16 Jun 2017
Review

สวยไฮโซ ! รีวิว Sony KD-55X9000E 4K HDR Android TV คุณภาพไฮเอ็นด์


  • lcdtvthailand

ภาพ

สเป็คด้านภาพของ Sony X9000E มีความละเอียด 4K Ultra HD หรือหากคำนวณเป็นพิกเซลก็เท่ากับ 3840 x 2160 พิกเซล พร้อมรองรับ HDR : High Dynamic Range มาตรฐาน HDR10 มีโครงสร้างหลอดไฟแบ็คไลท์แบบ Direct พร้อมฟีเจอร์ Local Dimming หรือการดิมไฟเป็นโซนๆ ซึ่งให้คุณภาพดีกว่า Edge LED ที่มีฟีเจอร์ Local Dimming ทั่วไป ใช้ชิพประมวลผล 4K HDR X1 พร้อมเทคโนโลยี Triluminos Display ช่วยขยายขอบเขตการแสดงเฉดสีให้กว้างขึ้น มีฟีทเจอร์แทรกเฟรมภาพอย่าง Motion Flow ช่วยเรื่องภาพเคลื่อนไหว (เลือกเปิดหรือปิดก็ได้) ส่วนหน้าจอเป็นชนิด VA Panel โครงสร้าง RGB แท้ ซึ่งมีข้อดีคือให้ภาพที่สว่างเปิดโปร่ง และให้รายละเอียดในที่มืดได้ดี

โหมดภาพสำเร็จรูปนั้นมีมาให้เลือกมากมายทั้ง Vivid, Standard, Photo, Game, Animation และอื่นๆ แต่โหมดที่ผมขอแนะนำเพราะให้ค่าแสงสีได้เที่ยงตรง โทนภาพออกแนวอบอุ่นเฉกเช่นโรงภาพยนตร์ ก็ได้แก่โหมด Cinema Home เอาไว้ใช้กับห้องนั่งเล่นที่มีสภาพแสงทั่วไป เช่นดูทีวีตอนกลางวัน หรือตอนเย็น และอีกโหมดคือ Cinema Pro ซึ่งระดับความสว่างจะลดลงมาเล็กน้อย เหมาะกับการรับชมตอนกลางคืน หรือห้องมืด สำหรับการเล่นเกมส์แน่นอนว่าโหมดภาพที่ให้ค่า Input Lag ต่ำที่สุด เพื่อให้ทีวีตอบสนองต่อคำสั่งจากจอยเกมส์ของเราได้ว่องไวที่สุดก็คือโหมด Game ชื่อตรงตัวแบบนี้นี่แหละ ถ้าหากต่อคอมพิวเตอร์ แล้วอยากให้ตัวอักษรคมๆ พร้อมระดับความสว่างและโทนสีสบายตา ก็ต้องใช้โหมด Graphics เท่านั้น ฟันธง

โหมดภาพสำเร็จรูปที่แนะนำคือโหมด Cinema Home
โหมดภาพสำเร็จรูป พร้อมบอกอุณหภูมสีที่วัดได้ รวมถึงความสว่าง และอัตราการกินไฟ พวกโหมด Cinema Home / Cinema Pro / Custom / Photo / Graphics ให้ค่าตั้งแต่เริ่มอยู่ในเกณฑ์ “ดี” ใกล้มาตรฐานอ้างอิงจุด D65 หรืออุณหภูมิสีใกล้เคียง 6500K
ก่อนปรับภาพค่า White Balance Balance หรือสมดุลแสงขาวถือว่าพอใช้ได้ตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่เพอร์เฟกต์ 100% อยู่ดี
หลังปรับภาพด้วยเมนู 10P White Balance สมดุลแสงขาวจัดว่าดีมาก
การปรับภาพแบบ SDR : Standard Dynamic Range จะส่งผลต่อภาพ HDR ไปโดยปริยายทันทีด้วย ต่างจากทีวียี่ห้ออื่นที่ต้องปรับ SDR ทีนึง แล้วมาปรับ HDR อีกที
ค่า White Balance แบบ HDR ก็จัดว่าใช้ได้ในทุกๆช่วงความสว่าง จึงสรุปว่าไม่ว่าจะเป็นภาพ SDR หรือ HDR แล้ว หากผ่านการไฟน์จูนค่า White Balance ซักหน่อยก็จัดว่าดีเยี่ยม ส่วนขอบเขตของสีเป็นที่น่าเสียดายว่าเจ้า X9000E ทำได้กว้างประมาณ 85.4 % ของมาตรฐาน DCI-P3 เท่านั้น จึงมิอาจผ่านมาตรฐาน Ultra HD Premium อันโหดเหี้ยมประจำวงการ

