25 Oct 2015
Review

ขาวสวย เสียงรวยเสน่ห์ !!? รีวิว Wharfedale Diamond 200 Series Home Theater Speakers


  • ชานม

230 ลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็กสุดของ Diamond 200 Series รับหน้าที่เป็นลำโพงคู่หน้า ติดตั้งตัวขับเสียงสูงแบบโดมผ้าขนาด 25 มม. และตัวขับเสียงกลาง-ต่ำคู่ แบบ Woven Kevlar Cone ขนาด 165 มม. มีค่าความต้านทานปกติที่ 8 โอห์ม ความไว (Sensitivity) 88dB น้ำหนัก 17.8 กก. ต่อข้าง

230 และลำโพงตั้งพื้นรุ่นอื่นๆ ของ Diamond 200 Series จะให้เดือยแหลมและจานรองมาด้วย ดูดีกว่ามาตรฐานลำโพงระดับเดียวกัน หน้าที่มีไว้ใช้งานเพิ่มความมั่นคงในการตั้งวาง หากสังเกตด้านล่างของจานรองจะมีแผ่นวัสดุสังเคราะห์ลักษณะหยุ่นตัวรองรับอยู่

220C ลำโพงเซ็นเตอร์หนึ่งเดียวเวลานี้ของ Diamond 200 Series ติดตั้งตัวขับเสียงสูงแบบโดมผ้าขนาด 25 มม. และตัวขับเสียงกลาง-ต่ำคู่ แบบ Woven Kevlar Cone ขนาด 130 มม. มีค่าความต้านทานปกติที่ 8 โอห์ม ความไว (Sensitivity) 89dB น้ำหนัก 10 กก.

หากเทียบลำโพงเซนเตอร์รุ่นนี้ กับเจนฯ ก่อน (Diamond 101C และ 102C) จะพบบว่ารุ่นใหม่ปรับปรุงในส่วนฐาน
กล่าวคือรุ่นใหม่จะมีฐานติดตั้งมาด้วย เพื่อเอื้อกับลักษณะการไฟน์จูนจัดวางท่อเบสที่ด้านล่างตู้ลำโพงเหมือนกับรุ่นวางหิ้งและรุ่นตั้งพื้น ไม่ได้เปิดโล่งแล้วใช้โฟมอุดเหมือนรุ่นเก่า

ฐานของลำโพงเซ็นเตอร์นี้นอกจากทำให้ดูดีขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความมั่นคงในการจัดวางมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี มิติด้านสูงจะเพิ่มขึ้น จึงต้องการระยะตั้งวางมากขึ้นโดยเฉพาะหากต้องวางในซอกชั้น

210 ลำโพงน้องเล็กสุดของ Diamond 200 Series รับหน้าที่เป็นลำโพงเซอร์ราวด์ ซึ่งมาคราวนี้ดูจะเล็กจิ๋วลงเมื่อเทียบกับเจนฯ ก่อน (Diamond 121) ซึ่งนอกจากขนาดตัวตู้หดเล็กลงแล้ว ขนาดวูฟเฟอร์ Woven Kevlar ก็เล็กลงเหลือ 100 มม. (วูฟเฟอร์ของ 121 อยู่ที่ 130 มม.)

และ 210 จะใช้ท่อเบสแบบปกติจัดวางตำแหน่งไว้ด้านหลังตัวตู้ ไม่ได้วางไว้ด้านล่างพร้อมกับฐานแบบรุ่นอื่น อีกทั้งยังเป็นรุ่นเดียวที่ขั้วลำโพงเป็นแบบซิงเกิลไวร์ มีค่าความต้านทานปกติที่ 8 โอห์ม ความไว (Sensitivity) 86dB น้ำหนัก 2.6 กก. ต่อข้าง

WH-D10 ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้าย WH-S10 มาก ดูต่างกันแค่วัสดุและสีของตัวตู้ซึ่งดูดี สวยงามขึ้น แผงหน้าเคลือบผิวเงา ลักษณะการออกแบบภายนอกมาในสไตล์เดียวกับ Diamond 200 Series ดังนั้นการจับเข้าชุดในแง่ความสวยงาม D10 กับ Diamond 200 จึงลงตัวเข้ากันเป็นอย่างดี

