18 Dec 2014
Review

อัพเกรด AVR เพื่อใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos กันดีกว่า !? รีวิว Onkyo TX-NR838


  • ชานม

5.1.2 with Top Surround Speakers or Dolby Atmos Enabled Speakers?

ดังที่เรียนไปว่า Onkyo AVR รุ่นเลข 3 ตัว ซึ่งมีรุ่น 838 รวมอยู่นั้น รองรับระบบลำโพงแบบ 5.1.2 ซึ่งในส่วนของการจัดวางลำโพงรอบทิศทางในแนวระนาบ (หน้า-หลัง) นั้น อิงรูปแบบมาตรฐานเดิมๆ ของ Dolby Digital 5.1 มาได้เลย แต่สำหรับลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงนั้น สามารถเลือกติดตั้งใช้งานได้ 2 ลักษณะ

การติดตั้งใช้งานลำโพงระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.2
แบบที่ใช้งานร่วมกับลำโพง Top Surround (ลำโพงฝังฝ้า, แขวนเพดาน)

ลักษณะแรก คือ Top Surround Speakers ติดตั้งไว้เหนือจุดรับฟังโดยตรง แนวทางนี้ใกล้เคียงอุดมคติที่แหล่งกำเนิดเสียงจะมีทิศทางมาจากด้านบนเหนือศีรษะจริงๆ โดยทั่วไปจะใช้งานร่วมกับลำโพงแบบฝังฝ้าเพดาน (In-ceiling Speakers) ซึ่งให้ความเรียบร้อยดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในห้องมากที่สุด ทว่าต้องวางแผนดำเนินการไว้แต่แรก เพราะหากติดตั้งภายหลัง ลำโพงลักษณะนี้จะยุ่งยากอยู่สักหน่อยโดยเฉพาะประเด็นการเจาะคว้านและการร้อยสายลำโพงขึ้นบนฝ้าเพดาน

การติดตั้งแบบ Top Surround นอกจากใช้ลำโพงฝังฝ้าแล้วยังมีอีกวิธี คือ ดัดแปลงนำลำโพงตู้ (ลำโพงวางหิ้ง หรือลำโพงแซทเทลไลท์) ขึ้นไปแขวนบนฝ้า ทว่าการที่มีลำโพงตู้ไปห้อยอยู่บนเพดานอาจดูขัดตาอยู่บ้าง และในการติดตั้งต้องระมัดระวังเรื่องโครงสร้างการจับยึดต้องแข็งแรง โดยคำนึงถึงสภาพการรับน้ำหนักอย่างเหมาะสม อีกจุดที่ควรพิจารณา คือ โครงสร้างจับยึดและการร้อยสายลำโพงถ้าเดินลอยโดยไม่หาวิธีเก็บซ่อนให้ดี จะดูรุงรังมาก

การติดตั้งใช้งานลำโพงระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.2
แบบที่ใช้งานร่วมกับลำโพง Dolby Atmos Enabled-Speakers (Front)

ลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงลักษณะที่สอง คือ ใช้งานลำโพงติดตั้งในแนวระนาบที่เรียกว่า Dolby Atmos Enabled Speakers โดยลักษณะของลำโพงจะติดตั้งตัวขับเสียงที่มิทิศทางกระจายเสียงขึ้นไปบนฝ้าเพดานแล้วสะท้อนกลับลงมา Dolby Atmos Enabled Speakers นี้ มีทั้งแบบ Built-in มากับลำโพงที่ใช้งานเป็นลำโพงคู่หน้าหรือลำโพงเซอร์ราวด์ และแบบ Add-on ที่เป็นตู้อิสระ สามารถนำไปวางบนลำโพงลำโพงทั่วไปที่ใช้งานเป็นลำโพงคู่หน้าหรือลำโพงเซอร์ราวด์ได้ทันที ซึ่งในบททดสอบนี้ ใช้การอ้างอิงร่วมกับ SKH-410 Dolby Atmos Enabled Speakers ซึ่งเป็นลำโพงแบบ Add-on ของ Onkyo เอง

Onkyo SKH-410 Dolby Atmos Enabled Speakers แบบ “Add-on” ขนาดกะทัดรัด
สามารถนำไปวางบนลำโพงโฮมเธียเตอร์เดิมที่ใช้งานอยู่ได้ทันที

การรับชม/ฟังระบบเสียง Dolby Atmos

ขณะทำการทดสอบ คอนเทนต์ระบบเสียง Dolby Atmos มีเพียงแผ่นบลูเรย์ 2 ไตเติล คือ Dolby Atmos Demonstration Disc คอนเทนต์เฉพาะกิจที่ทาง Dolby ทำออกมาโปรโมตศักยภาพระบบเสียงรอบทิศทางใหม่นี้แก่สาธารณชน ภายในบรรจุคลิปวิดีโอตัวอย่างสั้นๆ พร้อมเสียง Dolby Atmos ส่วนอีกแผ่นเป็นภาพยนตร์บลูเรย์เรื่องแรก ที่มาพร้อมระบบเสียง Dolby Atmos คือ Transformers Age of Extinction ซึ่งหากสังเกตภาพยนตร์ที่ฉายพร้อมระบบเสียงใหม่นี้ในโรงภาพยนตร์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าอีกไม่นานคงจะกลายมาเป็นแผ่นบลูเรย์ให้รับชมในบ้านพักอาศัยเช่นเดียวกัน โดยนำไปเปิดเล่นกับเครื่องเล่นบูลเรย์ที่มีอยู่ได้เลย หากเดิมสามารถ Bitstream ระบบเสียง TrueHD ได้ ก็สามารถ Dolby Atmos Bitstream ได้เช่นกัน ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ครับ สำคัญที่ต้องมี Dolby Atmos AVR

เมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกอย่างครบถ้วนแล้ว การตรวจสอบว่าขณะนี้ AVR กำลังถอดรหัสเสียง Dolby Atmos อยู่หรือไม่ สำหรับ Onkyo AVR รุ่นเลข 3 ตัว (636, 737, 838) จะต้องกดปุ่ม Display ที่รีโมตคอนโทรลซ้ำๆ เพื่อให้จอที่แผงหน้า แสดง Audio Info

หรือไม่ก็กดปุ่ม Q Setup แล้วไปที่หัวข้อ Information เพื่อดูข้อมูลผ่านจอทีวีแบบ OSD ก็ได้เช่นกัน… ตรงนี้จะดูยุ่งยากกว่ารุ่นเลข 4 ตัว ที่สามารถตรวจสอบจากไฟแสดงสถานะการถอดรหัสระบบเสียง Dolby Atmos ที่แยกออกมาต่างหากบนแผงหน้าได้เลย

ระบบเสียง Dolby Atmos ใช้วิธีการบันทึกข้อมูลเพิ่มมากับระบบเสียง Dolby TrueHD หรือ Dolby Digital Plus กรณีที่ Onkyo AVR ตรวจพบข้อมูล Atmos ที่มาพร้อมกับระบบเสียง TrueHD ระบบฯ จะแสดงรายละเอียดว่าเป็น “DD Atmos/TrueHD” แต่ถ้าเป็นระบบที่มากับระบบเสียง Dolby Digital Plus การถอดรหัสจะเป็นในรูปแบบของ “Dolby Surround” (Dolby Atmos Upmix)