เริ่มทดสอบด้วยหนัง 4K HDR เรื่อง Sully ที่กัปตันซัลเล่นเบอร์เกอร์นำเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินในลุ่มแม่น้ำฮัดสัน ใบหน้าที่นำแสดงโดย ทอม แฮงค์ ที่ถูกขับออกจาก X9000E ก็ให้สีผิว (Skin Tone) ได้มีความถูกต้องเป็นธรรมชาติสูงเช่นเคย ไม่ได้ติดอมแดงอมเขียวหรือโทนใดให้ผิดแปลกแต่ประการใด สามารถส่งผ่านอารมณ์ตึงเครียดจากใบหน้าของท่านกัปตันตอนนำเครื่องบินถลาลงแม่น้ำแบบฉุกเฉิน ไปสู่ผู้รับชมให้รู้สึกลุ้นระทึกตามด้วยอาการบีบหัวใจ ความสะอาดสะอ้านของภาพอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมเช่นกัน ยิ่งเป็นแผ่น 4K HDR ที่ภาพดีๆด้วยแล้ว ภาพจึงดูเนียนตาเป็นพิเศษ ทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นการตอกย้ำอีกขั้นว่าเจ้า X9000E ยังคงสานต่อคาแรกเตอร์ภาพสไตล์ Sony ไว้อย่างชัดเจน  

สีหน้าอันรันทดของกัปตันซัลเล่นเบอร์เกอร์

ถัดมาผมลองเรื่อง Hacksaw Ridge ซึ่งเป็นเรื่องราวของนายทหารฝ่ายเสนารักษ์ผู้หาญกล้า ซึ่งเรื่องนี้ผู้ผลิตหนังเขาจะแต่งแสงสีของโทนหนังให้ดู เข้มตึง” เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศสงครามปะทุในอดีตออกมา ซึ่งทั้งแนวภาพและเนื้อเรื่องก็มีความเข้มข้นพร้อมความลุ้นระทึกตลอดเวลา Sony X9000E ถ่ายทอดแนวภาพดังกล่าวออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ทั้งโทนภาพแนวย้อนยุค ภาพเคลื่อนไหวในฉากประจัญบาน ใบหน้าที่ทั้งเปื้อนโคลนเปื้อนเลือด ผมยกให้มีความเป็นมอนิเตอร์สูงมาก หากเทียบกับพวกซีรีส์ 6 / 7 ไม่ว่าจะค่ายตัวเองหรือคู่แข่ง X9000E สามารถให้คุณภาพของภาพได้ทิ้งห่างแบบหนึ่งขยักครึ่งเลยทีเดียว 

หากเทียบกับตัวท็อปอย่าง X9300E ในเรื่องระดับความดำ-ความสว่าง และความเนียนในการทำ Local Dimming เจ้า X9000E ยังเป็นรองเล็กน้อยเพราะรุ่นพี่ตัวท็อปเขาใช้โครงสร้างหลอดไฟแบบใหม่ไฉไลกว่าเดิม มีชื่อเรียกว่า “Slim Backlight Drive+” ซึ่งทำการซ้อนโครงสร้าง Edge LED ไว้ถึง 2 ชุดด้วยกัน ซึ่งเท่ากับว่ามีหลอดไฟแถบบนและแถบล่างรวมกันถึง 4 แถบ ในขณะที่ X9000E ใช้โครงสร้าง Direct LED พร้อมฟีทเจอร์ Local Dimming กล่าวคือมีหลอดไฟวางเรียงกันต็มหลังจอ แต่จำนวนไม่เยอะและถี่เท่า Full LED เต็มรูปแบบอย่างรุ่น Z9D ซึ่งจะดิมได้ละเอียดยิ่บกว่า อย่างไรก็ตาม Direct LED with Local Dimming ของ X9000E ก็ดิมไฟเป็นโซนๆได้เนียนและมีประสิทธิภาพกว่า Edge LED with Local Dimming แบบปกติของค่ายตัวเองและค่ายอื่นอยู่พอสมควร

