23 Mar 2022
Review

รีวิว Integra DRX-3.4 + Klipsch RP-8000F 5.1.2 Dolby Atmos Pack พลิกโฉมพรีเมียมโฮมเธียเตอร์ จัดเต็ม HDMI 2.1


  • ชานม

ภาพ – Picture

ด้วยความสามารถของ HDMI 2.1 จึงรับและ Passthrough สัญญาณความละเอียด 4K/8K ได้ โดย DRX-3.4 จะมีตัวเลือก HDMI 4K/8K Signal Format ให้ปรับ ดังนี้ 8K Enhanced, 8K Standard, 4K Enhanced และ 4K Standard เรียงตาม Bandwidth ถามว่าทำไมระบบไม่ตั้งค่าสูงสุดมาให้เลย คำตอบ เป็นเรื่องของ “Backward Compatibility” หากตั้งค่าหนึ่งกับอุปกรณ์ใดแล้วพบปัญหา เช่น ภาพไม่ขึ้น, กะพริบ ลองเปลี่ยนตัวเลือกอื่นดู น่าจะช่วยแก้ไขได้ยืดหยุ่นขึ้นครับ
จากการทดสอบ DRX-3.4 สามารถ Passthrough สัญญาณ “High Frame Rate” 4K120p จาก Game Console และ PC ไปยังทีวีที่รองรับได้ สำหรับใครที่กังวลเรื่อง Input Lag ก็ยืนยันตรงนี้ว่า Passthrough ภาพผ่าน AVR ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ในประเด็นนี้ครับ ทว่าช่วงที่ทำการทดสอบ DRX-3.4 จะยังไม่รองรับ Variable Refresh Rate (VRR) แต่คิดว่าไม่นานน่าจะมีเฟิร์มแวร์ออกมาให้อัพเดต
นอกจาก Passthrough 4K/8K แล้ว DRX-3.4 ยัง “อัพสเกลภาพ” ได้ถึง 8K60p
ยืนยันผลการทดสอบอัพสเกลสัญญาณภาพ 4K60p (59.97Hz) จากแผ่น Gemini Man (4K HDR Blu-ray) ไปเป็น 8K60p ด้วยวิดีโอสเกลเลอร์ในตัว DRX-3.4 ความโดดเด่นอาจไม่ชัดเจนมากเท่าสเกลเลอร์ในตัว 8K TV ระดับท็อป ๆ แต่อนาคตอาจจะได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ของ AVR มากขึ้นเมื่อมี 8K TV ระดับราคาต่ำ สเกลเลอร์ในตัวไม่เทพนัก ออกมาครับ
DRX-3.4 สามารถ Passthrough สัญญาณภาพ HDR ได้ทุกฟอร์แม็ตในปัจจุบัน ทั้ง HDR10+, Dolby Vision, HDR10 และ HLG (ทีวีจะแสดงผลได้ ต้องรองรับมาตรฐาน HDR นั้น ๆ ด้วยนะครับ)

Sound – เสียง

ต้องยอมรับว่า Dirac Live มีส่วนช่วยให้เสียงของลำโพงในระบบ ประสานกลมกลืนได้ง่ายขึ้น การกำหนดจุดตัดความถี่ หน่วงเวลาชดเชยระยะห่างไปจนถึงเฟส ทำได้ดี ถึงแม้ว่าการให้น้ำหนักชดเชยระดับเสียงของแชนเนลลำโพงด้านสูง (Dolby Atmos Enable Speakers) ดูจะมากไปนิดนึงสำหรับเคสนี้ แต่โดยรวมผมให้ผ่านครับ

อีกจุดหนึ่งที่ Dirac Live ทำได้แม่นยำกว่า AccuEQ คือ การชดเชยแก้ไขปัญหาบิดเบือนสมดุลเสียงจากสภาพห้องด้วย Room EQ อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระบวนการตรวจวัด วิเคราะห์ และชดเชยแก้ไข Room EQ ของ Dirac Live จะดีกว่า แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เกิดข้อบกพร่อง เนื่องจากเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ (ห้องที่ก้องมาก ๆ เสียงก็ยังก้องเหมือนเดิม)

หากฟังแล้วรู้สึกว่าการชดเชยให้เสียงผิดปกติ หรือไม่เป็นที่ถูกใจ ก็สามารถ “Off” เฉพาะในส่วนของ Room EQ ได้ ผ่าน Quick Menu ตัวเลือก Dirac Live

