18 Dec 2014
Review

อัพเกรด AVR เพื่อใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos กันดีกว่า !? รีวิว Onkyo TX-NR838


  • ชานม

4K/60Hz Ready AV Receiver

Onkyo TX-NR838

อัพเกรด AVR เพื่อใช้งานระบบเสียง
“Dolby Atmos” กันดีกว่า !?

หากเทียบจำนวน AV Receiver ที่รองรับระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่ “Dolby Atmos” ดูเหมือน Onkyo มีจำนวนรุ่นมากที่สุด ซึ่งรวมถึงรุ่นระดับกลาง-เล็ก ใช้งบประมาณไม่มากก็สามารถสัมผัสระบบเสียงใหม่นี้ที่บ้านได้ และวันนี้ทีมงานจะมาทดลองใช้งานดูว่า Dolby Atmos AVR ของ Onkyo รุ่นระดับกลาง-เล็กนี้ ตอบสนองการใช้งานได้ดีเพียงใด…

แต่ก่อนอื่น สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่าระบบเสียง Dolby Atmos คืออะไร? แตกต่างจากระบบเสียงรอบทิศทางเดิมอย่างไร? สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ >> ทำความรู้จัก Dolby Atmos มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ เพื่อการรับชมภาพยนตร์

ย้อนกลับไปดูจำนวน AVR รุ่นปี 2014 ของ Onkyo ที่รองรับ Dolby Atmos พบว่า มีทั้งสิ้น 5 รุ่น (หากรวม Pre Processor เรือธง PR-SC5530 จะเท่ากับ 6 รุ่น) ในจำนวนนี้ 2 รุ่นใหญ่ ซึ่งมีรหัสเลข 4 ตัว อย่าง TX-NR3030และ TX-NR1030 จะสามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos ได้ทันที ทว่ารุ่นรองจากนั้น รหัสเลข 3 ตัว จำนวน 3 รุ่น เริ่มกันที่น้องเกือบเล็ก คือ TX-NR636 ไล่มาเป็น TX-NR737 และ TX-NR838 จำเป็นที่ผู้ใช้ต้องอัพเดทเฟิร์มแวร์ก่อน ซึ่งเฟิร์มแวร์ใหม่นี้ ทาง Onkyo เพิ่งปล่อยเมื่อราวปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง

Dolby Atmos Upgradable AVR

ขั้นตอนการอัพเดทเฟิร์มแวร์นั้นไม่ยากครับ สามารถดำเนินการเองได้ ขอเพียงเชื่อมต่อ AVR เข้ากับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ จากนั้นเข้าไปยัง Setup Menu หัวข้อ 7.Hardware Setup → 7.Firmware Update แล้วเลือก Update via NET เท่านี้ Onkyo AVR ของท่านก็จะดำเนินการดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ใหม่ และติดตั้งให้เองโดยอัตโนมัติครับ หรือถ้าไม่สะดวกในการเชื่อมต่อ AVR เข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต ก็ใช้คอมพิวเตอร์เข้าไปดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ใหม่ที่เว็บ Onkyo แล้วเซฟไฟล์ใส่ Flash Drive มาติดตั้งที่เครื่อง AVR (Update via USB) ก็ได้เช่นกัน

ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการอัพเดทเฟิร์มแวร์ ใช้เวลาราว 20 นาที จะไม่สามารถใช้งาน AVR ได้ (และสัญญาณภาพที่เอาต์พุตออกไปยังทีวี จะถูกตัดหายไปชั่วขณะ) ระหว่างนี้ห้ามเชื่อมต่อ-ถอดสายสัญญาณอุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้งานร่วมกับ AVR เพิ่มเติม และอย่ากดสวิตช์เพาเวอร์ On/Standby หรือชักปลั๊กออกเป็นอันขาด รอจนกระทั่งหน้าจอที่ AVR ขึ้นคำว่า “Complete” จึงกดสวิตช์ On/Standby ที่ตัวเครื่อง (อย่ากดที่รีโมต) เพื่อเข้าสู่สถานะสแตนบาย รอสักพักแล้วกดปุ่ม On/Standby ซ้ำอีกครั้งเพื่อเริ่มระบบใหม่ เพียงเท่านี้ TX-NR636, TX-NR737, TX-NR838 ก็พร้อมสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos แล้วครับ ผลพลอยได้อื่นๆ คือ เฟิร์มแวร์ใหม่ยังปรับปรุงจุดบกพร่อง และแก้ไขปัญหาบางอย่างที่พบก่อนหน้านี้ ให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น

