25 Oct 2015
Review

ขาวสวย เสียงรวยเสน่ห์ !!? รีวิว Wharfedale Diamond 200 Series Home Theater Speakers


  • ชานม

Sound – เสียง

คำถามที่ผมอยากรู้ และเชื่อว่าหลายท่านก็อยากทราบเช่นกัน คือ รุ่นใหม่ต่างจากรุ่นเก่าอย่างไร? แน่นอนในเรื่องของรูปลักษณ์ก็ได้เห็นกันไปแล้วว่า Diamond 200 ดูสวยเก๋ขึ้น ทว่าประเด็นด้านคุณภาพเสียงล่ะ?

Wharfedale Diamond 230 vs Diamond 122

ตอนที่ฟังครั้งแรก ผมรู้สึกว่าเสียงลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่แน่ใจตัวเองว่าเอนเอียงคิดไปเองหรือไม่ จะอ้างอิงเมื่อครั้งทดสอบ Wharfedale Diamond 100 Series ก็นานมากแล้ว โชคดีที่ยังมี Diamond 122 อยู่ จึงสามารถนำมาลองเปรียบเทียบดูได้ ถึงแม้จะดูไม่สมน้ำสมเนื้อที่เอาลำโพงตั้งพื้นอย่าง 230 มาเทียบกับลำโพงวางหิ้ง 122 แต่ก็น่าจะพอเป็นข้อมูลเปรียบเทียบว่า 2 เจนเนอเรชั่นนี้ ให้คุณภาพเสียงต่างกันอย่างไรบ้าง

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าพระเอกของงานนี้ คือ 230 นี่เอง จากการทดสอบเปรียบเทียบกับ 122 มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทดสอบในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ซิสเต็มเดียวกัน กับหลายๆ เพลงในของ The Eagles อัลบั้ม Hotel California (SACD Stereo/Multi-channel) พบว่า Diamond 200 Series ให้เสียงที่กระจ่างยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้มิได้ถึงขั้นทิ้งห่าง แต่ก็พอสัมผัสได้ จุดนี้ส่งผลให้การแจกแจงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดีขึ้น ฟังกระจ่างชัดกว่าเดิม

เดิมกับ Diamond 122 แม้เสียงกลางจะอิมเอิบ ระรื่นหู ทว่าจะติดขุ่นอยู่เล็กๆ ในขณะที่ 230 ให้เสียงย่านนี้ที่เปิดเคลียร์ขึ้น อย่างไรก็ดีศักยภาพข้างต้น จะได้มาต้องให้ความพิถีพิถันด้านการติดตั้ง 230 ไม่ต่างจากรุ่น 155 ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นเหมือนกัน

กล่าวคือ ถึงแม้ 230 จะเป็นลำโพงตั้งพื้นรุ่นเล็กสุดของซีรี่ส์ ขนาดก็ไม่ได้ใหญ่โตจนเกินไปนัก ทว่าต้องการพื้นที่ติดตั้งพอสมควร การจัดวางในห้องที่มีพื้นที่จำกัดจำเขี่ยทำให้ต้องวางลำโพงชิดผนังหลังหรือมุมห้องมากเกินไป อาจลดทอนประสิทธิภาพลง เบสอาจจะบวมจนกลบความเด่นของย่านอื่นลงได้ ตรงกันข้ามหากได้พื้นที่ติดตั้งเหมาะสมแล้ว คุณภาพเสียงจะได้น้ำได้เนื้อกว่าลำโพงวางขาตั้งอย่าง 122 อยู่หลายประการเลยทีเดียว

แน่นอนประเด็นด้านการถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำทั้งปริมาณ และย่านเบสลึกจะเต็มที่กว่า จึงรับฟังดนตรีหลากหลายสไตล์ได้ยืดหยุ่นขึ้น เวทีเสียงโอ่อ่ากว้างใหญ่กว่าตามสไตล์ลำโพงตั้งพื้น แต่ในแง่ความเด่นของเสียงกลางอันเป็นเอกลักษณ์ของ Wharfedale ที่ส่งเสริมให้เพลงสไตล์ Vocal ลื่นไหล มีน้ำมีนวล ก็ยังคงไว้มิได้หายไปไหน และในจุดนี้ลำโพงเซ็นเตอร์ 220C ที่รับหน้าที่ลำโพงเซ็นเตอร์เน้นถ่ายทอดเสียงย่านนี้โดยเฉพาะ ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