หมายเหตุ: หลังคาลิเบรท ค่า Default Room EQ ของ Dirac Live คือ Slot1 สามารถปรับจูนแก้ไข Target EQ เพิ่มเติมจากค่าตั้งต้นของระบบ แล้ว Save ลง Slot2 หรือ Slot3 หรือแม้แต่ Off เมื่อไม่ต้องการใช้งานฟีเจอร์ Room EQ ได้

แม้ว่าผลลัพธ์ในหลายจุดจะเทียบ Dirac Live ไม่ได้ แต่ AccuEQ ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ กรณีที่ต้องการปรับแต่งชดเชยค่าต่าง ๆ ภายหลังคาลิเบรท AccuEQ จะเปิดโอกาสให้ทำการปรับเปลี่ยนค่าด้วยตนเอง (Manual) ได้มากกว่า Dirac Live ครับ

ยืนยันผลทดสอบการถอดรหัสเสียง Immersive Audio ของ Integra DRX-3.4 (กดที่ Tab ด้านบนเพื่อดูภาพ)

การเชื่อมต่อระบบเสียง Dolby Atmos ร่วมกับทีวีที่รองรับ ทาง HDMI ARC/eARC นั้น DRX-3.4 ก็ทำได้ ไม่ติดปัญหา

สำหรับ คู่ Integra + Klipsch เป็นการแม็ทชิ่งน้ำเสียงได้น่าฟังดีจริง ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอานิสงส์จากการควบรวมบริษัท ฝ่ายพัฒนาสินค้าจึงไฟน์จูนเสียงข้ามแบรนด์ได้เหมาะเจาะลงตัวขึ้น ซึ่งศักยภาพของ DRX-3.4 ถึงแม้ไม่ใช่แอมป์ใหญ่กล้ามโต ทว่าก็ผลักดันเสียงของลำโพงใหญ่อย่าง Klipsch RP-8000F ที่ทำหน้าที่เป็นคู่หน้าได้น่าฟัง รายละเอียดเสียงเปิดโปร่ง ทว่ายังเจือความอิ่มหวานตามสไตล์ Onkyo สิ่งที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Integra (เมื่อเทียบกับ Onkyo TX-NR7100) คงเป็นความดุดัน ที่ส่งเสริมให้การฟังเพลงและรับชมภาพยนตร์มันสะใจมากยิ่งขึ้น เบสกระชับหนักแน่นดี เวทีเสียงกว้างตามสไตล์ลำโพงตั้งพื้น

ยืนยันว่าระดับเสียงที่ใช้รับฟังตามปกติในบ้าน ลำพังภาคขยายในตัว DRX-3.4 ก็ให้ผลลัพธ์น่าพอใจมากครับ แต่อนาคตหากจะอัพเกรดเพาเวอร์แอมป์ภายนอกก็ทำได้ ผลลัพธ์ย่อมดีขึ้นตามงบประมาณครับ

และแน่นอนว่าผลักดันเสียงของลำโพง RP-504C ซึ่งเป็นลำโพงเซ็นเตอร์ไซส์ใหญ่ได้อย่างเต็มอิ่ม น้ำหนักเสียงสนทนาจากภาพยนตร์ดีมาก แจกแจงรายละเอียดชัดถ้อยชัดคำ ถ่ายทอดพลังและความโอ่อ่าของเสียงร้องในคอนเสิร์ตหลาย ๆ อัลบั้มได้โดดเด่นกว่าลำโพงเซ็นเตอร์ไซส์เล็กชัดเจน
RP-500SA ที่ในซิสเต็มนี้ทำหน้าที่เป็นลำโพง Dolby Speaker (Front) อิงหลักการสะท้อนเสียง ไม่ใช่เสียงตรงแบบแชนเนลอื่น โดยปกติการเซทอัปให้เสียงลงตัวออกมาดีนั้นไม่ง่าย เพราะต้องชดเชยดีเลย์ต่าง ๆ เคสนี้ต้องยกความดีความชอบให้ Dirac Live ของ DRX-3.4 ที่ช่วยทอนระยะเวลายุ่งยากในขั้นตอนเหล่านั้นลงไปได้ แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเพอร์เฟกต์แต่ก็ปรับจูนเพิ่มเติมจากที่ระบบจัดการให้ได้สะดวกกว่างมตั้งค่าเองแต่ต้นแน่ ๆ ครับ

