30 Dec 2013
Review

รีวิว Polk Audio PSWi225 – พลังเคลื่อนย้ายจักรวาล… ศักยภาพจากซับวูฟเฟอร์ไร้สาย !!!


  • ชานม

ถัดจาก WirelessTransmitter ก็เป็นคิวของ Wireless Subwoofer หรือ แอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีรับสัญญาณ (เสียง) แบบไร้สาย การติดตั้งตัวรับสัญญาณ Wireless ที่ซับวูฟเฟอร์นั้น ถูกฝังอยู่ข้างในตัวตู้ลำโพงแล้วครับ ไม่มีชิ้นส่วนยื่นออกมา หรือมีเสาอากาศสำหรับรับสัญญาณให้เกะกะลูกตาแต่อย่างใด เมื่อมองภายนอกเผินๆ จึงดูไม่แตกต่างจากแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ทั่วไป และอันที่จริงมันก็ใช้พื้นฐานการออกแบบใกล้เคียงกับแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ในชุด BlackStone TL1600 จากผู้ผลิตเดียวกันด้วยซ้ำ (ภายนอกเหมือนกันมาก) ทว่าด้วยเหตุที่เป็น “Wireless Subwoofer” มันต้องมีอะไรต่างกันบ้างล่ะน่า มาลองดูกันทีละจุดครับ…

ทรงตัวตู้ออกไปทางสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ไดเมนชั่นแต่ละด้านราว 1 ไม้บรรทัดนิดๆ เท่านั้นเอง ซึ่งขนาดตัวตู้เล็กนี้ มีส่วนช่วยสร้างความกลมกลืนได้ง่าย และถึงแม้จะเล็ก แต่ก็เล็กพริกขี้หนู จากการเอาใจใส่ในเรื่องของความแข็งแรง ตัวตู้ประกอบขึ้นจาก Heavy duty MDF ความหนาแน่นอย่าได้เทียบกับปาร์ติเคิลบอร์ดเลย มันห่างกันหลายขุม นอกจากนี้ยังมีการคาดแดมป์ภายในเพิ่มเติมในบางจุดอีกด้วย

โลโก้ Polk Audio สีเงินตัดดำ มองเห็นได้ชัดเจน ตัวตู้ปิดผิวด้วยไวนีลสีดำ เท็กเจอร์ละเอียด (ไม่ใช่ลายไม้ Black Ash) ให้สัมผัสที่สากมือเล็กน้อย ลักษณะขอบมุมตัวตู้โค้งมน ซึ่งลักษณะภายนอกพื้นฐานที่กล่าวไปข้างต้นนี้ คล้ายคลึงกับลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ในชุด TL1600 อยู่มาก

แต่เมื่อพลิกดูด้านหลัง จะเห็นความต่างเล็กๆ ในชุด PSWi225 อย่างแรก คือ ไม่มีช่องต่ออินพุตสายสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้นครับ ! เพราะเป็นแบบ “ไร้สาย” นี่นา จะเอาช่องต่อเพื่อมานั่งเสียบสายอยู่เหมือนเดิมทำไม เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากอยากซน ก็อาจรู้สึกเสียดายนิดๆ เพราะถ้าเผื่อให้เสียบสายโดยตรงที่ตัวซับวูฟเฟอร์ได้ (ดังเช่นมาตรฐานซับวูฟเฟอร์ใช้สายทั่วไป) คงจะเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องของชนิดการเชื่อมต่อได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าคงโดดเด่นไร้ที่ติเลยทีเดียวแหละ

ซูมใกล้ขึ้นอีกนิด ที่บริเวณปุ่มปรับต่างๆ อันเป็นส่วนสำคัญในการติดตั้งซับวูฟเฟอร์ (ไม่ว่าจะเป็นซับวูฟเฟอร์แบบมีสาย
หรือไร้สาย) หากขาดการปรับตั้งในจุดนี้ เสียงคงจะกลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักได้ยาก

