10 Dec 2016
Review

พร้อมรบจบในเครื่องเดียว! รีวิว Toshiba 49L5650VT เครื่องแรกบนแพล็ตฟอร์ม Opera TV


  • boom

Picture – ภาพ

มาเปิดดูภาพจริงกันสักหน่อย ผมเลือกเอาภาพยนตร์เรื่อง Alice Through the Looking Glass มาเปิดเป็นลำดับแรก ด้วยความที่บันทึกมาในอัตราส่วน 1.85:1 ทำให้ได้ภาพเต็มจอแบบ 16:9 พอดี้พอดี แน่นอนว่ามาตรฐานการถ่ายทำของ Disney ไม่เคยทำให้เราผิดหวังอยู่แล้ว ภาพที่ได้จึงมีเม็ดน๊อยส์ให้เห็นน้อยมาก แล้วก็อุดมไปด้วยฉากสีสันสวยสดจากแสงสีของเอ็ฟเฟ็คในฉาก

เช็ครายละเอียดในที่มืดในช่วงความต่างแสงซักหน่อย

ดู Alice ในโหมด User ให้สีสันที่ค่อนข้างได้อารมณ์ Movie คล้ายๆ ในโรงภาพยนตร์อยู่พอตัว ความสะอาดใสของภาพก็ทำได้ดีตามมาตรฐาน ด้านภาพเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้โดดเด่นมาก เนื่องจากตัวทีวีไม่ได้มีฟีเจอร์แทรกเฟรมภาพหรือโหมดพิเศษอะไรให้เราได้เล่น จึงอาจจะมีเงาตามวัตถุเวลาที่เฟรมนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วให้เจอบ้างตามธรรมชาติ หากไม่ได้จดจ้องกับฉากนั้นๆ ก็แทบจะจับผิดไม่ค่อยได้

ต่อด้วย Star Wars : Force Awaken เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบเอามาทดสอบครับ ในเรื่องนี้เราจะได้เจอสีสันที่เกิดจากแสงธรรมชาติซะส่วนใหญ่ ซึ่งจะต่างจาก Alice ที่เป็นฉาก Render ขึ้นมา แต่ก็แน่นอนว่าการถ่ายทำแบบนี้จะทำให้ภาพมีความกร้านตามสไตล์กล้องให้พบเห็น

Star Wars จะแตกต่างกับ Alice ตรงที่ไม่ได้มีฉาก CG ด้านหลังสีสดสวย เราจึงพอจะสังเกตุดูสีธรรมชาติได้
รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้านักแสดง คือตัวแทนบอกความสามารถในการแสดงรายละเอียดของทีวี
อย่างทีวีตัวนี้ อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คือแสดงรายละเอียดริ้วรอยเส้นใหญ่ๆ ให้เห็นชัดเจนดี
แต่พวกรายละเอียดยิบย่อยบนใบหน้าอาจจะมีเลือนลางบ้างเล็กน้อย

ปิดท้ายการดูภาพด้วยการเล่นเกม เพื่อทดสอบภาพเคลื่อนไหวแบบจริงจังกันไป โดยผมได้ปรับให้ตัวเกมรันที่ 60fps ซึ่งเป็นเฟรมเรตที่ตรงกับ Refresh Rate ของตัวทีวี 60Hz เพื่อลดอาการเบลอของภาพเวลาเหวี่ยงกล้องรอบๆ ตัวละคร ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการวัดประสิทธิภาพของ HDMI Input Lag ว่าภาพบนจอจะตอบสนองต่อการกดปุ่มได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด

ภาพจาก Rise of the Tomb Raider จังหวะเบนซ้ายขวายังมีอาการเบลอให้เห็นอยู่บ้าง
Just Cause 3 เกมที่ตัวเอกสามารถดึงสลิงพาตัวไปไหนมาไหนได้อิสระ
จึงเป็นเกมที่มีฉากเคลื่อนไหวแบบฮาร์ดคอร์ให้เราเห็นบ่อยๆ ซึ่งถ้าทีวีวิ่งตามไม่ทัน คนเล่นอาจจะมีมึนหัวได้

