27 Jul 2023
Review

รีวิว Samsung 65S90C 4K HDR10+ QD-OLED ทางเลือกสำหรับคนอยากสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ ในราคาเบา ๆ


  • ชานม

ภาพ

ลักษณะการจัดเรียง Subpixel ของ QD-OLED แบบ Triangular RGB (ภาพประกอบจาก tvfindr.com)

อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยี OLED สามารถคุมแสงได้อิสระละเอียดในระดับ Subpixel ดังนั้นไม่ว่าภาพบนจอจะมีความซับซ้อนเพียงใดก็สามารถจัดการกับความดำในทุกส่วนของจอภาพได้เบ็ดเสร็จ ปราศจากปัญหาแสงลอด-แสงรั่วโดยสิ้นเชิง เมื่อผสานกับเทคโนโลยี Quantum Dot (Blue OLED + Red & Green QD Layer) ช่วยขับเน้นระดับคอนทราสต์ของแสงสี RGB ได้โดดเด่น

อย่างไรก็ดีด้วยพื้นฐานเทคโนโลยี OLED จึงมีขั้นตอนบำรุงรักษาระหว่างการใช้งานอยู่บ้าง กรณีของ Samsung QD-OLED ตัวเลือกจัดการ-บำรุงรักษาหน้าจอจะรวมอยู่ในหัวข้อ Panel Care

โดยปกติตัวเลือก Pixel Shift จะถูก On เป็นค่า Default ซึ่งเป็นกระบวนการขยับตำแหน่งภาพบนจอเล็กน้อย (ขยับในระดับพิกเซล) เพื่อมิให้ Subpixel คงสถานะเดิมค้างนาน ๆ ป้องกันการเบิร์น เช่นเดียวกับตัวเลือก Adjust Logo Brightness ที่ช่วยลดผลกระทบจากโลโก้ช่องรายการ หรืออินเทอร์เฟสจากเกม ที่เป็นภาพนิ่งค้างในตำแหน่งเดิมตลอดการรับชม

กรณีที่เกิดภาพติดค้างชั่วคราว (Image Retention) สามารถล้างหน้าจอให้เป็นปกติได้ที่หัวข้อ Pixel Refresh (กระบวนการจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง)

– SDR –

ด้านความเที่ยงตรงของการแสดงสีสัน SDR จากผล Lab Test พบว่า Filmmaker Mode ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ Movie

ความต่างก็คือ Filmmaker จะ On ตัวเลือก Brightness Optimisation ไว้ กล่าวคือ ระบบจะปรับระดับความสว่างหน้าจออัตโนมัติโดยอิงจากเซ็นเซอร์วัดสภาพแสงภายในห้อง ใครที่ชอบปิดหรือดิมไฟในห้องเพื่อดูทีวีตอนกลางคืน หรือภายในห้องมีสภาพแสงไม่คงที่ (เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา) น่าจะชอบ เพราะแสงทีวีจะถูกปรับเพิ่ม-ลดได้เอง ในบางโอกาสผมว่ามันก็สะดวกดีนะ

ส่วน Movie จะฟิกซ์ความสว่างตายตัว เหมาะกับห้องที่คุมแสงแวดล้อมได้คงที่ ทั้ง 2 โหมด สามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม

Filmmaker/Movie ภาพจะดูนุ่มนวลสบายตา ไม่เร่งความคมชัด ปรุงแต่งสีสัน หรือแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว จึงให้ความเป็นธรรมชาติสูงเหมาะแก่การรับชมในบ้าน แต่แน่นอนว่าถ้าเทียบกับโหมดอื่น ความสว่างจะต่ำกว่า และสีสันจะดูไม่สดจี๊ดจ๊าดนัก ทั้งนี้ในบางสภาพแวดล้อมหากรู้สึกว่าภาพ Movie หรือ Filmmaker Mode ดูสว่างหรือมืดเกินไปเมื่อรับชม SDR content ก็สามารถปรับเพิ่มลดความสว่างที่ตัวเลือก Brightness ตามที่เห็นสมควร

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

โหมดภาพ Movie (หรือ Filmmaker Mode ที่ Off – Brightness Optimiser) ของ 65S90C มีความเที่ยงตรงของสีสันอยู่ในเกณฑ์ดี อุณหภูมิสีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6677K ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาวเฉลี่ย (Grayscale Avg dE) 4.6 ขอบเขตสีก็ทำได้เที่ยงตรงอิงมาตรฐาน Rec.709 ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) 2.8

หากต้องการ รุ่นนี้สามารถปรับภาพเชิงลึกได้ ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาว (Grayscale Avg dE) ลดต่ำลงมาเหลือเพียง 0.9 เท่านั้นเอง ในขณะที่หากไฟน์จูน CMS ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) จะลดลงเหลือเพียง 0.9 เช่นกัน

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ ก็ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามคาด ค่าความผิดเพี้ยนสีโดยรวมแบบเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 0.8 (Max dE = 1.4) ดีมาก จะใช้อ้างอิงทำงานกราฟิก-ตัดต่อวิดีโอ แทนมอนิเตอร์ก็สามารถทำได้

– HDR –

รุ่นนี้รองรับมาตรฐาน Static HDR ทั้ง HDR10 และ HLG ส่วน Dynamic HDR รองรับมาตรฐาน HDR10+

ระดับความสว่าง HDR Peak Brightness (10% Window) ของ 65S90C สว่างที่สุด คือ โหมด Standard ที่ 963 nits ส่วน Filmmaker ต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยที่ 937 nits ทว่าได้ความเที่ยงตรงของสีสันดีกว่า

หากเทียบความสว่างกับรุ่นท็อป S95C ที่ราว 1400 nits (Filmmaker) ในการรับชมจริงจึงสังเกตความต่างด้วยตาจาก S90C ได้อยู่บ้าง แต่เมื่ออิงมาตรฐานเทคโนโลยี OLED โดยทั่วไปแล้ว (ที่ไม่ใช่ตัวท็อป ปกติจะอยู่ที่ราว 600 – 900 nits) ถือว่ารุ่นนี้ให้ระดับความสว่างได้สูงทีเดียว

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล HDR Calibration Report>

ความเที่ยงตรงของสีสัน HDR ในโหมด Filmmaker ของ 65S90C นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (Grayscale Avg dE 3.3, Colorspace Avg dE 3.4) ส่วนขอบเขตสี HDR Color Space ทำได้ครอบคลุม 99.77/99.79% ของมาตรฐาน DCI-P3 (xy/uv) หรือเทียบเท่า 74/75.35% Rec2020 (xy/uv)

และเช่นเคย ว่าหลังปรับภาพ HDR ในโหมด Filmmaker ให้ความเที่ยงตรงโดดเด่นมาก (Grayscale Avg dE 1.2, Colorspace Avg dE 1.9) ความสว่าง HDR Peak Brightness อยู่ที่ 949 nits

ผมทดลองเช็คขอบเขตสีผ่านตัวเลือก Native ของ S90C พบว่า ครอบคลุม Rec2020 ถึง 85.02/89.98% (xy/uv) เลยทีเดียว ซึ่งกว้างกว่าเทคโนโลยี OLED TV โดยทั่วไป