22 Jun 2014
Review

หนึ่งในปฐพี !! รีวิว VELOCITA ROME V สุดยอดสายลำโพง ไฮเอ็นด์ทั้งตัวและหัวใจ


  • ชานม

การติดตั้งใช้งานสายลำโพงนั้นไม่ยุ่งยาก ปกติขั้วต่อสายลำโพงมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์เครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นแอมป์หรือลำโพง จะเป็นรูปแบบไบดิ้งโพสต์ รองรับคอนเน็คเตอร์สายลำโพงแบบบานาน่าได้แทบทั้งสิ้น วิธีการเพียงแค่เสียบปลายสายลำโพงด้านต้นทางเข้ากับแอมปลิฟายเออร์ และด้านปลายทางเข้ากับลำโพง โดยดูทิศทางจากลูกศรบนตัวสาย การหันทิศทางจะเป็นประมาณนี้ “Amplifier ► Speaker”

ไม่ว่าจะเป็นแอมปลิฟายเออร์ของซิสเต็มฟังเพลง 2 แชนเนล หรือโฮมเธียเตอร์
ใช้ร่วมกับ AV Receiver หรือมัลติแชนเนลเพาเวอร์แอมป์ สามารถเสียบต่อใช้งานสายลำโพง Rome V ได้อย่างมั่นคง

บางอุปกรณ์ หากออกแบบโครงสร้างขั้วต่อสายลำโพงสั้นสักหน่อย อาจดูเหมือนเสียบเข้าไม่สุด ทว่ามิได้ส่งผลกับความมั่นคงใดๆ สามารถใช้ได้ตามปกติ แต่มีข้อควรระวังนิดหน่อย คือ ด้วยโครงสร้างสายลำโพง Rome V ที่ค่อนข้างแข็ง และน้ำหนักมากพอดู อาจต้องพิจารณาพื้นที่ว่างเพื่อใช้ในการเสียบต่อสาย และน้ำหนักของอุปกรณ์จะต้องมากพอเพื่อมิให้ถูกน้ำหนักสายลำโพงถ่วงจนร่วงลงมา

Extra – เพิ่มเติม

Special Tips!

เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผมมีแนวทางการใช้งานสายลำโพงเพิ่มเติมให้พิจารณา ดังนี้

ปกติถ้าเป็นการเชื่อมต่อใช้งานลำโพงปกติ และเสียบสายเชื่อมระหว่างแอมป์กับลำโพงโดยดูทิศตามลูกศร
ก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ในกรณีที่ลำโพงออกแบบขั้วลำโพงแบบ “ไบไวร์” จะมีขั้นตอนที่พิเศษกว่าเล็กน้อย

เชื่อมต่อ “สายลำโพงซิงเกิลไวร์” กับ “ลำโพงไบไวร์” อย่างไร ให้เสียงดี?

โดยทั่วไปลำโพงที่ติดตั้งขั้วต่อแบบไบไวร์ จะมาพร้อมกับ จัมเปอร์ (Jumper) ที่มีลักษณะเป็นโลหะเชื่อมระหว่างขั้วบน (HF) และขั้วล่าง (LF) จัมเปอร์นี้อาจมาเป็นแท่งโลหะกลมๆ หรือแบนๆ ก็ได้ แล้วแต่ดีไซน์ของผู้ผลิตลำโพง รูปลักษณ์อาจต่างไปบ้างแต่ทำหน้าที่เหมือนกัน

เป็นที่ทราบดีว่า คุณภาพของจัมเปอร์จะส่งผลกับคุณภาพเสียง เพราะทำหน้าที่เป็นทางผ่านสัญญาณ (แทนการแยกสายลำโพง 2 ชุด แบบไบไวร์) แต่ปัญหาที่พบ คือ จัมเปอร์ที่แถมมากับลำโพงมักมีคุณภาพไม่สู้ดีนัก กรณีที่เชื่อมต่อสายลำโพงแบบซิงเกลไวร์ ร่วมกับลำโพงไบไวร์ ก็ไม่สามารถเลี่ยงจัมเปอร์นี้ได้เสียด้วย แต่ก็มีแนวทางการเชื่อมต่อสายลำโพงซิงเกิลไวร์ เพื่อใช้ในการไฟน์จูนเสียงได้ ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง เสียบสายลำโพงกับขั้วบน (HF) สัญญาณจากภาคขยายผ่านสายลำโพงตรงไปยังขั้ว HF โดยไม่ผ่านจัมเปอร์ จะส่งผลให้ได้เสียงที่เปิดกระจ่างเต็มที่ตามศักยภาพของลำโพงจะแจกแจงได้ เสียงร้องเป็นธรรมชาติมากที่สุด จากความคลุมเครือที่เกิดขึ้นน้อยกว่าแนวทางการเชื่อมต่ออีก 2 แนวทาง ที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่จุดด้อย คือ เบสจะคลุมเครือลงบ้าง เมื่อเทียบกับรูปแบบที่เสียบสายลำโพงกับขั้วล่าง (LF)

