HDR สะดวกเมื่อนำไปรับชมกับจอภาพทั้ง 2 มาตรฐาน แม้ไม่ผ่านการเกรดดิ้งก็ไม่ต้องกังวลว่าสีจะบิดเบือนผิดเพี้ยน

– Slow & Quick Motion และ Super Slow Motion (up to 1000 fps) ไปจนถึง NightShot ฟีเจอร์เสริมที่สร้างสรรค์งานวิดีโอให้น่าสนใจแปลกใหม่ และเพิ่มประโยน์ใช้สอยมากยิ่งขึ้น

– ช่องต่อครบครันตามมาตรฐานคอนซูเมอร์ ทั้ง HDMI Out (4K 30p 8-bit 4:2:2 Output), Headphone/Mic Stereo Minijack, Multi Interface Shoe, LANC port, Multi/Micro USB และ DC In พร้อม Dual Mem card slots และ Wi-Fi/NFC

– ให้รีโมตคอนโทรลไร้สายมาด้วย ช่วยให้การควบคุมตั้งกล้องถ่ายตัวเองสะดวกขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องต้องตั้งค่าส่วนใหญ่ผ่านตัวกล้องอยู่เนื่องจากรีโมตมีขนาดเล็ก ปุ่มน้อย ไม่ครอบคลุมทุกฟังก์ชั่น, สามารถเพิ่มเติมรีโมตภายนอกแบบใช้สายได้

จุดด้อยของ Sony FDR-AX700

– การบันทึกวิดีโอ 4K จำกัดคุณภาพสูงสุดที่ 4K 30p 4:2:0 8-bit 100Mbps ยังไม่รองรับ 4K 60p หรือ 4K 30p 10-bit

– Optical Quality ของเลนส์ซูมช่วงปลาย Telephoto จะตกลงเล็กน้อย ภาพติดฟุ้งนิดๆ แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีมากสำหรับเลนส์ระยะช่วงซูมกว้างถึง 12 เท่า

– ฟีเจอร์ควบคุมผ่านการสัมผัสหน้าจอ LCD Display ยังจำกัด การตอบสนองไม่ไวนัก บางครั้งต้องคอยกดย้ำๆ แต่ก็เพิ่มความสะดวกได้ในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับฟีเจอร์ Lock-on AF

– Optical SteadyShot ที่ระดับ Standard ลดการสั่นไหวได้แต่ต้องพยายามเกร็งมือให้นิ่ง ส่วนที่ระดับ Active ศักยภาพสูงขึ้น ลดการสั่นไหวได้ดีแม้ถือถ่ายมือเดียวแบบสบายๆ แต่ภาพจะถูกคร็อปหายไปบางส่วน

– Photo Mode สามารถถ่ายภาพนิ่งและคุณภาพภาพที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ดี แต่น่าเสียดายที่การตั้งค่ากล้องเชิงลึกเพื่อใช้ถ่ายภาพนิ่งจำกัดเกินไป จึงใช้งานได้ไม่ครอบคลุมทุกสถานการณ์

ราคา Sony FDR-AX700

64,990 บาท