หมายเหตุ: หลังจากอัพเดทเฟิร์มแวร์เสร็จสิ้น หากต้องทำการรีเซ็ตระบบกลับสู่ค่าเริ่มต้น ในขณะที่ AVR อยู่ในสถานะสแตนบาย ให้กดปุ่ม CBL/STB ที่แผงหน้าค้างไว้ พร้อมกับปุ่ม On/Standby

Setup – การติดตั้ง

Dolby Atmos Speaker Configurations

การอ้างอิงระบบลำโพง Dolby Atmos ประกอบด้วยเลข 3 ชุด เลขตัวหน้า หมายถึง จำนวนลำโพงรอบทิศทางในแนวระนาบ, เลขตัวที่ 2 หมายถึง จำนวนลำโพงซับวูฟเฟอร์ และ เลขท้าย หมายถึงจำนวนลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง อันเป็นความพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามาของระบบเสียงใหม่นี้

ลักษณะลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงดังกล่าว อาจจะเป็นลำโพงฝัง/แขวนฝ้าเพดาน (Top Surround) หรือจะใช้งาน Dolby Atmos Enabled Speakers โดยติดตั้งร่วมกับลำโพงในแนวระนาบแทนก็ได้

ด้วยคุณสมบัติที่ต่างกันของ Onkyo AVR แต่ละรุ่น โดยเฉพาะจำนวนภาคขยายอันเกี่ยวเนื่องถึงจำนวนลำโพงในระบบที่ใช้งานได้ เมื่อนำมาใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos จึงมีจุดที่แตกต่างกัน ดังนี้ควรเลือกรุ่นไหนดี?

ความแตกต่างแรกของ Onkyo Dolby Atmos AVR ระดับกลาง-เล็ก รุ่นเลข 3 ตัว ทั้ง 3 รุ่น คือ 636, 737, 838 เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นสูง เลข 4 ตัว อาทิ 1030 และ 3030 จะมีจำนวนภาคขยายน้อยกว่า โดย 636, 737 และ 838 ติดตั้งภาคขยายมา 7 แชนเนล รองรับรูปแบบลำโพง Dolby Atmos สูงสุดที่ 5.1.2 ในขณะที่รุ่น 1030 มี 9 แชนเนล รองรับที่ 5.1.4 หรือ 7.1.2 และรุ่น 3030 รองรับที่ 7.1.4 หรือ 9.1.2

จากจุดนี้แน่นอนว่ารุ่นใหญ่ รองรับจำนวนลำโพงมาก การแจกแจงรายละเอียดทิศทางเสียงย่อมจะต่อเนื่องชัดเจนกว่า อีกทั้งพละกำลังที่มากกว่า ยังเติมเต็มระดับเสียงครอบคลุมพื้นที่รับฟังได้ครอบคลุมกว้างขวางกว่าด้วย

อนึ่งหากห้องหับมีขนาดไม่ใหญ่นัก พื้นที่ติดตั้งจัดวางลำโพงน้อย ไม่มีความจำเป็นจะต้องยัดลำโพงลงไปมากมายให้เป็นที่อึดอัดเสียเปล่าๆ โดยทั่วไป พื้นที่รับฟังที่ครอบคลุมสำหรับระบบ 5.1.2 ราว 9 – 24 ตร.ม. ก็นับว่าเหมาะสม