แนวทางที่สอง เสียบสายลำโพงกับขั้วล่าง (LF) สัญญาณจากภาคขยายที่ตรงไปยังขั้ว LF โดยไม่ผ่านจัมเปอร์ คุณภาพเสียงย่านต่ำจะเด่นที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 แนวทาง กล่าวคือ เบสจะเป็นตัวตนชัดเจนกว่าการเชื่อมต่อลักษณะอื่น ทว่าจุดด้อย ต้องแลกกับความคลุมเครือของย่านกลางแหลม ในบางกรณีหากแม็ตชิ่งซิสเต็มไม่ลงตัว แล้วพบว่าซิสเต็มให้เสียงที่ติดสว่างเกินไป การเชื่อมต่อสายลำโพงซิงเกิลไวร์กับขั้ว LF อาจช่วยให้เสียงที่เจิดจ้าเกินไปนั้น ประนีประนอมลง แต่หากคุณภาพจัมเปอร์ไม่สู้ดีนัก เสียงกลางจะติดแห้ง มิติเสียงจะย่อหย่อนลง

แนวทางที่สาม ไขว้ระหว่างขั้วบน (HF) และขั้วล่าง (LF) วิธีนี้จะเป็นการบาลานซ์จากทั้ง 2 แนวทางที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ดีหากจัมเปอร์มีคุณภาพไม่สู้ดีนัก ผลลัพธ์จากแนวทางนี้จะไม่มีความเด่น (เพราะทุกย่านจะถูกลดทอนโดยคุณภาพของจัมเปอร์) หากแนะนำให้ทดลองเชื่อมต่อตามแนวทางแรกก่อนครับ คือ เสียบสายกับขั้วบน (HF) เหตุที่ให้ความสำคัญย่านกลางแหลมก่อน เพราะเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพจัมเปอร์มากกว่าย่านต่ำ และเป็นย่านที่กำหนดความเป็นธรรมชาติของย่านเสียง แต่หากต้องการไฟน์จูน เพื่อเพิ่มเติมหรือลดทอนบางด้าน จะลองสลับรูปแบบอื่นเพื่อเปรียบเทียบหาความลงตัวดูก็ได้ ตามความเหมาะสม

หากไบไวร์ดีกว่าในทางทฤษฎี… ถ้าอย่างนั้นเลือกสายลำโพง “ซิงเกิลไวร์” หรือ “ไบไวร์” ดี?

ถ้าซิสเต็ม “ถึง” ทั้งภาคขยายที่มีกำลังสูงพอ กับลำโพงที่ออกแบบแยกครอสโอเวอร์อย่างพิถีพิถันเพื่อให้ไบไวร์ รวมถึงงบไม่เป็นปัญหา ผลลัพธ์การใช้งานร่วมกับสายลำโพงแบบไบไวร์ (หรือไบแอมป์) ย่อมจะสนองตอบในแง่ประสิทธิภาพสูงกว่าซิงเกิลไวร์ อย่างไรก็ดี มีคำถามตามมาว่า หากต้องเลือกระหว่าง สายลำโพงคุณสมบัติต่ำกว่า ที่มีโครงสร้างแบบไบไวร์ กับ สายลำโพง “ไฮเอ็นด์” แบบซิงเกลไวร์ แบบไหนจะให้ผลลัพธ์ดีกว่ากัน?

แม้ว่ารูปแบบ “ไบไวร์” ที่ทำการแยกโครงสร้างสายลำโพง 2 ชุดอิสระ จะได้เปรียบในเชิงทฤษฎี แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คุณภาพของสายลำโพง (จากโครงสร้าง วัสดุตัวนำ ฯลฯ) ทั้งนี้หากสายลำโพงมีคุณสมบัติสูงกว่ามาก การใช้งานเพียงเชื่อมต่อแบบซิงเกิลไวร์ ก็สามารถให้ความลงตัวเชิงผลลัพธ์ได้ดีกว่าสายลำโพงทั่วไปที่มีคุณสมบัติต่ำกว่า แต่เชื่อมต่อใช้งานแบบไบไวร์เสียอีก… ซึ่งกรณีของ Velocita Rome V – Single-Wire นั้น ให้ผลลัพธ์สูงกว่าสายลำโพงไบไวร์ระดับทั่วๆ ไป อย่างเห็นได้ชัดเช่นกันครับ 

No compromise = Double Bi-Wire/Bi-Amp !?

หากซิสเต็มถึงพร้อม และงบประมาณไม่ใช่ปัญหา การเชื่อมต่อสายลำโพงแบบ Double Bi-Wire หรือดีกว่านั้น คือ Bi-Amp ที่เบิ้ลจำนวนสายลำโพง 2 ชุด (รวมถึงภาคขยาย 2 ชุด สำหรับไบแอมป์) ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด! อย่างไรก็ดีด้วยงบประมาณดำเนินการที่ค่อนข้างสูง หากเทียบความคุ้มค่าแล้ว การอัพเกรดสายลำโพงไปเป็น Rome V – Single Wire จะให้ความคุ้มค่าสูงที่สุดครับ

หากงบประมาณของซิสเต็มหลัก (ชุดเครื่องเสียง) ไม่สูงมากนัก เช่น ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทลงไป การใช้งานสายลำโพง Rome V Single-wire จะช่วยอัพเกรดคุณภาพเสียงขึ้นได้มากแล้ว แต่หากอนาคตมีการอัพเกรดซิสเต็มเพิ่มเติม จะจัดหาสายลำโพง Rome V Single-wire อีกชุด มา “ไบแอมป์” ก็ยังทำได้อยู่ หรือหากต้องการประหยัดงบลง จะใช้ Rome V Single-wire (เชื่อมต่อกับขั้วลำโพง HF) คู่กับสายลำโพงรุ่นรอง คือ Rome I Single-wire (เชื่อมต่อกับขั้ว LF) ก็ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน

ต่อไป พิสูจน์คุณภาพเสียงของสายลำโพง “Hi-End” กันครับ