จะว่าไปแล้วในครั้งนี้ 220C ได้รับการปรับเปลี่ยนอัพเกรดมากกว่ารุ่นอื่นๆ เสียอีก ด้านความเปลี่ยนแปลงไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะการไฟน์จูนฐานลำโพงใหม่ ที่สัมพันธ์กับรูปแบบการจูนเสียงความถี่ต่ำแบบเดียวกับที่ใช้ในลำโพงรุ่นตั้งพื้นและวางหิ้งหรือเปล่า เสียงจึงดูลงตัวมากขึ้น

ในรุ่น 101C เดิม ปล่อยช่องเบสรีเฟล็กซ์ด้านล่างตู้ลำโพงไว้โล่งๆ ไม่มีโครงสร้างแผ่นฐานรองรับอีกชั้นแบบรุ่นตั้งพื้นและวางหิ้ง แต่ใช้โฟมอุดไว้แทน การใช้งานดูจะได้รับผลกระทบกับโครงสร้างชั้นวาง ที่เป็นฐานรองรับพอสมควร แต่ในรุ่นใหม่ที่เพิ่มโครงสร้างฐานเข้ามา (และมีเม็ดยางรองด้านล่างฐานอีกที) แก้ปัญหาในจุดนี้ เสียงลงตัว ฟังดูนิ่ง จับรายละเอียดได้ง่ายขึ้น แม้จะวางบนชั้นกระจก

ลำโพงเซอร์ราวด์ชุดนี้ รับหน้าที่โดย Diamond 210 น้องนุชสุดท้องของซีรี่ส์ 200 ซึ่งมีขนาดเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น 121 น้องนุชของเจนฯ ก่อน ดังนั้นหากอ้างอิงเปรียบเทียบผลลัพธ์การทดสอบซิสเต็ม Wharfedale Diamond 100 Series ครั้งก่อน ที่ลำโพงเซอร์ราวด์เป็นรุ่น 121 จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

เปรียบเทียบขนาดของ Wharfedale Diamond 210 กับ Diamond 122

แน่นอนปริมาณเบสแปรผันตามขนาดลำโพง ทว่าจุดนี้ไม่ส่งผลกับการทำหน้าที่ลำโพงเซอร์ราวด์มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศักยภาพของ 210 เอง ที่รับหน้าที่นี้ได้อย่างแข็งขันไม่แพ้ 121 และยิ่งถ้าไฟน์จูนระบบ Bass Management ด้วยการกำหนดจุดตัดความถี่ต่ำเพื่อให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์มารับหน้าที่ย่านต่ำของ 210 อย่างลงตัวแล้ว ผลลัพธ์ในแง่ดุลเสียงแทบไม่แตกต่างจาก 121 เลย เช่นเดียวกับการแจกแจงมิติเสียงโอบล้อม ทำได้ครอบคลุมเต็มเพื้นที่ด้านหลังไม่ตกหล่น แต่ปฏิเสธมิได้ว่ามีจุดที่ยังเป็นรอง 121 ในแง่ไดนามิก และการรองรับระดับวอลลลุ่มได้ต่ำกว่าอยู่บ้าง แต่ก็เป็นประเด็นที่มิได้สร้างปัญหาใดๆ สำหรับการใช้งานในห้องหับตามบ้านทั่วไปที่ขนาดพื้นที่มิได้ใหญ่โตนัก

มาถึงลำโพงซับวูฟเฟอร์ในชุด ด้วยพื้นฐานของ WH-D10 ที่คล้ายคลึงกับ WH-S10 จึงให้ความคุ้มค่าเช่นเดียวกัน ในแง่ย่านตอบสนองความถี่ต่ำนั้น ถือว่าไม่แพ้ POWERCUBE SPC-10 จากผู้ผลิตเดียวกันที่มีราคาสูงกว่า (และเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ใช้อ้างอิงตอนทดสอบ Diamond 100 Series ครั้งก่อน)

SPC-10 ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ในอนุกรม POWERCUBE
ที่ผ่านมา Wharfedale ออกแบบซับวูฟเฟอร์ซีรี่ส์นี้ให้เข้าชุดกับ Diamond 100 Series