Auto Local Dimming คือฟีเจอร์การดิมของหลอดไฟ LED ที่จะเปิด-ปิด-หรี่ อัตโนมัติให้สัมพันธ์ฉากมืดฉากสว่าง การเลือกปรับระดับ Low หรือ Medium เป็นระดับที่ผมแนะนำอย่างยิ่ง คืออาจจะไม่ได้ดำสนิทเป็นโซนๆอย่างเด็ดขาดขนาดนั้น ทว่าความเนียนในการดิมไฟจากมืดไปสว่างนั้นมีความเนียนตามากกว่า จึงดูเป็นธรรมชาติกว่า จะไม่กระโชกโฮกฮากเท่าระดับ High อย่างไรก็ตามข้อดีของระดับ High คือให้ระดับความดำเป็นโซนๆได้ดำสนิทกว่า สุดท้ายเราต้องคำนึงถึง “ความสมดุล” ของทั้งภาพจากทีวีและการนั่งรับชมในสถานการณ์จริงเป็นหลัก จึงแนะนำให้เลือกระดับ Low หรือ Medium ในการรับชมจริงจะดูดีที่สุด

โทนภาพจากหนังสงครามเรื่อง Hacksaw Ridge จะเป็นโทนดาร์คมีกลิ่นอายสงครามในอดีต ซึ่ง X9000E ถ่ายทอดออกมาได้ตรงตามที่ผู้กำกับต้องการสื่ออกมา ผมจึงขอใช้คำว่า X9000E มีความใกล้เคียงกับ “จอมอนิเตอร์อ้างอิง”

ทดสอบเอฟเฟกต์แสงสีภาพ HDR จากหนัง 4K HDR เรื่อง Fantastic Beasts ฉากที่ตัวโกงร่ายคาถายิงแสงจากไม้กายสิทธิ์ใส่สมาชิกกระทรวงเวทย์มนต์ ให้ความ เจิดจรัส” ของแสงสีได้อยู่ในเกณฑ์ 4K HDR LED TV ระดับสูง ดีกว่าพวกซีรีส์ 6 7 8 ของตัวเองแบบเห็นต่าง ตัวเนื้อหน้าจอเองจะออกแนว “มันวาว” เป็นทุนเดิมแล้วอยู่ด้วย จึงส่งผลให้ภาพมีความ “อิ่มฉ่ำ” ขึ้นอีกระดับ ฉีกหนึพวก X7000E / X8000E แบบเห็นได้ชัดด้วยข้อนี้แหละ

ผมขอเปรียบเทียบ Sony X9000E / X9300E กับคู่แข่งอย่าง Samsung QLED TVเพื่อความกระจ่างในเรื่องของ แนวภาพ”  

– Sony ซีรีส์ 9 จะให้ความเป็น “ธรรมชาติ” สูงมาก ให้ “สมดุล” ของแสงสีได้ดีสุดเป็นลำดับหัวแถว 

– ในขณะที่ QLED TV จะเด่นที่ “ความสด” แสงสีจะออกแนว “รุกเร้า” เตะตาแต่แรกพบ

ฉากร่ายเวทย์ซัดกันจากเรื่อง Fantastic Beasts
ภาพจากเกมส์ก็ให้ออกมาสดอิ่มกำลังดี ได้ความวาวจากพาแนลช่วยขับความอิ่มของสีได้ดีขึ้นอีกระดับ
ภาพความละเอียด 1080p จากแผ่นบลูเรย์เรื่อง Journey 2 ความสามารถในการอัพสเกลของชิพ X1 อยู่เกณฑ์น่าพอใจ ภาพคมชัดขึ้นแบบเป็นธรรมชาติดี มิได้สร้าง Noise ขึ้นมารวบกวน