แชนเนลนี้ถือว่ามีความสำคัญ มีแล้วให้มิติเสียง Dolby Atmos ได้ดีกว่าไม่มีแน่นอน บรรยากาศเสียงด้านสูงจะรับรู้เพิ่มขึ้น หากเพิ่มจำนวนใช้งานได้ถึง 4 แชนเนล Dolby Speaker (Front) + Dolby Speaker (Rear) จะดีมาก หรือถ้าไม่ลำบากจนเกินไป ทดลองปรับเปลี่ยนลักษณะติดตั้ง RP-500SA เป็นแบบ On-wall (Front/Rear Height) หรือ On-ceiling ดูได้ ผลลัพธ์ที่ได้จากมิติเสียงด้านสูงจะยิ่งเด่นชัดขึ้นครับ (หลังปรับเปลี่ยนการติดตั้งลำโพง ต้องทำ Dirac Live/AcuuEQ ใหม่ด้วยนะครับ)

RP-600M ลำโพงวางขาตั้งตัวใหญ่ในตระกูล Reference Premiere ซึ่งทำหน้าที่ลำโพงเซอร์ราวด์ในครั้งนี้ โดยศักยภาพมันสามารถทำหน้าที่เป็นลำโพงไฮไฟฟังเพลง หรือเป็นคู่หน้าในระบบโฮมเธียเตอร์ได้เลย ปริมาณเบสแม้จะน้อยกว่า RP-8000F ซึ่งก็เป็นตามคาด ทว่าในเชิงคุณภาพไม่ได้ย่อหย่อนลงจากรุ่นลำโพงตั้งพื้นมากนัก ปริมาณเสียงความถี่ต่ำจาก Spun Copper Cerametallic Woofer ขนาด 6.5 นิ้ว ผนวกกับ Titanium LTS Vented Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ในโครงสร้าง Hybrid Tractrix Horn เมื่อใช้งานเป็นลำโพงเซอร์ราวด์ ย่อมได้บรรยากาศเสียงที่กว้างขวาง ย่านตอบสนองความถี่เสียงครอบคลุม และแจกแจงดีเทลตำแหน่งทิศทางเสียงได้เด่นชัด

อีกหนึ่งส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ เพราะช่วยเติมเต็มอรรถรสการรับชมภาพยนตร์และฟังเพลงได้ดี คือ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ SPL-120 ให้เสียงความถี่ต่ำลึกและแรงปะทะที่หนักแน่น แน่นอนว่า Dirac Live ช่วยสร้างความกลมกลืนให้เสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์มีความต่อเนื่องเข้ากับลำโพงแชนเนลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ในส่วนของผลลัพธ์ Room EQ ระบบอาจปรับลดปริมาณย่านเสียงความถี่ต่ำโดยรวม เพื่อช่วยลดทอนเสียงอื้ออึงที่รบกวนอยู่ภายในห้องลงได้โดยเฉพาะเมื่อเปิดใช้งานในระดับเสียงที่ดัง อย่างไรก็ดี ดังที่เรียนไปว่า EQ คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้การันตีว่าปัญหาจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นในทุกมิติ หากมวลเสียงต่ำที่เบาบางลงมากทำให้รู้สึกว่าคุณภาพเสียงโดยรวมขาดสีสันไปบ้างสำหรับบางท่าน ฟังแล้วไม่มัน ก็สามารถ Off ในส่วนของ Room EQ ได้ครับ

Conclusion – สรุป

อีกหนึ่งแบรนด์โฮมเธียเตอร์ที่ใหม่ในประเทศไทย แต่เป็นรุ่นเก๋าในฟากฝั่งอเมริกามานาน จุดที่อัพเกรดขึ้นจากเจเนอเรชั่นก่อน คือ HDMI 2.1 Input 6 ช่อง Output 2 ช่อง รองรับ 8K/4K HDR Pass-through พร้อม 8K Upscale อีกจุดที่ไม่พูดไม่ได้ คือ Dirac Live ที่ช่วยให้การติดตั้งลำโพงรอบทิศทางลงตัวง่ายมากยิ่งขึ้น และในแง่ความเที่ยงตรง พูดเลยว่า “ดีกว่า” ระบบเก่าอย่าง AccuEQ ชัดเจน ภาคขยายก็ให้น้ำเสียงที่แม็ทชิ่งเข้ากับ Klipsch Reference Premiere รุ่นล่าสุดได้อย่างน่าฟัง แจกแจงรายละเอียดชัดเจน ขณะที่น้ำเสียงอิ่มเอิบ เบสได้แรงปะทะหนักแน่น เป็นหนึ่งซิสเต็มที่ให้คุณภาพเสียงโดดเด่นน่าสนใจมากครับ

