17 Jul 2016
Review

ชุดลำโพง Atmos ระดับอ้างอิง !!? รีวิว Klipsch Reference Premiere Dolby Atmos 5.1.2


  • ชานม

และแล้วก็มาถึงรายละเอียดของรุ่นลำโพงในซีรี่ส์ Reference Premiere Dolby Atmos ที่จะทำการทดสอบในครั้งนี้แบบ 5.1.2 ประกอบไปด้วย…

ถือเป็นพระเอกของโฮมเธียเตอร์ชุดนี้เลยทีเดียวสำหรับ RP-280FA โดยตัวอักษร A ต่อท้าย มีที่มาจาก Atmos นั่นเอง อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่ารุ่นนี้เป็นรูปแบบ Dolby Atmos Enabled Speakers แบบ “Built-in”ตัวขับเสียงจึงแยกเป็น 2 ชุด

ชุดที่ทำหน้าที่ Front Channel ประกอบไปด้วย Linear Travel Suspension Titanium Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ติดตั้งภายในโครงสร้าง Tractrix Horn และวูฟเฟอร์ Spun Copper Cerametallic Cone ขนาด 8 นิ้วคู่ บวกกับขนาดตัวตู้ที่ใหญ่กว่าลำโพงโฮมเธียเตอร์ตั้งพื้นทั่วไป เบสจึงจุใจมากๆ ทว่าก็ต้องการพื้นที่จัดวางมากกว่า และห้องหับควรมีปริมาตรที่มากตามไปด้วยจึงจะได้ผลลัพธ์ลงตัวเป็นที่สุดโดยเฉพาะการตอบสนองย่านความถี่ต่ำลึก

ส่วนชุดของลำโพง Height Channel ติดตั้งอยู่ด้านบนตัวตู้เดียวกันนี้ก็ไม่น้อยหน้า เพราะใช้ตัวขับเสียงขนาดเดียวกับลำโพงวางขาตั้งรุ่นใหญ่ในซีรี่ส์เดียวกันอย่าง RP-160M เลยทีเดียว ประกอบไปด้วย Linear Travel Suspension Titanium Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ติดตั้งภายในโครงสร้าง Tractrix Horn และวูฟเฟอร์ Spun Copper Cerametallic Cone ขนาด 6.5 นิ้ว

ด้วยลักษณะของ Dolby Atmos Enabled Speakers แบบ “Built-in” แน่นอนว่าในตู้ลำโพงเดียวกันจะต้องเห็นขั้วลำโพง 2 ชุด โดยชุดล่างสำหรับ “Front Channel” (ซึ่งรุ่นนี้เป็นรูปแบบไบ-ไวร์) และชุดบนสำหรับ”Height Channel”

ถัดมา คือ ลำโพงเซ็นเตอร์ รับหน้าที่โดย RP-450CA ลำโพงเซ็นเตอร์รุ่นใหญ่สุดของซ๊รี่ส์ ซึ่งขนาดนั้นใหญ่จริงๆ จนบางครั้งอาจวางในช่องชั้นทีวีทั่วไปไม่ได้ แต่ทางผู้ผลิตก็ออกแบบโดยให้สามารถใช้ลำโพงนี้เป็นฐานเพื่อตั้งวางทีวีไว้ด้านบนตัวตู้เลยก็ได้

เหตุผลที่ลำโพงเซ็นเตอร์ในชุดนี้ต้องมีตัวตู้ขนาดใหญ่พิเศษก็เพื่อให้การถ่ายทอดดุลเสียงต่ำใกล้เคียงกับลำโพงคู่หน้าแบบตั้งพื้นขนาดใหญ่อย่าง RP-280FA จนได้ความต่อเนื่องกลมกลืนของสนามเสียงนั่นเอง ผลพลอยได้ คือ น้ำเสียงสนทนาจาก Center Channel รุ่นนี้ จะมีความหนักแน่น ถ่ายทอดไดนามิกได้อย่างเยี่ยมยอด (รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้งช่วงรายงานคุณภาพเสียง)

ซึ่งตัวขับเสียงสำหรับลำโพงเซ็นเตอร์รุ่นนี้ ประกอบไปด้วย Linear Travel Suspension Titanium Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ติดตั้งภายในโครงสร้าง Tractrix Horn และขนาบข้างด้วยวูฟเฟอร์ Spun Copper Cerametallic Cone ขนาด 5 นิ้ว จำนวน 4 ตัว

ลำโพงเซอร์ราวด์รับหน้าที่โดย RP-160M ซึ่งเป็นลำโพงวางขาตั้งขนาดใหญ่ที่สุดของซีรี่ส์ ตัวขับเสียงประกอบไปด้วย Linear Travel Suspension Titanium Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ติดตั้งภายในโครงสร้าง Tractrix Horn และวูฟเฟอร์ Spun Copper Cerametallic Cone ขนาด 6.5 นิ้ว ลักษณะพิเศษต่างๆ ก็เหมือนกับย่อส่วนรุ่นลำโพงตั้งพื้นลงให้วางบนขาตั้ง ลักษณะพื้นฐานโครงส้รางตัวตู้และตัวขับเสียงจึงมีความใกล้เคียงกัน และยังรวมไปถึงขั้วลำโพงแบบไบไวร์ด้านหลังด้วย

อุปกรณ์ชิ้นสำคัญ ขาดไม่ได้สำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ คือ ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ครั้งนี้รับหน้าที่โดย R-112SW ซึ่งอยู่ในตระกูล “Reference” ของ Klipsch เช่นเดียวกัน…

หากยังจำกันได้ นี่คือรุ่นพี่ของ R-110SW ที่เคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ หน้าตาการออกแบบจึงเหมือนกันเปี๊ยบ โดยเป็นลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์แบบตู้เปิด จัดวางท่อเปิดแบบ Slot port ไว้ด้านหน้าอันเป็นทิศทางเดียวกับตัวขับเสียง จะแตกต่างจาก R-110SW ก็ตรงขนาดตัวตู้ที่ใหญ่ขึ้น สัมพันธ์กับขนาดตัวขับเสียง spun-copper Cerametallic woofer เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว และภาคขยายดิจิทัลกำลังขับ 600 วัตต์ (Dynamic power เพิ่มขึ้นจาก R-110SW ที่ 450 วัตต์) 

การจัดวางปุ่มควบคุมและจุดเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ ทางด้านหลัง ก็เหมือนกับ R-110SW โดยรับสัญญาณแบบ Low-level ทาง Stereo/LFE Line Input และช่องต่อที่อยู่ข้างล่าง คือ WA-2 Port สำหรับติดตั้งใช้งานร่วมกับตัวรับสัญญาณเสียงแบบไร้สาย (เป็นอุปกรณ์เสริมต้องซื้อเพิ่ม)