ภาพเคลื่อนไหวจากเกมที่วิ่งตรง Refresh Rate ตลอดเวลา ให้ความลื่นไหลที่ดีระดับหนึ่ง เสียดายที่โตชิบาไม่ได้ใส่ฟีเจอร์แทรกเฟรมภาพมาให้เลือกใช้ มิเช่นนั้นน่าจะช่วยยกระดับความลื่นเนียนให้ดีขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตามสำหรับชาวเกมคอนโซลทีวีตัวนี้น่าจะสอบผ่านสบายๆ เพราะเฟรมเรตส่วนใหญ่อยู่ที่ 30fps นับว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเท่าไรนัก

Sound – เสียง

49L5650VT มาพร้อมกับลำโพงกำลังขับ 10 วัตต์ จำนวน 1 คู่ พร้อมโหมดเสียงสำเร็จรูปจากโรงงาน 3 โหมด ปรับแต่งได้เองอีก 1 ส่วนตัวผมแนะนำให้เลือกโหมด User จากนั้นปิดทุกฟีเจอร์เสียงเซอร์ราวด์ แล้วเพิ่ม Treble ขึ้นนิดหน่อยจะช่วยให้เสียงใสกระจ่างขึ้น และเหมาะกับการใช้งานหลากหลายแบบ ตั้งแต่ดูหนังยันเล่นเกมชมเอ็มวี

ตัวเลือกค่อนข้างยืดหยุ่นให้กับผู้ใช้ เพราะเราสามารถเลือกได้ว่าจะปรับแค่ Bass กับ Treble
หรือใครเซียนก็เลือกปรับเป็นย่านความถี่เสียงแทนด้วยการเปิด Equalizer Mode

Extra – เพิ่มเติม

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของทีมงานที่จะได้ลองใช้งานแพล็ตฟอร์มสมาร์ททีวีจาก Opera บนทีวีตัวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่โด่งดังจากการทำ Web Browser ให้กับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ที่หันมาร่วมวงในโลกความบันเทิงแห่งนี้ด้วย

แม้ Opera TV จะเกิดขึ้นมาไม่นาน แต่ค่อนข้างเนื้อหอมพอสมควร เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sony, TCL, Samsung ต่างก็ให้ความสนใจร่วมเป็นคู่ค้ากับทาง Opera กันทั้งสิ้น แน่นอนว่าฟีเจอร์สำคัญที่จะมาดึงดูดผู้ใช้ ก็คงเป็นออนไลน์คอนเทนต์จากผู้ผลิตสื่อชั้นนำอย่าง TED, Wired หรือ fashiontv เป็นต้น

เริ่มต้นการใช้งานด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านตัวรับ Wi-Fi ภายในเครื่อง จากนั้นก็แค่กดปุ่ม Home บนรีโมท ตัวเครื่องก็จะพาเราเข้าสู่หน้าหลักที่เรียกว่า Home Launcher

(toshiba home launcer)

ใน​ Home Launcher นี้จะแสดงรายการของแอปพลิเคชั่นที่เราใช้งานบ่อยๆ รวมไปถึงบุ๊คมาร์คของเว็บไซต์ที่เราชื่นชอบ ซึ่งเราสามารถทำการปรับเพิ่มลดได้อิสระ

เมื่อเข้ามาที่หน้าแรกเราก็จะเจอกับวิดีโอที่กำลังได้รับความนิยมที่ตัวระบบเลือกมาให้ พร้อมกับแอปพลิเคชั่นที่แนะนำ ซ้ายมือจะเป็นเหมือนกับเมนูลัดสู่หมวดต่างๆ ภายใน Opera TV คล้ายกับแพล็ตฟอร์มอื่นๆ