ส่วนคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัย คือ จะซื้อ Integra รุ่นนี้ หรือจะเลือก Onkyo ที่จะวางจำหน่ายพร้อมกันในปีนี้ ? ผมได้ข้อมูลจาก Sound Republic ว่า Integra DRX-3.4 มีระดับรุ่นสูงกว่า Onkyo AVR (ปีนี้ไม่มี Onkyo RZ Series แต่จะแทนที่ด้วย Integra แทน) ดังนั้นหากงบถึง เล่นรุ่นนี้จะได้คุณภาพเสียงที่โดดเด่นกว่า ด้วยสเปครวมถึงฟีเจอร์แวดล้อมอื่น ๆ ที่สูงกว่า ไปทดลองฟังเสียงและพิจารณาตัดสินใจกันก่อนได้ครับ

ข้อดีของ Integra DRX-3.4

1.  รูปลักษณ์ดูคลาสสิกอิงดีไซน์คล้าย Onkyo ในอดีต, แผงหลังพื้นขาวมองเห็นช่องต่อและอักษรกำกับได้เด่นชัด, วัสดุใสของขั้วลำโพง Binding Post ดูดีกว่า Onkyo ที่เป็นรุ่นระดับรอง

2. HDMI 2.1 In 6 ช่อง (40Gbps x 3 ช่อง), Out 2 ช่อง รองรับ 8K, 4K Passthrough พร้อม HDR Video ครบทั้ง DV, HDR10+, HDR10, HLG และสามารถอัพสเกลภาพถึง 8K60p

3. ภาคขยายคุณภาพสูง 9 แชนเนล ให้น้ำเสียงโดดเด่นโดยเฉพาะเมื่อจับคู่กับชุดลำโพง Klipsch, สามารถถอดรหัสเสียงทั้ง Dolby Atmos/TrueHD, DTS:X/HD-MA รองรับ IMAX Enhanced, อนาคตอัพเกรด Poweramp ผ่าน Pre Out 9.2 แชนเนล ได้

4. อัพเกรดเพิ่มระบบ Dirac Live Auto Calibration ผลลัพธ์แม่นยำกว่าระบบเก่า AccuEQ ชัดเจน ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ Dirac Live หรือ AccuEQ ได้ (มีจุดเด่น-จุดด้อยต่างกัน)

5. Bidirectional Bluetooth ทั้งรับและส่งสัญญาณเสียงไร้สาย, Ethernet/Wi-Fi รองรับ Music Server และ Online Music Streaming

ข้อจำกัดของ Integra DRX-3.4

1. ช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ DRX-3.4 ยังไม่สามารถ Pass-through VRR แต่น่าจะมี F/W ตามออกมาภายหลัง

2. ไม่มี Pure Audio Mode แบบ Onkyo AVR กรณีที่ต้องการใช้ Direct Mode ให้กดปุ่ม Listening Mode (ปุ่ม Movie/TV, Music หรือ Game) ซ้ำ ๆ

3. Dirac Live แม้ให้ผลลัพธ์แม่นยำกว่า แต่กระบวนการจะซับซ้อนกว่า AccuEQ ใช้เวลากับมันสักพักก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากครับ

4. Speaker Combo ฟีเจอร์เสริมที่อาจจะช่วยให้การแมทชิ่งเสียงลำโพง Klipsch ต่างรุ่น ต่างซีรีส์ (อนาคตอาจรวมถึงต่างยี่ห้อ) ได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ยังมีจำนวนตัวเลือกไม่มากเวลานี้ แต่น่าจะได้รับการอัปเดตเพิ่มเติมในอนาคต

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.50
เสียง (Sound)
9.00
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
9.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.8

Integra DRX-3.4 AVR + Klipsch RP-8000F 5.1.2 Dolby Atmos HT Set

8.8

*คุณภาพเสียงอิงมาตรฐาน AVR

ราคาเปิดตัว Integra DRX-3.4 9.2 Ch AV Receiver

59,900 บาท

รับประกันสินค้า 1 ปี โดย Sound Republic