D10 ติดตั้งตัวขับเสียงแบบช่วงชักยาวขนาด 250 มม. จุดที่แตกต่างจาก S10 คือภาคขยายแบบ Class-D กำลังขับ 150 วัตต์ (300W Peak) น้ำหนัก 14 กก. เบากว่าเดิมเล็กน้อย

จุดเชื่อมต่อสัญญาณ และปุ่มควบคุมต่างๆ เรียกว่าแทบจะถอดแบบมาจากรุ่น WH-S10 เช่นกัน ต่างกันแค่รูปแบบขั้วสายไฟเอซี ซึ่งรุ่น D10 ใช้แบบ IEC ไม่ใช่แบบ C7 (หัวเลข 8) จึงเชื่อมต่อสายไฟเส้นโตๆ ได้สะดวกมั่นคงกว่า ช่องรับสัญญาณเป็นแบบ Low-level RCA แยกในส่วนของ Stereo Input กับ Mono (LFE) Input และมี RCA Output ให้ด้วย

D10 มีระบบ Auto Sense อันจะช่วยลดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าลงด้วยการ Mute การทำงานของภาคขยายเวลาที่ไม่มีสัญญาณเสียงเข้ามาระยะเวลาหนึ่ง และระบบจะกลับสู่สถานะทำงานปกติอีกครั้งเมื่อมีสัญญาณเข้ามาอีก จึงสมควรตั้งไว้ที่ตำแหน่ง On

อย่างไรก็ดีถ้าต้องการหยุดใช้งาน D10 เป็นเวลานาน แนะนำให้สับสวิทช์ Main Power ด้านหลัง ไปที่ตำแหน่ง Off ดีกว่าครับ
แบบนี้อัตราการกินไฟก็จะเท่ากับ 0

Setup – การติดตั้ง

การใช้งานลำโพงตั้งพื้น Diamond Series ต้องติดตั้งเดือยแหลมเอาไว้เสมอ และปรับระดับลำโพงให้ได้ระนาบที่มั่นคง จุดนี้ห้ามละเลยเป็นอันขาด ส่วนท่านใดที่กังวลว่าเดือยแหลมของลำโพงจะทำให้พื้นเป็นรอย สามารถนำจานรองมาใช้งานได้ดังรูป

หากสถานที่เอื้ออำนวย ควรจัดวางตำแหน่งลำโพงรอบทิศทางอิงตามมาตรฐานดังรูป
ในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์อาจทดลองจัดวางที่ตำแหน่งระหว่างลำโพงเซ็นเตอร์กับลำโพงคู่หน้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่มุมห้อง โดยเปรียบเทียบผลลัพธ์ว่า จุดใดเสียงจากลำโพงซํบวูฟเฟอร์ลงตัวมากกว่า

สำหรับการเชื่อมต่อสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ในระบบโฮมเธียเตอร์ร่วมกับ AVR นั้น เพียงเชื่อมต่อสายสัญญาณจากช่อง Subwoofer Out ของ AV Receiver มายังช่อง Low Level “1/LFE” In หรือถ้าสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์เป็นแบบ 1 ออก 2 ก็ต่อเข้าที่ช่อง Stereo (L/R) Inของ Wharfedale WH-D10

การตั้งค่าเริ่มต้นของซับวูฟเฟอร์ ให้ปรับระดับ Level เริ่มต้นไว้ที่ตำแหน่ง 12 น., Phase 0° จากนั้นเปิดสวิทช์เพาเวอร์ของซับวูฟเฟอร์ และ AVR เสียบสาย Auto Calibration Mic แล้วดำเนินขั้นตอนที่ AVR ได้เลย ระบบจะปรับตั้งดีเลย์ บาลานซ์ระดับเสียง และจุดตัดความถี่ให้ อันเป็นแนวทางที่ควรดำเนินการสำหรับท่านที่ยังไม่สันทัดการปรับตั้งระบบลำโพงรอบทิศทาง