เช่นเดียวกับโฟกัสดุลเสียงที่บาลานซ์กับความกระชับฉับไว ดังนั้นด้านการเติมเต็มย่านต่ำเมื่อรับฟังเพลง 2 แชนเนล หรือคอนเสิร์ตแบบมัลติแชนเนล D10 จึงทำได้โดดเด่นคุ้มราคามากทีเดียว ดุลเสียงกลมกลืนต่อเนื่องกับลำโพงหลักตระกูล Diamond 200 ได้ดีมาก ส่วนการรับชมภาพยนตร์ โดยทั่วไปก็นับว่า D10 มีศักยภาพที่ลงตัวไม่แพ้กัน แต่จะมีบ้างกับการเค้นเสียงความถี่ต่ำลึกที่ระดับวอลลุ่มสูง อาทิผลการรับชมภาพยนตร์ Blu-ray San Andres ระบบเสียง Dolby TrueHD/Atmos ที่ SPC-10 น่าจะได้เปรียบกว่า โดยเฉพาะท่านที่ชอบรับชมภาพยนตร์แอ็คชั่นแบบหนักหน่วง และรับฟังในระดับเสียงที่ดังกว่าปกติ ดังนี้การอัพเกรดเป็นรุ่น SPC-10 น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ลงหากงบประมาณไม่ใช่ปัญหา ทว่าในแง่ความลงตัวของรูปลักษณ์นั้น อย่างไรเสีย WH-D10 (สีขาว) ก็ลงตัวเข้าชุดกับ Diamond 200 Series (สีขาว) มากกว่าอยู่ดีนะ

Conclusion – สรุป

หาก Diamond Series จะยังคงติดอันดับหนึ่งซีรี่ส์ลำโพงขายดีที่สุดของ Wharfedale เมื่อฟังเสียงก็ไม่แปลกใจเลย หลายๆ จุดเกิดจากเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดลงมาจากรุ่น Jade และอัพเกรดบางจุดให้ลงตัวยิ่งขึ้นจาก Diamond 100 เดิม ที่พิเศษอีกประการสำหรับเจนฯ ใหม่ คืองานออกแบบตัวตู้ที่สวยงามทันสมัยยิ่งขึ้น ท่านใดอยากสัมผัสลำโพงอังกฤษ ที่ฟังสบายต่อเนื่องได้นานๆ และยังมองได้นานๆ ได้ไม่เบื่ออีกต่างหาก เลือก Diamond 200 รับรองไม่ผิดหวังครับ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
9.00
เสียง (Sound)
8.50
ลูกเล่น (Features)
9.00
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.60

คะแนน Wharfedale Diamond 200 HT Speaker Set

8.6

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– เป็นความเรียบง่ายที่ดูสวย สีขาวเข้ากับการตกแต่งห้องสมัยใหม่อย่างลงตัว ทว่าคงต้องดูแลรักษามากหน่อย เพราะอาจจะเปื้อน หรือสีเปลี่ยนแล้วสังเกตง่ายกว่าสีอื่น ใช้พื้นฐานเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจาก Jade Sereis ลำโพงระดับ Audiophile Class
– ยังให้สไตล์เสียงนุ่นนวล ฟังสบาย สิ่งที่อัพเกรดขึ้นคือ “ดีเทล” Diamond 230 ให้ขนาดเสียงได้อิ่มใหญ่ เวทีเสียงกว้างขวางใหญ่โต แต่ต้องหาที่ทางให้พอเหมาะ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ D10 อาจย่อหย่อนในเรื่องของการถ่ายทอดเบสลึกที่ระดับวอลลุ่มสูงเมื่อเทียบกับ POWERCUBE SPC-10 แต่ยังคงให้ความฉับไว โฟกัสเสียงดี ที่สำคัญมีสีขาว จึงเป็นซิสเต็ม 5.1 ที่ดีไซน์ดูเข้าชุดกันดีมากๆ
– ลำโพงตั้งพื้นของ Diamond 200 มีสไปก์ปรับระดับโลหะเงาดูดีเกินราคา และให้ความมั่นคงได้เป็นอย่างดี มาพร้อมจานรองสไปก์ ป้องกันพื้นเป็นรอย
– ขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์ของ Diamond 200 มีขนาดใหญ่ เชื่อมต่อมั่นคง ดูดี จัดวางในลักษณะสับหว่างเอื้อต่อการเสียบต่อสายลำโพงได้อย่างสะดวก (ยกเว้นในรุ่น 210 เป็นแบบธรรมดาทั่วไป)
– อัพเกรดทั้งรูปลักษณ์และคุณภาพเสียงให้ตำนานซีรี่ส์ลำโพงที่ขายดีที่สุดของ Wharfedale กับคุณภาพเสียงในสไตล์อังกฤษที่ไหลลื่น ฟังสบาย

by ชานม !
2015-10

ราคา Wharfedale Diamond 200 Series
Diamond 230 Floorstanding = 22,000.-
Diamond 210 Bookshelf = 7,500.-
Diamond 220C Center = 8,500.-
WH-D10 Active Subwoofer = 13,900.-

ขอขอบคุณร้านไฮไฟทาวเวอร์(HiFi Tower)
ร้านขายเครื่องเสียงใหญ่ที่สุดในย่านฝั่งธน
ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ในการทดสอบครั้งนี้ด้วยครับ โทร. 02-8817273-7