สำหรับ PSWi225 ผู้ผลิตให้มาทั้งปุ่มปรับระดับเสียง (Volume) ปุ่มปรับจุดตัดความถี่ (Low-pass Crossover 60~160Hz) สวิทช์ปรับเฟส (0º/180º) และสวิทช์เพาเวอร์ On/Standby โดยกำหนดให้ระบบเปิด-ปิดการทำงานของซับวูฟเฟอร์แบบอัตโนมัติได้ (โดยอาศัยการตรวจจับสัญญาณอินพุต) อ้อ ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น Wireless Subwoofer แต่ยังต้องมีสายไฟอยู่นะครับ มิใช่ว่าจะไม่มีสายไปเสียทั้งหมด แต่การที่มีสายไฟเพียงอย่างเดียว ตัดสายสัญญาณยาวๆ ออกไป น่าจะเพิ่มความยืดหยุ่นได้มากแล้ว ลักษณะสายไฟเป็นแบบ 2 ขากลม ติดตายกับตัวตู้ลำโพง ความยาวสายไฟยาวถึง 2.5 ม. การใช้งานในห้องทั่วไปน่าจะเสียบกับปลั๊กไฟได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งปลั๊กราง แต่หากตำแหน่งใก้ลปลั๊กมากอยู่แล้ว คงต้องเก็บสายให้เรียบร้อยกันหน่อยครับ

อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างจากแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ทั่วไป (นอกเหนือจากคอนเน็กเตอร์อินพุตสายสัญญาณ ที่หายไป) คือ Wireless ID Switch ที่เพิ่มเข้ามา หน้าที่มีไว้ปรับเลือกช่องสัญญาณวิทยุนั่นเอง เผื่อกรณีที่ช่องสัญญาณซ้ำซ้อนกับอุปกรณ์ไร้สาย 2.4GHz อื่น จนถูกรบกวน หรือไม่ก็ไปรบกวนอุปกรณ์ไร้สายข้างเคียง การปรับต้องกำหนดช่องสัญญาณของซับวูฟเฟอร์ให้ตรงกันกับตัว Transmitter

มาดูด้านล่างกันบ้าง จากพื้นฐานลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่จัดวางไดรเวอร์ 8 นิ้ว แบบ “ยิงลงพื้น” ก็ไม่แปลกที่จะเห็นไดรเวอร์ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งนี้  ตรงขาวัสดุสังเคราะห์ จะมีจุกยางรองรับเพื่อทำหน้าที่สลายแรงสั่นสะเทือนอีกที เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของความมั่นคง และขานี้ยังทำหน้าที่ยกลำโพง ให้ไดรเวอร์และท่อพอร์ท มีระยะห่างจากพื้นที่เหมาะสม อ้อ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ไดรเวอร์ต่างกับที่ใช้ในซับวูฟเฟอร์ชุด TL1600 อยู่บ้าง จุดที่เห็นได้ชัดคือ ลักษณะของ Dust Cap ที่ต่างออกไป

ซับวูฟเฟอร์ชุด TL1600

เทคโนโลยีไดรเวอร์ที่ใช้ คือ Long-throw Dynamic Balance polymer composite cone เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ Polk Audio วัสดุกรวยจาก Copolymer ที่มีน้ำหนักเบาจะได้รับการปรับจูนเสริมความแกร่ง เช่นเดียวกับการออกแบบดัสต์แค็ป และใช้ขอบเซอร์ราวด์ butyl rubber เพื่อป้องกันเรซโซแน้นซ์ และความเพี้ยนต่างๆ ช่วงชักที่ยาวสามารถให้อัตราตอบสนองเสียงความถี่ต่ำได้ลึก แม้ไดรเวอร์จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่มาก ขับเคลื่อนโดยภาคขยายขนาด 100 วัตต์ (200W Dynamic Power) ที่มาพร้อมกับวงจร Digital Logic

มาดูภายในกันบ้าง จากรูปตัดตัวตู้ลำโพง จะเห็นลักษณะท่อพอร์ทที่แปลกประหลาดกว่าที่เห็นทั่วไป ตามชื่อที่ถูกเรียกว่า J-port ว่าแต่สงสัยไหมครับว่า ที่มาของลักษณะดังกล่าวมีเหตุผลเพื่อการณ์ใด?

ที่มานั้น มาจากลักษณะปลายท่อด้านในตัวตู้ ที่คดงอในลักษณะคล้ายตัว J ทาง Polk Audio ให้เหตุผลว่า การออกแบบนี้ (จากการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์) จะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนตัวของอากาศผ่านท่อ จึงเพิ่มประสิทธิภาพให้ลำโพงสามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียงความถี่ต่ำได้อย่างชัดเจน เพราะการเคลื่อนตัวของมวลอากาศภายในตัวตู้ไม่ถูกขัดขวาง ไร้เสียงรบกวน ไม่ว่าจะใช้งานในระดับวอลลุ่มใด