30 Dec 2013
Review

รีวิว Polk Audio PSWi225 – พลังเคลื่อนย้ายจักรวาล… ศักยภาพจากซับวูฟเฟอร์ไร้สาย !!!


  • ชานม

Setup – การติดตั้ง

เมื่อเป็นชุดซับวูฟเฟอร์ไร้สาย ย่อมต้องใช้รูปแบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย อย่างไรก็ดีการติดตั้งในบางจุดยังคงต้องเชื่อมต่อสาย เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์มาตรฐานหลักในระบบโฮมเธียเตอร์ (ที่ยังคงใช้สายอยู่) ได้

การเชื่อมต่อหลักๆ คล้ายคลึงกับแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ทั่วไป แต่ต่างกันที่ PSWi225 จะเน้นเชื่อมต่อสายสัญญาณมายัง Wireless Transmitter เพื่อทำหน้าที่แปลงสัญญาณออดิโอนั้นให้เป็นเป็นสัญญาณวิทยุ (ไร้สาย) ก่อนจะส่งไปยัง Wireless Subwoofer นั่นเอง

การเชื่อมต่อแบบที่ 1 ส่วนใหญ่จะอิงการใช้งานรูปแบบนี้มากที่สุด คือ การใช้งาน PSWi225 ร่วมกับ
ระบบโฮมเธียเตอร์ 5.1, 7.1, … กับชุดลำโพงปกติ ไปจนถึงลำโพงรูปแบบ Surround Bar

จากภาพ เป็นการอ้างอิงระบบลำโพง 5.1 ร่วมกับอุปกรณ์หลัก คือ AV Processor/ AV Receiver ซึ่งการเชื่อมต่อสัญญาณมายัง PSWi225 ให้เชื่อมต่อจากช่อง Subwoofer out (หรือ LFE Out) ของ AVR ผ่านสายสัญญาณ Low-level (Mono RCA) มายัง Wireless Transmitter จากนั้นเช็ค Wireless ID ให้ตรงกัน ทั้งที่ Transmitter และที่ Subwoofer แล้วทำการเสียบปลั๊กไฟ เปิดใช้งานอุปกรณ์ในระบบ เท่านี้ก็เริ่มต้นใช้งานได้แล้ว ไม่ต้องจูนช่อง สแกนหาสัญญาณใดๆ ให้ยุ่งยากเลย

ในส่วนของการเซ็ตอัพปรับตั้ง (อ้างอิงเฉพาะการตั้งค่าเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับซับวูฟเฟอร์ เมื่อใช้งานร่วมกับระบบโฮมเธียเตอร์) ให้กำหนดระดับ Volume ที่ซับวูฟเฟอร์ไปที่ตำแหน่ง 11~13 น. (ขึ้นอยู่กับ Input & Output Gain) เฟสตั้งที่ 0° และหมุนครอสโอเวอร์ตามเข็มนาฬิกาจนสุด (ทดแทนการบายพาสครอสโอเวอร์ฟิลเตอร์ภายในตัวซับวูฟเฟอร์) จากนั้น สามารถดำเนินการโดยอาศัยระบบ Auto Calibration ของ AV Processor/AVR เพื่อกำหนดละเอียดในส่วนอื่นๆ โดยระบบจะทำการตรวจวัด และตั้งค่าต่างๆ รวมถึงในส่วนของซับวูฟเฟอร์ให้เอง

ทว่ากรณีที่ AVR ไม่มีระบบดังกล่าว หรือบางท่านไม่อยากพึ่งระบบช่วยเหลือ-ชดเชยข้างต้น ไปจนถึงต้องการปรับจูนตั้งค่าละเอียดเพิ่มเติมด้วยตนเอง สามารถดำเนินการได้ความเหมาะสม (ต่างระบบ ต่างสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมย่อมแตกต่างกัน) ซึ่งการกำหนดจุดตัดความถี่ ชดเชยระดับเสียง และดีเลย์ กระทำผ่านหัวข้อ Speaker Settings ที่ AVR จะยืดหยุ่นกว่า

การเชื่อมต่อแบบที่ 2 หรือ การใช้งาน PSWi225 ร่วมกับระบบไฮไฟ 2 แชนเนล

จากภาพ เป็นการอ้างอิงระบบลำโพง 2.1 ร่วมกับ Stereo Amplifier การเชื่อมต่อสัญญาณไปยัง PSWi225 ให้เชื่อมต่อจากช่อง L/R Pre-out ของ Preamp หรือ Integrated amp ผ่านสายสัญญาณ Low-level (Stereo RCA) มายังตัว Transmitter จากนั้นเช็ค Wireless ID ให้ตรงกัน ทั้งที่ Transmitter และที่ Subwoofer เสียบปลั๊กไฟ เปิดใช้งานอุปกรณ์ในระบบ เท่านี้ก็เริ่มต้นใช้งานได้แล้ว

การเชื่อมต่อกับระบบไฮไฟ 2 แชนเนลนี้ การเซ็ตอัพ (แบบแมนนวล) เป็นสิ่งสำคัญ จะละเลยมิได้เลย เพราะเป็นขั้นตอนที่จะทำให้เสียงของซับวูฟเฟอร์กลมกลืนเข้ากับลำโพงหลัก แม้ในเชิงเทคนิคจะมีความซับซ้อนเช่นเดียวกับการตั้งค่าใช้งานกับระบบโฮมเธียเตอร์ แต่ในทางปฏิบัติการใช้งานร่วมกับซิสเต็ม 2 แชนเนล จะยุ่งยากกว่ามาก เนื่องจากต้องปรับตั้งแบบแมนนวล 100% (ความยืดหยุ่นจากระบบช่วยเหลือในการติดตั้งน้อยกว่า)

การตั้งค่าที่ซับวูฟเฟอร์ นอกจาก ระดับวอลลุ่ม และเฟส แล้ว การกำหนดครอสโอเวอร์ก็มีบทบาทสำคัญมากเช่นเดียวกัน ถามว่า ให้ตั้งที่เท่าไหร่? อันนี้ตอบเป็นตัวเลขตายตัวไม่ได้ครับ เพราะขึ้นกับปัจจัย คือ ซิสเต็ม และสภาพแวดล้อม (ต่างระบบ ต่างสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมย่อมแตกต่างกัน) เช่นเดียวกับการปรับจูนตำแหน่งที่ทางตั้งวางให้เหมาะสมลงตัวกับห้อง (ชดเชยผลกระทบของ Room Mode) ซึ่งกับ PSWi225 สามารถขยับปรับตำแหน่งกันได้อย่างยืดหยุ่น จากการที่มันไม่มีสายสัญญาณเกะกะนั่นเอง บวกกับขนาดที่กะทัดรัด น้ำหนักไม่มาก ช่วยเพิ่มความสะดวกในประเด็นนี้ได้ดีทีเดียวแหละ

หมายเหตุ: เนื่องจากที่ตัวซับวูฟเฟอร์ปรับชดเชยเฟสได้เพียง 2 ค่า และระบบเครื่องเสียง 2 แชนเนลทั่วไป ไม่สามารถชดเชยเฟสด้วยะบบดีเลย์ (ดังเช่นที่พบได้กับ AVR) การชดเชยเอาจากระยะตั้งวาง เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน (นอกเหนือจากการขยับตำแหน่งเพื่อลดทอนปัญหาโทนัลบาลานซ์จาก Room Mode)

มาดูการเชื่อมต่อใช้งาน PSWi225 อีกรูปแบบหนึ่ง ที่น่าสนใจกันบ้าง คือ การเสริมศักยภาพให้กับระบบเสียงของทีวี  รูปแบบนี้ จะก้ำกึ่งกับระบบไฮไฟ 2.1 แชนเนล (คล้ายรูปแบบที่ 2) แต่เป็นการใช้ร่วมกับระบบเสียงของทีวี

ดังที่ทราบว่า “ทีวี” ที่วางขายกันมาตั้งแต่อดีต มาพร้อมกับระบบเสียงที่ตอบสนองการใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เรียกว่าสามารถให้ความบันเทิงจนอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งชุดเครื่องเสียงภายนอก ถึงแม้ศักยภาพในบางประเด็นอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จุดที่ยังขาดอยู่คงไม่พ้นเรื่องของการถ่ายทอดเสียงย่านต่ำ อันเป็นข้อจำกัดของขนาดพื้นที่ติดตั้งตัวขับเสียงในตัวทีวีเอง ดังนั้นการเสริมซับวูฟเฟอร์เข้ามาเพื่อรับหน้าที่นี้ ย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ปัจจุบันทีวีหลายๆ รุ่น ก็มีศักยภาพรองรับการใช้งานรูปแบบนี้

หมายเหตุ: การสังเกตรุ่นทีวีที่ (มีแนวโน้ม) รองรับการเสริมซับวูฟเฟอร์อย่างสมบูรณ์
– ที่ตัวทีวีควรจะต้องมีตัวขับเสียง หรือติดตั้งวูฟเฟอร์แยกสำหรับรับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงย่านกลางต่ำ (ไปจนถึงเบสต้น) นอกเหนือจากดอกลำโพงมาตรฐานฟูลเรนจ์ขนาดเล็กปกติ
– ต้องมีช่องต่อ Analog Audio Out (Stereo) ที่สามารปรับตั้งค่าสัญญาณเอาต์พุตแบบ Variable ได้ กล่าวคือ ระดับเสียงเอาต์พุต จะเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์ตามการกำหนดระดับวอลลุ่มของทีวี
 

Sound – เสียง

การที่ตัวซับวูฟเฟอร์ไม่สามารถรับสัญญาณตรงได้ จึงไม่อาจเปรียบเทียบศักยภาพในเชิงคุณภาพเสียงว่ามีความต่างหรือไม่ ระหว่างการเชื่อมต่อสัญญาณตรง (ใช้สาย) กับการส่งสัญญาณวิทยุ (แบบไร้สาย) อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาทดสอบแบบไร้สาย ผมไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรมาลดทอนอรรถรสในการรับฟังเลย เรื่องเสียงแปลกปลอมสอดแทรกเข้ามาให้เสียงต้นฉบับบิดเบือนผิดเพี้ยนนั้น ตัดออกไปได้เลย มิต้องกังวล เช่นเดียวกับเสถียรภาพของการเชื่อมต่อสัญญาณ ที่ให้ความต่อเนื่อง ไม่มีขาดๆ หายๆ หรือระดับเสียงวูบวาบไม่คงที่ ให้ได้ยินแต่ประการใด

เมื่อพิสูจน์แล้วว่า การใช้งานในห้องเดียวกันไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทีนี้ลองย้ายไปต่างห้อง เพื่อดูศักยภาพของการส่งสัญญาณแบบไร้สายดูว่าจะทำได้ดีเพียงใด (เผื่อท่านใดอยากจะนำไปใช้แบบมัลติโซน) การย้าย Wireless Subwoofer ไปอยู่คนละห้องกับตัว Transmitter พบว่า หากเป็นพื้นที่ชั้นเดียวกัน ซึ่งในสภาพทดสอบ แต่ละห้องมีผนังของตัวเอง (มีโถงคั่นกลาง เท่ากับมีผนัง 2 ชั้น) ระยะห่างจากตัว Transmitter ราว 5~6 ม. พบว่าใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาครับ แต่การพิจารณาใช้งานควรดูลักษณะโครงสร้าง และการตกแต่งภายในประกอบด้วยนะครับ หากผนังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา กั้นหลายชั้น หรือมีสิ่งกีดขวาง ไปจนถึงมีการใช้งานอุปกรณ์ 2.4GHz อยู่ก่อนเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะลดทอนศักยภาพลงได้

แล้วถ้าพื้นที่ต่างชั้นกันล่ะ? เมื่อนำ Wireless Subwoofer ไปไว้ชั้นล่าง ขณะที่ตัว Transmitter อยู่ชั้น 2 เหมือนเดิม พบว่าถ้าตำแหน่งห้องตรงกัน (มีเพียงพื้นชั้นบน และฝ้าชั้นล่างกั้นขวาง) ก็ยังคงใช้งานได้ปกติครับ แต่ถ้าย้ายตำแหน่งไปในพื้นที่ห่างออกไป จะเริ่มรับสัญญาณไม่ได้ (เสียงขาดๆ) ซึ่งก็ไม่แปลก หากจะหวังให้มันทำงานได้ทั่วบ้าน ทั้งชั้นบนชั้นล่าง คงจะเกินความต้องการไปหน่อย จากศักยภาพเท่านี้ถือว่า “เปิดโอกาส” การใช้งานในแบบมัลติโซนได้ดีมากแล้วครับ เพราะหากย้อนกลับไปใช้วิธีลากสายแบบเดิมๆ เอาแค่ข้ามไปอีกห้องบนชั้นเดียวกัน ยังไม่ถึงกับต้องลากสายลงมาชั้นล่าง ก็ปวดหัวตึ้บแล้วครับ

จุดตัดครอสโอเวอร์สูงสุดที่ราว 160Hz ใกล้เคียงกับมาตรฐานของซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กทั่วไป แต่อาจจะต่ำไปสักนิดหนึ่ง หากจะนำไปใช้งานร่วมกับระบบเสียงของทีวี กล่าวคือ ที่จุดตัดฟิลเตอร์ดังกล่าว ซับวูฟเฟอร์จะถ่ายทอดเสียงย่านต่ำได้ตั้งแต่ 160Hz ลงไป เมื่อใช้งานร่วมกับระบบลำโพงของทีวีส่วนใหญ่ หรือลำโพงแบบแซทเทลไลท์เล็กมากๆ ที่ไม่อาจให้น้ำหนักเสียงย่านกลางต่ำต่อเนื่องลงไปจนถึง 160Hz จะส่งผลกระทบกับความกลมกลืน และโทนัลบาลานซ์ที่จะขาดหายไป (บางช่วง) ความยืดหยุ่นในการปรับตั้งเพื่อใช้งานกับระบบดังกล่าว จึงอาจจะจำกัดกับทีวีแค่บางรุ่น ซึ่งอันที่จริงเป็นข้อจำกัดของทีวีมากกว่า ประเด็นนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น กับการใช้งานร่วมกับลำโพงโฮมเธียเตอร์ทั่วไปครับ

คุณภาพเสียงนั้น ถือว่าเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดตัวตู้ไม่ใหญ่ แต่สามารถเติมเต็มน้ำหนักเสียงย่านต่ำได้เป็นอย่างดี ย่านต่ำลึกพอเพียง อาจมิได้มากมายจนจับต้องได้ชัดเจน แต่กับขนาดตัวถือว่าน่าสนใจ ซึ่งในประเด็นนี้ทำได้ดีกว่าซับวูฟเฟอร์ที่มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมาก อย่างซับวูฟเฟอร์ในชุด TL1600 อยู่เล็กน้อยด้วย ภาคขยายขนาด 100 วัตต์ มิได้เหนียมเลย เติมเต็มพื้นที่ทดสอบกว่า 25 ตร.ม. ได้ไม่ลำบาก เบสต้นมีมวลเสียงหนักแน่น กระแทกกระทั้นดี หัวเบสออกนุ่มมนเล็กน้อย แต่มิใช่เป็นความย้วยยาน ซึ่งจะว่าไปแล้วมีโอกาสเกิดซับฯ ขนาดใหญ่ ที่มีข้อจำกัดด้านการเซ็ตอัพในพื้นที่จำกัดมากกว่าแน่นอน

การใช้งานร่วมกับ Paradigm Monitor 7 นั้น PSWi225 มีส่วนเติมเต็มปริมาณย่านต่ำให้มีมวลหนักแน่นขึ้นอีก หากเซ็ตอัพดีๆ ก็กลมกลืนไปกับการรับฟังดนตรีได้ ความกระฉับกระเฉงยังคงเท่าทันคู่หน้าได้ดีอยู่ การใช้งานร่วมกับ Polk Audio RTi A7 ด้วยการเสริมระบบ 2.1 อาจไม่ชัดเจนนัก เนื่องจาก A7 ให้ปริมาณย่านต่ำได้มากอยู่แล้ว กระนั้นกับการรับชมภาพยนตร์ระบบเสียงรอบทิศทาง PSWi225 กับการรับหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ .1 หรือ LFE สามารถเสริมอรรถรสด้วยซับวูฟเฟอร์ อันมีส่วนช่วยให้ระบบ 5.1/7.1 มีความลงตัวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ อรรถประโยชน์จากความยืดหยุ่นของซับวูฟเฟอร์ไร้สาย ที่น่าสนใจมากๆ เลย คือ การใช้งานแบบเสริมซับวูฟเฟอร์ตัวที่ 2… โอกาสหน้าคงจะได้เขียนประสบการณ์เล่าสู่กันฟังครับผม

Conclusion – สรุป

หากมองในเรื่องของการถ่ายทอดความถี่ต่ำที่ลึกสุดขั้ว หลายท่านตั้งเป้าเลือกซับฯ ขนาดใหญ่ แต่แน่นอนสิ่งที่ตามมา คือ ขนาดตัวตู้ที่เทอะทะขึ้น เมื่อเสริมกับสายสัญญาณที่ต้องลากยาว ปัญหาที่อาจตามมาคือความลงตัว ไม่ว่าจะเป็นทางสายตา หรือแม้แต่เรื่องของเสียง กระนั้นถ้าต้องการความลงตัว พร้อมๆ กับความสะดวก ไม่มีสายสัญญาณรกรุงรัง สามารถชดเชยการปรับตั้งด้วยการขยับตำแหน่งได้อย่างยืดหยุ่น มิพ้นต้อง PSWi225 เป็นคำตอบสุดท้ายเลยครับ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
7.50
เสียง (Sound)
8.00
ลูกเล่น (Features)
9.00
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.00
ความคุ้มค่า (Value)
8.00
คะแนนตัดสิน (Total)
8.00

คะแนน Polk Audio PSWi225

8.0

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– ลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดกะทัดรัด ขอบตู้ลบมุมโค้งมนเล็กน้อย ผิวตัวตู้ไวนีลสีดำ (มีสีเดียว) ที่ขามีจุกยางรองรับช่วยป้องกันการลื่นไถล และลดทอนแรงสั่นสะเทือน ท่อพอร์ทได้รับการออกแบบเป็นรูปตัว J เพื่อเสริมศักยภาพการทำงาน
– รูปแบบการส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุ 2.4GHz ไม่สร้างปัญหากระทบกับคุณภาพเสียง (หากตัวรับและตัวส่งอยู่ในระยะที่กำหนด) ศักยภาพโดยรวมไม่ต่างจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ปกติ ปริมาณเบสลึกพอเพียง แรงปะทะหนักแน่นกำลังดี สามารถเติมเต็มย่านต่ำที่มีความจำเป็นสำหรับซิสเต็มเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ได้  และแน่นอนว่าความยืดหยุ่นจากตำแหน่งตั้งวางช่วยเพิ่มความกลมกลืนกับระบบเสียงของลำโพงหลักได้ง่ายขึ้น
– แม้มิได้ไร้สายไปเสียทั้งหมด (ยังคงต้องมีสายไฟ) แต่เทคโนโลยี “ไร้สาย” ช่วยให้การติดตั้งลำโพงซับวูฟเฟอร์เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น ไม่มีข้อจำกัดในการตั้งวางจากเรื่องของระยะความยาวสายสัญญาณ ช่วยให้การติดตั้งดูเรียบร้อยสวยงาม ไม่รกรุงรัง สายไฟซับวูฟเฟอร์ยาวถึง 2.5 ม. ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องของระยะเสียบต่อปลั๊กไฟ
– ไม่มีอินพุตเสียบต่อสายสัญญาณตรงที่ตัวซับวูฟเฟอร์ เพราะใช้วิธีการรับสัญญาณแบบ “ไร้สาย” กระนั้นอินพุตที่ตัว Transmitter แบบ Low-level ก็เพียงพอ รองรับได้ทั้ง Stereo สำหรับใช้งานร่วมกับซิสเต็ม 2 แชนเนล และแบบ Mono LFE เมื่อเชื่อมต่อกับระบบโฮมเธียเตอร์
– แอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ขนาดกะทัดรัดที่ให้ความยืดหยุ่นในเรื่องของการเชื่อมต่อสัญญาณที่ไม่ต้องลากสายยาวๆ ช่วยลดทอนงบประมาณค่าสาย และความยุ่งยากในการติดตั้งเก็บซ่อนสายลงได้ พร้อมเติมเต็มพลังเสียงความถี่ต่ำให้กับซิสเต็มไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ หรือแม้แต่ระบบเสียงของทีวี

by ชานม !
2012-09

ราคาตั้ง Polk Audio PSWi225
16,900 บาท