เราสามารถเลือกชมวิดีโอได้จากช่องที่เราต้องการ อย่างอันนี้เป็นสารคดีชีวิตของแม่ครัวฝึกหัดในนิวยอร์ค
นอกจากออนไลน์วิดีโอแล้ว ก็จะมีเกมลับสมองขนาดเล็กๆ ที่ดูแล้วไม่ซับซ้อนจนเกินไป
สามารถใช้เล่นฆ่าเวลาได้
นอกจากออนไลน์วิดีโอแล้ว ก็จะมีเกมลับสมองขนาดเล็กๆ ที่ดูแล้วไม่ซับซ้อนจนเกินไป
สามารถใช้เล่นฆ่าเวลาได้
เกมนี้ใช้การบวกเลขเพื่อสู้กับคู่ต่อสู้ ถ้าได้เล่นคู่กับลูกๆ น่าจะช่วยพัฒนาให้เขาเก่งคณิตศาสตร์มากขึ้น

ทั้งหมดนั้นก็คือคอนเทนต์ภายในของ Opera TV ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิดีโอจากแชนแนลต่างๆ ทว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีคอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทย น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะครับ

นอกจาก Opera TV ที่เป็นจุดเด่นหลักแล้ว ทีวีตัวนี้ยังสามารถอัดรายการทีวีเก็บไว้ในแฟลชไดร์ฟหรือฮาร์ดดิสก์แบบพกพาได้อีกด้วย รวมไปถึงการอ่านไฟล์มีเดียต่างๆ ที่ตอนนี้กลายมาเป็นฟีเจอร์สามัญซึ่งมีให้ใช้งานบนทีวีแทบทุกเครื่อง

Web Browser ไว้ท่องเว็บที่แทนคอมพิวเตอร์ ซึ่งค่อนข้างจะเสถียรทีเดียว เพราะเหมือนกับใช้โครงมาจาก
Opera Web Browser สามารถเปิดให้ออกมาสวยงามได้ในหลายๆ เว็บ
เว้นแต่ว่าพวกเว็บที่มี Flash Video อย่างบรรดาเว็บดูซีรี่ย์ออนไลน์ ซึ่งจะไม่สามารถแสดงผลได้เหมือนคอมพิวเตอร์เป๊ะๆ
ส่วนเรื่องการใช้งานผมอยากแนะนำให้เชื่อมต่อกับเม้าส์และคีย์บอร์ดไร้สาย จะช่วยให้ทำอะไรได้ง่ายกว่ารีโมท
ดิจิตอลทีวีจูนเนอร์ภายในตัว ไม่ต้องพ่วงกล่องให้สายรกรุงรัง
ภาพคมอารมณ์ได้ แล้วถ้าถูกใจฉากไหน ก็สามารถอัดไว้ดูได้อีกด้วย

การอัดรายการต่างๆ ผ่านช่องสัญญาณ Digital เราจะต้องเตรียม Flashdrive ไม่ก็ฮาร์ดดิสก์แบบพกพามาก่อน เช็คดูให้แน่ใจว่าไม่มีข้อมูลข้างใน เพราะอาจเป็นไปได้ว่าตัวทีวีจะเขียนข้อมูลทับ จากนั้นก็เสียบเข้าหลังเครื่อง แล้วกดปุ่ม REC บนรีโมทได้ทันที ตัวเครื่องก็จะเริ่มบันทึกข้อมูลลงไป โดยจะมีเวลาที่เหลือบอกด้านบนแผงควบคุมตามรูปด้านบน เมื่อต้องการจะหยุดอัดก็เพียงกดที่ปุ่มสี่เหลี่ยม อะไรจะสะดวกง่ายแค่ปลายนิ้วขนาดนี้

นอกจากนี้โตชิบายังการันตีว่าเขาสามารถเล่นไฟล์ผ่านพอร์ต USB ได้กว่า 30 ประเภท 
ผมเองก็ไม่รู้จะไปหาไฟล์เหล่านั้นมาจากไหน
จึงขอเทสต์แค่เพียงนามสกุลเด่นๆ อย่าง MKV, AVI, MP4 อะไรแบบนี้ ซึ่งก็เล่นได้ไม่มีปัญหาขัดข้องอะไร
พร้อมกับเลือกเสียง เลือกซับฯ ได้ตามสะดวก