Input Lag

ค่า Input Lag คือค่าการดีเลย์ของการแสดงผลทีวีต่อคำสั่งจอยเกมส์ ยิ่งต่ำ = ยิ่งตอบสนองได้ไวทัน่วงที ทำให้การอรรถรสการเล่นเกมส์มีความ Real Time สูงสุด โดยมาตรฐานแล้วหากต่ำกว่า 40 ms ก็จะจัดว่าดี X9000E ตัวนี้ในโหมด Game จะทำได้อยู่ประมาณ 32 ms ซึ่งถือว่าดีพอสมควรเลย ในขณะที่โหมดอื่นๆอย่าง Vivid / Standard จะกระโดดสูงไปถึง 107 ms ฉะนั้นหากจะเล่นเกมส์ก็แนะนำโหมด Game ในโหมดภาพสำเร็จรูปเลย หมายเหตุว่าเดี๋ยวนี้ทีวี Sony แอบฉลาดขึ้น หากเราเลนเกมส์ในแอพส์ Android TV ตัวเครื่องก็จะปรับโหมดภาพเป็น Game อัตโนมัติให้ด้วย

สรุปเรื่องภาพ Sony X9000E ให้ภาพที่มีความถูกต้องเป็นธรรมชาติสูงเช่นเคย แนวภาพยังได้ความอิ่มมันวาวเสริมขึ้นมาอีกเล็กน้อยเพื่ออรรถรสในการรับชมที่เข้มข้นขึ้น รายละเอียด ความสะอาดสะอ้านอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม พวกจุดอ่อนเดิมๆอย่างมุมมองการรับชมภาพก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกขั้น ไม่ซีดเซียวจนเกินไปนักหากมองมุมเฉียงมากๆดั่งจอ VA รุ่นก่อน ระดับความดำ-สว่าง โมชั่นภาพเคลื่อนไหวก็อยู่ในเกณฑ์ดี มี Motion Flow เอาไว้ปรับแต่งความลื่นไหลของภาพเพิ่มเติมอีก โหมดภาพสำเร็จรูปมีให้เลือกมากมายเพื่อเลือกแมตช์กับประเภทคอนเทนต์ที่รับชมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโหมด Cinema, โหมด Game, และ โหมด Graphics เอาไว้ต่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละโหมดจะปรับจูนแสงสีมาได้ดีตั้งแต่ต้น พร้อมใช้งานได้ทันทีแบบไร้กังวล โดยรวมแล้วเป็นทีวีเกรดและราคาไฮเอ็นด์ที่มี สมดุลด้านภาพสูง” คู่ควรกับเลขซีรีส์ 9 

ส่วนข้อติก็จะมีเช่นคำศัพท์ในเมนูปรับภาพต่างๆยังค่อนข้างใช้สับสนอยู่บ้าง อย่างปกติหากเราจะปรับระดับความสว่างของหน้าจอจะต้องเลือกใช้เมนูที่มีชื่อว่า Backlight (คือการปรับระดับความสว่างหรือ Luminance)  แต่ของทีวี Sony ดันชื่อว่า Brightness (ซึ่งจริงๆ Brightness แปลว่าระดับของสีดำ หรือ Black Level ซึ่งการปรับค่า Brightness ก็จะเป็นคำศัพท์ว่า Black Level มาทับแทนที่โต้งๆ) เพราาะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้มีการสังคายนาเมนูใหม่ทั้งหมด พยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แปลง่ายตรงตัว คำศัพท์เลยผิดเพี้ยนไม่ถูกตามหลักการไปบ้าง อีกจุดคือในโหมดภาพสำเร็จรูปหลายๆโหมดจะเปิดเซนเซอร์ปรับระดับความสว่างอัตโนมัติหรือ Light Sensor ให้เป็น On ตั้งแต่ต้น ระดับความสว่างอาจจะดูวูบวาบบ้างตามสภาพแสงภายห้อง ณ เวลานั้น ท่านไหนไม่ชอบก็ปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไปได้